"...เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด –19 เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะได้นำข้อมูลสถานพยาบาลที่มีการเรียกเก็บค่าบริการฉีดวัคซีนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตรวจสอบ แจ้งไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการได้รับค่าใช้จ่ายในการให้บริการฉีดวัคซีนของสถานพยาบาลดังกล่าว และให้ดำเนินการคืนเงินซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับสปสช. ต่อไป..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท
ซึ่งมีข้อสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. การจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า การจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม โดยจากการตรวจสอบพบปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวัคซีนเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน ในพื้นที่จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.50 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด มีวัคซีนคงเหลือ ที่ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05ของจำนวน วัคซีนทั้งหมด จำนวน 2,802,959 โดส ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการกับ วัคซีนที่เหลือแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการบริจาคให้หน่วยงานจำหน่ายวัคซีนรวมจำนวน 116,810โดส (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 114,982 โดส สภากาชาดไทย 1,828 โดส) บริจาคให้กับโรงพยาบาล ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนจำนวน 50,714 โดส มีวัคซีนสูญเสียจำนวน 13,398 โดส และมีการทำลายวัคซีน เนื่องจากหมดอายุ จำนวน 6,577 โดส
2. การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็น ค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท
- เหลือ1.9 แสนโดส-ทิ้ง6.5 พัน! สตง.สอบงบวัคซีนโควิด2.8 พันล.40อปท.-ไม่คุ้มค่า168.54 ล. (1)
- เปิดผลสอบสตง.(1) ปัญหา40อปท.จัดซื้อวัคซีนโควิด 2.8พันล. 'ล่าช้า-ความไม่ชัดเจนของ รบ.' (2)
- เปิดผลสอบ สตง.(2) อุปสรรคแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด 40 อปท.เหลือใช้เพียบ 197,602 โดส (3)
ทั้งนี้ นอกเหนือจากข้อมูลสำคัญทั้ง 2 ส่วนแล้ว
ในรายงานผลการตรวจสอบสตง. ยังมีการระบุข้อสังเกตเกี่ยวกับ ค่าบริการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเกิดความซ้ำซ้อน พร้อมแจ้งไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อตรวจสอบ และให้ดำเนินการคืนเงินด้วย
ปรากฏรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
สตง. ระบุว่า จากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 31 แห่ง ต้องเสียค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับสถานพยาบาลเพื่อมาดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมเป็นเงินจำนวน 294.64 ล้านบาท
นอกเหนือจากค่าบริการฉีดวัคซีนที่เรียกเก็บจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว สถานพยาบาลยังจะได้รับเงินสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกทางหนึ่ง
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรภาครัฐและเอกชนที่จะระดมกำลังเข้ามาเป็นตัวแทนของรัฐในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยกำหนดค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (สำหรับประชาชนไทยทุกคน) เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถานบริการที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่ประชาชนไทยทุกคน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จ่ายแบบเหมาจ่าย ในอัตรา 40 บาทต่อครั้งต่อคน จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง
จากการตรวจสอบการได้รับค่าใช้จ่ายในการให้บริการฉีดวัคซีนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสถานพยาบาลที่มีการเรียกเก็บค่าบริการฉีดวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 3 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชนจำนวน 15 แห่ง
พบว่า สถานพยาบาลของรัฐทั้งหมดและสถานพยาบาลของเอกชนจำนวน 9 แห่ง ได้รับค่าบริการฉีดวัคซีนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามเงื่อนไขที่กำหนดในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หากสถานพยาบาลดังกล่าว ซึ่งมีการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกทั้งหมด 1,845,360 โดส ได้รับเงินสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติมอีกในอัตรา 40 บาท/ครั้ง จะทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มรวมเป็นเงินจำนวน73.81 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน และเสียโอกาสที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า
ทั้งนี้เป็นผลมาจากไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับต้นทุนค่าใช้จ่าย และในการดำเนินการจัดหาสถานพยาบาลมาให้บริการฉีดวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะการตกลงราคาจึงทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน
รายงานสตง. ยังระบุด้วยว่า ปัญหาความซ้ำซ้อนดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถานบริการเอกชน ดำเนินการตรวจสอบการได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าเป็นการได้รับค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือไม่
กรณีพบว่าได้รับการสนับสนุนซ้ำซ้อน ขอให้ดำเนินการคืนเงินซึ่งได้รับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวมายัง สปสช. ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด –19 เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะได้นำข้อมูลสถานพยาบาลที่มีการเรียกเก็บค่าบริการฉีดวัคซีนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตรวจสอบ แจ้งไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการได้รับค่าใช้จ่ายในการให้บริการฉีดวัคซีนของสถานพยาบาลดังกล่าว และให้ดำเนินการคืนเงินซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับสปสช. ต่อไป
ทั้งหมดเป็นข้อสังเกต สตง. เกี่ยวกับ ค่าบริการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเกิดความซ้ำซ้อน พร้อมแจ้งไปยังสปสช. เพื่อตรวจสอบ และให้ดำเนินการคืนเงินด้วย
ผลการดำเนินการส่วนนี้เป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงจาก สปสช. เป็นทางการอีกครั้ง