เปิดรายงานศึกษา ‘ที่ปรึกษาต่างประเทศ’ ชี้หากมีการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC จะทำให้การแข่งขันลดลง-ค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งเสริมให้เกิด ‘ผู้เล่นรายใหม่-MVNO’ ทำได้ยาก
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลื่อนการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เนื่องจากเห็นควรให้รอรายงานผลการศึกษาผลกระทบกรณีการวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จาก ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ จากต่างประเทศ ก่อน และได้นัดประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค.นี้ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2565 สำนักงาน กสทช. ได้รับมอบรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC (A Study on the Impact of a Proposed Merger) ของที่ปรึกษาฯ คือ SCF Associates LTD แล้ว ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะเสนอรายงานฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุม กสทช. ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในวันที่ 20 ต.ค.นี้
สำหรับผลการศึกษาของ SCF Associates LTD ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น พบว่าผลกระทบที่เกิดจากการรวมธุรกิจ นั้น จะส่งผลต่อการแข่งขันที่ลดลงในตลาด และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาจะเพิ่มขึ้นในส่วนของตลาดค้าปลีกของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรวมถึงตลาดอื่นๆที่มีการขายพ่วงไปกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย
ขณะเดียวกัน ผลจากสภาพตลาดที่ไม่แข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจนั้น การทำให้สภาพตลาดกลับคืนมาด้วยวิธีการเพิ่มการแข่งขันผ่านมาตรการต่างๆ ทำได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม MNO (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายของตัวเอง) รายใหม่ ,การเพิ่มผู้เล่น MVNO (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง) รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแข่งขันหรือทางราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจไทยในภาพรวมได้ผลกระทบรุนแรงได้ ซึ่งจะมีการศึกษาในรายงานงวดต่อไป
“ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย หากไม่มีการแข่งขันที่ดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมในด้านอื่นๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบในภาพกว้างได้ เช่น การลดลงของเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI)
ในทางตรงข้าม ตลาดในประเทศไทยอาจจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อหลายปีก่อนที่มีจำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักเหลือเพียง 2 ราย หรือในประเทศเม็กซิโกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบจากการไม่มีการแข่งขัน ทำให้อัตราค่าบริการอยู่ในราคาที่สูง และการใช้งานอยู่ในระดับต่ำ และขาดแคลนเทคโนโลยีใหม่” รายงานผลการศึกษาฯระบุ
รายงานผลศึกษาฯ ย้ำว่า การควบรวมกิจการจาก 3 ราย เป็น 2 ราย จะทำให้ไทยล้าหลัง เห็นได้จากตัวอย่างของฟิลิปปินส์ โดยธนาคารโลกระบุว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลในฟิลิปปินส์ยังห่างไกลจากศักยภาพอย่างเต็มที่ และประสิทธิภาพของประเทศมักจะตามหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาคหลายแห่ง” ขณะที่ดัชนีการยอมรับดิจิทัลของธนาคารโลก (DAI) และดัชนีย่อย 3 กลุ่ม ผู้คน รัฐบาล และธุรกิจ ระบุว่า ฟิลิปปินส์อยู่หลังค่าเฉลี่ยของโลกในการนำดิจิทัลมาใช้งานโดยทั่วไป
รายงานผลการศึกษาฯ ยังพบว่า การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท TRUE Corp และบริษัท DTAC จะทำให้มีค่า HHI (Herfindahl-Hirschman Index) เพิ่มขึ้น 1,282 ในตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง (ค่า HHI เพิ่มจาก 3,419.9 ในปัจจุบัน เป็น 4,701.9 ภายหลังการควบรวม) เนื่องจากจาก MNO รายหลักที่เดิมมี 3 ราย จะลดลงเหลือ 2 ราย (Duopoly) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการกระจุกตัวของอำนาจตลาดที่อาจเป็นปัญหาได้
เช่น อาจมีการกำจัดคู่แข่ง โดยการเสนอราคาต่ำกว่าต้นทุนเพื่อยึดฐานลูกค้าของคู่แข่ง เช่น ขายพ่วงบริการ หรือลดราคาโดยทั่วไปและให้ความจุบรอดแบนด์ฟรี หรือในด้านค้าปลีกสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ด้วยการเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เป็นต้น ในขณะที่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีขนาดเล็กเกินไป และ MVNO มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงเล็กน้อยและปัจจุบันกำลังหดตัว เนื่องจากเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานฯและคลื่นความถี่ได้น้อยมาก
รายงานผลศึกษาฯยังวิเคราะห์ภาพการแข่งขันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า การแข่งขันแบบเหมารวม (bundling) ระหว่าง AIS กับคู่แข่งรายใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการควบรวม (TRUE และ (DTAC) จะมีความรุนแรงขึ้น แต่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่แล้ว การสร้างข้อเสนอแบบเหมารวมอาจยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากยังไม่มีพันธมิตร และพันธมิตรส่วนใหญ่นั้นจะมีข้อตกลงกับผู้ให้บริการแบบมีโครงข่าย MNO อยู่แล้ว
ส่งผลให้การเข้าสู่ตลาดไทยของผู้ให้บริการรายใหม่ ด้วยบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เว้นแต่จะความแตกต่างในด้านอัตราค่าบริการและบริการที่มีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการรายใหม่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น และแม้ว่าผู้ให้บริการรายใหม่อาจจะสามารถแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานกับรายอื่นได้ เช่น แบ่งปันกับเครือข่าย NT ซึ่งอาจจะสามารถเป็นส่วนสนับสนุนได้ แต่ยังโครงสร้างพื้นฐานของ NT ส่วนใหญ่อาจจะไม่พร้อมใช้งาน
“ผู้ให้บริการรายใหม่อาจประสบปัญหาในการหาสถานีฐานวิทยุคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ สถานีฐาน, wayleave, tower, fiber optical core network เป็นต้น สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอาจถูกผู้ให้บริการที่มีอิทธิพลมากไม่ให้เข้าใช้งานโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ในขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของผู้เล่นรายใหม่ อาจต้องใช้เงินทุนถึง 2-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยาก ส่วนการผลักดันให้เกิด MVNO พบว่ามีข้อจำกัด เนื่องจาก MVNO ยังต้องพึ่งพาโครงข่ายของ MNO ทั้ง 2 รายหลัก” รายงานผลการศึกษาฯระบุ
รายงานผลการศึกษาฯ ระบุด้วยว่า ในกรณีที่ให้มีการควบรวมกัน เพื่อชดเชยการแข่งขันในตลาดที่หายไป อย่างน้อยที่สุดควรมีมาตรการให้ MNO ต้องเสนอราคาในส่วนค้าส่งในอัตราที่มีการกำกับดูแล และผลลัพธ์สุดท้ายควรให้เกิด MVNO จำนวนมาก เช่น ในฝรั่งเศสหรือสหราชอาณาจักร ซึ่งมีผู้เล่น MVNO ที่เข้มแข็ง 10 รายและ 6 ราย และหากเกิดผู้เล่นรายใหม่ได้ ย่อมสามารถฟื้นฟูการแข่งขันจากตลาดที่มีผู้เล่นรายหลัก 2 ราย เช่น การเกิดผู้เล่นรายที่ 3 ของฟิลิปปินส์ แต่วิธีการนี้จำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุน ความพยายาม และการประชาสัมพันธ์จำนวนมาก
“นอกจากการพยายามที่จะทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่แล้ว ยังต้องมีวิธีที่ทำให้ผู้เล่นรายใหม่อยู่รอดในตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคลื่นความถี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยเริ่มต้นหลักในการเข้าสู่ตลาดของ MNO รายใหม่ ถึงแม้ว่า regulator (ผู้กำกับดูแล) สามารถใช้วิธี set-aside (การสงวนคลื่นไว้) สำหรับการประมูลในอนาคต แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากไม่มีมาตรการกำกับดูแลควบคู่ไปด้วยอย่างเหมาะสม” รายงานผลการศึกษาฯระบุ
(A Study on the Impact of a Proposed Merger : กสทช.)
อ่านประกอบ :
เปิดความเห็น‘อนุฯกฎหมาย’! ‘กสทช.’มีอำนาจชี้ชะตาดีล TRUE-DTAC มอง 3 ทางเลือกที่เป็นไปได้?
คาดได้ข้อยุติ 20 ต.ค.นี้! ‘บอร์ด กสทช.’ เลื่อนเคาะดีลควบ TRUE-DTAC รอรายงานที่ปรึกษาฯ
‘TRUE-DTAC’ เรียกร้อง ‘กสทช.’ เร่งพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจ หวั่นผู้บริโภคเสียประโยชน์
‘บอร์ด กสทช.’ นัดถกดีลควบ ‘TRUE-DTAC’ 12 ต.ค.นี้-‘พิรงรอง’ ยันยึดประโยชน์สาธารณะ
‘บอร์ด กสทช.’ รับทราบหนังสือ ‘กฤษฎีกา’ แจ้งผลตีความอำนาจควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ตีความควบธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นอำนาจ ‘กสทช.’ ใช้ดุลพินิจ
‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ ‘กสทช.’ ปมควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ 6 ประเด็น
เบื้องหลังสั่งลบ‘5 Facts ควบ TRUE-DTAC’-โชว์หนังสือ‘ปธ.กสทช.’คุมอำนาจแพร่ข่าวคนเดียว
หารือรอบ 2! เปิดหนังสือ‘กสทช.’ ชง‘นายกฯ’สั่ง‘กฤษฎีกา’ตีความ 6 ปมข้อกฎหมายควบ TRUE-DTAC
มติ'กสทช.'ยื่น'นายกฯ'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC-แพร่ข้อมูล '5 Facts รวมธุรกิจ
‘อนุฯที่ปรึกษากม.’หนุน‘กสทช.’ชง‘นายกฯ’สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจถกควบ TRUE-DTAC รอบสอง
จ่อยื่นรอบ 2! 'กสทช.'มอบ'อนุฯกม.'ถก ก่อนชง'บิ๊กตู่'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC
'กสทช.'ตั้ง'ทีมกุนซือกม.'ชุดใหม่ 'บวรศักดิ์'ประธานฯ 'จรัญ-เข็มชัย-สุรพล-สมคิด'กรรมการ