"...หากตรวจสอบคุณสมบัติ ‘พิชิต’ ตามหลักเกณฑ์ ‘ตัวอักษร’ เป๊ะ ๆ ในรัฐธรรมนูญ ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ‘พิชิต’ มีสิทธิ์นั่งเก้าอี้เสนาบดีใน ‘ครม.เศรษฐา 1’ ได้ แต่จะถูกมองว่าเป็น ‘จุดด่างพร้อย’ จนถูกสาธารณชน รวมถึง ‘พรรคก้าวไกล’ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ครม.ชุดนี้หลายคน ‘มีมลทิน’ ไม่เหมาะสม กลายเป็น ครม.ต่างตอบแทน หรือไม่? เป็นอีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไป..."
เรียกได้ว่าสร้างเซอร์ไพรส์แทบจะรายวัน
สำหรับการฟอร์ม ‘ครม.เศรษฐา 1’ ที่นำโดย ‘เสี่ยนิด’ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จากพรรคเพื่อไทย ก่อนจะนำรายชื่อส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำรายชื่อว่าที่ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ
โดยเฉพาะเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี’ ที่มี 2 ตำแหน่ง โดยเก้าอี้แรกค่อนข้างชัดแล้วว่าเป็นชื่อของ ‘พวงเพ็ชร ชุนละเอียด’ เจ้าของฉายา ‘มาดามนครบาล’
อีก 1 เก้าอี้ มาพลิกโผวินาทีสุดท้าย ปรากฏว่าเป็นชื่อของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ มือกฎหมายคนสำคัญแห่ง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ได้นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ เบียดโควตา ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ มือกฎหมายพรรค จนหลุดเก้าอี้รองนายกฯ ไปเป็นโควตาพรรคอื่น
ชื่อของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ หลายคนอาจไม่ได้ยินมานานแล้ว เพราะหายหน้าหายตาจากแวดวงการเมืองไปหลายปี
@ นายพิชิต ชื่นบาน
แต่หากใครยังจำกันได้ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคดีที่ดินรัชดาภิเษก เมื่อปี 2551 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปรากฏชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นหนึ่งในจำเลย ชื่อของ ‘พิชิต’ โด่งดังสุดขีด กับกรณีการหิ้ว ‘ถุงขนม’ ข้างในบรรจุเงินสด 2 ล้านบาท ขึ้นไปฝากเจ้าหน้าที่ธุรการศาล จนกลายเป็นตำนานวลี ‘ทนายถุงขนม’ มาจวบจนปัจจุบัน
การกระทำของ ‘พิชิต’ ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล ในวันที่ 10 มิ.ย. 2551 นอกจากนี้ยังโดนถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี จากสภาทนายความ
ประเด็นที่น่าสนใจการที่ศาลสั่งจำคุก ‘พิชิต’ มีสิทธิเป็น ‘เสนาบดี’ ได้หรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กางรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีอยู่ที่ มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ 8 ข้อ ได้แก่
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
ขณะที่มาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลง
(7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ กรณีศาลฎีกาฯ มีคำสั่งจำคุก ‘พิชิต’ 6 เดือนดังกล่าว ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น หากพิจารณาจากมาตรา 98 (7) จะพบว่า นายพิชิต ถูกคำสั่งจำคุก 6 เดือนเมื่อปี 2551 ปัจจุบันผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นจึงพ้นโทษเกิน 10 ปี นั่นจึงทำให้เขาไม่ติดคุณสมบัติข้อนี้
แต่การเป็นรัฐมนตรีนั้น ต้องนำเอามาตรา 160 (7) มาพิจารณาด้วย โดยมาตรานี้ระบุว่า คุณสมบัติบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำถามคือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เข้าข่ายมาตรา 160 (7) หรือไม่
เมื่อสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547 ระบุว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป
ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559 ระบุว่า การไต่สวนหาความจริงของศาลในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีผู้ละเมิดอำนาจศาล มิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป มิอาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ในกรณีที่เป็นการดำเนินกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ ทั้งบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษ จึงไม่มีเหตุต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการมีทนายความ และกรณีมิใช่การสืบพยาน เป็นเพียงการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงหาจำต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาสาบานตนก่อนไม่
นั่นจึงหมายความว่า การละเมิดอำนาจศาล มิใช่คดีอาญาโดยทั่วไป จึงอาจไม่เข้าข่ายการนำมาตรา 160 (7) มาบังคับใช้
หากตรวจสอบคุณสมบัติ ‘พิชิต’ ตามหลักเกณฑ์ ‘ตัวอักษร’ เป๊ะ ๆ ในรัฐธรรมนูญ ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ‘พิชิต’ มีสิทธิ์นั่งเก้าอี้เสนาบดีใน ‘ครม.เศรษฐา 1’ ได้
แต่จะถูกมองว่าเป็น ‘จุดด่างพร้อย’ จนถูกสาธารณชน รวมถึง ‘พรรคก้าวไกล’ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ครม.ชุดนี้หลายคน ‘มีมลทิน’ ไม่เหมาะสม
กลายเป็น ครม.ต่างตอบแทน หรือไม่?
เป็นอีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไป
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- เปิดเกม สลับขั้ว! นับหนึ่ง ‘เพื่อไทย’ จัดทัพตั้ง รบ. บีบ 8 พรรคร่วมแพแตก?
- รีวิว! ประวัติ-หลังฉากการเมือง ปธ.สภาฯ-2 รอง ก่อนคุมเกมโหวตว่าที่นายกฯ 'พิธา'
- เจาะเบื้องหลัง! ศึกชิง เก้าอี้ปธ.สภาฯ ‘คนแดนไกล’ ไฟเขียว ‘เพื่อไทย’ ชน 'ก้าวไกล'?
- จับตาศึกชิงนายกฯ รอบใหม่ กลหมาก ‘เพื่อไทย’ : ‘เศรษฐา’ ตัวหลอก ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตัวจริง?
- ผ่า 3 สูตร! เปิดแผนชิงนายกฯ รอบ3‘เพื่อไทย’ เร่งเกม (ทักษิณกลับบ้าน?) -‘ก้าวไกล’ ขอยื้อ
- เปิดแผนเพื่อไทย ตั้ง‘รัฐบาลสลายขั้ว’ เริ่มภารกิจดูด ‘งูเห่า’ 2+1 ลุง ถอย ‘หลังฉาก'
- ย้อน 17 ปี ‘รบ.แห่งชาติ’ สู่ ‘รบ.สลายขั้ว’ บทพิสูจน์แคมเปญ 'พท.' โหวตเลือกนายกฯ รอบ 3
- ลับลวงพราง ‘กลุ่ม 16’ โหวต ‘เศรษฐา’ สัญญาณเตือน ปชป. ถึงยุคสิ้นมนต์ขลัง ส่อสูญพันธุ์?