"...ขอยืนยันว่าการดำเนินงานของ กฟภ. เป็นไปตามระเบียบ ไม่มีการออกหนังสือชุบตัวให้บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เข้ามารับงานในกฟภ.ต่อ หลังจากที่ถูกบอกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท ไปแล้วอย่างแน่นอน..."
....................................
1. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มีเจตนาที่จะดําเนินเนินงานก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยมีการดําเนินงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ทําให้มีปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในส่วนของสถานการณ์บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานที่มีความประสงค์จะทํางานในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้การดําเนินงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าน้อยมาก และจากการตรวจสอบงานก่อสร้างสายส่งและระบบจําหน่ายที่ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญาในช่วงเวลาเดียวกัน จํานวน 3 สัญญา บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นดําเนินงานก่อสร้างและแล้วเสร็จตามสัญญา
2. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มิได้ปฏิเสธความรับผิดชอบและ ยินยอมชําระค่าปรับให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จากเหตุผลข้อเท็จจริงข้างต้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พิจารณาแล้วสามารถรับฟังได้ ซึ่งแสดง ว่ามีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แม้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้าง ดังนั้น จึงไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน
คือ คำชี้แจงของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ส่งให้สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รับทราบ (อ่านประกอบ : คำชี้แจง กฟภ. กรณีเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.)
ต่อกรณีสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่า ในช่วงปลายปี 2561 กฟภ.ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญางานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ พร้อมแจ้งขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา และดำเนินการเกี่ยวกับการเป็นผู้ทิ้งงานตามกฎหมาย
แต่หลังจากนั้น กฟภ. ยังคงทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายนี้เข้ามารับงานหลายสัญญา โดยไม่ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) ในฐานะผู้รับเหมาทิ้งงาน ตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560
ก่อนที่ในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 กฟภ. จะทำหนังสือฉบับที่ 2 แจ้งถึงบริษัทฯ ว่าจะไม่ลงโทษบริษัท โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แม้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับเมื่อ กฟภ. ขอยกเลิกสัญญาบริษัทฯ ก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดชอบและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น จึงเห็นสมควรไม่ลงโทษบริษัทฯ ให้เป็นผู้ทิ้งงาน อันนำมาซึ่งข้อสงสัยต่อการดำเนินการโครงการฯ นี้ ของกฟภ. หลายประการ (กดดูคลิป)
(อ่านประกอบ : เปิดปม! กฟภ.ไม่ลงโทษเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน? หลังบอกเลิกสัญญาระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (1)), อ้างเหตุสุดวิสัย! เปิดหนังสือ กฟภ. แจ้งเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.(2), เจอตั้งเสาเปล่าริมถนนหลักสิบต้น! ตามไปดูโครงการสายส่งระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (3))
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. และทีมงาน ได้เดินทางมาที่สำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วยตนเอง
"ขอยืนยันว่าการดำเนินงานของ กฟภ. เป็นไปตามระเบียบ ไม่มีการออกหนังสือชุบตัวให้บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เข้ามารับงานในกฟภ.ต่อ หลังจากที่ถูกบอกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท ไปแล้วอย่างแน่นอน"
@ นุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ.
นายนุกูล ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ก่อนที่จะอธิบายรายละเอียดการยกเลิกงานโครงการฯ นี้ และออกหนังสือแจ้งไม่ลงโทษบริษัทฯ ให้เป็นผู้ทิ้งงานตามมาในภายหลังดังที่ปรากฎเป็นข่าว
"โครงการนี้ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2558 วางระบบสายส่งไฟฟ้าความยาวประมาณกว่า 30 กิโลเมตร แต่เมื่อใกล้จะถึงกำหนดส่งมอบงานตามสัญญา กฟภ.ได้รับแจ้งจากบริษัทว่ามีปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานหลายประการ จำเป็นต้องขอขยายเวลาการส่งมอบงาน ประมาณ 3-4 เดือน กฟภ.ก็ขยายเวลาให้ แต่เมื่อใกล้จะครบกำหนด ทางกฟภ. เข้าไปติดตามและเห็นว่างานยังไม่คืบหน้าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ราชการจะเสียหายแน่ ค่าปรับ 10 % จะเกินวงเงินในหนังสือค้ำประกันสัญญา จึงตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯไป"
ส่วนคำถามที่ว่า การบอกเลิกสัญญาเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 แต่ผ่านไป 1 ปี กฟภ. ถึงเพิ่งทำหนังสือแจ้งไม่ลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน และในช่วงที่ยังไม่ได้ออกหนังสือแจ้งไม่ลงโทษ บริษัทก็ได้งานจากกฟภ.หลายสัญญานั้น
นายนุกูล กล่าวชี้แจงว่า เป็นเรื่องของขั้นตอน กล่าวคือ ช่วงหลังจากที่มีการบอกเลิกสัญญา ในปลายปี 2561 ตามขั้นตอนต้องมีการแจ้งบริษัทมาเคลียร์ทรัพย์สิน และต้องมีการเรียกให้บริษัทฯชี้แจงว่าทำไมถึงทำงานไม่ได้ แต่ปรากฎว่า ในช่วงเดือน ก.พ. 2562 มีการออกแนวทางปฏิบัติใหม่เรื่องกรณีผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของกฟภ.กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานออกมาใหม่ ทำให้เกิดเป็นช่วงรอยต่อการทำงานว่าจะต้องมีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรต่อไป เพราะที่ผ่านมา กฟภ. ไม่ได้มีปัญหาถูกทิ้งงานจากเอกชนมากนัก จนกระทั่งได้ความชัดเจนจากฝ่ายกฎหมายทั้งเรื่องแนวทางปฏิบัติแล้ว จึงได้เริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไป มีการแจ้งให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริง และก็มีการตั้งทีมงานไปร่วมประชุมกับบริษัทฯเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกัน
"สาเหตุที่ กฟภ. ไม่ลงโทษให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน เป็นเพราะบริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นยอมเสียค่าปรับตามสัญญา และก็ไม่ได้หนีหน้าไปไหน มีหนังสือชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้เข้ามาให้ทราบ และงานโครงการในส่วนอื่นๆ ที่ได้รับไปประมาณ 3-4 งาน เริ่มทยอยเสร็จงานก็สำเร็จไปได้ด้วยดี เราจึงไม่ลงโทษเขาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ต่างจากผู้รับเหมารายอื่นที่มีพฤติการณ์ทิ้งงาน ส่วนใหญ่จะหนีหน้าหายตัวไปเลย ไม่แจ้งตอบอะไรมา แบบนี้ถึงควรจะต้องมีการลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงาน"
เมื่อถามว่า จากการค้นข้อมูลใน TOR ในเว็บไซต์ กฟภ. ระบุว่าในโครงการฯ เนื้องาน 30 กิโลเมตร ต้องวางเสา 900 กว่าต้น แต่จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวเห็นต้นเสาไฟฟ้า หลักสิบต้นเท่านั้น
นายนุกูล ตอบว่า รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเสาที่ต้องทำ ตัวผมเองก็ไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ที่เห็นเสา 10 กว่าต้น เนื่องจากเป็นเสา 115 เควี ซึ่งเป็นเสาที่ไม่ใช่ขุดหลุมแล้วฝังเสาได้เลย จะต้องทำซองฝังลงไปในแต่ละหลุมที่ต้องปัก โดยต้องมีการใส่เข็มสองตัวในแต่ละหลุมก่อน จากนั้นก็จะนำซองสวมไปในเข็มเพื่อให้ซองนั่งอยู่บนเข็ม ซึ่งต่างจากเสาระบบ 22 ที่ขุดหลุม 2 เมตร แล้วเอาเสาปัก
เมื่อถามว่า บริษัทฯ ชี้แจงเหตุผลการทำงานไม่สำเร็จว่าเป็นเพราะอะไร นายนุกูล ตอบว่า "ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถหาแรงงานเข้าไปทำงานได้"
เมื่อถามว่า ได้ตรวจสอบเหตุผลของบริษัทฯ แล้วหรือไม่
นายนุกูล ตอบว่า "เรามีทีมงานลงไปตรวจสอบแล้ว"
เมื่อถามว่า แต่บริษัทฯ ระบุในหมายเหตุงบการเงินแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า เป็นเรื่องของอุทกภัย
นายนุกูล ตอบว่า "ตรงนั้นเราไม่ทราบ แต่ที่บริษัทแจ้งเรามาแล้วมีการลงตรวจสอบข้อมูลเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องการดำเนินงานในพื้นที่"
เมื่อถามว่า มีหลักฐานยืนยันตรวจสอบคำชี้แจงของบริษัทฯ หรือไม่
นายนุกูล ตอบว่า "มีรายงานบันทึกการตรวจสอบข้อมูลของทีมงานที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลยืนยัน"
เมื่อถามว่า กระบวนการพิจารณาไม่ลงโทษบริษัทฯ หลังบอกเลิกสัญญา ได้แจ้งให้กรมบัญชีกลางรับทราบหรือไม่
นายนุกูล ตอบว่า "ในกรณีที่กฟภ. ไม่มีความประสงค์ที่จะแจ้งรายชื่อบริษัทให้เป็นผู้ทิ้งงาน เราไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องไปที่กรมบัญชีกลาง เราสามารถพิจารณาได้เอง ซึ่งกรณีนี้ เราเห็นว่าบริษัท มีความตั้งใจทำงาน ไม่ได้มีเจตนาทิ้งงาน และงานส่วนอื่นๆ ไม่มีปัญหา เราก็เลยพิจารณาให้ไม่ต้องเป็นผู้ทิ้งงาน"
เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า บริษัทเอกชน รายหนึ่งไปโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ได้รับว่าจ้างงานโครงการในปัตตานีต่อจากบริษัทฯ
นายนุกูล ตอบว่า "ข้อมูลส่วนนี้เราไม่ทราบ"
ส่วนในช่วงรอยต่อระหว่างการบอกเลิกสัญญา กับช่วงที่แจ้งไม่ลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน บริษัทฯ ยังปรากฎชื่อเป็นผู้คู่สัญญา ของกฟภ. หลายสัญญา นั้น นายนุกูล กล่าวชี้แจงว่า "ความจริงแล้ว ช่วงแรกๆ บริษัทแทบจะไม่ได้งานจากกฟภ.เลย และเราก็เห็นว่าเขามีความตั้งใจที่จะทำงานต่อ ผลงานที่ทำเสร็จก็มี เลยกำหนดเงื่อนไขงานเพิ่มเติมในลักษณะที่ว่า ถ้าจะบริษัทใดที่ถูกบอกเลิกสัญญา จะต้องมีผลงานกับ กฟภ. ที่สำเร็จแล้ว อย่างน้อย 3-4 งาน มาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อเปิดให้เขาสามารถแข่งขันงานได้ ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนของกรมบัญชีกลาง ก็มีความเห็นยืนยันมาแล้วว่าสามารถทำได้"
เมื่อถามว่า ปัจจุบันโครงการในปัตตานีเป็นอย่างไรบ้าง
นายนุกูล ระบุว่า หลังจากที่ กฟภ. ได้บอกเลิกสัญญากับ บริษัท บูรพาเทคนิคอลฯ ไปแล้ว ในส่วนของโครงการฯ ที่ยังค้างคาอยู่นั้น ทาง กฟภ. ได้มีการเปิดประกวดราคา แบบ e-bidding แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาร่วมยื่นประกวดราคา ทาง กฟภ. จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีการหาผู้ประกอบการมารับงานโครงการด้วยวิธีการคัดเลือก ซึ่งก็ไม่มีใครเข้ามารับงานนี้เช่นเดียวกัน
ทาง กฟภ. จึงได้ใช้วิธีการหาผู้ประกอบการเข้ามารับงานด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง ซึ่งขณะนี้ทาง กฟภ. ได้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามารับงานโครงการต่อแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำการเจรจาทำตกลงจึงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบริษัทได้
เมื่อถามว่า มีการแจ้งข้อมูลเข้ามาที่สำนักข่าวอิศราว่า งานโครงการที่พัทยา ที่บริษัทฯ ได้รับไปมีปัญหาอุปกรณ์ชำรุดระหว่างรับประกันผลงาน
นายนุกูล กล่าวว่า ได้รับรายงานข้อมูลเรื่องนี้แล้ว และมีการแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขแล้ว
เมื่อถามว่า ล่าสุดทางสหภาพแรงงานกฟภ. ได้มีการยื่นเรื่องให้ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นทางการแล้ว
นายนุกูล กล่าวว่า สหภาพแรงงานยื่นเรื่องไปทางบอร์ดกฟภ. และมีการส่งเรื่องมายังผู้ว่าฯ กฟภ. ให้ดำเนินการแล้ว ซึ่งถ้าได้ผลสรุปเพิ่มเติมอย่างใดจะแจ้งให้สำนักข่าวอิศรารับทราบต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/