ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง สั่งลงโทษจำคุก 5 ปี 'ฐานันดร กิตติวงศากูล' อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พร้อมริบเงิน 20 ล้าน คดีเรียกสินบนผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ชี้พยานหลักฐาน ป.ป.ช. โจทก์ มีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเวลา 5 ปี พร้อม ริบเงิน 20,000,000 บาท หรือทรัพย์สินอื่นของ นายฐานันดร แทนตามมูลค่าดังกล่าว จากคดีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีจำเลยชาวไต้หวัน
โดยในวันนี้ (30 มิถุนายน 2566) เวลา 9.30 นาฬิกา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 178/2565 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายฐานันดร จำเลย ในข้อหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 มาตรา 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 มาตรา 129 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2) (เดิม) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 และข้อ 6 (ใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท หรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่ารวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่า คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวันและศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายขังไว้ในคดีอาญา เมื่อระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยอ้างว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับการสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันดังกล่าวได้ โดยจำเลยเรียกและรับเงิน 2,000,000 บาท จากนาย พ. หรือโก พ. เป็นค่าตอบแทน
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า นอกจากโจทก์มีบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่าจำเลยเรียกและรับเงิน 2,000,000 บาท จากนาย พ. รวม 4 ครั้ง แล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ที่นาย พ. พบและส่งมอบเงินให้กับจำเลย ดังนี้
ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ที่โรงแรมสินทวี จังหวัดภูเก็ต โจทก์มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ตของนาย พ. ที่แสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวนาย พ. เบิกถอนเงินสด 1,000,000 บาท จากบัญชีของตนสาขาภูเก็ตเพื่อนำมามอบให้จำเลยที่รออยู่ที่โรงแรมสินทวี
ส่วนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 3,000,000 บาท ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 7,000,000 บาท และครั้งที่สี่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 จำนวน 9,000,000 บาท มีการนัดและส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร
โจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยและนาย พ. นัดพบเพื่อส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซีในช่วงวันเวลาดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลการเดินทางของจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเครื่องบินบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระหว่างภูเก็ต - ดอนเมือง และดอนเมือง - ภูเก็ต ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งระบุวันเวลาที่นาย พ. เข้าพักในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการนัดพบจำเลย ภาพถ่ายจำเลยในบริเวณโรงแรมเอ็มบาสซีสะพานควาย และที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับโรงแรม
รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารของนาย พ. ที่แสดงว่านาย พ. ทำรายการฝากถอนเงินเพื่อรวบรวมเงินนำไปมอบให้จำเลย รวมถึงคลิปวิดีโอภาพและเสียงและสัญญาจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการรับเงินครั้งสุดท้าย
พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเรียกและรับเงินจากนาย พ. 20,000,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง
แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันหรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตาม ก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และ การที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ. ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไมใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา มาตรา 128 วรรคหนึ่ง และ 129 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวข้างต้นอีกกระทงหนึ่งด้วย
แต่สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 171 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางไต่สวนว่า นาย พ. รู้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และจำเลยเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะนำไปมอบให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีกทอดหนึ่งและนาย พ.กับพวกก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่มีการกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใดที่จะทำให้นาย พ. กับพวกเชื่อหรือเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ กระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 วรรคหนึ่ง มาตรา 129 ประกอบมาตรา 169 มาตรา 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20,000,000 บาท หรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว
ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก./
อย่างไรก็ดี นายฐานันดร ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
อนึ่ง สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา ติดตามนำเสนอข้อมูลเชิงลึกมาตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด
ปัจจุบัน นายฐานันดร ก็ถูกไล่ออกจากราชการ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไปแล้ว
อ่านข่าวเรื่องเดียวกันประกอบ
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย (1)
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล. (2)
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง (3)
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว (4)
- เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่? (5)
- สำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน20ล.(2) รับเงินเสร็จบินกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ (6)
- จำแนก 10 ตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์เรียกสินบน 20 ล. อ้างผู้พิพากษาหลายคนร่วมขบวนการ? (7)
- INFO : ไขตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล้าน (8)