"...การจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย มีสาระสำคัญไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อเสนอโครงการ ส่งผลกระทบทำให้ขาดหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของโครงการและไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานด้าน COVID-19 ของ อสม.ได้ และเกิดความเสี่ยงในการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ให้กับ อสม. ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงตามภาระงานด้าน COVID-19 ที่กำหนด..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ที่ใช้จ่ายเงินไปกว่า 9,841.06 ล้านบาท พบว่า การดำเนินกิจกรรมในโครงการ ยังไม่ส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของ อสม.ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. เป็นเพียงกิจกรรมเดียวในโครงการที่ใช้จ่ายเงินทั้งจากเงินงบกลางฯ และเงินกู้ฯ การเบิกจ่ายดังกล่าว จึงไม่ส่งผลหรือเชื่อมโยงต่อการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ส่งผลด้านขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานหรือ อสม. โดยมิได้มีกิจกรรมอื่นใด ในโครงการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงการเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของ อสม.เพื่อให้มีบทบาทตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยฯ อสม.ดังกล่าว พบว่า สตง. มีการระบุข้อสังเกตการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย มี สาระสำคัญไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อเสนอโครงการด้วย ส่งผลกระทบทำให้ขาดหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของโครงการและไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานด้าน COVID-19 ของ อสม.ได้ และเกิดความเสี่ยงในการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ให้กับ อสม. ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงตามภาระงานด้าน COVID-19 ที่กำหนด ส่งผลต่อการจ่ายเงินงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ
สตง.ระบุในรายงานว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน
พบว่า ขาดการระบุถึงรายละเอียดของเอกสารหลักฐานผลการปฏิบัติงานที่เพิ่มเติมจากกรณีปกติของ อสม. ที่ใช้ประกอบการพิจารณาการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ยืนยันรายชื่อ อสม. ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ลงในระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) โดยไม่ได้มีการพิจารณาถึงผลการปฏิบัติงานหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงการปฏิบัติงานในภาระงานด้าน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นของ อสม.
เมื่อพิจารณาประกอบกับการตรวจสอบเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. (แบบ อสม.1) ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าป่วยการ ของหน่วยบริการสาธารณสุขที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 12 แห่ง พบว่าแบบ อสม.1 ของหน่วยบริการสาธารณสุข 5 แห่ง ไม่มีการรายงานผลการปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ จากการสอบทานรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. ในระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net ของกองสนับสนุนบริการสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า การรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. ในด้านการปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน พบรายงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 5 รายงาน พบความไม่ครบถ้วนในการรายงานผลในทุกรายงาน
โดยการรายงานผลการปฏิบัติงานในกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ อสม. มีการรายงานผลการปฏิบัติงาน ร้อยละ 56.85 และไม่รายงานผลการปฏิบัติงาน ร้อยละ 43.15 ของจำนวน อสม. ทั้งหมดที่ได้รับเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ส่วนที่เหลือจำนวน 4 รายงาน ได้แก่ รายงาน อสม.เฝ้าระวัง แรงงานกลับบ้าน รายงานข้อมูลบทบาท อสม.ฯ วัคซีนโควิด 19 รายงานข้อมูลบทบาท อสม.พากลุ่มเป้าหมาย 608 ฉีดวัคซีนโควิด 19 และแยกกักรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19
รายงานผลการดำเนินงานของ อสม. เทศกาลปีใหม่ 2565 ขับขี่ปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ พบว่าเป็นการรายงานข้อมูลในภาพรวมรายตำบล หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่มีการรายงานผลไม่ครบถ้วนทุกตำบลในทุกรายงาน ซึ่งพบการรายงานน้อยที่สุดจำนวน 846 ตำบล หรือคิดเป็นร้อยละ11.66 จากตำบลทั้งหมด 7,256 ตำบล ในรายงานผลการดำเนินงานของ อสม. เทศกาลปีใหม่ 2565ขับขี่ปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ และมากที่สุดจำนวน 6,380 ตำบล หรือคิดเป็นร้อยละ87.93 จากตำบลทั้งหมด 7,256 ตำบล ในรายงานข้อมูลบทบาท อสม.ฯ วัคซีนโควิด 19
สตง. ยังระบุด้วยว่า การจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย มีสาระสำคัญไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อเสนอโครงการ ส่งผลกระทบทำให้ขาดหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของโครงการและไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานด้าน COVID-19 ของ อสม.ได้ และเกิดความเสี่ยงในการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ให้กับ อสม. ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงตามภาระงานด้าน COVID-19 ที่กำหนด
ส่งผลต่อการจ่ายเงินงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขาดข้อมูลสำคัญในระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net เพื่อสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการจ่ายเงินในภาระงานด้าน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นของอสม. ได้อย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องตามความเป็นจริง
สาเหตุเกิดจากขาดความชัดเจนในการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการเบิกจ่ายเงิน เพื่อให้ได้รับเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน และขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลที่ใช้ในการเบิกจ่าย และฐานข้อมูลในการรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม.
เบื้องต้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พิจารณาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) และแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลให้ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน
เพื่อให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลผลการปฏิบัติงานในภาระงานเพิ่มเติมจากกรณีปกติของ อสม. ที่บันทึกในระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net ไปใช้ในการพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยาชดเชย และเสี่ยงภัย ในระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) และใช้ประกอบในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการจ่ายเงินในภาระงานด้าน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นของ อสม. ได้ หรือนำข้อมูลในระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net ไปใช้ในการพิจารณาการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนตรวจสอบ สอบทาน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และการกำหนดแผนงานหรือโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านสาธารณสุขที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
รวมถึงการกำหนดนโยบาย การพัฒนาศักยภาพและเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อสังเกต สตง. เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ที่ใช้จ่ายเงินไปกว่า 9,841.06 ล้านบาท ซึ่งพบว่า การดำเนินกิจกรรมในโครงการ ยังไม่ส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของ อสม.ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ตามที่เสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- เหลือ1.9 แสนโดส-ทิ้ง6.5 พัน! สตง.สอบงบวัคซีนโควิด2.8 พันล.40อปท.-ไม่คุ้มค่า168.54 ล. (1)
- เปิดผลสอบสตง.(1) ปัญหา40อปท.จัดซื้อวัคซีนโควิด 2.8พันล. 'ล่าช้า-ความไม่ชัดเจนของ รบ.' (2)
- เปิดผลสอบ สตง.(2) อุปสรรคแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด 40 อปท.เหลือใช้เพียบ 197,602 โดส (3)
- ข้อสังเกต สตง. ผลสอบวัคซีนโควิด40อปท. ค่าบริการฉีดอาจซ้ำซ้อน แจ้ง สปสช.เรียกคืนเงิน (4)