“…(2) ถ้าการรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการโทรคมนาคม และไม่มีมาตรการใดๆ แก้ไขสภาพปัญหาการลด หรือการผูกขาดในการให้บริการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่แท้ กสทช. อาจมีคำสั่ง “ห้ามการรวมธุรกิจ” ตามนัยข้อ 8 ของประกาศปี 2549…”
........................................
แม้ว่าขณะนี้การพิจารณา ‘คำขอ’ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
จะยังไม่ได้ข้อสรุป
เนื่องจากในการประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. เห็นควรให้รอรายงานผลการศึกษาจาก ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ จากต่างประเทศ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งส่งมาให้ ‘สำนักงาน กสทช.’ ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ก่อน
และมีการคาดหมายว่า การประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาวาระ ‘รายงาน’ การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ น่าจะได้ข้อยุติในเรื่องนี้
“กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้น ข้อมูลทุกด้าน จึงมีความสำคัญต่อการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติในวันที่ 20 ต.ค.นี้” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุ (อ่านประกอบ : คาดได้ข้อยุติ 20 ต.ค.นี้! ‘บอร์ด กสทช.’ เลื่อนเคาะดีลควบ TRUE-DTAC รอรายงานที่ปรึกษาฯ)
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘อำนาจ’ ของ กสทช. ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ว่ามีมากน้อยเพียงใด นั้น
เมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านกฎหมาย ที่มี วราวุธ ศิริยุทธวัฒนา อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจดำเนินงานของ กสทช. ในการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ก. และบริษัท ข. เรื่องเสร็จที่ 1139/2565 ก่อนสรุปเป็นรายงานกว่า 30 หน้า และเสนอไปยัง กสทช. (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ตีความควบธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นอำนาจ ‘กสทช.’ ใช้ดุลพินิจ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานการศึกษาฉบับดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ สรุปได้ดังนี้
@การพิจารณาคำขอรวมธุรกิจ ต้องเป็นไปตาม‘ขั้นตอน’กฎหมาย
กระบวนการพิจารณาคำร้องขอรวมธุรกิจ
การพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูฯ และดีแทคฯ เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาหรือสั่งการของ กสทช. (ฝ่ายปกครอง) จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง
ดังนั้น การพิจารณาคำร้องขอรวมธุรกิจ กสทช. พึงต้องระมัดระวังกระบวนการพิจารณาและการออกคำสั่งทางปกครองให้ครบถ้วนและถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อความสมบูรณ์ของคำสั่งทางปกครอง
โดยก่อนเริ่มการพิจารณา กสทช. จะต้องตรวจสอบรายงานการรวมธุรกิจว่า ได้ดำเนินการตามกฎหมาย และ/หรือประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้วหรือไม่
เมื่อเริ่มการพิจารณา กสทช. จะต้องพิจารณาว่า การที่สำนักงาน กสทช. รับรายงานการรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการหรือผู้มีอำนาจควบคุมและเสนอเรื่องต่อมายัง กสทช. นั้น ได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ เมื่อเรื่องเสนอมายัง กสทช. แล้วนั้น กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอรายงานการรวมธุรกิจมานั้น เพียงพอแก่การพิจารณาแล้วหรือไม่
โดยหากเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การพิจารณานั้น กสทช. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จนเห็นว่าเพียงพอต่อการพิจารณาแล้ว จึงจะสามารถพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดได้
ทั้งนี้ กสทช. จะต้องตรวจสอบด้วยว่า การพิจารณาในเรื่องดังกล่าว กฎหมายและหรือประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดแบบพิธีการ หรือขั้นตอนอย่างหนึ่งอย่างใดให้ กสทช. และหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เช่น การรับฟังความเห็นสาธารณะ เป็นต้น
อนึ่ง การดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและการพิจารณา พึงจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จการออกคำสั่งทางปกครอง จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประกอบกับกฎหมายและประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
@ต้องชั่ง ‘สมดุล’ ระหว่าง ‘ความเสียหายเอกชน’กับ‘ประโยชน์สังคม’
โดยกรณีการมีคำสั่งเกี่ยวกับการรวมธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตหรือห้ามการรวมธุรกิจ หรือการกำหนดมาตรการและหรือเงื่อนไขเฉพาะนั้น ถือเป็นการดำเนินการในเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กสทช. จึงต้องกระทำด้วยวิธีการประชุมและมีมติในเรื่องดังกล่าว ตามนัยมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 เท่านั้น
นอกจากนี้ คำสั่งทางปกครองดังกล่าว หากเป็นการกำหนดให้ผู้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจจะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด อันมีลักษณะเป็นการกำหนดภาระเพิ่มเติมให้กับผู้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจนั้น คำสั่งดังกล่าวจะต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาตามหลักความได้สัดส่วน
คือ การออกคำสั่งที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจ และเกิดความสมดุลระหว่างความเสียหายของเอกชนกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการปฏิบัติหรือบังคับตามคำสั่ง และพิจารณาตามหลักความจำเป็น คือ การออกคำสั่งที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้รับคำสั่งน้อยที่สุด
โดยในกรณีของการกำหนดมาตรการเฉพาะในการรวมธุรกิจ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ไขหรือลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสภาพปัญหาการผูกขาดหรือสภาพการแข่งขันที่จำกัด
ดังนั้น การพิจารณาหรือสั่งการใดๆ เหตุผลในการกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องมั่นใจได้ว่าจะทำให้เกิดผลตามความมุ่งหมายดังกล่าวได้จริง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดตามตรวจสอบในภายหลัง และต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่เอกชนเกินสมควร
ภายหลังจากที่ กสทช. ได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น กระบวนการในการแจ้งคำสั่งดังกล่าว ของ กสทช. ไปยังผู้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจ จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เช่น การแจ้งคำสั่งทางปกครองจะต้องมีการระบุซึ่งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผล ในการมีคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจได้ทราบ เป็นต้น
@ยกเหตุผล-ข้อกม. ชี้ ‘กสทช.’ มี ‘อำนาจ’ พิจารณาการรวมธุรกิจ
อำนาจในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของ กสทช.
กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เนื่องจาก
1.ทรูฯ และ ดีแทค มีการขอรวมธุรกิจแบบของการควบบริษัท (Amalgamation) ตามมาตรา 146 พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2553 ทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ คือ (NewCo) ที่ได้รับโอนทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบทั้งหมด และผลประโยชน์การลงทุนในนิติบุคคลอื่นของทรูและดีแทค ที่เป็นการลงทุนในนามของ NewCo ทั้งนี้ บริษัทผู้รับใบอนุญาตเดิม ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของทรูฯ และดีแทคฯ จะยังคงอยู่ (บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต จำกัด)
2.การรวมธุรกิจของทรูฯ และดีแทคเข้าลักษณะ “การรวมธุรกิจ” ตามนิยามในข้อ 3 (1) และข้อ 5 ของประกาศปี 2561 ที่กำหนดว่า การที่ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอันส่งผลให้สถานะของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งคงอยู่ และผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามสัญญาร่วมค้า
และตามข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ให้ถือว่าการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศปี 2561 ข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” ตามมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างทรูฯ และดีแทค จึงเข้าลักษณะของ “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน" (ข้อสังเกต คือ ประกาศ กสทช. ปี 2561 เป็นประกาศที่ออกมาเพื่อเป็นส่วนขยายของประกาศ กสทช. ปี 2549 เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อ 3 ของประกาศ กสทช ปี 2561 ที่กำหนดนิยาม “การรวมธุรกิจ” ไว้ จะเป็นการนำเอาลักษณะการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามประกาศ กสทช. ปี 2549 ข้อ 8 และเพิ่มเติมลักษณะการควบบริษัท (Amalgamation) เพิ่มเติมไว้ภายใต้นิยามคำว่า “การรวมธุรกิจ”)
3.การรวมธุรกิจผลการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลป้องกันมิให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และประชาชนผู้ใช้บริการ ตามมาตรา 61 ประกอบมาตรา 40 และมาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 27 (11) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมาตรา 21 และ 22 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
และการที่ข้อ 9 ของประกาศ ปี 2561 กำหนดให้การยื่นขอรวมธุรกิจตาม ข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ปี 2549 ที่จะพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตอย่างมีเงื่อนไขเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมได้ และการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้เป็นการกำหนดตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 เท่าที่จำเป็น เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน
ทั้งนี้ การพิจารณาประเด็นการรวมธุรกิจ หรือการพิจารณากำหนดเงื่อนไข อาจส่งผลต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในทางใดทางหนึ่ง และส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้น จึงผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงต้องกระทำโดยมติของที่ประชุม
และต้องเปิดเผยรายงานการประชุม พร้อมทั้งผลการลงมติของที่ประชุมทั้งรายบุคคลและทั้งคณะให้สาธารณชนทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน กสทช. และโดยวิธีการอื่น ที่เหมาะสมตามที่ กสทช. ตามมาตรา 24 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
@มอง ‘กสทช.’ มี 3 ทางเลือกชี้ขาดดีลควบธุรกิจ TRUE-DTAC
4.การพิจารณาคำร้องขอรวมธุรกิจ กสทช. อาจพิจารณาออกคำสั่งได้ดังนี้
(1) ถ้าการรวมธุรกิจไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. อาจมีคำสั่ง “อนุญาต” โดยไม่มีการกำหนดมาตรการเฉพาะ หรือเงื่อนไขในการรวมธุรกิจ
(2) ถ้าการรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการโทรคมนาคม และไม่มีมาตรการใดๆ แก้ไขสภาพปัญหาการลด หรือการผูกขาดในการให้บริการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่แท้ กสทช. อาจมีคำสั่ง “ห้ามการรวมธุรกิจ” ตามนัยข้อ 8 ของประกาศปี 2549
(3) ถ้าการรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อแก้ไขการจะก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคมได้
กสทช. สามารถอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจ ตามข้อ 8 ของประกาศ 2549 และกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคมตามข้อ 12 ประกาศ 61 และข้อ 16 ประกาศ 2549 ควบคู่กันไปได้ นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดมาตรการเฉพาะชั่วคราวเพื่อคุ้มครองผู้รับใบอนุญาตที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่จะได้รับผลกระทบต่อการรวมธุรกิจในครั้งนี้ด้วยก็ได้
อนึ่ง การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสามารถกำหนดได้ทั้งเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการก่อนการรวมธุรกิจเพื่อการป้องกันมิให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม
ดังนั้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขหรือมาตรการดังกล่าว ก็มีผลทำให้ไม่สามารถรวมธุรกิจได้ และเงื่อนไขหรือมาตรการที่ต้องดำเนินการหลังการรวมธุรกิจ เพื่อใช้ในการแก้ไขการณีที่เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้จะถือเป็นการขัดต่อเงื่อนไขหรือมาตรการที่กำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย
เหล่านี้เป็นสรุป ‘ความเห็น’ ของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านกฎหมาย ฉบับล่าสุด ที่มีการเสนอไปให้ กสทช.พิจารณา ก่อนที่ กสทช. จะนัดประชุมเพื่อชี้ชะตาดีลรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ในวันที่ 20 ต.ค.นี้!
อ่านประกอบ :
คาดได้ข้อยุติ 20 ต.ค.นี้! ‘บอร์ด กสทช.’ เลื่อนเคาะดีลควบ TRUE-DTAC รอรายงานที่ปรึกษาฯ
‘TRUE-DTAC’ เรียกร้อง ‘กสทช.’ เร่งพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจ หวั่นผู้บริโภคเสียประโยชน์
‘บอร์ด กสทช.’ นัดถกดีลควบ ‘TRUE-DTAC’ 12 ต.ค.นี้-‘พิรงรอง’ ยันยึดประโยชน์สาธารณะ
‘บอร์ด กสทช.’ รับทราบหนังสือ ‘กฤษฎีกา’ แจ้งผลตีความอำนาจควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ตีความควบธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นอำนาจ ‘กสทช.’ ใช้ดุลพินิจ
‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ ‘กสทช.’ ปมควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ 6 ประเด็น
เบื้องหลังสั่งลบ‘5 Facts ควบ TRUE-DTAC’-โชว์หนังสือ‘ปธ.กสทช.’คุมอำนาจแพร่ข่าวคนเดียว
หารือรอบ 2! เปิดหนังสือ‘กสทช.’ ชง‘นายกฯ’สั่ง‘กฤษฎีกา’ตีความ 6 ปมข้อกฎหมายควบ TRUE-DTAC
มติ'กสทช.'ยื่น'นายกฯ'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC-แพร่ข้อมูล '5 Facts รวมธุรกิจ
‘อนุฯที่ปรึกษากม.’หนุน‘กสทช.’ชง‘นายกฯ’สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจถกควบ TRUE-DTAC รอบสอง
จ่อยื่นรอบ 2! 'กสทช.'มอบ'อนุฯกม.'ถก ก่อนชง'บิ๊กตู่'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC
'กสทช.'ตั้ง'ทีมกุนซือกม.'ชุดใหม่ 'บวรศักดิ์'ประธานฯ 'จรัญ-เข็มชัย-สุรพล-สมคิด'กรรมการ