"...ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลฯ หากฝ่าย 2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ แพ้คดี บทลงโทษที่จะต้องรับอาจจะไม่เหมือนกับ คดี อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะไม่ใช่ประมวลกฎหมายอาญ่ มาตรา 143 แต่เป็นมาตรา 149 ประกอบมาตรา 201 ..."
กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว นั้น
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นายฐานันดร กิตติวงศากูล เป็นเวลา 5 ปี พร้อม ริบเงิน 20,000,000 บาท หรือทรัพย์สินอื่นของ นายฐานันดร แทนตามมูลค่าดังกล่าว ไปแล้ว
ขณะที่ นายฐานันดร ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
หากวิเคราะห์แนวคำพิพากษาคดีนี้ จะพบว่า
1. คดีนี้ศาลฯ เห็นว่า นอกจากโจทก์มีบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่าจำเลยเรียกและรับเงิน 2,000,000 บาท จาก นาย พ. หรือโก พ. ผู้ถูกเรียกเงิน รวม 4 ครั้งแล้ว
โจทก์ยังมีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยและ นาย พ. หรือโก พ. ผู้ถูกเรียกเงิน มีการนัดพบเพื่อส่งมอบเงินกัน
พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเรียกและรับเงินจากนาย พ. 20,000,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง
2. บทลงโทษ จำคุก 5 ปี เป็นไปตาม
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยในคำพิพากษาศาลฯ ระบุว่า แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันหรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตาม ก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และ การที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ. ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไมใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา มาตรา 128 วรรคหนึ่ง และ 129 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวข้างต้นอีกกระทงหนึ่งด้วย
จึงอาจสรุปได้ว่า คดีนี้ อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางเรียกเงิน 20 ล้านบาท ไปติดสินบนผู้พิพากษาอีกราย ที่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีโดยตรง ไม่ได้โดนโทษจำคุก สูงสุดไม่เกิน 5 ปี และถูกริบเงินจำนวน 20 ล้านบาทด้วย
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นการเรียกบนสินของกลุ่มผู้พิพากษา เพื่อช่วยเหลือการพิจารณาคดีให้กับผู้ต้องหานั้น
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีกรณีแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยอ้างว่ามีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 ราย ร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง โดยระบุว่า สามารถจ่ายสำนวนให้กับองค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’เพื่อให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา และยังอ้างว่า มีการพบกับผู้พากษาที่เป็น ‘ตัวแทนท่าน’ หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท โดยเร่งรัดให้จ่ายก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565 ก่อนที่ ‘ท่าน’หมดวาระ ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นทางการแล้ว
เกี่ยวกับคดี "2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 175 ล้านบาท นี้ หากนำไปเปรียบเทียบกับคดี "อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เรียกสินบน 20 ล้านบาท
จะพบว่ามีความเหมือนและแตกต่างดังนี้
1. เป็นการเรียกรับสินบนจากกลุ่มจำเลยและผู้เกี่ยวข้องเหมือนกัน
2. คดีที่ 2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินให้
3. คดีที่ 2ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ เป็นเรื่อง ที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับคดี 2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ เรียกรับสินบนจำนวน 175 ล้านบาท หากมีการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ทางศาลฯ ก็คงจะมีการส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เหมือน คดี อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และน่าจะถูกไล่ออกจากราชการ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย
อย่างไรก็ดี ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลฯ หากฝ่าย 2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ แพ้คดี บทลงโทษที่จะต้องรับอาจจะไม่เหมือนกับ คดี อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะไม่ใช่ประมวลกฎหมายอาญ่ มาตรา 143
แต่เป็นมาตรา 149 ประกอบมาตรา 201
โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ส่วนมาตรา 201 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ดังนั้น บทลงโทษที่จะได้รับจะอยู่ที่โทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ส่วนเงินของกลางคงไม่สามารถริบได้ เนื่องจากยังไม่มีการจ่ายเงินกันเกิดขึ้น
สิ่งตอบแทนที่ให้กันไปแล้ว มีเพียงแค่ การเดินทางไปพักผ่อนที่บ้านพักของญาติผู้ใหญ่แกนนำ กปปส. แถวอำเภอปากช่อง ซึ่งมีการพูดคุยเรื่องคดีความ และเลี้ยงฉลองวัดเกิดให้ภรรยาของผู้พิพากษารายหนึ่งด้วยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรณี 2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ ที่ถูกอ้างว่าไปเรียกสินบน 175 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
2 ผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด
อ่านข่าวคดี แกนนำ กปปส. ถูกเรียกสินบน :
- แกนนำกปปส.ร้อง อ้าง‘2 ผู้พิพากษา’เรียก175 ล.ช่วยหลุดคดี-ปธ.ศาลฎีกาตั้งสอบข้อเท็จจริงแล้ว (1)
- ไม่รู้ใครไปทำ! 4 แกนนำ กปปส.ปฏิเสธร้องเรียน '2 ผู้พิพากษา’ อ้างเรียก 175 ล.ช่วยหลุดคดี (2)
- ยื่นเรื่องมาจริง! ศาลยธ.แจงกรณีแกนนำกปปส.ขอความเป็นธรรม-ปธ.ศาลอุทธรณ์ตั้งสอบตามขั้นตอน (3)
- ครบทุกฉาก-เหตุการณ์! แกนนำกปปส.ปริศนา? ร้อง‘2 ผู้พิพากษา’อ้างเรียก175 ล.ช่วยหลุดคดี (4)
- ไขข้อกม.-ขั้นตอน! เบื้องลึก 'ปธ.ศ.อุทธรณ์' สั่งสอบข้อเท็จจริง'แกนนำกปปส.'อ้างถูกเรียก175 ล. (5)
อ่านข่าวคดีเรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล. :
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย (1)
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล. (2)
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง (3)
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว (4)
- เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่? (5)
- สำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน20ล.(2) รับเงินเสร็จบินกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ (6)
- จำแนก 10 ตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์เรียกสินบน 20 ล. อ้างผู้พิพากษาหลายคนร่วมขบวนการ? (7)
- INFO : ไขตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล้าน (8)