สตง. สอบโครงการจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย เสี่ยงภัย อสม. เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโควิด -19 ชุมชน ช่วงปี 63-64 พบกิจกรรมหลักทำได้แค่จ่ายเงินอย่างเดียว 9,841.06 ล้าน ส่วนกิจกรรมอื่นส่งเสริมสนับสนุนบทบาท เพิ่มศักยภาพความสามารถ ไม่บรรลุผล จี้ทบทวนแนวทางดำเนินการใหม่ในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ที่ใช้จ่ายเงินไปกว่า 9,841.06 ล้านบาท พบว่า การดำเนินกิจกรรมในโครงการ ยังไม่ส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของ อสม.ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. เป็นเพียงกิจกรรมเดียวในโครงการที่ใช้จ่ายเงินทั้งจากเงินงบกลางฯ และเงินกู้ฯ การเบิกจ่ายดังกล่าว จึงไม่ส่งผลหรือเชื่อมโยงต่อการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ส่งผลด้านขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานหรือ อสม. โดยมิได้มีกิจกรรมอื่นใด ในโครงการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงการเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของ อสม.เพื่อให้มีบทบาทตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ในรายงาน สตง. ระบุว่า โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการมอบหมายให้อสม. ปฏิบัติงานในการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ซึ่ง อสม. ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จึงจะได้รับเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในอัตรา 500 บาทต่อคนต่อเดือน
สตง. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัยดังกล่าว ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 โครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางและเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รวมทั้งสิ้น 9,924.16 ล้านบาท เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพต่อไป
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการค่าตอบแทน เยียวยาชดเชย และเสี่ยงภัยฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564 พบว่า การดำเนินกิจกรรมในโครงการ ยังไม่ส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของ อสม.ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ได้แก่
1) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของอสม. ในการสื่อสารให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงสำรวจและติดตามอาการประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนในชุมชน
2) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการสนับสนุนบทบาท อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูทางด้านจิตใจแก่ประชาชน ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน
3) เพื่อสนับสนุนบทบาท อสม. ในการจัดกระบวนการพัฒนาบทบาทของประชาชน/ชุมชนในการสร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่วมสร้างตำบลวิถีใหม่ ปลอดภัยโควิด 19
จากการตรวจสอบรายละเอียดการดำเนินงานตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในเอกสารโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว พบว่า กิจกรรมเดียวที่ดำเนินการโดยใช้จ่ายเงินในโครงการได้แก่ การดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และจากการพิจารณาเอกสารผลการเบิกจ่าย ช่วงเดือนมีนาคม 2563 –กันยายน 2564 พบว่า กรมบัญชีกลางได้เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,841.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.16 ของวงเงินทั้งหมดที่มีการอนุมัติ (จำนวน 9,924.16 ล้านบาท) คงเหลือจำนวน 83.10 ล้านบาท
จากการวิเคราะห์ข้อมูลตามเอกสาร แนวทาง ขั้นตอน หรือวิธีการปฏิบัติงานของ อสม. หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภารกิจที่ อสม. ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอโครงการเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการของโครงการ
สรุปได้ว่า ไม่พบว่ามีกิจกรรมใดที่เป็นเพิ่มพูนความสามารถหรือศักยภาพของ อสม. เพื่อให้มีทักษะหรือเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการสื่อสารให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้แก่ประชาชน หรือมีความสามารถในการออกแบบสำรวจและติดตามอาการประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนในชุมชน หรือการเตรียมความพร้อม หรือให้ความรู้ ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 ว่าต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค COVID-19 และช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูทางด้านจิตใจแก่ประชาชน ในระดับหมู่บ้านชุมชนอย่างไรหรือจะสนับสนุนบทบาท อสม. อย่างไร ให้มีศักยภาพในการจัดกระบวนการพัฒนาบทบาทของประชาชน/ชุมชน ในการสร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรค COVID-19 และร่วมสร้างตำบลวิถีใหม่ ปลอดภัยโควิด 19 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอโครงการได้กำหนดเกณฑ์ชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ โดยใช้จำนวนร้อยละของ อสม. ที่ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการซึ่งมิใช่ตัวชี้วัดที่มีคุณสมบัติที่ดีในการวัดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ โดยเห็นได้ว่าไม่มีความเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์ สอดคล้องใด ๆ กับวัตถุประสงค์ของโครงการ อีกทั้ง การนำกิจกรรมการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน มาเป็นกิจกรรมในการดำเนินโครงการเพียงกิจกรรมเดียวและไม่สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์โครงการโดยเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศหรือหนังสือสั่งการกำหนด รองรับการปฏิบัติงานในการเบิกจ่ายอยู่แล้ว
จึงอาจมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้และสมเหตุสมผลมากกว่าการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. เป็นเพียงกิจกรรมเดียวในโครงการที่ใช้จ่ายเงินทั้งจากเงินงบกลางฯ และเงินกู้ฯ
การเบิกจ่ายดังกล่าวจึงไม่ส่งผลหรือเชื่อมโยงต่อการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ส่งผลด้านขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานหรือ อสม. โดยมิได้มีกิจกรรมอื่นใดในโครงการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงการเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของ อสม.เพื่อให้ อสม. มีบทบาทได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แม้ผลการปฏิบัติงานของ อสม. บางส่วนอาจสอดคล้องตามวัตถุประสงค์บางประการแต่ก็มิอาจวิเคราะห์เชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนจนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโครงการหรือการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. ดังนั้น จึงส่งผลต่อประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินทั้งหมดโดยยังไม่บังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
เบื้องต้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พิจารณาดำเนินการ ว่า หากในอนาคตเกิดสถานการณ์ระบาดด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรือกรณีต้องจัดทำโครงการในลักษณะเช่นนี้อีก ให้พิจารณาทบทวนการจัดทำข้อเสนอโครงการสิ่งที่สำคัญคือการกำหนดกิจกรรมหรืองานที่ต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการ ต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและสนับสนุนต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการอย่างชัดเจน สมเหตุสมผล
ทั้งนี้ การจัดทำข้อเสนอโครงการต้องให้เป็นไปตามหลักการที่ยอมรับทั่วไป ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการที่ดีต้องมีความสอดคล้องสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสมเหตุสมผล การกำหนดตัวชี้วัดของโครงการต้องสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้อย่างชัดเจน เมื่อดำเนินโครงการแล้วต้องมีการติดตามประเมินผลสำเร็จของโครงการในทุกมิติ เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับในการพิจารณาจัดทำโครงการหรือขอรับการจัดสรรงบประมาณในครั้งถัดไป
อีกทั้ง ขอให้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่นำมาใช้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ขอบเขต วัตถุประสงค์ของแหล่งเงินงบประมาณแต่ละแหล่งอย่างเคร่งครัดทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า และไม่เป็นภาระทางการเงินการคลังของรัฐโดยเฉพาะกรณีเป็นเงินกู้ที่เกิดภาระดอกเบี้ย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องนำเงินจากภาษีของประชาชนไปใช้คืน