"...ปัจจุบัน ป.ป.ช. มีมติให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุด พร้อมขอทุเลาการบังคับคดีอีกครั้ง ถ้าผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ออกมาเหมือนเดิม สุดท้าย ป.ป.ช. ก็คงจะต้องยินยอมมอบเอกสารทั้ง 3 รายการ ให้ นายวีระ อยู่ดี ทำไม ป.ป.ช. กลับเลือกที่จะเดินหน้าต่อสู้ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อย่างเต็มสูบ หรือ ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีปริศนาสำคัญอะไรซ่อนอยู่..."
นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน!
กรณีเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแล้วเห็นว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 รายการที่ 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอ ประกอบการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และรายการที่ 3 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคําวินิจฉัยของ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการ บังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่ วันที่คดีถึงที่สุด
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
แต่ปัจจุบันนับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566 (วันอ่านคำพิพากษา) จนถึง 10 ส.ค.2566 วันเวลาผ่านมาแล้ว รวมระยะเวลา 110 วัน
นายวีระ ยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการ แต่อย่างใด
ส่วนคำถามสำคัญที่ว่า ทำไม ป.ป.ช. ถึงยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้กับนายวีระ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าว นั้น
มีคำอธิบายผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ดังนี้
1. ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้เปิดเผยข้อมูลตามรายการที่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, 3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้กับนายวีระ
2. แต่รายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ไม่เปิดเผยข้อมูล โดยกรรมการ ป.ป.ช.ข้างน้อย 2 เสียง คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
3. นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเอกฉันท์ ส่งเรื่องขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯและของดการบังคับคดีชั่วคราวด้วย
ส่วนเหตุผลสำคัญที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นชอบให้เปิดเผยข้อมูลรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เป็นไปตามคำแถลงข่าวของ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาฯ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า เนื่องจากเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช. พนักงานไต่สวน พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการมาช่วยปฏิบัติงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 ให้ความคุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรา 36 วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้การรับรองคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น จึงมีมติมอบหมายให้สำนักคดีนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เคยมีคำพิพากษาคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล พร้อมประเด็นปัญหาไปหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป
ขณะที่ นายวีระ ไม่ได้เดินทางไปรับข้อมูลเอกสารรายการที่ 1 และ ที่ 3 ตามมติ ป.ป.ช.ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีหมายแจ้งคำสั่งศาลฯ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.224/2566 เปิดเผยข้อมูลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ถูกต้องครบถ้วนภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 หากไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
หลังศาลปกครองกลาง ได้มีหมายแจ้งคำสั่งศาลฯ ดังกล่าว ป.ป.ช. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการส่งมอบข้อมูลเอกสารทั้ง 3 รายการให้แก่นายวีระ แต่อย่างใด
โดยปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้และเห็นชอบให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุด พร้อมขอทุเลาการบังคับคดี โดยยกเหตุการส่งเรื่องขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯและของดการบังคับคดีชั่วคราวต่อศาลฯ ไปแล้ว
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าศาลปกครองสูงสุด มีการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของ ป.ป.ช. แล้วหรือไม่? อย่างไร?
แต่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า ก่อนหน้าที่ศาลปกครองกลาง จะมีหมายแจ้งคำสั่งศาลฯ ให้ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ ของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไปแล้ว หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯและของดการบังคับคดีชั่วคราว
@ ป.ป.ช. ร้องขอ 2 ประเด็น
โดยในการยื่นขอพิจารณาคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ใน 2 ประเด็น คือ
1. ขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ) ด้วยเหตุที่ศาลฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญและคำพิพากษามีข้อบกพร่องสําคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่ทําให้ผลของคดี ไม่มีความยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3)
2. หากศาลรับคําขอให้พิจารณาใหม่ ขอศาลได้มีคําสั่งงดการบังคับคดีเพราะเหตุที่ศาลมีคําสั่งรับคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ และแจ้งคําสั่งงดการบังคับคดีให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75/1
เบื้องต้น ศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่กรณีนี้ ไม่ใช่เหตุตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ส่วนที่อ้างว่า คําพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และคําพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดนี้มีสาระสําคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ศาลมิได้พิจารณาถึงความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในคดีของผู้ฟ้องคดี จึงทําให้กระบวนพิจารณาคดีของศาลคลาดเคลื่อนและมิสามารถกําหนด คําบังคับได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้โต้แย้งว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และมาตรา 15 (2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และอ้างคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 กับคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564
แต่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเฉพาะคําพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 โดยไม่ได้วินิจฉัยคําพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 ซึ่งคําพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และเอกสารที่ ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยในคดีนี้ก็เป็นเอกสารประเภทเดียวกัน ซึ่งหากศาล ได้ยกคําพิพากษาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้ว จะทําให้คําพิพากษาในคดีนี้มีผลเปลี่ยนแปลงไป ในสาระสําคัญ และเกิดความยุติธรรมคําพิพากษาจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 69 (6) แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และมีข้อบกพร่อง สําคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ทําให้ผลของคดีไม่ยุติธรรม ตามมาตรา 75 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
เห็นว่า กรณีที่อ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดี ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกคลองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นั้น
การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่นั้น เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีซึ่งศาลจะพิจารณาก่อนมีคําสั่งรับคําฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งคดีนี้ศาลได้พิจารณาแล้วว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียหาย จึงมีคําสั่งรับคําฟ้องไว้พิจารณา
ประกอบกับ ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้โต้แย้งความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่จําต้อง ยกขึ้นวินิจฉัยในคําพิพากษา
อีกทั้งการที่ศาลจะกําหนดคําบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวได้หรือไม่นั้น มิได้พิจารณาจากความเป็นผู้เสียหายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวอ้าง กรณีจึงมิใช่คําพิพากษาของศาลมีสาระสําคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด และไม่ใช่ เหตุตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ส่วนกรณีที่อ้างว่า ศาลมิได้พิจารณาคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 ตามที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลพิจารณาพยานหลักฐานและข้ออ้าง ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ครบถ้วน ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวเป็นแนวคําวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในคดีอื่น โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 188 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้พิพากษา และตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ประกอบกับ ข้อบกพร่องสําคัญในการพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลที่จะเป็นเหตุขอพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นนั้น
ข้อบกพร่องดังกล่าวต้องมีความสําคัญถึงขนาดที่จะทําให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรมและเป็นข้อบกพร่องในการดําเนิน กระบวนพิจารณาของศาลที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกําหนด ไม่ใช่ การใช้ดุลพินิจของศาลในการวินิจฉัยคดีหรือการพิพากษาคดี
การที่ศาลไม่พิจารณาคําพิพากษาคดีอื่นจึงมิใช่ข้อบกพร่องสําคัญถึงขนาดที่จะทําให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
ดังนั้น เหตุที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่กรณีนี้ จึงไม่ใช่เหตุตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เช่นกัน
@ ข้ออ้างคําพิพากษาคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยหลักกฎหมาย
ประการที่สองอ้างว่า คําพิพากษาคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยหลักกฎหมาย กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม บัญญัติว่า ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงาน และสํานวนการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่าง การดําเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่ จะเป็นการเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นความลับ ของทางราชการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจนําบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมายกเว้นมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อันเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติรายละเอียดในการเปิดเผยข้อมูลบรรดาที่ได้มา จากการปฏิบัติหน้าที่ไว้โดยเฉพาะแล้ว และมีลําดับศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า
นอกจากนี้ เอกสาร รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 3 ยังเกี่ยวพันกับเรื่องที่อยู่ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดําเนินการไต่สวน ข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาว่าพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้กว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กําหนด และกรณี กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นเอกสารส่วนตัวของบุคคลดังกล่าว ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 อันเป็นการบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่ห้ามเปิดเผยโดยเด็ดขาด การที่ศาลปกครองวินิจฉัย ให้เปิดเผยจึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย
เห็นว่า การอ้างเหตุขอพิจารณาคดีใหม่ว่า ศาลวินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยกฎหมาย ของศาล อีกทั้งประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวอ้างในกรณีนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วในคําพิพากษา ข้ออ้างที่เป็นเหตุขอพิจารณาคดีใหม่ในกรณีนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ใช่เหตุ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ประการที่สามอ้างว่า การไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการใช้อํานาจตามที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกําหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดําเนินงาน ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่เป็นคําสั่งทางปกครองตามคําวินิจฉัยของศาล
เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและโต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยของศาล ซึ่งจึงไม่ใช่เหตุตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
@ ไม่รับคําขอพิจารณาคดีใหม่-ให้จําหน่ายคดี ออกจากสารบบความ
ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณา คดีใหม่มิใช่เหตุประการใดประการหนึ่งตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ศาลจึงไม่อาจรับคําขอพิจารณาคดีใหม่ ไว้พิจารณาได้
จึงมีคําสั่งไม่รับคําขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ราย ไว้พิจารณาและให้จําหน่ายคดี ออกจากสารบบความ
*****
ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลเป็นทางการว่า หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ไม่รับคําขอพิจารณาคดีใหม่ดังกล่าว ป.ป.ช.ได้มีการยื่นอุทธรณ์คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกรอบระยะเวลา 30 วันหรือไม่
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัด คือ ศาลปกครองกลาง ได้ออกหมายแจ้งคำสั่งศาลฯ ให้ ป.ป.ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยข้อมูลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ ให้ถูกต้องครบถ้วนภายในวันที่ 11 ส.ค. 2566 หากไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ค่าปรับกำหนดอัตราสูงถึงวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการตามคำสั่งศาลให้ครบถ้วนด้วย (เริ่มนับ 11 ส.ค.66)
@ วีระ สมความคิด
คำถามที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ คือ ปัจจุบัน ป.ป.ช. มีมติให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุด พร้อมขอทุเลาการบังคับคดีอีกครั้ง ถ้าผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ออกมาเหมือนเดิม สุดท้าย ป.ป.ช. ก็คงจะต้องยินยอมมอบเอกสารทั้ง 3 รายการ ให้ นายวีระ อยู่ดี
ทำไม ป.ป.ช. กลับเลือกที่จะเดินหน้าต่อสู้ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อย่างเต็มสูบ
หรือ ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีปริศนาสำคัญอะไรซ่อนอยู่
ถึงทำให้ ป.ป.ช. เลือกที่จะเดินหน้าสู้ ไม่ 'ยอมแพ้' แม้กระทั่งมีคำพิพากษาออกมาแล้ว
แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
อ่านเพิ่มเติม
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
- ป.ป.ช.นัดถกวาระผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 26 เม.ย.นี้ - 'วีระ' ลั่นไม่ได้เข้าขบวนการบังคับ
- ขอถามศาลฯอีกครั้ง! ป.ป.ช.ลงมติ 5 :1 เสียง ยังไม่เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อมให้ 'วีระ'
- ยอมแค่ 2 รายการ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ' แล้ว
- ความเห็นจนท.อันตราย! เบื้องหลัง มติ ป.ป.ช. ทำไม? ยอมเปิดผลคดีนาฬิกาหรู แค่ 2 รายการ