"...นาย พ. เป็นตัวแทนฝั่งนายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง มาเจรจาเกี่ยวกับการช่วยเหลือขอประกันตัวชั่วคราว มีอีกชื่อว่า "โก พ.(ชื่อย่อ)" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนาย พ. ที่เรียกกันทั่วไป และเป็นผู้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ มีข้อมูลเชิงลึกว่า นาย พ. ประกอบอาชีพส่วนตัว ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว โดยบริหารงานให้กับกลุ่มชาวจีน ขณะที่ นายฉิน เสียง ยวี่ เป็นญาติของเจ้านาย นาย พ. ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค.2565 นี้
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด นายฐานันดร กิตติวงศากูล ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนคดีนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด ในการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดี นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ชาวไต้หวัน ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างนายฐานันดรและตัวแทนผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นชาวไทยกลุ่มหนึ่ง มีการนัดพบปะพูดคุยที่โรงแรม ขั้นตอนการรับเงิน รวมถึงข้อมูลตัวละครลับผู้พิพากษารายหนึ่ง ที่นายฐานันดรอ้างว่าเป็นรุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนมกับนายฐานันดร สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
รวมไปถึงขั้นตอนการยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ไม่สำเร็จ ไม่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงที่มีการนัดรับมอบเงิน ทางตัวแทนผู้ต้องหามีการแอบบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ รวมไปถึงการทำสัญญาว่าจ้างเรื่องนี้ด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการให้มีการปล่อยตัวชาวไต้หวันได้จะมีการเงินที่รับไปคืนทั้งหมด ก่อนที่จะมีการทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถทำได้ ทางศาลฯจึงมีการสอบสวนคดี และส่งผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.จนนำมาสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีอาญาในชั้นศาลดังกล่าว
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว
- เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่?
- สำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน20ล.(2) รับเงินเสร็จบินกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา ได้ทำการจำแนกจัดกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบแบบชัด ๆ อีกครั้ง
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หนึ่ง
คดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง
นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรากฏชื่อผู้ต้องหาคนเดียว
หลังจากการไต่สวนคดีชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งสำนวนพยานเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง
นอกจากการฟ้องเอาผิดทางคดีอาญา ยังขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอ คือ ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าวด้วย
สอง
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก : ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ นายฐานันดร กิตติวงศากูล
มีจำนวน 5 ราย คือ
1. ผู้พิพากษาคนที่หนึ่ง
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร กล่าวอ้างว่า เป็นผู้พิพากษารุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนม สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
2. ผู้พิพากษาคนที่สอง
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร โทรศัพท์ไปหา ในช่วงการเจรจาต่อรองรับเงินก้อนแรก 1 ล้านบาท พร้อมแจ้งว่า ทางนี้จะให้จ่ายก่อน 1 ล้านบาท ตกลงหรือไม่
ก่อนที่ นายฐานันดร จะนำความกลับมาแจ้งกลุ่มคนที่มาติดต่อว่า "ทางโน้นไม่ตกลงด้วย เนื่องจากจ่ายน้อยเกินไป"
(ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นผู้พิพากษาคนแรกที่ นายฐานันดร อ้างว่าเป็นผู้พิพากษารุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือไม่)
3. ทนาย ค. (อักษรย่อ)
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร แนะนำให้รู้จักกับฝ่ายที่มาติดต่อว่า เป็นทนายความที่จะมาดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
4. ผู้พิพากษาคนที่สาม
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร อ้างว่า มีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต้องการเงินเพิ่มเติม 3 ล้านบาท
5. ผู้พิพากษาคนที่สี่
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร อ้างว่ามีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต้องการเงินเพิ่มเติม 7 ล้านบาท (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นผู้พิพากษาเดียวกับคนที่สาม ที่แจ้งว่าต้องการเงินอีก 3 ล้านบาทหรือไม่)
กลุ่มที่สอง : ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ชาวไต้หวัน ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ
มี 5 ราย เช่นกัน คือ
1. นาย อ.
เป็นผู้เริ่มต้นโทรศัพท์ติดต่อมายังนายฐานันดร เพื่อสอบถามว่าสามารถช่วยดำเนินการในการขอประกันตัวชาวจีนไต้หวัน ในความผิดฐานใช้หนังสือเดินทางปลอมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้หรือไม่? อย่างไร?
ก่อนจะยกเลิกการเจรจาในภายหลัง เนื่องจาก นายฐานันดร เรียกเงินสูงถึง 60 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
2. นาย ธ.
เป็นบุคคลที่ นายฐานันดร โทรศัพท์ติดต่อไปหาเพื่อขอให้ประสานงานและนัดหมายตัวแทนนายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง มาเจรจาเกี่ยวกับการช่วยเหลือขอประกันตัวชั่วคราว
เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต
3. นาย พ.
เป็นตัวแทนฝั่งนายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง มาเจรจาเกี่ยวกับการช่วยเหลือขอประกันตัวชั่วคราว
มีอีกชื่อว่า "โก พ.(ชื่อย่อ)" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนาย พ. ที่เรียกกันทั่วไป และเป็นผู้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีข้อมูลเชิงลึกว่า นาย พ. ประกอบอาชีพส่วนตัว ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว โดยบริหารงานให้กับกลุ่มชาวจีน ขณะที่ นายฉิน เสียง ยวี่ เป็นญาติของเจ้านาย นาย พ.
4. กลุ่มญาติของ นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง
เป็นกลุ่มบุคคลที่รวบรวมเงินมาให้นาย พ. เพื่อใช้ในการเจรจาช่วยประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง
5. เจ้านายของ นาย พ.
เป็นบุคคล ที่นาย พ. โทรศัพท์ไปหา เพื่อปรึกษา เรื่องการจ่ายเงินจำนวน 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนที่สาม ที่ นายฐานันดร เรียกร้องมา
ก่อนที่ เจ้านายของ นาย พ. จะตกลงและยินยอมจ่ายเงินให้ กับ นายฐานันดร
@ ข้อมูลใหม่ผู้พิพากษารายที่ 2
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากตัวละคร ทั้ง 10 ราย ในกลุ่มนี้ ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนคดีนี้เป็นทางการแล้ว
ในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับผู้พิพากษาอีกหนึ่งราย ที่สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบไปแล้วว่า เป็นผู้ให้ประกันตัวนายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ไป ก่อนที่จะก็ถูกอายัดตัวในเวลาต่อมาตามหมายจับในคดีอื่น ซึ่งต่อมาผู้พิพากษารายนี้ ถูกออกคำสั่งย้ายด่วนออกนอกพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย
ขณะที่ผลการสอบสวนไม่พบหลักฐานการเงินเชื่อมโยงไปถึง แต่ถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง และคำสั่งภาคทัณฑ์
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า การอนุญาตให้ประกันตัวนายฉิน เสียง ยวี่ ของผู้พิพากษารายนี้ เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่เรื่องของ นายฐานันดร เข้าสู่กระบวนการสอบสวนไปแล้ว และหลังจากที่มีการให้ประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ ก็ไม่ได้มีการหลบหนีออกนอกประเทศไป
เมื่อ นายฉิน เสียง ยวี่ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงยังไม่ถือว่ามีความเสียหายในทางคดีเกิดขึ้น และการสอบสวนไม่พบหลักฐานการเงินวิ่งเต้นคดีเพื่อช่วยเหลือให้กันตัวเชื่อมโยงไปถึง
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้พิพากษารายใหม่นี้ ถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง และคำสั่งภาคทัณฑ์เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีจำเลย ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล และศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฐานันดร จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ส่วนผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ก็ไม่ได้ปรากฏชื่อ ถูก ป.ป.ช.ฟ้องร้องในคดีนี้ด้วย
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด
ปัจจุบัน นายฐานันดร ก็ถูกไล่ออกจากราชการ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไปแล้ว