เผยผลสอบ สตง.ชำแหละประสิทธิภาพการจัดหา-บริหารวัคซีนโควิด อปท. 40 แห่ง พื้นที่ 6 จว. ใช้จ่ายงบ 2,857.23 ล้าน พบปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพียบ มีวัคซีนคงเหลือที่ไม่ได้นำไปฉีด 197,602 โดส เสียหาย 168.54 ล้าน ทำลายทิ้งหมดอายุอีกกว่า 6,577 โดส
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง.ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท
ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนรวมจำนวน 2,785,064 โดส เป็นเงินรวมจำนวน 2,501.22 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 2,415,064 โดส เป็นเงินจำนวน2,094.22 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 370,000 โดสเป็นเงินรวมจำนวน 407.00 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นเงินรวมจำนวน 356.01 ล้านบาท
สตง.พบปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวัคซีนเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน ในพื้นที่จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.50 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด
โดยมีวัคซีนคงเหลือ ที่ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05ของจำนวน วัคซีนทั้งหมด จำนวน 2,802,959 โดส ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการกับ วัคซีนที่เหลือแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการบริจาคให้หน่วยงานจำหน่ายวัคซีนรวมจำนวน 116,810โดส (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 114,982 โดส สภากาชาดไทย 1,828 โดส) บริจาคให้กับโรงพยาบาล ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนจำนวน 50,714 โดส มีวัคซีนสูญเสียจำนวน 13,398 โดส และมีการทำลายวัคซีน เนื่องจากหมดอายุ จำนวน 6,577 โดส
ขณะที่จากการตรวจสอบแผนการกระจาย วัคซีนตามลำดับกลุ่มเป้าหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัด พบว่า แผนการกระจายวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จัดทำขึ้น ก่อนที่จะมีการลงทะเบียนผู้ขอรับวัคซีนตัวเลือก โดยจำนวนกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่กำหนดไว้ ตามแผนเป็นการกระจายวัคซีนจะประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้นในท้องถิ่นเท่าที่จะหาได้ในช่วงเวลานั้น ยังไม่ได้มีการสำรวจความต้องการวัคซีนตัวเลือกที่แท้จริง และเมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับ ประชาชน ปรากฏว่า มีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้บางส่วนไม่มารับวัคซีนตัวเลือก ทำให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือต้องขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้มีการนำวัคซีน ไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของจำนวนผู้รับวัคซีนตัวเลือกในแต่ละ กลุ่มเป้าหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถแยกกลุ่มเป้าหมายได้ จำนวน 21 แห่ง พบว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 1,143,435 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85.73 ของจำนวนผู้รับวัคซีนตัวเลือกทั้งหมด สำหรับผู้รับ วัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่หน่วยจำหน่ายวัคซีน ต้องการให้ได้รับวัคซีนตัวเลือกในลำดับแรก ปรากฏว่า มีจำนวนเพียง 40,975 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.07 ของจำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด
นอกจากนี้ การดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกบางส่วนไม่ได้ฉีดให้กับประชาชนในครั้งแรกเพื่อสร้าง ภูมิคุ้มกันตามเป้าหมายแต่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีน โมเดอร์นาให้กับประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยมีการฉีดวัคซีนตัวเลือก ให้กับประชาชนเป็นเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เพียงจำนวน 89,222 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 25.11 ของจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนทั้งหมด และเป็นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นเข็มกระตุ้น จำนวน 266,085 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 74.89 ของจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนทั้งหมด
ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาให้กับองค์การบริการส่วนจังหวัดทั้ง 6 แห่ง เป็นไปอย่างล่าช้า โดยได้รับวัคซีนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งช่วงเวลาก่อนหน้าได้มีการดำเนินการฉีดวัคซีน ตัวเลือกซิโนฟาร์มและวัคซีนหลักไปก่อนแล้ว ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้ประชาชน สามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งจึงจัดทำหนังสือเพื่อขออนุมัติ เปลี่ยนแปลงการฉีดวัคซีนต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้สามารถฉีดวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้นได้
รายงานผลการตรวจสอบ สตง. ยังระบุเรื่องผลกระทบ การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ 2 ส่วน ดังนี้
1. การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็น ค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท
แม้ว่าวัคซีนที่เหลือส่วนใหญ่จะได้มีการบริจาคให้กับหน่วยงานจำหน่ายวัคซีนจะถูก นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือนำไปแจกจ่ายยังพื้นที่ขาดแคลน แต่ผู้รับประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้เสียงบประมาณในการจัดหาวัคซีนดังกล่าว
2. การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหาวัคซีนตัวเลือก บางส่วนไม่สอดคล้องกับแผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็น “วาระแห่งชาติ” อันเป็นผลมาจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 6 แห่งต้องนำวัคซีนโมเดอร์นาบางส่วนไปฉีดให้กับประชาชนเป็นเข็มกระตุ้น แทนการฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จำนวน 266,085โดส คิดเป็นเงินงบประมาณรวมจำนวน 292.69 ล้านบาท
เบื้องต้น สตง. ได้จัดทำข้อเสนอแนะ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหา วิกฤติโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่แล้ว