"...เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 193 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ กฟภ. มีเพียงหน้าที่ในการพิจารณา ในเบื้องต้นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ก่อนส่งความเห็นดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาออกคาสั่งในเรื่องดังกล่าวต่อไป เท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ของ กฟภ. ที่คลาดเคลื่อนดังกล่าว จึงยังไม่ได้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้ใด..."
“จากผลของการสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน มีการปฏิบัติงานที่ขาดความรอบคอบ โดยไม่ศึกษากฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานให้ละเอียดและเกิดความเข้าใจก่อนที่ปฏิบัติงาน จึงทำให้การดำเนินการพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่ระเบียบและแนวทางปฏิบัติกำหนดในครั้งแรก และการพิจารณาให้ความเห็นในเบื้องต้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง ....”
“ดังนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงเห็นควรให้ผู้บังคับบัญชาของนายส. และนายสม. (ชื่ออักษรย่อ) ตักเตือนบุคคลดังกล่าว ให้ปฏิบัติงานให้ละเอียดรอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเห็นควรให้ กฟภ. ทำหนังสือแจ้งเวียนกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก”
นี่คือข้อความในตอนท้ายที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 38 หน้า ต่อกรณีมหากาพย์ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ทำงานไม่แล้วเสร็จในโครงการงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ระบบ 115 เควี ช่วง สถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จ.ปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาท จนมีคำสั่งจากกรมบัญชีกลางในครั้งแรกให้เป็น “ผู้ทิ้งงาน”
แต่เมื่อนางสาวกุลยา ตันติเตมิท เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ได้รับเรื่องอุทธรณ์ และได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมกลับมาเป็น “ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน”
อย่างไรก็ดี ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว มีข้อน่ากังขาอยู่ไม่น้อย อยู่ที่บทลงโทษของ นายส. และนายสม. (ชื่ออักษรย่อ) ทั้งที่บุคคลทั้ง 2 เป็นผู้ที่เห็นด้วยว่า บริษัท บูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวใน กฟภ.ถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กฟภ. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 ได้พิจารณาผลการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ เป็นผู้ทิ้งงาน และการคิดค่าปรับเบื้องต้น ที่ประชุมมีมติให้ กฟภ. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการพิจารณาทิ้งงานของบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ ตามสัญญาจ้าง เลขที่ จ.ป.218/2558 ลว. 16 พ.ย. 2558 โดยประธานกรรมการ กฟภ. ได้มีคำสั่ง กฟภ. ที่ 8/2564 วันที่ 21 ก.ค. 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง (เป็นการแต่งตั้งภายหลังคำสั่งกรมบัญชีกลางครั้งแรกที่ให้บริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564)
รายงานระบุด้วยว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้นำเสนอรายงานผลการเบื้องต้นต่อผู้ว่าการฯ เพื่อแจ้งคณะกรรมการ กฟภ. ทราบครั้งหนึ่งแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 และต่อมาได้รายงานให้คณะกรรมการ กฟภ. ทราบอีกครั้ง ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 ซึ่งที่ประชุมมีมติในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1. ระหว่างปี 2562-2564 เหตุใดจึงไม่มีการดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว 2. ให้รวบรวมคำชี้แจงของบริษัท บูรพาฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มีสาระสาคัญ ซึ่งส่งผลให้กรมบัญชีกลางมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงาน และ 3. กฟภ.ควรอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนบริษัท บูรพาฯ ออกจากการเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ กฟภ.
เรื่องที่ 1 คณะกรรมการฯ รายงานว่า การดำเนินการพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน ในช่วงปี 2562 – 2564 ตามหนังสือ กจค.2(คพ) ลว. 11 ธ.ค. 2562 กจค.2(คพ) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง ได้พิจารณาเหตุผลข้อเท็จจริงของบริษัท บูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมการที่จะเป็นผู้ทิ้งงานจริง หรือจงใจทำให้ กฟภ. เกิดความเสียหายโดยตรง และมิได้ปฏิเสธความรับผิดและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรา ตีข่าวลงเรื่องดังกล่าวว่า กฟภ. บอกเลิกสัญญากับบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ แล้วไม่ดำเนินการลงโทษเป็น ผู้ทิ้งงาน ซึ่งมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ กฟภ. กรณีนี้ กฟภ. จึงได้มีการนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง แล้วเห็นสมควรพิจารณาสั่งให้บริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน และได้มีหนังสือ กฟภ. ลว. 13 ก.ค. 2564 เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง ดังนั้น ในช่วงวันที่ 13 ธ.ค. 2562 - 12 มี.ค. 2564 จึงไม่มีการดำเนินการพิจารณาลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน แต่อย่างใด
เรื่องที่ 2 คณะกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงไล่เรียงมาตามที่กล่าว ประเด็นสำคัญอันดับแรกที่เกี่ยวโยงถึงนายสามารถ ซื่อสัตย์ (ผชช.13 สรก.(วศ)) และนายสมโชค บุญชัยศรี (รฝ.บก.1) ซึ่งในรายงานระบุว่า ทั้งสองคนเป็น หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเป็นผู้ให้ความเห็น “ไม่ทิ้งงาน” มาตั้งแต่ต้น ทั้งในรายงงานและการเรียกเข้าชี้แจง
แต่ประเด็นน่าฉงนคือ แล้วเหตุใดคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงลงความเห็นให้เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นความไม่รอบคอบของบุคคลทั้งสอง ในเมื่อประเด็นการสอบฯ มุ่งไปที่เหตุแห่งที่มาของคำสั่งกรมบัญชีกลางครั้งที่ 2 เพิกถอนรายชื่อบริษัทฯ ออกจากการเป็น “ผู้ทิ้งงาน”
นอกจากนี้ ยังพบประเด็นใหม่ด้วยว่า ในการพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ได้มีการส่งเรื่องให้กองนิติกรรม (กนต.)ของ กฟภ.ให้ความเห็นด้วยถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 7 มี.ค. 2562 โดยพิจารณาแล้ว เข้าข่ายเป็น “ผู้ทิ้งงาน” ส่งผลให้มีการยืนหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงการคลังเวลานั้น ให้บริษัท บูรพาฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือส่งเรื่องคืนเพื่อให้ กฟภ.เปิดโอกาสให้บริษัท บูรพาฯ ชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณา ซึ่งภายหลังบริษัทฯ ส่งคำชี้แจ้งมา จึงเป็นที่มาของ กฟภ.แจ้งบริษัทฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2562
ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 ภายหลังวันที่ 12 มี.ค. 2564 เมื่อสำนักข่าวอิศราตีข่าว กฟภ.บอกเลิกสัญญากับบริษัท บูรพาฯ แล้วไม่ดำเนินการลงโทษเป็น ผู้ทิ้งงาน มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ กฟภ. ส่งผลให้ ผู้ว่าฯ กฟภ.ขณะนั้น (นายสมพงษ์ ปรีเปรม) สั่งให้ส่งหนังสือขอหารือกรมบัญชีกลางต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ตอบกลับมาให้ กฟภ.พิจารณาก่อนว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ซึ่งนายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. (ขณะนั้น) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางว่า พิจารณาแล้ว บริษัทฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมแจ้งเรื่องไปยังผู้ว่าฯ แต่เมื่อผู้ว่าฯ ทราบเรื่อง จึงติงว่า ควรส่งให้ผู้ว่าฯ ดูก่อน และขอให้ถอนเรื่องจากกรมบัญชีกลางออกมาก่อน จนเป็นที่มาของการนำเรื่องให้กองนิติกรรม (กนต.) กฟภ. พิจารณาอีกครั้ง และ กนต.ก็ได้ให้แสดงความเห็น ลงวันที่ 10 ก.ค. 2564 อีกครั้งว่า เข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงาน จนเป็นที่มาของคำสั่งกระทรวงการคลังให้บริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564
นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ยังมีความเห็นยืนยันต่อกรณีข้อโต้แย้งการอ้างข้อมูลใหม่ ทั้งในเรื่องเรื่องการส่งมอบพื้นที่การทำงาน และเรื่องขั้นตอนและแผนการทำงาน เรื่องแรงงานและทีมงานก่อสร้าง เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท บูรพาฯ ตามเงื่อนไขสัญญาและเอกสารประกวดราคา ขณะที่ประเด็นเรื่องระยะเวลาการทำงาน ในตารางความก้าวหน้าของงาน (แผนงาน เทียบกับผลงาน) ระบุว่า “แผนงาน 95.56% ผลงาน 22.28% ล่าช้ากว่าแผน 73.28%” และตามบันทึกอนุมัติ ผวก. ลว. 26 ต.ค. 2561 ระบุว่า บริษัทมีผลงานสะสมจริงจนถึงเดือน ต.ค. 2561 คิดเป็น 33.63% เท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้จะมีเหตุในการขยายระยะเวลาออกไปอีก 67 วัน ก็ตาม แต่เนื่องจากผลงานก่อสร้างของบริษัทฯ คืบหน้าน้อยมาก กรณีนี้ กฟภ. จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
เรื่องที่สาม การอุทธรณ์ กองคดี (กคด.) มีหนังสือ ลว. 12 เม.ย. 2565 ได้พิจารณาความสมเหตุสมผล ในการอุทธรณ์คาสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงานแล้วมีความเห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 193 วรรคหนึ่ง กฟภ. มีเพียงหน้าที่พิจารณาในเบื้องต้นว่าบริษัท บูรพาฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ก่อนส่งความเห็นดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาออกคาสั่งในเรื่องดังกล่าวต่อไป และมีหน้าที่ห้ามก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงาน ตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 111 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 192 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น กฟภ. จึงไม่ใช่ผู้ที่สิทธิจะถูกกระทบกระเทือนจากผลการพิจารณาเรื่องทิ้งงาน และไม่ถือเป็นคู่กรณีตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่จะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 204/2565 สั่ง ณ วันที่ 31 ม.ค. 2565 ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ได้
ขณะที่ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 193 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ กฟภ. มีเพียงหน้าที่ในการพิจารณา ในเบื้องต้นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ก่อนส่งความเห็นดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาออกคาสั่งในเรื่องดังกล่าวต่อไป เท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ของ กฟภ. ที่คลาดเคลื่อนดังกล่าว จึงยังไม่ได้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้ใด
ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของ กฟภ. ที่มีคำสั่งลงโทษตักเตือน 2 พนักงาน ให้บมจ.บูรพา เทคนิคอล เป็นผู้ทิ้งงาน ที่สำนักข่าวอิศราได้รับการเปิดเผยล่าสุด
ข้อเท็จจริงอีกด้านเป็นอย่างไร คงต้อรอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงเป็นทางการอีกครั้ง
แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับโครงการฯ นี้ ที่ยังไม่ได้มีการพูดถึงกันมากนัก คือ นับตั้งแต่ บมจ.บูรพา เทคนิคอล คู่สัญญาไม่ได้เข้าไปทำงานและถูกบอกเลิกสัญญาปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
โครงการงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ระบบ 115 เควี ช่วง สถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จ.ปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาท มีความคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน
แต่ถ้าหากเจ๊งเลิกไปแล้ว ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบเสียประโยชน์ ก็อาจจะนับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นได้
และใครกันที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง?
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ บมจ.บูรพาฯ ได้ชี้แจงขอความเป็นธรรมมาโดยตลอด ยืนยันว่า การที่ไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 ถึงสถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดบริษัทฯ ประกอบกับมีการส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้แก่บริษัทฯล่าช้า รวมถึงการสั่งเพิ่มลดเนื้องานนอกจากที่ระบุในสัญญา อันไม่ใช่เหตุที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทฯแต่อย่างใด นอกจาก กฟภ. จะมิได้พิจารณาขยายระยะเวลาอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยให้แก่บริษัทฯอีก แต่ยังได้มีการคิดค่าปรับจากการส่งงานล่าช้าเป็นเงินค่าปรับจำนวน 20,125,000 บาท เมื่อหักกลบกับค่างานที่บริษัทฯดำเนินการไปแล้ว บริษัทฯยังคงต้องชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก 6,856,407 บาท โดยบริษัทฯยินยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดตามที่ กฟภ. เรียกร้องครบถ้วนแล้ว
(อ่านคำชี้แจงฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้ บมจ.บูรพาฯขอความเป็นธรรม‘ฉัตรชัย’ ชง ก.คลังเลิกคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงานสร้างสายส่งไฟฟ้า)
อ่านข่าวประกอบ :
- เปิดปม! กฟภ.ไม่ลงโทษเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน? หลังบอกเลิกสัญญาระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (1)
- อ้างเหตุสุดวิสัย! เปิดหนังสือ กฟภ. แจ้งเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.(2)
- เจอตั้งเสาเปล่าริมถนนหลักสิบต้น! ตามไปดูโครงการสายส่งระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (3)
- 'อิศรา' ถาม 'กฟภ.' ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- ส่องโครงการระบบไฟฟ้าสะบ้าย้อย-ปัตตานี 175 ล. -ทำไมผู้รับเหมาส่งงานครบไร้ปัญหา
- ก.คลังให้ บมจ.บูรพาฯเป็นผู้ทิ้งงาน! ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- ขอความเป็นธรรม!บมจ.บูรพาฯ ยื่นปลัดคลังปม กฟภ.กลับลำให้เป็นผู้ทิ้งงาน ยันชดใช้แล้ว 26 ล.
- ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘ผู้ว่าฯ กฟภ.’ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน ปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- สหภาพ กฟภ.ทวงถาม‘ฉัตรชัย’ สอบปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน
- บมจ.บูรพาฯขอความเป็นธรรม‘ฉัตรชัย’ ชง ก.คลังเลิกคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงานสร้างสายส่งไฟฟ้า
- ผ่ากระบวนการอุทธรณ์เรื่องเพิกถอน บมจ.บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน รวดเร็วมากจริงหรือ?