“…ตอนแรกเราทำไว้ที่ 2.8% แต่พอมีข่าวว่าจีนจะเปิดประเทศเร็วขึ้น อันนี้จะเป็นตัวอัพไซด์จากตัวเลข 2.8% และถ้าจีนมาได้จริงๆ ก็น่าจะเกิน 3% เพราะนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาทุกๆ 1 ล้านคน จะดันจีดีพีได้ 0.2-0.3% ของจีดีพี สมมติว่าคนจีนเข้ามาซัก 2-3 ล้านคน จากเดิมที่เราคาดว่าจะมี 1 ล้านคน จีดีพีจะเพิ่มจากที่เราประเมินไว้ 0.5%...”
......................................
ปี 2566 เป็นอีกปีที่มีความท้าทาย สำหรับเศรษฐกิจไทย
เพราะแม้ว่าก่อนสิ้นสุดปี 2565 จะข่าวดีว่า ทางการจีนประกาศเปิดประเทศ ‘เต็มรูปแบบ’ ในวันที่ 8 ม.ค.2566 หลังจากเดินหน้านโยบาย Zero-Covid หรือ ‘โควิดเป็นศูนย์’ มาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ‘ทะลัก’ ออกนอกประเทศ ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนเหล่านั้น
แต่ทว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ที่กำลังเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน หลังจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆของโลก เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัว นั้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อ ‘การส่งออก’ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกไทยในเดือน พ.ย.2565 ที่หดตัว -6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้ว นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 (อ่านประกอบ : หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ')
@‘แบงก์ชาติ’ มองเศรษฐกิจโต 3.7% ท่ามกลางความเสี่ยงศก.โลก
“ปีนี้เราคาดการณ์ว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 20 ล้านคน บวกลบ และเนื่องจากรายได้แรงงานไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ ก็จะเป็นตัวที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่ต่อเนื่อง ปีนี้เราคาดว่าจะเห็นตัวเลข (จีดีพี) 3% ต่ำๆ
ส่วนปีหน้าจะเห็นตัวเลขที่ 3.7% และแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ แต่มีโอกาสที่ตัวเลขจะสูงกว่า 3% ก็มีไม่น้อย” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ‘Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge’ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2565 ก่อนที่จีนประกาศเปิดประเทศในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา
ขณะที่ข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท. นั้น ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งสำคัญจาก ‘การท่องเที่ยว’ และ ‘การบริโภคภาคเอกชน’ ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงนั้น จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้เพียง 1% เท่านั้น จากปี 2565 ที่คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวที่ 7.4%
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธ.ค.2565)
“เรามีความเชื่อและมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังฟื้นได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง และการส่งออกไทยถูกกระทบ จนทำให้คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะเติบโตเพียง 1% ก็ตาม เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้า
จะถูกเอื้อด้วยการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมาจากรายได้ต่างๆที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และตัวสำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจเรา คือ ภาคการท่องเที่ยว” เศรษฐพุฒิ ระบุ (อ่านประกอบ : ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’)
@‘สภาพัฒน์’ คาดจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3-4% แม้ส่งออกโต 1%
เช่นเดียวกัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-4% เทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 1% จากเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังย่ำแย่
“เศรษฐกิจไทยฟื้นได้ตัวชัดเจนมาก โดยพระเอก คือ อุปสงค์ภายในประเทศ โดยตัวเลขไตรมาส 3/2565 การอุปโภคบริโภคภายในประเทศขยายตัว 9% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวถึง 11% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากแบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนนางเอก คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยประเมินปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก 23.5 ล้านคน...
แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐและยุโรป จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากเงินเฟ้อพุ่งสูง ซึ่งภาครัฐต้องช่วยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ” อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สศช. กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ ‘Chula Econ Forum’ เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ย.2565 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัว 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยปี 2566 สศช.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 23.5 ล้านคน ภายใต้สมมติฐานว่าจีนเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ,การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการอนุมัติการลงทุนในปี 2563-64 ที่ค่อนข้างสูง หากเร่งรัดการลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และการขยายตัวที่ต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ (อ่านประกอบ : ‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%)
(ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565)
@‘คลัง’ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.8%-‘ธนาคารโลก’ ให้ 3.6%
ส่วน กระทรวงการคลัง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.8% โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะมาชดเชยการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง ขณะที่การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบ 2566 ที่มีขาดดุล 6.9 แสนล้านบาท จะมีช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าแรงกระตุ้นภาครัฐจะเริ่มจำกัดก็ตาม
ขณะที่ ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานการติดตามเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือน ธ.ค.2565 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.6% ซึ่งลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมในเดือน มิ.ย.2566 อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
“เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2565 แต่ในปี 2566 จะขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้อันเป็นผลมาจากแรงต้านของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัว 3.4% ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 3.6% ในปี 2566
ซึ่งการขยายตัวในปี 2566 ถูกปรับลดลง 0.7% เทียบกับประมาณการเดิมในเดือน มิ.ย.2565 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย” ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ
@‘เกียรตินาคินภัทร’ มองเศรษฐกิจโตเกิน 3%-ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยง
ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ KKP ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 2.8% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญ แต่เมื่อจีนมีการเปิดเมือง ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 2.8%
“ตอนแรกเราทำไว้ที่ 2.8% แต่พอมีข่าวว่าจีนจะเปิดประเทศเร็วขึ้น อันนี้จะเป็นตัวอัพไซด์จากตัวเลข 2.8% และถ้าจีนมาได้จริงๆ ก็น่าจะเกิน 3% เพราะนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะดันจีดีพีได้ 0.2-0.3% ของจีดีพี เช่น สมมติว่าถ้าคนจีนเข้ามาซัก 2-3 ล้านคน จากเดิมที่เราคาดว่าจะมี 1 ล้านคน จีดีพีจะเพิ่มจากที่เราประเมินไว้ 0.5%” พิพัฒน์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ทั้งนี้ พิพัฒน์ มองว่า แม้ว่าจีนได้ยกเลิกนโยบาย Zero-Covid และเปิดประเทศแล้ว แต่นักท่องเที่ยวจากจีนน่าจะคาดหวังได้ในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า เหมือนกับในช่วงต้นปี 2564 ที่ประเทศไทยมีการเปิดเมือง แต่คนก็ยังไม่กล้าบินไปแม้กระทั่งภูเก็ต การท่องเที่ยวจึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่จำนวนเครื่องบินที่จะบินออกมาจากเมืองจีน คงไม่ได้กลับมาเร็วนัก
พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่น่ากังวลและจะเป็นตัวดาวน์ไซด์เศรษฐกิจไทยลงมา คือ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากวิกฤติราคาพลังงานในยุโรป และอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นมากในสหรัฐ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ และยุโรป เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และจะส่งผลกระทบมาถึงไทยผ่านการส่งออก
“ก่อนหน้านี้ส่งออกเราโต 10% แต่ในช่วง 2 เดือนหลัง (ต.ค.-พ.ย.2565) เราเริ่มเห็นติดลบแล้ว อย่างล่าสุดเดือน พ.ย.2565 การส่งออกติดลบ 6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินค้าที่ชะลอลง โดยเราคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะติดลบ พอการส่งออกกระทบ ก็จะไปกระทบการจ้างงาน การผลิต รวมถึงราคาสินค้าเกษตรด้วย” พิพัฒน์ กล่าว
(พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ที่มาภาพ PIER)
พิพัฒน์ กล่าวว่า เมื่อมองถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เห็นว่ามีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 3 เรื่อง ที่น่ากังวล ได้แก่ 1.เรื่องโควิด เพราะหากโควิดไม่จบจริง เช่น มีการกลายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น จากจีน และมีการดื้อยา เมืองไทยคงแย่
2.เรื่องการเมือง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 หากมองในแง่ดี จะเป็นโอกาสและความหวังในการนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศไทย แต่หากนโยบายที่นำมาถกเถียงกันนั้น เป็นนโยบายประชานิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในส่วนนี้ไป และรัฐบาลใหม่อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกเมื่อ
“เมืองไทยมีความท้าทายระยะยาวค่อนข้างเยอะ ซึ่งอันนี้จะเป็นโอกาสให้เราเอาเรื่องพวกนี้มาคุยกัน แต่แทนที่จะคุยกันเรื่องนโยบายที่เป็นความหวัง กลับเอานโยบายระยะสั้นไปถกกัน หรือนโยบายส่วนใหญ่ที่เอามาเถียงกัน ก็เป็นประชานิยม พูดกันเรื่องความรับผิดชอบทางการคลัง จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราเสียโอกาส…
และหากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล นั่นก็จะส่งผลถึงความต่อเนื่องของนโยบายว่า ตกลงว่าที่ทำมาก่อนหน้านี้ รัฐบาลใหม่จะทำต่อหรือไม่ หรือแนวนโยบายใหม่ๆเกิดขึ้นหรือเปล่า ส่วนข้าราชการ ในระหว่างนี้ น่าจะเกียร์ว่างไป เพราะเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็ไม่รู้ว่าหัวหน้าใหม่เป็นใคร ไม่รู้ว่าใครกุมบังเหียน
ที่สำคัญเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วขึ้นมาจริงๆ มีความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ เรื่อง political accident (อุบัติเหตุทางการเมือง) ว่า จะมีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีค่ายกล ประตูลับ เช่น แผนปฏิรูป 20 ปี ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ทำ ก็ผิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลมีสิทธิ์ล้มได้เลย แล้วยังเรื่องเสียง ส.ว.อีก” พิพัฒน์ ย้ำ
และ3.ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์ของภาคครัวเรือน และ SMEs ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินในระดับสูง เพราะหากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นเร็วพอ ครัวเรือนและ SMEs ก็จะมีปัญหาเรื่องหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น
@คาด ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ เกิน 20 ล้านคน หลังจีนเปิดประเทศ
ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า CIMBT มองว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัว 3.4% จากปี 2565 ที่จะเติบโต 3.2% โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน และภาคบริโภคที่ขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อระดับกลางและบน
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 นั้น จะทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายใช้สอยในประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด เราจึงมองปัจจัยการเลือกตั้งจะมีผลในเชิงบวกกับเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่อาจชะลอการลงทุน เพราะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลต่อไปก่อน
“เดิมทีเราคาดว่าจีนจะเปิดเมืองประมาณกลางปี 2566 ซึ่งจะทำให้เรามีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่เมื่อจีนเปิดประเทศค่อนข้างเร็ว เราก็คิดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากกว่าที่คาด ส่วนการเมืองในปี 2566 ที่จะมีการเลือกตั้ง ก็มีจะบรรยากาศการใช้จ่ายที่ดีขึ้น” อมรเทพ ระบุ
อมรเทพ กล่าวว่า ในด้านการลงทุนภาคเอกชนนั้น คาดว่าปีนี้เอกชนจะมีการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับกำลังซื้อที่แท้จริง ขณะที่การลงทุนในภาคการผลิตนั้น คงต้องพึ่งพาการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้โดยเร็วหรือไม่
สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในปีนี้ คือ ภาคการส่งออก โดย CIMBT มองว่าการส่งออกในปี 2566 จะติดลบ 1% เนื่องจากตลาดโลกกำลังแย่ และกำลังซื้อจากต่างประเทศก็ดูอ่อนแอ เช่น สหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็เติบโตต่ำมาก ส่วนเศรษฐกิจยุโรปน่าจะถดถอย และเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดูไม่ดีนัก ทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง
“เมื่อสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ราคาน้ำมันก็ลดลงตาม ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการส่งออกของเราดูไม่ค่อยดีนัก และการส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ในปี 2566 ก็น่าแผ่วลง เพราะกำลังซื้อจากต่างประเทศอ่อนแอ เราจึงมองว่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบ 1%” อมรเทพ กล่าว
(อมรเทพ จาวะลา ที่มา : CIMBT)
อมรเทพ ประเมินว่า แม้ว่าจีนประกาศเปิดประเทศแล้ว แต่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น เพราะจีนน่าจะเน้นการกระตุ้นภายใน แตกต่างจากในช่วงปี 2551 ที่เศรษฐกิจจีนเป็นตัวดึงให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ และมีสิ่งที่ต้องติดตาม คือ หากจีนเปิดเมืองเร็วจนเกินไป จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไป
“ทุกประเทศเวลาเปิดเมือง ดีมานด์จะพุ่งเร็วกว่าซัพพลาย จะเกิดภาวะไม่สมดุล ทำให้ต้นทุนสูง และหากจีนส่งสินค้ามาบ้านเราในราคาแพง เราก็จะมีเงินเฟ้อที่สูงขึ้น” อมรเทพ กล่าว
อมรเทพ ระบุด้วยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2566 น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.4% แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาเดิมๆ คือ ปัญหาการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะจีดีพีที่เติบโต 3.4% นั้น มาจากธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อระดับกลางและระดับบน ในขณะที่กำลังซื้อระดับล่าง และกำลังซื้อในภาคเกษตร ยังมีปัญหาอยู่
อมรเทพ กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีกระต่าย แต่อย่าเป็นกระต่ายตื่นตูม เพราะมีความเสี่ยงเยอะมาก โดยมี 3 ปัจจัยที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว คือ เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ,สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ และจีนอาจกลับมาล็อกดาวน์อีก และมี 3 เรื่องที่เพิ่มในปีนี้ คือ วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ,อาจเกิดวิกฤติทางการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ และโควิดกลายพันธุ์”
เหล่านี้เป็นมุมมองของหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชน เกี่ยวกับทิศทางและสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 และยังมีหลาย ‘ปัจจัยเสี่ยง’ ที่ยังคงต้องจับตากันต่อไป!
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66