"...ในระหว่างการพิจารณาคดี นายฐานันดร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้เรียกรับเงินจากชาวไต้หวันกลุ่มนี้ เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีความแต่นายฐานันดรทำไม่สำเร็จ ก่อนที่จะย้อนกลับไปเรียกเงินเพิ่มจากชาวไต้หวันกลุ่มนี้เพิ่ม และถูกซ้อนแผนถ่ายคลิปเป็นหลักฐาน..."
เกิดข่าวสั่นสะเทือนวงการผู้พิพากษาไทยอีกครั้ง!
เมื่อ นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษารายล่าสุด ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีจำเลย
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดพิจารณาคดีในวันที่ 10 ต.ต.2565 นี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า คดีนี้ มีจุดเริ่มจากการที่มีชาวไต้หวันกลุ่มหนึ่ง หลบหนีคดีเข้ามาในประเทศไทย และถูกจับกุมตัวได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และถูกส่งตัวขึ้นศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ในระหว่างการพิจารณาคดี นายฐานันดร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้เรียกรับเงินจากชาวไต้หวันกลุ่มนี้ เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีความ
แต่นายฐานันดรทำไม่สำเร็จ
ก่อนที่จะย้อนกลับไปเรียกเงินเพิ่มจากชาวไต้หวันกลุ่มนี้เพิ่ม และถูกซ้อนแผนถ่ายคลิปเป็นหลักฐาน ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 และนำไปสู่การสอบสวนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)และมีมติไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีทางอาญาด้วย
ขณะที่ในการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งสำนวนพยานเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดี
แต่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องคดีนี้เอง
โดย ป.ป.ช. ขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 , 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128, 129 ประกอบมาตรา 169 , 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง พ.ศ. 2563 ข้อ 5 และข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 , 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอ คือ ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานข่าวไปแล้วว่า ราชกิจจานุเบกษา 16 ธ.ค.2562 เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ความว่า
ตามที่ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายฐานันดร กิตติวงศากูล ดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 ตามประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ต.ค.2560 นั้น
บัดนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งว่า ประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งไล่ นายฐานันดร กิตติวงศากูล ข้าราชการตุลาการ ตำแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2562 เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 32 (7 ) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 จึงขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกมหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือกประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทาน ทั้งนี้ ตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 และนายฐานันดร กิตติวงศากูล เป็นผู้ถูกถอนชื่อออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามประกาศสานักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
เท่ากับว่า ปัจจุบัน ฐานันดร กิตติวงศากูล ถูกไล่ออกราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปแล้ว
ส่วนผลคดีทางอาญา จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด