"...คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนผลการไต่สวนคดี เอกสารหลักฐานประกอบ เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวทั้ง 6 รายดังกล่าว และพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามทุจริต 1 ภาค 3 และ ได้นัดผู้ต้องหาทั้งหกให้ไปพบพนักงานอัยการฯ เพื่อยื่นเรื่องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ซึ่งศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก 6 ราย ได้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ และอัยการนำตัวขึ้นฟ้องศาลฯ ไปแล้ว..."
ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ที่ก่อนหน้านี้ ตกเป็นจำเลยในคดี อนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ และถูกศาลฎีกาพิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลารวม 9 ปี 28 เดือนไปแล้ว
กำลังเผชิญหน้าวิบากกรรมครั้งใหม่
เมื่อล่าสุด ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีอาญาใหม่อีก 1 คดี คือ กรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมพวกรวม 6 ราย และอัยการได้นำตัวขึ้นฟ้องคดีต่อศาลฯ ไปแล้ว
@ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กับพวกรวม 6 ราย เป็นทางการ
กรณีถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อบัญชี “เงินสนับสนุนการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับความเสียหาย
โดยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด จำนวน 6 ราย ประกอบไปด้วย
1. ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ระหว่าง พ.ศ. 2543-2557 )
2. รองศาสตราจารย์หรือนายสัมมนา มูลสาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1)
3. รองศาสตราจารย์หรือนายทวีคูณ สวรรค์ตรานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1)
4. รองศาสตราจารย์หรือนายสมหมาย ชินนาค ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1)
5. นายสุภชัย หาทองคำ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1)
6. นางวนิดา บุญพราหมณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนผลการไต่สวนคดี เอกสารหลักฐานประกอบ เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวทั้ง 6 รายดังกล่าว และพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามทุจริต 1 ภาค 3 และ ได้นัดผู้ต้องหาทั้งหกให้ไปพบพนักงานอัยการฯ เพื่อยื่นเรื่องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ซึ่งศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก 6 ราย ได้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ และอัยการนำตัวขึ้นฟ้องศาลฯ ไปแล้ว
ส่วนการทางโทษทางวินัยนั้น ขณะนี้ มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างรอสำนวนการไต่สวนจากคณะกรรมการการ.ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยกับผู้ที่ยังรับราชการอยู่ และที่พ้นราชการไปแล้วแต่ยังไม่พ้น 3 ปี
ขณะที่ข้อมูลในส่วนของศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาตัดสินในคดี เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช). ชี้มูลความผิดกรณีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ
โดยศาลฎีกาฯ เห็นว่า ฎีกาของ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นผลให้ศ.ประกอบ ต้องรับโทษจำคุก รวม 9 ปี 28 เดือน
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีใหม่ กรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นั้น
การชี้มูลคดีของ ป.ป.ช. ยังไม่ถือว่าจบสิ้น ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวกรวม 6 ราย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีของ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก นับเป็นบทเรียนสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ของผู้บริหารระดับสูงในแวดวงการศึกษาไทย
เพื่อไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป