"...ศาลฯ พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยทําคุณประโยชน์ให้แก่ราชการมานาน อีกทั้งเงินที่จําเลยทั้งหกร่วมกันเบิกจ่าย แม้เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่ใช่เงินงบประมาณของแผ่นดิน โครงการที่นําเงินไปใช้จ่ายส่วนมากเป็นของหน่วยงานราชการภายนอก ความเสียหายมีไม่มากนัก สมควรให้โอกาสจําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กลับตนเป็นพลเมืองดี..."
ISRA-EXCLUSIVE : คดีทุจริตเรื่องที่ 2 ของ ศาสตราจารย์ หรือ นายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กรณีถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อบัญชี “เงินสนับสนุนการบริการวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับความเสียหาย ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาพร้อมพวกรวม 6 ราย และมีการส่งสำนวนผลการไต่สวนคดี เอกสารหลักฐานประกอบ ให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ศาลอาญาคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และพวกรวม 6 ราย
โดย ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ จำเลยที่ 1 ถูกพิพากษาลงโทษจําคุกกระทงละ 5 ปี รวม 41 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี
ส่วน รองศาสตราจารย์หรือนายสัมมนา มูลสาร จำเลยที่ 2 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 10 กระทง จําคุก 30 ปี 40 เดือน และปรับ 30,000 บาท
รองศาสตราจารย์หรือนายทวีคูณ สวรรค์ตรานนท์ จำเลยที่ 3 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 7 กระทง จําคุก 21 ปี 28 เดือน และปรับ 21,000 บาท
รองศาสตราจารย์หรือนายสมหมาย ชินนาค จำเลยที่ 4 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษ รวม 5 กระทง จําคุก 18 ปี 24 เดือน และปรับ 18,000 บาท
นายสุภชัย หาทองคำ จำเลยที่ 5 อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีฝ่ายบริหาร (สมัยจำเลยที่ 1) ถูกตัดสินลงโทษรวม 17 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทง แล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 (3) และปรับ 51,000 บาท
นางวนิดา บุญพราหมณ์ จำเลยที่ 6 ตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ ถูกตัดสินลงโทษ รวม 40 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และปรับ 120,000 บาท
อย่างไรก็ดี จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และทํางานบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขกําหนด ระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นับโทษจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีเก่าของศาลนี้
ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่ง ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นทางการ คือ พวก 5 ราย ของ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นถึงระดับรองอธิการฝ่ายต่าง ๆ รวมไปถึง นางวนิดา บุญพราหมณ์ ตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ ถูกตัดสินลงโทษจำคุก ตั้งแต่ 18 ปี 24 เดือน ขึ้นไปจนถึง 50 ปี ซึ่งนับเป็นบทลงโทษที่สูงมาก
แต่ทำไมถึงศาลฯ ถึงพิพากษาตัดสินให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และทํางานบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขกําหนด ระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในคำพิพากษาศาลอาญาคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ที่ตัดสินคดีนี้ พบว่า มีการระบุเหตุผลของศาลฯ ไว้ว่า ศาลฯ พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยทําคุณประโยชน์ให้แก่ราชการมานาน อีกทั้งเงินที่จําเลยทั้งหกร่วมกันเบิกจ่าย แม้เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่ใช่เงินงบประมาณของแผ่นดิน
โครงการที่นําเงินไปใช้จ่ายส่วนมากเป็นของหน่วยงานราชการภายนอก ความเสียหายมีไม่มากนัก
สมควรให้โอกาสจําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กลับตนเป็นพลเมืองดี
โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และทํางานบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขกําหนด ระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)
ส่วนพิพากษาที่เกี่ยวกับศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฯ ตัดสินว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) การกระทําเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 จําคุกกระทงละ 5 ปี รวม 41 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้นับโทษต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีเดิมด้วย โดยไม่รอลงอาญา
เท่ากับคดีนี้ ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ ต้องรับโทษจำคุกคนเดียว
บทบาทหน้าที่ของจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้
สำหรับบทบาทหน้าที่ของ จำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้ ในคำพิพากษาศาลฯ ระบุไว้ดังนี้
- ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศและข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีอํานาจอนุมัติและสั่งจ่ายเงินรายได้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามข้อ 21 แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534
- รองศาสตราจารย์หรือนายสัมมนา มูลสาร จำเลยที่ 2 ดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
- รองศาสตราจารย์หรือนายทวีคูณ สวรรค์ตรานนท์ จำเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายและรับผิดชอบในด้านการบริหารบุคคล
- รองศาสตราจารย์หรือนายสมหมาย ชินนาค จำเลยที่ 4 ดํารงตําแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานวิจัย บริการวิชาการ และทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม
- นายสุภชัย หาทองคำ จำเลยที่ 5 ดํารงตําแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และมีฐานะเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย รับผิดชอบในด้านการบริหารบุคคล
- นางวนิดา บุญพราหมณ์ จำเลยที่ 6 ดํารงตําแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชีเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและรับจ่ายเงิน ตรวจสอบเอกสารสำคัญการรับจ่ายเงิน จัดทำฎีกา ตรวจสอบการตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินในหมวดต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงกับความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าการเงินและพัสดุ ในคณะกรรมการการเงินโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลในการจัดเก็บค่าลงทะเบียน ดูแลเรื่องการเงิน พัสดุ เบิกจ่ายเอกสารการเงินต่าง ๆ การเบิกจ่ายเกี่ยวกับพัสดุในโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น
โดยในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยทั้งหกมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับจุดเริ่มต้นคดีนี้ ในคำพิพากษาระบุว่า สืบเนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคลากรในหน่วยงานทั้งสอง โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการฝึกอบรม โดยมีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการฝึกอบรม จำนวน 10 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2546 ภายหลังจากดำเนินโครงการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 แล้ว มีเงินรายได้จากค่าลงทะเบียนจัดอบรมที่เหลือจ่ายจากการค่าเนินงาน 22 ล้านบาท ที่ประชุมงานโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นได้มีมติให้ส่งเงินเหลือจ่าย 15 ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนที่เหลือให้กันสำรองไว้ใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน 15 ล้านบาท จึงเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 มาตรา 10 และตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 ข้อ 3 และข้อ 5และประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยการจัดกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2534 ข้อ 7 และ ข้อ 10
ส่วนพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 6 เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา จะนำรายละเอียดมานำเสนอในตอนถัดไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ยังไม่สิ้นสุด ศาสตราจารย์หรือนายประกอบ วิโรจนกูฏ และพวก มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้ และยังไม่มีรายงานข้อมูลยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำเรื่องขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นอุทธรณ์ กรณีศาลฯ ให้รอลงอาญาโทษจำคุก จำเลยที่ 2 - 6 หรือไม่
อ่านเรื่องหมวดเดียวกันประกอบ: