"...หน่วยตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานให้กระทรวงการคลังทราบต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559 แจ้งให้ทราบว่า โครงการที่จําเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงิน จํานวน 41 โครงการ เป็นโครงการที่อยู่ภายนอกขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเงิน 10,021,126.40 บาท..."
ISRA-EXCLUSIVE : คดีทุจริตเรื่องที่ 2 ของ ศาสตราจารย์ หรือ นายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กรณีถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อบัญชี “เงินสนับสนุนการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับความเสียหาย ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาพร้อมพวกรวม 6 ราย
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ศาลอาญาคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้เป็นทางการ โดย ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ จำเลยที่ 1 ถูกพิพากษาลงโทษจําคุกกระทงละ 5 ปี รวม 41 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี
ส่วน รองศาสตราจารย์หรือนายสัมมนา มูลสาร จำเลยที่ 2 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 10 กระทง จําคุก 30 ปี 40 เดือน และปรับ 30,000 บาท
รองศาสตราจารย์หรือนายทวีคูณ สวรรค์ตรานนท์ จำเลยที่ 3 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 7 กระทง จําคุก 21 ปี 28 เดือน และปรับ 21,000 บาท
รองศาสตราจารย์หรือนายสมหมาย ชินนาค จำเลยที่ 4 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษ รวม 5 กระทง จําคุก 18 ปี 24 เดือน และปรับ 18,000 บาท
นายสุภชัย หาทองคำ จำเลยที่ 5 อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีฝ่ายบริหาร (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 17 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทง แล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 (3) และปรับ 51,000 บาท
นางวนิดา บุญพราหมณ์ จำเลยที่ 6 ตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ ถูกตัดสินลงโทษ รวม 40 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และปรับ 120,000 บาท
อย่างไรก็ดี จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และทํางานบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขกําหนด ระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นับโทษจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีเก่าของศาลนี้
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม ในส่วนพฤติการณ์การกระทำความผิดจำเลยทั้ง 6 ราย ในคดีนี้ ซึ่งถูกตรวจสอบพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินโครงการที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 41 โครงการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย เข้าข่ายมีลักษณะเป็นการอนุมัติจ่ายเงินตามอำเภอใจหรือโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดีที่ 2! คุก 41 กระทง 50 ปี ‘ศ.ประกอบ' อดีตอธิการฯม.อุบล ทุจริตเบิกจ่ายเงินรายได้
- ไขคำพิพากษาคดีทุจริตเงิน ม.อุบลฯ : พวก 5 ราย 'ศ.ประกอบ' โทษคุกนับสิบปี ได้รอลงอาญา?
- อนุมัติจ่ายตามอำเภอใจ (1) เปิดคำพิพากษาคดีทุจริตเงิน ม.อุบลฯ คุก 50 ปี 'ศ.ประกอบ'
เนื้อหาสำคัญในตอนนี้ จะขอนำเสนอรายละเอียดในส่วนเหตุผลของศาลอาญาคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้
ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
บทบาทหน้าที่ จำเลยทั้ง 6 ราย
ศาลพิเคราะห์แล้วรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีอํานาจหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุสถานที่และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบประกาศและข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกําหนดหรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีอํานาจอนุมัติและสั่งจ่ายเงินรายได้มหาวิทยาลัยตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 ข้อ 21
จําเลยที่ 2 ดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้มีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
จําเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้รับผิดชอบในด้านการบริหารบุคคล มีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
จําเลยที่ 4 ดํารงตําแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ได้รับมอบหมายให้ดูแลภาระงานวิจัย บริการวิชาการ และทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย
จําเลยที่ 5 ดํารงตําแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และมีฐานะเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้มีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย รับผิดชอบในด้านการบริหารบุคคล
จําเลยที่ 6 ดํารงตําแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชี มีอํานาจหน้าที่ในการดูแลและรับจ่ายเงินตรวจสอบเอกสารสําคัญการรับจ่ายเงิน จัดทําฎีกา ตรวจสอบการตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินในหมวดต่าง ๆ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงกับความจําเป็นและวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้รับแต่งตั้งให้ทําหน้าที่หัวหน้าการเงินและพัสดุ ในคณะกรรมการการเงินโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลในการจัดเก็บค่าลงทะเบียน ดูแลเรื่องการเงิน พัสดุ เบิกจ่ายเอกสารการเงินต่าง ๆ การเบิกจ่ายเกี่ยวกับพัสดุในโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อปี 2546 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทําบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการดําเนินงานโครงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคลากรในหน่วยงานทั้งสอง โดยมหาวิทยาลัยอุทธรณ์ธานีเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินการโครงการฝึกอบรม
ภายใต้การให้คําแนะนํา ปรึกษากํากับดูแล ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยมีพื้นที่รับผิดชอบดําเนินการฝึกอบรม จํานวน 10 จังหวัด มีระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2546 ถึงเดือน ธันวาคม 2546 ภายหลังจากดําเนินโครงการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 แล้ว มีเงินรายได้จากค่าลงทะเบียนจัดอบรมที่เหลือจ่ายจากการดําเนินโครงการที่ประชุมคณะกรรมการอํานวยการโครงการ มีมติให้ส่งเงินเหลือจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 จํานวน 5 ครั้ง รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 34,560,543.38 บาท
จําเลยที่ 1 สั่งการเปิดบัญชี
จําเลยที่ 1 สั่งการให้จําเลยที่ 6 ดําเนินการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ เลขที่ XXX ชื่อบัญชี เงินสนับสนุนการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ XXX ชื่อบัญชีเงินสนับสนุนการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากตามปกติของมหาวิทยาลัย
โดยจําเลยที่ 1 มีอํานาจอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว และแต่งตั้งจําเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้มีอํานาจลงนามสั่งจ่ายเช็คร่วมกับจําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 6 เป็นผู้จัดทําเอกสาร ฎีกาเบิกจ่ายพร้อมเช็คตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง
จําเลยที่ 1 ได้อนุมัติสั่งจ่ายเงินรายได้จากบัญชีดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 108 โครงการ เป็นเงิน 34,559,565.36 บาท
สอบพบเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบ-ตั้งกรรมการสอบ
หน่วยตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานให้กระทรวงการคลังทราบต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559 แจ้งให้ทราบว่า โครงการที่จําเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงิน จํานวน 41 โครงการ เป็นโครงการที่อยู่ภายนอกขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเงิน 10,021,126.40 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์เลขที่ XXX และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ XXX เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ฉบับที่ 58/2539) ว่าด้วยการจัดกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2539 ข้อ 7
รายรับในการจัดกิจกรรมทางวิชาการอาจได้จากค่าลงทะเบียนที่มหาวิทยาลัยกําหนดอัตราเรียกเก็บตามความเหมาะสมหรือจากทุนสนับสนุนจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ข้อ 10 สําหรับเงินเหลือจ่ายจากการจัดกิจกรรมทางวิชาการให้นําส่งเป็นเงินรายได้มหาวิทยาลัยในส่วนของราชการนั้น
นอกจากนี้ตามประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่องหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติการดําเนินการบริหารจัดการโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ข้อ 3 กําหนดไว้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการเงินเหลือจากการดําเนินการบริหารจัดการจะต้องส่งเข้าเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
ทางไต่สวนได้ความว่า ในการดําเนินโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 พบว่ามีเงินเหลือจ่ายจากการดําเนินโครงการ
คณะกรรมการอํานวยการโครงการมีมติให้ส่งเงินเหลือจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง โดยจําเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้นําส่ง ส่วนที่เหลือให้กันสํารองไว้ใช้จ่ายในการปฏิบัติงานในรอบต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของกรรมการอํานวยการโครงการฯ ที่ต้องการส่งเงินเหลือจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัยนําไปใช้ในการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัย
ดังนั้นเงินดังกล่าวจึงถือเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยรวมกับเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่จําเลยที่ 6 หักไว้แล้ว ซึ่งตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 ข้อ 8 กําหนดให้มหาวิทยาลัยจัดสรรเงินรายได้เป็นงบประมาณประจําปีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยภายในเดือนกันยายนในกรณีมีเหตุจําเป็นพิเศษที่ไม่อาจใช้วิธีการของการจัดทํางบประมาณแผ่นดินได้ให้อธิการบดีนําเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป ตามระเบียบฯ ข้อ 10
ส่วนการเบิกจ่ายเงินนั้นในกรณีที่มีความจําเป็นต้องเบิกจ่ายโดยมิได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนั้นไว้ให้อธิการบดีหรือคณบดีนำเสนอคณะกรรมการ ตามระเบียบฯ ข้อ 8 เพื่อพิจารณาตั้งงบประมาณเพิ่มเติมแล้วให้อธิการบดีนําเสนอต่อที่ประชุมคณบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนําเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติเป็นงบประมาณเพิ่มเติมในกรณีฉุกเฉินและมีความจําเป็นรีบด่วนต้องจ่ายเงินโดยมิได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนั้นไว้ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาอนุมัติแล้วนําเสนอที่ประชุมคณบดีและที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบพร้อมทั้งรายงานการจ่ายเงินนั้นทันที ตามระเบียบฯ ข้อ 14
@ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ
จําเลยทั้งหกได้กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจําเลยทั้งหกได้กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
เมื่อเงินเหลือจ่ายจากโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นที่ จําเลยที่ 1 สั่งให้นําเข้าฝากในบัญชี เลขที่ XXX เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย การใช้จ่ายเงินนั้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 11 กําหนดให้บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเพื่อประโยชน์ภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ประกอบกับระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 ข้อ 4 กําหนดให้มหาวิทยาลัยจัดสรรเงินรายได้เป็นงบประมาณประจําปีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยภายในเดือนมกราคมของทุก ๆ ปี ข้อ 10 กําหนดให้ การจัดทํางบประมาณรายจ่าย ตามข้อ 8
ให้ใช้วิธีการของการจัดทํางบประมาณแผ่นดินโดยอนุโลมในกรณีมีเหตุจําเป็นพิเศษที่ไม่อาจใช้วิธีการของการจัดหางบประมาณแผ่นดินได้ ให้อธิการบดีนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป และตามระเบียบฯ ข้อ 13 ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องเบิกจ่ายเงินตามประเภทเงิน ข้อ 5.1 ข้อ 5.2 และข้อ 5.4 โดยไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนั้นไว้ ให้อธิการบดีหรือคณบดีนําเสนอต่อที่ประชุมคณบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนําเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
ข้อ 15 กําหนดให้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ตามหมวด 3 อาจนําฝากธนาคารพาณิชย์ที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติข้อ 20 กําหนดให้หน่วยจัดเก็บในมหาวิทยาลัย นําส่งเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ไปยังแผนกเงินรายได้มหาวิทยาลัย 7 วันต่อครั้ง แต่ถ้ามีเงินที่จัดเก็บได้ รวมกันตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปให้นําส่งแผนกเงินรายได้มหาวิทยาลัยอย่างช้าในวันทําการถัดไป และตามระเบียบฯ ข้อ 24 กําหนดให้หัวหน้ากองคลังและหัวหน้าแผนกเงินรายได้มีหน้าที่ควบคุมการขออนุมัติจ่ายเงินรายได้ให้ถูกต้องตามระเบียบ การที่จําเลยที่ 1 สั่งการให้จําเลยที่ 6 นําเงินรายได้ที่คณะกรรมการอํานวยการโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีมตินําส่งให้แก่มหาวิทยาลัย ไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากตามปกติของมหาวิทยาลัย โดยไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย และได้ตกลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกับธนาคารกําหนดให้เฉพาะตนเองและจําเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอํานาจร่วมลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว โดยไม่ได้กําหนดให้หัวหน้ากองคลังหรือผู้อํานวยการกองคลังให้เป็นผู้มีอํานาจร่วมลงนามในเช็คด้วยและให้จําเลยที่ 6 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินและจัดทํารายงานการเงินต่าง ๆ โดยไม่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของกองคลังมหาวิทยาลัยหรือผู้อํานวยการกองคลังแล้วอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ XXX เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการนอกขอบวัตถุประสงค์ จํานวน 41 โครงการตามฟ้อง โดยไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
ทั้งไม่มีการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติรวมทั้งไม่มีการเสนอรายงานการเงินและบัญชีต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเมื่อสิ้นปีงบประมาณโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบราชการ
พฤติการณ์เป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สําหรับจําเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งมีตําแหน่งเป็นถึงรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย และยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ โดยจําเลยที่ 5 มีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลกองคลังของมหาวิทยาลัยด้วย ในการดําเนินโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอํานวยการโครงการฯ มีอํานาจดําเนินการแทนอธิการบดี และมีอํานาจในการอนุมัติการเงิน ควบคุม ดูแลพัสดุและทรัพย์สินของโครงการฯ ให้เป็นไปตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ย่อมทราบดีว่าเงินเหลือจ่ายจากโครงการที่นําส่งให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย แต่กลับร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คกับจําเลยที่ 1 ทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย ช่วยเหลือสนับสนุนในการกระทําความผิดของจําเลยที่ 1
ที่จําเลยที่ 5 ต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 2.24 เป็นฟ้องซ้ำกับคําพิพากษาฎีกา ที่ 3655/2564 นั้น เนื่องจากการอนุมัติเบิกจ่ายเงินของจําเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 2.28 เป็นการเบิกจ่ายในโครงการศึกษาดูงานโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช คนละโครงการกับฟ้องตามคําพิพากษาฎีกาที่ 3655/2564
จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง
ส่วนจําเลยที่ 6 ที่ได้รับมอบหมายจากจําเลยที่ 1 ให้นําเงินรายได้จากโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี XXX และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่บัญชี XXX ที่จําเลยที่ 6 เปิดไว้และให้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการเบิกจ่ายเงินออกจากบัญชี ได้จัดทําเอกสารขออนุมัติเบิกจ่ายพร้อมเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเสนอต่อจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพื่อนําไปใช้ในโครงการนอกขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยดังกล่าวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งโดยตําแหน่งและประสบการณ์ของจําเลยที่ 6 แล้วย่อมเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ เป็นอย่างดี
รู้ไม่ถูกต้องแต่ไม่ได้ท้วงติง
ทั้งที่รู้ว่าการอนุมัติเบิกจ่ายเงินใช้จ่ายในโครงการนอกขอบวัตถุประสงค์ไม่ถูกต้องแต่ก็ไม่ได้ท้วงติง บางโครงการพบว่าจําเลยที่ 6 ได้จัดทําเอกสารการเบิกจ่ายพร้อมเช็คไว้ล่วงหน้าก่อนที่จําเลยที่ 1 จะอนุมัติให้เบิกจ่าย
พฤติการณ์เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยช่วยเหลือสนับสนุนในการกระทําความผิดของจําเลยที่ 1 การกระทําของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามฟ้อง
เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่ต้องปรับความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
อนึ่งในระหว่างพิจารณาของศาลได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 151, 157 โดยให้ใช้อัตราโทษใหม่ซึ่งสูงกว่าโทษตามกฎหมายเดิมจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นคุณมากกว่าและเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยทั้งหก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาลงโทษ
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) การกระทําเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 81 จําคุกกระทงละ 5 ปี รวม 41 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) การกระทําเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 ความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน และปรับคนละกระทงละ 9,000 บาท จําเลยที่ 2 รวม 10 กระทง จําคุก 30 ปี 40 เดือน และปรับ 30,000 บาท จําเลยที่ 3 รวม 7 กระทง จําคุก 21 ปี 28 เดือน และปรับ 21,000 บาท จําเลยที่ 4 รวม 5 กระทง จําคุก 18 ปี 24 เดือน และปรับ 18,000 บาท จําเลยที่ 5 รวม 17 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทง แล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 (3) และปรับ 51,000 บาท และ จําเลยที่ 6 รวม 40 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และปรับ 120,000 บาท
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยทําคุณประโยชน์ให้แก่ราชการมานาน อีกทั้งเงินที่จําเลยทั้งหกร่วมกันเบิกจ่าย
แม้เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่ใช่เงินงบประมาณของแผ่นดินโครงการที่นําเงินไปใช้จ่ายส่วนมากเป็นของหน่วยงานราชการภายนอก ความเสียหายมีไม่มากนัก
สมควรให้โอกาสจําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และทํางานบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขกําหนด ระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)
นับโทษจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีอาญาของศาลนี้
************
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 9 ปี 28 เดือนศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คดี อนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบไปแล้ว
นับโทษรวม 2 คดี คดีแรก 9 ปี 28 เดือน , คดีที่สอง 50 ปี
- ศาลฎีกา ยืนลงโทษคุก 9 ปี 28 ด. ‘ศ.ประกอบ' อดีตอธิการบดี ม.อุบลฯ คดีทอดกฐิน-ให้ทุนมิชอบ
- วิบากกรรมทุจริต! ‘ศ.ประกอบ' อดีตอธิการฯม.อุบล ป.ป.ช.ชี้มูลคดี 2 หลังโดนโทษคุก 9 ปี 28 ด.
อย่างไรก็ดี ในส่วนคดีที่สอง ยังไม่สิ้นสุด ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีของ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก นับเป็นบทเรียนสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ของผู้บริหารระดับสูงในแวดวงการศึกษาไทย
เพื่อไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป ดังที่เคยระบุไปแล้ว