"...เหตุผลสำคัญที่คดีนี้ ประธานศาลอุทธรณ์เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากกรณีนีมีผู้ถูกกล่าวหา 2คน รายแรกเป็นผู้พิพากษาระดับสูงที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะที่อีกราย คือ นายบี เป็นผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ ขณะที่ถูกกล่าวหานั้นปรากฏว่า นายเอ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาในระดับที่สูงกว่าชั้นอุทธรณ์ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว เพราะไม่ประสงค์จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เหลือแต่นายบี ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการอยู่ในศาลอุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กำหนดไว้ว่าให้ผู้บังคับบัญชาของศาลนั้น ๆ เป็นผู้แต่งตั้ง..."
"จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ได้มีการยื่นหนังสือลักษณะร้องขอความเป็นธรรมทางคดีต่อประธานศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเป็นคดีระหว่างชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์"
"โดยประธานศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ได้รายงานกรณีดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาทราบตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาการสอบสวนข้อเท็จจริงของระเบียบปฏิบัติศาลยุติธรรม โดยเมื่อผลสรุปออกมาแล้วศาลอุทธรณ์จะรายงานประธานศาลฎีกาทราบต่อไป"
คือ คำชี้แจงเป็นทางการของ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ต่อกรณีปรากฏข่าวแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ อ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 ราย ร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง โดยระบุว่า สามารถจ่ายสำนวนให้กับองค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’เพื่อให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา และยังอ้างว่า มีการพบกับผู้พากษาที่เป็น ‘ตัวแทนท่าน’ หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท โดยเร่งรัดให้จ่ายก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565 ก่อนที่ ‘ท่าน’หมดวาระ
แม้ว่าในคำชี้แจงของ นายสรวิศ ลิมปรังษี จะไม่ได้ระบุรายละเอียด ว่า แกนนำ กปปส. รายนี้เป็นใคร?
แต่คำชี้แจงดังกล่าว นับเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการว่า มีการยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมเข้ามาจริง และประธานศาลอุทธรณ์ ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอนแล้ว
- แกนนำกปปส.ร้อง อ้าง‘2 ผู้พิพากษา’เรียก175 ล.ช่วยหลุดคดี-ปธ.ศาลฎีกาตั้งสอบข้อเท็จจริงแล้ว (1)
- ไม่รู้ใครไปทำ! 4 แกนนำ กปปส.ปฏิเสธร้องเรียน '2 ผู้พิพากษา’ อ้างเรียก 175 ล.ช่วยหลุดคดี (2)
- ยื่นเรื่องมาจริง! ศาลยธ.แจงกรณีแกนนำกปปส.ขอความเป็นธรรม-ปธ.ศาลอุทธรณ์ตั้งสอบตามขั้นตอน (3)
- ครบทุกฉาก-เหตุการณ์! แกนนำกปปส.ปริศนา? ร้อง‘2 ผู้พิพากษา’อ้างเรียก175 ล.ช่วยหลุดคดี (3)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานศาลยุติธรรม เพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ รวมไปถึงเหตุผลสำคัญ ว่าทำไมประธานศาลอุทธรณ์ ต้องเป็นผู้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนี้
แหล่งข่าว ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่คดีนี้ ประธานศาลอุทธรณ์เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากกรณีนีมีผู้ถูกกล่าวหา 2คน รายแรกเป็นผู้พิพากษาระดับสูงที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะที่อีกราย คือ นายบี เป็นผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์
ขณะที่ถูกกล่าวหานั้นปรากฏว่า นายเอ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาในระดับที่สูงกว่าชั้นอุทธรณ์ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว เพราะไม่ประสงค์จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เหลือแต่นายบี ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการอยู่ในศาลอุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กำหนดไว้ว่าให้ผู้บังคับบัญชาของศาลนั้น ๆ เป็นผู้แต่งตั้ง
ดังนั้นในกรณีนี้จึงเป็นประธานศาลอุทธรณ์ในการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วน นายเอ ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมหรือ กธ. ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือสอบสวนทางวินัย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูล พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ส่วนที่ 2 การรักษาวินัย พบว่า มีการระบุในมาตรา 68 ว่า เมื่อข้าราชการตุลาการในศาลใดถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่า กระทำผิดวินัย ให้ข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลยุติธรรมนั้นดำเนินการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น โดยมิชักช้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต. กำหนด
วิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นจะทำโดยให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องราวเป็นหนังสือ หรือโดยบันทึกเรื่องราวและความเห็น หรือโดยตั้งคณะบุคคลขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ มาตรา 69 ระบุว่า ในกรณีที่การสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นปรากฎมีมูลว่า ข้าราชการตุลาการใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษถึงไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการและเป็นผู้ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นขึ้นอย่างน้อยสามคนเพื่อทำการสอบสวน
ในกรณีที่ข้าราชการตุลาการถูกฟ้องคดีอาญา ก.ต. จะใช้คำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลเพื่อประกอบการพิจารณาโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้
มาตรา 70 ระบุว่า ในการสอบสวนตามมาตรา 69 คณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยทราบ โดยไม่ต้องระบุชื่อพยานก็ได้ และต้องให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย
หลักเกณฑ์การสอบสวนและวิธีการสอบสวนให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้น ก็ให้ขยายระยะเวลาอกไปอีกได้ไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินสิบห้าวัน และต้องแจ้งให้ประธานศาลฎีกาทราบพร้อมทั้งแสดงเหตุที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าขยายระยะเวลาแล้วการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการสอบสวนจะขยายเวลาต่อไปอีกได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกา ตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดทำรายงานความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกา และให้ส่งรายงานดังกล่าวต่อเลขานุการ ก.ต. เพื่อดำเนินการเสนอต่อคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลตามมาตรา 47วรรคสอง พิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นภายในระยะเวลาที่ ก.ต. กำหนด
เมื่อ ก.ต. ได้พิจารณารายงานความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลแล้ว มีมติว่าข้าราชการตุลาการผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง สมควรไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือมีมติเป็นประการอื่นใด ก็ให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้เป็นไปตามมตินั้น
มาตรา 71 ให้กรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงเท่าที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของกรรมการสอบสวน และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วยคือ
(1) เรียกให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือห้างหุ้นส่วน บริษัท ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้แทนหรือบุคคลในสังกัดมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
(2) เรียกผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
มาตรา 72 ระบุว่า ข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้งตามที่ ก.ต. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือข้าราชการตุลาการผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อประธานศาลฎีกาหรือต่อคณะกรรมการสอบสวน ประธานศาลฎีกาจะพิจารณาสั่งลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้แต่ต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจงก่อน และต้องให้คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลตาม มาตรา 47 วรรคสอง พิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต. ก่อน
จากข้อมูลทางกฎหมายทั้งหมด ชี้ให้เห็นกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ รวมไปถึงเหตุผลสำคัญ ว่าทำไมประธานศาลอุทธรณ์ ต้องเป็นผู้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนี้อย่างชัดเจน
ท้ายที่สุดแล้ว กรณีนี้ ผลการสอบสวนจะออกมาเป็นอย่างไร
1. แกนนำ กปปส. ปริศนา ที่ทำเรื่องขอความเป็นธรรมเป็นใคร?
2. ผู้พิพากษา 2 ราย มีพฤติการณ์ในการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 175 ล้านบาท ก่อนจะปรับลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท จริงหรือไม่?
3. หากเรื่องนี้ มีมูลความผิด ใครจะต้องรับโทษบ้าง? องค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’ ที่จะให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา จะถูกสอบสวนด้วยหรือไม่? กรณีนี้เป็นครั้งแรกหรือทำมาหลายครั้งแล้ว?
4. กรณีนี้ จะมีผลเสียหรือผลดี ในการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ของแกนนำ กปปส.ทุกคน?
คำถามสำคัญเหล่านี้ อีกไม่นานสังคมคงจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน