"...การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็นค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท แม้ว่าวัคซีนที่เหลือส่วนใหญ่จะได้มีการบริจาคให้กับหน่วยงานจำหน่ายวัคซีนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือนำไปแจกจ่ายยังพื้นที่ขาดแคลน แต่ผู้รับประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้เสียงบประมาณในการจัดหาวัคซีนดังกล่าว ..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท
ส่วนแรก เกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า การจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ซึ่งพบปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวัคซีนเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน ในพื้นที่จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.50 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด มีวัคซีนคงเหลือ ที่ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05ของจำนวน วัคซีนทั้งหมด จำนวน 2,802,959 โดส ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการกับ วัคซีนที่เหลือแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการบริจาคให้หน่วยงานจำหน่ายวัคซีนรวมจำนวน 116,810โดส (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 114,982 โดส สภากาชาดไทย 1,828 โดส) บริจาคให้กับโรงพยาบาล ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนจำนวน 50,714 โดส มีวัคซีนสูญเสียจำนวน 13,398 โดส และมีการทำลายวัคซีน เนื่องจากหมดอายุ จำนวน 6,577 โดส
- เหลือ1.9 แสนโดส-ทิ้ง6.5 พัน! สตง.สอบงบวัคซีนโควิด2.8 พันล.40อปท.-ไม่คุ้มค่า168.54 ล. (1)
- เปิดผลสอบสตง.(1) ปัญหา40อปท.จัดซื้อวัคซีนโควิด 2.8พันล. 'ล่าช้า-ความไม่ชัดเจนของ รบ.' (2)
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลส่วนที่เหลือ เกี่ยวกับข้อตรวจพบเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็น ค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท พร้อมทั้งสาเหตุและข้อเสนอแนะ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรวัคซีนตามลำดับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งตามแผนดังกล่าวจะเน้นให้ประชาชนได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยประชาชนแต่ละรายจะต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 ครั้ง โดยเว้นระยะระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาตั้งแต่2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน สำหรับกลุ่มเป้าหมายของประชาชนที่จะได้รับวัคซีนตัวเลือกจะเน้นกลุ่มผู้พิการผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มองค์กรด้านการแพทย์และการสาธารณสุข หรือบุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ซึ่งยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 มาก่อน
แต่จากการตรวจสอบผลการฉีดวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า การบริหารการฉีดวัคซีนตัวเลือกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รายละเอียด ดังนี้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีวัคซีนคงเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวัคซีนเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.50 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด โดยมีวัคซีนคงเหลือที่ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05ของจำนวนวัคซีนทั้งหมด จำนวน 2,802,959 โดส
ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการกับวัคซีนที่เหลือแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการบริจาคให้หน่วยงานจำหน่ายวัคซีนรวมจำนวน 116,810โดส (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 114,982 โดส สภากาชาดไทย 1,828 โดส) บริจาคให้กับโรงพยาบาลที่ดำเนินการฉีดวัคซีนจำนวน 50,714 โดส มีวัคซีนสูญเสียจำนวน 13,398 โดส และมีการทำลายวัคซีนเนื่องจากหมดอายุ จำนวน 6,577 โดส
2. การดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กับประชาชนส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนการกระจายวัคซีน
จากการตรวจสอบแผนการกระจายวัคซีนตามลำดับกลุ่มเป้าหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พบว่า แผนการกระจายวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จัดทำขึ้นก่อนที่จะมีการลงทะเบียนผู้ขอรับวัคซีนตัวเลือก โดยจำนวนกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่กำหนดไว้ตามแผนเป็นการกระจายวัคซีนจะประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้นในท้องถิ่นเท่าที่จะหาได้ในช่วงเวลานั้น
ยังไม่ได้มีการสำรวจความต้องการวัคซีนตัวเลือกที่แท้จริง
เมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชน ปรากฏว่า มีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้บางส่วนไม่มารับวัคซีนตัวเลือก ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือต้องขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้มีการนำวัคซีนไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของจำนวนผู้รับวัคซีนตัวเลือกในแต่ละกลุ่มเป้าหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถแยกกลุ่มเป้าหมายได้ จำนวน 21 แห่ง พบว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 1,143,435 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85.73 ของจำนวนผู้รับวัคซีนตัวเลือกทั้งหมด
สำหรับผู้รับวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่หน่วยจำหน่ายวัคซีนต้องการให้ได้รับวัคซีนตัวเลือกในลำดับแรก ปรากฏว่า มีจำนวนเพียง 40,975 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ3.07 ของจำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด
3. การดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกบางส่วนไม่ได้ฉีดให้กับประชาชนในครั้งแรกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามเป้าหมายแต่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาให้กับประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยมีการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนเป็นเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เพียงจำนวน 89,222 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 25.11ของจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนทั้งหมด และเป็นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นเข็มกระตุ้น
จำนวน 266,085 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 74.89 ของจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนทั้งหมด
ทั้งนี้เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาให้กับองค์การบริการส่วนจังหวัดทั้ง 6 แห่ง เป็นไปอย่างล่าช้าโดยได้รับวัคซีนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งช่วงเวลาก่อนหน้าได้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มและวัคซีนหลักไปก่อนแล้ว ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งจึงจัดทำหนังสือเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการฉีดวัคซีนต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้สามารถฉีดวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้นได้
ผลกระทบ
การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบ ดังนี้
1. การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็นค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท
แม้ว่าวัคซีนที่เหลือส่วนใหญ่จะได้มีการบริจาคให้กับหน่วยงานจำหน่ายวัคซีนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือนำไปแจกจ่ายยังพื้นที่ขาดแคลน แต่ผู้รับประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้เสียงบประมาณในการจัดหาวัคซีนดังกล่าว
2. การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกบางส่วนไม่สอดคล้องกับแผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็น “วาระแห่งชาติ” อันเป็นผลมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 6 แห่งต้องนำวัคซีนโมเดอร์นาบางส่วนไปฉีดให้กับประชาชนเป็นเข็มกระตุ้นแทนการฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จำนวน 266,085โดส คิดเป็นเงินงบประมาณรวมจำนวน 292.69 ล้านบาท
สาเหตุ
การบริหารจัดการฉีดวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมายหลักผู้รับวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของผู้รับวัคซีนหลักของกระทรวงสาธารณสุข โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ขอรับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของหน่วยจำหน่ายวัคซีนทั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสภากาชาดไทย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของการจัดหาวัคซีนหลักของกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นปัญหาทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดหากลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ ทำให้ต้องขอขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือขอเปลี่ยนแปลงให้สามารถฉีดวัคซีนตัวเลือกเป็นเข็มกระตุ้นได้
2. ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนใจไปรับวัคซีนจากแหล่งอื่น จากลักษณะการลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งมีการดำเนินการแยกออกจากกันระหว่างวัคซีนหลักของกระทรวงสาธารณสุข และวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ประกอบกับไม่มีการจำกัดสิทธิการลงทะเบียนขอรับวัคซีนของประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนรับวัคซีนจากหลายหน่วยงานและเลือกรับวัคซีนตามช่วงเวลาและชนิดของวัคซีนที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องรอรับวัคซีนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงแห่งเดียว จึงทำให้การดำเนินการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลพื้นฐานไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการจำแนกผู้ลงทะเบียนขอรับวัคซีนให้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากตามแบบฟอร์มการลงทะเบียนขอรับวัคซีนตัวเลือกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดทำขึ้นส่วนใหญ่จะไม่มีหัวข้อให้ประชาชนระบุกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นกลุ่มใด และแม้ว่าจะมีการกำหนดให้ระบุกลุ่มเป้าหมายแต่ข้อมูลที่ได้รับบางส่วนก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชาชนที่มีอยู่จริงในพื้นที่เพื่อแสดงให้เห็นจำนวน และลักษณะต่าง ๆ ของประชากรตามที่อยู่จริง ที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบการจัดบริการสาธารณะได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และควรเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพโรคประจำตัวของกลุ่มเสี่ยงจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เข้ากับระบบดังกล่าวอย่างครบถ้วน เป็นช่องทางหลักช่องทางเดียวสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อให้ระบบสามารถจำแนกกลุ่มเป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้รวมทั้งยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงทางการเมืองหรือการปล่อยให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชน
2. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์วิกฤติจำเป็นต้องมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางของนโยบายและมาตรการในการแก้ไขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการทำงานสร้างความเชื่อมั่นต่อการให้บริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
อันจะนำไปสู่การร่วมมือที่ดี
*************
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับปัญหาการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท ที่สตง. ตรวจสอบพบ และข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคตได้อีก