"...จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ 1. กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ จนกระทั่ง บมจ.บูรพาฯ ได้รับการพิจารณาเพิกถอนชื่อออกจากการเป็นผู้ทิ้งงาน ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน 2. ขั้นตอนการดำเนินงาน เกิดขึ้นในช่วงหลังการตัวอธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้ว่าฯ กฟภ. ใหม่ เป็นไปตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจาก แหล่งข่าวใน กฟภ.จริง ..."
"ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่า ข้อเท็จจริงใหม่ ที่ บมจ.บูรพาฯ นำมาใช้เป็นข้อโต้แย้งจนทำให้กระทรวงการคลังเพิกถอนคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงาน คือ อะไร และเรื่องนี้ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการอุทธรณ์คำสั่งทำในช่วงต้นเดือนกันยายน เป็นช่วงเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้ว่าฯ กฟภ. ใหม่ ขั้นตอนการดำเนินการรวดเร็วเกินไปหรือไม่ และทราบมาว่าทางสภาพกฟภ. กำลังจะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกครั้ง"
คือ คำยืนยันจากแหล่งข่าวในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ต่อ กรณี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 กระทรวงการคลัง ลงนามโดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกคำสั่งเพิกถอนชื่อ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ออกจากการเป็นผู้ทิ้งงาน
จากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 กระทรวงการคลัง ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1399/2564 เรื่อง การสั่งให้ บมจ.บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานเป็นทางการ หลังได้รับแจ้งจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่า บมจ.บูรพาฯ ทิ้งงานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 ถึงสถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท
ปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนทั้งจากกระทรวงการคลัง และกฟภ. ออกมาชี้แจงเพื่อทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏต่อสาธารณชนแต่อย่างใด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าว กฟภ. พร้อมไล่เลียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
@ จุดเริ่มต้น
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลเรื่องลึกมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้รับการร้องเรียนในช่วงปลายปี 2561 ว่า กฟภ. ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญางานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ พร้อมแจ้งขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2562 กฟภ. ยังคงทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายนี้เข้ามารับงานหลายสัญญา
ทั้งที่ ตามหลักการทางกฎหมาย การที่บริษัทฯ ถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (2) ที่ระบุว่า คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือนั้น ให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน และให้แจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐทราบกับแจ้งเวียนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางรวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานทราบด้วย
@ กฟภ.ยืนยันไม่ลงโทษ
ขณะที่ กฟภ. ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงเหตุผลที่ไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน เป็นเพราะ 1. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มีเจตนาที่จะดําเนินเนินงานก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยมีการดําเนินงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ทําให้มีปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในส่วนของสถานการณ์บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานที่มีความประสงค์จะทํางานในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้การดําเนินงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าน้อยมาก และจากการตรวจสอบงานก่อสร้างสายส่งและระบบจําหน่ายที่ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญาในช่วงเวลาเดียวกัน จํานวน 3 สัญญา บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นดําเนินงานก่อสร้างและแล้วเสร็จตามสัญญา 2. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มิได้ปฏิเสธความรับผิดชอบและ ยินยอมชําระค่าปรับให้แก่ กฟภ.
ก่อนที่ในเวลาต่อมา สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ตีแผ่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณชน และได้รับคำชี้แจงจาก กฟภ. ถึงเหตุผลที่ไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว
@ กฟภ. ดอดหารือกรมบัญชีกลาง
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 กฟภ. ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงาน ของ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) โดยให้เหตุผลข้อเท็จจริงการไม่เสนอเรื่องให้ บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว พร้อมขอเรียนหารือว่าการพิจารณาของ กฟภ. ที่เห็นว่าบริษัท บูรพาฯ มีเหตุผลสมควร จึงไม่ถือว่าบริษัท บูรพาฯ กระทำการทิ้งงานสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) หรือไม่ หรือ กฟภ.ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร
จากนั้น เมื่อวันที่ 11 มิย.2564 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าฯ กฟภ. ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการวินิจฉัย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กรณีนี้เป็นดุลพินิจของ กฟภ. ในการพิจารณาว่า บริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นทางการทิ้งงานตามความในมาตรา 109 หรือไม่ เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้วให้เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง หากปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็จะดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทและกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ทราบ แต่หากปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน จะแจ้งผลการพิจารณาไปให้ กฟภ.ทราบต่อไป
โดยแหล่งข่าวระดับสูงกรมบัญชีกลาง ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ กรมบัญชีกลาง เพิ่งได้รับหนังสือหารือจาก กฟภ. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว กรณีนี้ อาจทำให้ กฟภ. ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน และมีเจตนาที่จะช่วยเหลือบริษัทได้
"กรณีลักษณะอย่างนี้อาจจะถือว่าเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือ เมื่อมีเรื่องขึ้นมายิ่งหลัก เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอกลับทำมาในลักษณะหารือเพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้ หนักหนาสาหัสแน่" แหล่งข่าวระบุ
@ ศรีสุวรรณ ยื่นป.ป.ช.สอบ
ขณะที่ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องกล่าวโทษผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีอาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่ทำผิดสัญญาหรือทิ้งงานที่ทำไว้กับ กฟภ. โดยไม่ขึ้นแบล็คลิสต์หลังบอกเลิกสัญญา อีกทั้งภายหลังยังจัดทำทีโออาร์โครงการใหม่ตัดเงื่อนไขเดิมทิ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยถูก กฟภ.บอกเลิกสัญญา สามารถเข้ามาประมูลงานได้อีก
@นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ส่วนนายสมพงษ์ ปรีเปรม อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อกระทรวงมหาดไทย ใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. กฟภ.ได้ว่าจ้าง บริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ก่อสร้างงานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรีจ.ปัตตานีระยะทาง 50 กม.วงเงิน 125 ล้านบาท (ไม่รวม vat) ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.ป.218/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัญญา 720 วันครบกาหนดสัญญาวันที่ 15 ก.พ. 2561 ต่อมาได้ มีการขยายเวลาสัญญา ตามมติ ครม. ช่วยเหลือจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ จานวน 120 วัน ให้ครบกาหนดสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย.2561
2. กฟภ.ได้ยกเลิกสัญญาผู้รับจ้างเนื่องจากเห็นว่าผู้รับจ้างไม่สามารถดาเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง โดยความล่าช้าเกิดจากบริษัทฯ ไม่สามารถทำงานตามแผนงานที่กาหนดไว้ แม้ว่าจะได้รับการขยายระยะเวลาเพิ่มอีกจานวน 120 วัน แล้วก็ตาม
3. ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา กฟภ.ได้มีหนังสือที่ มท 2306.20/25803 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ถึงปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาบริษัทฯ ว่ากระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการ บริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) ไม่ปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลงหรือไม่
4. กรมบัญชีกลางส่งเรื่องคืน เพื่อให้ กฟภ.มีหนังสือเปิดโอกาสให้บริษัทฯ ชี้แจง เหตุผลข้อเท็จจริงก่อนและเมื่อชี้แจงกลับมาแล้ว ขอให้ กฟภ.พิจารณาข้อชี้แจงดังกล่าวว่าสามารถ รับฟังได้หรือไม่ หากไม่สามารถรับฟังได้ และเห็นควรพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ให้รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ก่อนจัดส่งให้กรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามหนังสือเลขที่ กค 0405.7/28672 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562
5. กฟภ.มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ให้ชี้แจงเหตุผล ซึ่งสรุปสาระสาคัญได้ ดังนี้ การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน, พื้นที่ก่อสร้างซับซ้อนและยากในการเข้าถึงพื้นที่มากกว่าโครงการอื่นๆ , มีเหตุการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด, ประสบอุทกภัยเป็นเวลานาน แต่ได้รับการขยายเวลาเพียง 120 วัน , มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน (ร้องเรียน) หลังจากถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง และหลังจากที่ถูกบอกยกเลิกสัญญานี้แล้ว บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นทางานกับ กฟภ.ในสัญญาอื่นๆ อีก 5 สัญญาจนแล้วเสร็จ มิได้จงใจทำให้ กฟภ.เกิดความเสียหาย และบริษัทฯ ชำระค่าปรับบางส่วนให้ กฟภ.เป็นเงิน 6 ล้านบาท เป็นหลักประกัน
@ กฟภ.กลับลำ แจ้งลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน
จากนั้นไม่นาน กฟภ. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 13 ก.ค.2564 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ทิ้งงาน
หนังสือระบุว่า "ตามที่ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นข้อเสนอ/เป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้าภูมิภาค ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.ป. 218/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ปรากฏว่าบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กระทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามมาตรา 109(2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ดังนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงเห็นสมควรพิจารณาสั่งให้ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน"
ลงนามโดย นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้าง และบริหารโครงการปฏบัติงานแทนผู้ว่าราชการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ดูหนังสือประกอบ)
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. 2564 กรมบัญชีกลาง โดยฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาผู้ทิ้งงาน ทำหนังสือเลขที่ กค 0405.7/32097 ลว.19 ก.ค. 2564 ถึง กฟภ. โดยส่งเรื่องคืนให้ กฟภ. เพื่อให้ดำเนินการให้ครบถ้วน เนื่องจากเอกสารยังไม่ครบถ้วนและข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนเพียงพอ พร้อมแจ้งเอกสารประกอบการพิจารณาที่ต้องรวบรวมเพิ่มเติม
3 ส.ค.2564 กฟภ. ทำหนังสือเลขที่ มท 5305.20/28803 ลว. 3 ส.ค. 2564 ส่งถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง จัดส่งเอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติม การพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน
ขณะที่ ครม. มีมติแต่งตั้งให้ นายศุภชัย เอกอุ่น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป
16 ส.ค.2564 กระทรวงการคลัง มีหนังสือที่ กค. 0405.7/120 ลว. 16 ส.ค.2564 แจ้งรายชื่อ บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
14 ก.ย.2564 ครม. มีมติแต่งตั้ง นางสาวกุลยา ตันติเตมิท เป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง
16 ก.ย.2564 กรมบัญชีกลาง มีหนังสือที่ กค 0405.7/40690 แจ้ง กฟภ. ให้ทราบว่าปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณา บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน และแจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทราบแล้ว
7 ต.ค.2564 บมจ.บูรพาฯ มีหนังสือเลขที่ ETE-LG-62/044 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง อุทธรณ์คำสั่งกระทรวงการคลังให้เป็นผู้ทิ้งงาน
25 ต.ค.2564 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงาน กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือ ที่ กค (อทง) 0405. 7/48173 ลว.25 ต.ค. 2564 ถึง กฟภ. แจ้งว่า จากการเชิญผู้แทน กฟภ. เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาการอุทธรณ์คำสั่งให้บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อ 19 ต.ค. 2564 ณ กรมบัญชีกลาง แต่ยังมีข้อเท็จจริงบางกรณียังไม่ชัดเจน จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่ม เพื่อใช้ประกอบการอุทธรณ์คำสั่งให้บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน
5 พ.ย.2564 กฟภ. ส่งหนังสือเลขที่ มท 5305.20/40996 ถึงอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งาน จัตส่งเอกสารและร่ายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งให้ บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน
23 พ.ย.2564 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงาน กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือเลขที่ กค (อทง) 0405.7/54089 ลว. 23 พ.ย.2564 ถึง กฟภ. เรียนว่าข้อเท็จจริงบางประเด็นยังไม่ชัดเจน ขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการอุทธรณ์คำสั่งให้ บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน
7 ธ.ค.2564 กฟภ. ส่งหนังสือเลขที่ มท 5305.20/45018 หนังสือถึงอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงาน จัดส่งเอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งให้ บมจ.บูรพาฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน
31 ม.ค.2564 กระทรวงการคลัง ออกคำสั่ง ที่ 204/2565 เพิกถอน บมจ.บูรพาฯ ออกจากการเป็นผู้ทิ้งงาน
จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ
1. กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ จนกระทั่ง บมจ.บูรพาฯ ได้รับการพิจารณาเพิกถอนชื่อออกจากการเป็นผู้ทิ้งงาน ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน
2. ขั้นตอนการดำเนินงาน เกิดขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้ว่าฯ กฟภ. คนใหม่ จริง
ส่วนกระบวนการดังกล่าว จะรวดเร็วเกินไปหรือไม่
รวมถึงข้อเท็จจริงใหม่ ที่ บมจ.บูรพาฯ นำมาใช้เป็นข้อโต้แย้งจนทำให้กระทรวงการคลังเพิกถอนคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงาน คือ อะไร
เป็นข้อมูลสำคัญ ที่ต้องติดตามตรวจสอบเชิงลึกกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ บมจ.บูรพาฯ ได้ชี้แจงขอความเป็นธรรมมาโดยตลอด ยืนยันว่า การที่ไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 ถึงสถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดบริษัทฯ ประกอบกับมีการส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้แก่บริษัทฯล่าช้า รวมถึงการสั่งเพิ่มลดเนื้องานนอกจากที่ระบุในสัญญา อันไม่ใช่เหตุที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทฯแต่อย่างใด นอกจาก กฟภ. จะมิได้พิจารณาขยายระยะเวลาอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยให้แก่บริษัทฯอีก แต่ยังได้มีการคิดค่าปรับจากการส่งงานล่าช้าเป็นเงินค่าปรับจำนวน 20,125,000 บาท เมื่อหักกลบกับค่างานที่บริษัทฯดำเนินการไปแล้ว บริษัทฯยังคงต้องชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก 6,856,407 บาท โดยบริษัทฯยินยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดตามที่ กฟภ. เรียกร้องครบถ้วนแล้ว
(อ่านคำชี้แจงฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้ บมจ.บูรพาฯขอความเป็นธรรม‘ฉัตรชัย’ ชง ก.คลังเลิกคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงานสร้างสายส่งไฟฟ้า)
อ่านข่าวประกอบ :
- เปิดปม! กฟภ.ไม่ลงโทษเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน? หลังบอกเลิกสัญญาระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (1)
- อ้างเหตุสุดวิสัย! เปิดหนังสือ กฟภ. แจ้งเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.(2)
- เจอตั้งเสาเปล่าริมถนนหลักสิบต้น! ตามไปดูโครงการสายส่งระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (3)
- 'อิศรา' ถาม 'กฟภ.' ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- ส่องโครงการระบบไฟฟ้าสะบ้าย้อย-ปัตตานี 175 ล. -ทำไมผู้รับเหมาส่งงานครบไร้ปัญหา
- ก.คลังให้ บมจ.บูรพาฯเป็นผู้ทิ้งงาน! ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- ขอความเป็นธรรม!บมจ.บูรพาฯ ยื่นปลัดคลังปม กฟภ.กลับลำให้เป็นผู้ทิ้งงาน ยันชดใช้แล้ว 26 ล.
- ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘ผู้ว่าฯ กฟภ.’ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน ปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
- สหภาพ กฟภ.ทวงถาม‘ฉัตรชัย’ สอบปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน
- บมจ.บูรพาฯขอความเป็นธรรม‘ฉัตรชัย’ ชง ก.คลังเลิกคำสั่งเป็นผู้ทิ้งงานสร้างสายส่งไฟฟ้า