"...ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินการในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้การจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส ่วนท้องถิ่นดำเนินการไม่ทันต่อสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอ โดยในช่วงต้นปีพ.ศ. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รุนแรงและการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้แสดงเจตนาต้องการจัดซื้อวัคซีน แต่ในระยะแรกรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการเนื่องจากต้องการดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท
โดยพบปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจากการตรวจสอบผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวัคซีนเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน ในพื้นที่จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.50 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด มีวัคซีนคงเหลือ ที่ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05ของจำนวน วัคซีนทั้งหมด จำนวน 2,802,959 โดส ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการกับ วัคซีนที่เหลือแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการบริจาคให้หน่วยงานจำหน่ายวัคซีนรวมจำนวน 116,810โดส (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 114,982 โดส สภากาชาดไทย 1,828 โดส) บริจาคให้กับโรงพยาบาล ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนจำนวน 50,714 โดส มีวัคซีนสูญเสียจำนวน 13,398 โดส และมีการทำลายวัคซีน เนื่องจากหมดอายุ จำนวน 6,577 โดส
ขณะที่ การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางส่วนไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณส่วนที่เป็น ค่าวัคซีนคงเหลือซึ่งไม่ได้นำไปใช้ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส คิดเป็นเงินรวมจำนวน 168.54 ล้านบาท
ต่อไปนี้เป็นรายงานฉบับเต็ม ผลการตรวจสอบ ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดดังกล่าว
มีรายละเอียดดังนี้
@ ที่มาและความสำคัญ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มพบผู้ติดเชื้อเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ในต่างประเทศ และพบในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2564 มีกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กระจายในหลายพื้นที่ รวมถึงพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายอย่างสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การได้รับวัคซีนโควิด - 19 ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั่วถึงและรวดเร็ว คือทางออกจากวิกฤติการระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ได้ผลที่สุด
รัฐบาลได้มีการประกาศแผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวันเริ่มต้นการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด - 19 แต่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนก็ยังมีปัญหาจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ จึงเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้โดยจังหวัดในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานีจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,857.23 ล้านบาท
ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนรวมจำนวน 2,785,064 โดส เป็นเงินรวมจำนวน 2,501.22 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 2,415,064 โดส เป็นเงินจำนวน 2,094.22 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 370,000 โดสเป็นเงินรวมจำนวน 407.00 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นเงินรวมจำนวน 356.01 ล้านบาท
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) เห็นความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอในภาวะวิกฤติที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ หากขาดการประสานงานที่ดีจนทำให้ไม่สามารถเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วตรงตามกลุ่มเป้าหมาย หรือลดจำนวนผู้ป่วยได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด –19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการติดตามประเมินผล และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้จ่ายงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
โดยจากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ และข้อสังเกตดังนี้
@ ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ที่มีไม่เพียงพอ ในฐานะกลไกระดับท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดจึงได้มีการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดหาวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด –19 ให้มีภูมิคุ้มกันโรคสามารถกลับมาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้อย่างปกติสุข ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด และเป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน รวมถึงการสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง พบว่า การจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ พิจารณาได้จากการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า และส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า
จากการตรวจสอบระยะเวลาดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด – 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง พบว่า
1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาตั้งแต่จองวัคซีนจนได้รับวัคซีนมากกว่า 1 เดือน โดยการจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 37 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 92.50 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ใช้ระยะเวลาในการจัดหาวัคซีนมากกว่า 1 เดือน และการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 6 แห่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่การจองวัคซีนจนได้รับวัคซีนเฉลี่ยมากกว่า 3 เดือน โดยมีการส่งมอบวัคซีนจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกไม่เต็มตามจำนวนที่สั่งซื้อในคราวเดียวกัน ทำให้การดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต้องล่าช้าออกไป โดยจากการตรวจสอบการส่งมอบวัคซีนซิโนฟาร์ม พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 20 แห่ง ส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อวัคซีนจำนวนมากกว่า 30,000 โดส ขึ้นไปจะได้รับวัคซีนเป็นงวด ๆ จนครบตามจำนวนที่สั่งซื้อภายในระยะเวลา 2 – 4 เดือน รวมจำนวนวัคซีนที่ได้รับจำนวน 2,261,060 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 93.59 ของจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อทั้งหมด
สำหรับการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 6 แห่ง พบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมดได้รับการส่งมอบวัคซีนไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อในคราวเดียวกันมีการทยอยจัดส่งจนครบตามจำนวนที่สั่งซื้อภายในระยะเวลา 3 - 7 เดือน
3) การจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับวัคซีนในช่วงเวลาเดียวกันกับการได้รับจัดสรรวัคซีนหลักโดยจากการเปรียบเทียบจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหากับจำนวนวัคซีนหลักที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ 6 จังหวัด พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม 2564 เป็นช่วงเวลาที่ประสบปัญหาวัคซีนหลักไม่เพียงพอ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้รับจัดสรรวัคซีนหลักเพียงจำนวน 1,368,051โดส เท่านั้น และการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้รับส่งมอบวัคซีนตัวเลือกเพียงจำนวน 116,510 โดส เท่านั้น
การจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอในขณะนั้น และในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับวัคซีนตัวเลือกเป็นจำนวนมาก ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการจัดสรรวัคซีนหลักให้กับจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวนวัคซีนตัวเลือกและวัคซีนหลักในพื้นที่ 6 จังหวัด มากกว่า1,000,000 โดส ขึ้นไป
2. การจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนหลักของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด – 19 ตามความสมัครใจครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร โดยมีการจัดทำแผนคาดประมาณการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาเดือนมิถุนายน – กันยายน 2564 และแจ้งให้จังหวัดมีการเตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล การกำหนดช่องทางการลงทะเบียนและการจัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนและตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ได้กำหนดให้การจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดด้วยเช่นกัน เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด
ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องมีการควบคุมกำกับดูแลการจัดหาวัคซีนตัวเลือก และวางระบบการบริหารการฉีดวัคซีนหลักและวัคซีนตัวเลือกให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุม ทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการฉีดวัคซีนบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบการบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 6จังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ทั้งในส่วนของการกำหนดจำนวนวัคซีนการจัดทำทะเบียนผู้ขอรับวัคซีน และการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือก
กล่าวคือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด มีการกำหนดแนวทางการจัดหาวัคซีนไม่ชัดเจนและไม่ได้มีการควบคุมให้การจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้แต่เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้ โดยมีการกำหนดแนวทางไว้อย่างกว้าง ๆให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนไม่เกินร้อยละ 20 – 30 ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมดเนื่องจากแผนการจัดสรรวัคซีนหลักจะจัดสรรให้ทุกจังหวัดให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดจึงกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนตัวเลือกให้กับประชาชนในส่วนที่เหลือให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด จากการตรวจสอบจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องการจัดหาวัคซีนตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 14 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 35.00 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด มีจำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้เป็นความต้องการของผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพทางการคลังที่หน่วยงานของตนเองจะสามารถจัดหาได้การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากการตรวจสอบการจัดทำทะเบียนผู้ขอรับวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวัคซีนหลักของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 6 จังหวัด พบว่าส่วนใหญ่จะมีลักษณะต่างคนต่างดำเนินการ ไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 39 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 97.50 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดมีการจัดทำทะเบียนผู้ขอรับวัคซีนตัวเลือกของตนเอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการลงทะเบียนซ้ำซ้อน และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 31 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 77.50 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ได้ใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐในการให้บริการฉีดวัคซีนร่วมกับวัคซีนหลัก ต้องจัดหาสถานพยาบาลในการให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายและต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาล รวมเป็นเงินจำนวน 294.64 ล้านบาท
ผลกระทบการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอส่งผลกระทบ ดังนี้
1. วัคซีนตัวเลือกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาบางส่วนไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถจัดหาได้ทันในช่วงที่เกิดสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอ แต่กลับได้รับวัคซีนตัวเลือกมาในระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการจัดสรรวัคซีนหลัก ทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนรับวัคซีนตัวเลือกไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปลี่ยนใจไปรับวัคซีนจากแหล่งอื่น ส่งผลให้จำนวนวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงเหลือไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนจำนวน 197,602 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05 ของจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อทั้งหมดจำนวน 2,802,959 โดส
2. ประชาชนเกิดความสับสนในการลงทะเบียนรับวัคซีนจากหน่วยงานของรัฐ อันเป็นผลมาจากการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการเป็นแผนการจัดหาวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ไม่สามารถใช้ข้อมูลการลงทะเบียนรับวัคซีนจากระบบเดียวกันได้ จึงทำให้เกิดปัญหาการลงทะเบียนซ้ำซ้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 53 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 56.38 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมด 94 ราย ให้ข้อมูลว่า การลงทะเบียนผู้ขอรับ
วัคซีนจากหลายหน่วยงานทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม
อันเป็นผลมาจากการขาดการบูรณาการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ซึ่งมีลักษณะแยกการดำเนินการระหว่างวัคซีนหลักและวัคซีนตัวเลือก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถประสานงานกับสถานพยาบาลของรัฐในพื้นที่เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนได้จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างสถานพยาบาลเอกชนหรือจ่ายค่าบริการให้กับสถานพยาบาลของรัฐที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ โดยมีอัตราค่าบริการแตกต่างกันทั้งที่เป็นการให้บริการในลักษณะเดียวกันซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องวิธีการและพื้นที่ดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
สถานพยาบาลเอกชนบางแห่งมีการเรียกเก็บค่าบริการฉีดวัคซีนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูงกว่าสถานพยาบาลเอกชนรายอื่นที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันหรือจังหวัดข้างเคียงถึงสองเท่า
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกันทำให้เกิดความแตกต่างของจำนวนวัคซีนตัวเลือก
อันเป็นผลมาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีการกำหนดแนวทางการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ชัดเจน และไม่มีการควบคุมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนตามแนวทางที่กำหนด โดยจากการเปรียบเทียบยอดเงินสะสมคงเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาให้กับประชาชน พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มียอดเงินสะสมคงเหลือจำนวนมากจะสามารถจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนมากเช่นกัน
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มียอดเงินสะสมตั้งแต่ 100.00 –500.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 16 แห่ง ส่วนใหญ่จะจัดหาวัคซีนในจำนวนที่ต่ำกว่า 10,000 โดส และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มียอดเงินสะสมมากกว่า 500.00 – 2,000.00 ล้านบาท จำนวน 10 แห่ง ส่วนใหญ่จะจัดหาวัคซีนในจำนวนมากกว่า 10,000 โดส
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มียอดเงินสะสมมากกว่า 2,000.00 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 12 แห่ง ส่วนใหญ่จะจัดหาวัคซีนในจำนวนมากกว่า 100,000 โดส และจังหวัดที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการฯ หลายแห่ง ก็จะมีจำนวนวัคซีนตัวเลือกในพื้นที่จำนวนมากกว่าจังหวัดที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการฯ จำนวนน้อยซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายวัคซีนที่ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในแต่ละพื้นที่
@ สาเหตุ
การจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เกิดจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้
สาเหตุของความล่าช้าในการดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินการในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้การจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการไม่ทันต่อสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอ โดยในช่วงต้นปีพ.ศ. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รุนแรงและการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้แสดงเจตนาต้องการจัดซื้อวัคซีน แต่ในระยะแรกรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการเนื่องจากต้องการดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลมีนโยบายจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนให้ได้สัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่วันที่7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จึงมีการอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มดำเนินการจัดหาวัคซีน
ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลใช้ระยะเวลานานกว่าจะตัดสินใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดหาวัคซีนได้ ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอน โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 13 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 35.14 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมด 37 ราย ให้ข้อมูลว่า ปัญหาสำคัญของการดำเนินการจัดหาวัคซีนเกิดจากความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องวัคซีนป้องกันโรค COVID - 19ตั้งแต่เริ่มต้น
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีปัญหาการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานจำหน่ายวัคซีน โดยเฉพาะการจัดซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เมื่อมีการจองวัคซีนผ่านระบบไปแล้ว ไม่มีการแจ้งผลว่าการจัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 13แห่ง จองวัคซีนผ่านระบบออนไลน์แล้วได้รับแจ้งภายหลังว่าเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ต้องจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ทำให้ได้รับการพิจารณาจัดสรรวัคซีนล่าช้าออกไป และไม่สามารถติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 56 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 59.57 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมด 94 ราย ให้ข้อมูลว่า มีปัญหาในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานจำหน่ายวัคซีน โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาในการบันทึกข้อมูลในระบบออนไลน์การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำได้ยากมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โดยตรง
3. การพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานจำหน่ายวัคซีนว่าจะจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจำนวนเท่าไหร่และในช่วงเวลาใด ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถติดตามหรือเร่งรัดหรือดำเนินการใด ๆ ได้โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 23 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 63.89 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมดจำนวน 37 ราย ให้ข้อมูลว่าความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนขึ้นอยู่กับการพิจารณาจัดสรรวัคซีนของหน่วยงานจำหน่ายวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ทันทีเมื่อได้รับแจ้งจัดสรรวัคซีน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขที่มีศักยภาพเพียงพอจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เองจากการตรวจสอบการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 40 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงจำนวน 2 แห่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยใช้หน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิในสังกัด สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลืออีกจำนวน 38 แห่ง ซึ่งมีศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดจำนวน 5 แห่งแต่เป็นศูนย์บริการขนาดเล็ก และจำนวน 33 แห่ง ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุข จึงไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประสานงานกับสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนที่มีความชำนาญมาให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงจำนวน 7 แห่ง ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 31 แห่ง ต้องใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในพื้นที่ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราค่าบริการแตกต่างกันตั้งแต่เข็มละ 50.00–300.00 บาท
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 5 แห่ง ต้องเสียค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับสถานพยาบาลของรัฐรวมเป็นเงินจำนวน 5.15 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 26 แห่ง มีการเสียค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับสถานพยาบาลของเอกชนรวมเป็นเงิน 289.49 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กับประชาชน พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาในการจัดหาสถานพยาบาลและนัดหมายวัน เวลาในการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากกว่า 15 วัน หลังจากได้รับแจ้งจัดสรรวัคซีนจากหน่วยจำหน่ายวัคซีน และในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลนั้น ๆ ว่าจะมีความพร้อมดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือกได้ในช่วงเวลาใด ในแต่ละรอบของการแจ้งจัดสรรวัคซีน หากใช้บริการโรงพยาบบาลเอกชนที่มีการให้บริการฉีดวัคซีนกับหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ต้องรอตามรอบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ หากใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งต้องดำเนินการฉีดวัคซีนหลักให้กับประชาชนด้วย ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนตัวเลือกในลำดับรองเพราะจะต้องดำเนินการฉีดวัคซีนหลักในความรับผิดชอบของหน่วยงานก่อน
สาเหตุของการยังไม่เกิดการบูรณาการเป็นแผนการจัดหาวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด
1. ความไม่แน่นอนของจำนวนวัคซีนหลักที่จังหวัดจะได้รับจัดสรรจากส่วนกลาง ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขาดข้อมูลที่ชัดเจน สำหรับใช้ประกอบการพิจารณากำหนดจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาได้อย่างเหมาะสม โดยจากการตรวจสอบจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาของแต่ละจังหวัดได้รับจริงในช่วงเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม 2564 พบว่าจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาในแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนวัคซีนตามแผนคาดประมาณการ ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพแจ้งความประสงค์ต้องการจัดหาวัคซีนตัวเลือก คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงอนุมัติให้จัดซื้อตามจำนวนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ โดยจากการสัมภาษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดถึงปัญหาอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวม ได้รับข้อมูลว่า ความล่าช้าในการจัดสรรและการกระจายวัคซีนหลักของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ เป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ทำให้ต้องมีการแสวงหาวัคซีนจากแหล่งต่าง ๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากไม่สามารถรอการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขเพียงแหล่งเดียว ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับจำนวนเท่าใดและเมื่อใด
2. ขาดฐานข้อมูลเชิงบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นเอกภาพ จากการตรวจสอบพบว่า จังหวัดทั้ง 6 จังหวัด ยังไม่มีข้อมูลเชิงบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นเอกภาพโดยข้อมูลประชากรใช้ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ที่ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงทั้งหมดในพื้นที่ซึ่งมีทั้งประชากรแฝง และแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจำนวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่สามารถแยกตามเขตพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ไม่ทราบว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าใด และจะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวนเท่าใด ข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ไม่มีข้อมูลหรือไม่สามารถเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 43 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 45.74 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมด 94 รายให้ข้อมูลว่า มีปัญหาระบบฐานข้อมูลไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือขาดการเชื่อมโยง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการวางแผนการจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินภารกิจด้านสาธารณสุขในช่วงภาวะวิกฤติโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในระดับชุมชนมากขึ้น แทนการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เพราะระบบสาธารณสุขในระดับชุมชนมีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ผ่านมา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการวางแผนทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล ด้วยการอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสาธารณสุขในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองในภาวะวิกฤติโรคระบาดซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ต่อไป
2. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งพัฒนาทักษะของบุคลากรในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เช่น การนำระบบ e - service มาให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง การใช้แอปพลิเคชัน Zoom สำหรับการประชุมสื่อสารระหว่างกันในองค์กรการพัฒนาแอปพลิเคชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ หรือการนำแอปพลิเคชันมาใช้สำหรับการลงทะเบียนประชาชนผู้เดินทาง เข้า – ออก พื้นที่ เป็นต้น
3. ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลประชากรและข้อมูลด้านสาธารณสุขในจังหวัดร่วมมือกันพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบบูรณาการให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยเฉพาะข้อมูลจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมทั้งประชากรแฝง และแรงงานต่างชาติ และข้อมูลด้านสุขภาพรายบุคคลที่จำเป็น เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล การแพ้ยา โรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นต้น
โดยมีการจัดทำให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างตรงจุดและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่
*** หมายเหตุข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. เรื่องนี้ ยังไม่จบ ยังมีปัญหา การบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในตอนต่อไป