"...สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางเพิ่มเติม เกี่ยวกับ น.ส.มาลัยรัตน์ ศรีพันธ์ ว่า เจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น น.ส.อริสรา ศรีพันธ์ และถูกจับกุมตัวพร้อมกับน.ส.อาริยา ภูแพง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2562 ที่ประเทศมาเลเซีย ในข้อหานำเงินเข้าประเทศเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเงินที่นำไปมีจำนวน 1,425,000 ริงกิต ต่อมาหลังจากทั้งสองคนพ้นโทษที่มาเลเซีย ก็ถูกจับกุมตัว เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 อีกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตงตรวจพบว่ามีหมายจับ ตามหมายจับของศาลอาญา และศาลจังหวัดมุกดาหาร ในข้อหาองยี่,ช่องโจร,มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น,ร่วมกันฟอกเงิน..."
คดี นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก ร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้ง ทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
เบื้องหลังของคดีนี้ ตามคำบอกเล่าของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และทีมงาน ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ระบุว่า เป็นฝีมือของ ชาวไนจีเรียหรือที่เรียกกว่ากลุ่มโรแมนซ์แสกม (หลอกให้อีกฝ่ายมีความรักเพื่อหวังประโยชน์จำนวนมหาศาล) ได้เปิดบริษัทปลอม ๆ ในประเทศไทยขึ้นมาเพื่อให้ผู้ถูกหลอก ได้โอนเงินเข้าไปเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่ง นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี ก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกหลอกด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า บริษัท อ. ที่ถูกนำไปเปิดเป็นบริษัทบังหน้า คือบริษัทที่มีชื่อว่า บริษัท อมาโกอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีเงินเข้ามาในบัญชีของบริษัทจำนวน 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 12 ล้านบาท มีการโอนเงินออกไป 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ และ เจ้าของบัญชีรับเงินไป 56,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,930,992 บาท)
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท อมาโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 คน นางสาว มาลัยรัตน์ ศรีพันธ์ แจ้งที่อยู่ หมู่ที่ 4 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นกรรมการผู้ก่อตั้ง และถือหุ้นใหญ่ 6,000 หุ้น นายวัชร เหล่าศรีโพธิ์ แจ้งที่อยู่ หมู่ 8 ต.กุงเก่า อ.ท่าคนโท จ.กาฬสินธุ์ และ นายนันทิพัฒน์ ศิริอาด แจ้งที่อยู่ ซอย นวมินทร์ 24 แยก 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบึ่งกุ่ม กรุงเทพฯ คนละ 2,000 หุ้น รวมทั้งหมด 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท
นางสาว มาลัยรัตน์ ศรีพันธ์ เป็นผู้ยื่นขอจองชื่อนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและจดทะเบียนวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบกิจการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดหาที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างและหรือ ทำการก่อสร้างใดๆ บนที่ดินนั้น ที่ตั้งเลขที่ 115/12 หมู่ 4 ชั้น 2 ซอยสุขสวัสดิ์ 66 ถนนสุขสวัสดิ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จากการตรวจสอบ บริษัทฯไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้ถือหุ้น สำนักงาน ที่ตั้ง และไม่พบงบการเงินนับแต่จดทะเบียนก่อตั้ง (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ดี ผู้ถือหุ้น บริษัท อมาโกอินเตอร์ เนชั่นแนล ทั้ง 3 คน ไม่ปรากฎอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ยึดและอายัดทรัพย์ ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรร ที่ ย.31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 จำนวน 10 รายการ 243,316.30 บาท แต่อย่างใด
(ดูลิงก์ คำสั่ง ปปง.) https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2565/31-2565.pdf
- หุ้นใหญ่ ‘หญิงสาว’ อยู่ จ.ชลบุรี! บ.อมาโกฯ พันคดีโกง 6.2 พันล. ยังไม่โดนอายัดทรัพย์ ?
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(4): เปิดตัว บ.อมาโกฯ เครือข่ายแก๊งไนจีเรีย? เส้นทางโอนเงิน เอสซีลอร์ฯ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางเพิ่มเติม เกี่ยวกับ น.ส.มาลัยรัตน์ ศรีพันธ์ ว่า เจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น น.ส.อริสรา ศรีพันธ์ และถูกจับกุมตัวพร้อมกับน.ส.อาริยา ภูแพง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2562 ที่ประเทศมาเลเซีย ในข้อหานำเงินเข้าประเทศเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเงินที่นำไปมีจำนวน 1,425,000 ริงกิต
ต่อมาหลังจากทั้งสองคนพ้นโทษที่มาเลเซีย ก็ถูกจับกุมตัว เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 อีกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตงตรวจพบว่ามีหมายจับ ตามหมายจับของศาลอาญา และศาลจังหวัดมุกดาหาร ในข้อหาองยี่,ช่องโจร,มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น,ร่วมกันฟอกเงิน (ดูภาพข่าวประกอบ)
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ให้ข้อมูลต่อไปว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับดังกล่าว เป็นผู้หญิงไทยหนึ่งใน 30 คนที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตราที่ 23 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติต่อไป และก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับอัยการสูงสุดเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง น.ส.อริสรา และ น.ส.อาริยา นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ไปสอบปากคำจนสามารถขยายผลไปถึงกลุ่มหัวหน้าขบวนการและผู้เกี่ยวข้องที่เป็นชาวไนจีเรียและชาวต่างชาติอื่นๆได้นำนวนนับร้อยคนแล้ว โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับข้อมูลจากการขยายผลก็ได้มีการประสานงานไปยังตำรวจสากล ตำรวจที่ประเทศไนจีเรียเพื่อให้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาหัวหน้าขบวนการ
*หมายเหตุ:มาตราที่ 23 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติระบุว่า "ในระหว่างการสอบสวนคดีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หากผู้ต้องหาให้ข้อมูลเองโดยสมัครใจต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับกิจกรรมและการกระทำความผิดขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีต่อหัวหน้าหรือผู้มีบทบาทสำคัญในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนแล้วเสนอสำนวนการสอบสวนต่ออัยการสูงสุด
ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับจากผู้ต้องหาเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามความในวรรคหนึ่ง ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้นทุกข้อหาหรือบางข้อหาก็ได้
ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว หากการให้ข้อมูลดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้กระทำในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจออกคำสั่งถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา หรือไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ในความผิดนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ยังระบุด้วยว่า ในการสอบปากคำผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนไนจีเรียดังกล่าวเพื่อการขยายผลนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานเป็นอย่างมาก บางคนสอบปากคำเป็นวัน เพราะเขาเชื่อว่ากลุ่มคนไนจีเรียนั้นจะมาช่วย มาประกันตัวพวกเขา ซึ่งต้องบอกว่าเขาโดนหลอกแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง นอกจากบริษัท อมาโกอินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด แล้ว ยังมีบริษัทเอกชนอีกหนึ่ง ที่ถูกระบุว่า เป็นเส้นทางเพื่อรับเงินจาก น.ส.ชมานันทน์ เช่นกัน และมีเงินโอนเข้ามายังบริษัทนี้ 10.5 ล้านบาท
ก่อนที่จะถูกธนาคารเจ้าของบริษัทตีกลับการทำธุรกรรมเนื่องจากว่าเจ้าของบัญชีไม่สามารถสำแดงได้ว่า เงินที่เข้ามาในบัญชีจำนวนนับสิบล้านบาท คือ ค่าอะไร
รายละเอียดทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไป
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- คดีโกง 6 พันล้านบาน ‘เอสซีลอร์’ ฟ้อง ธ.เจพีมอร์แกน ไม่แจ้งพิรุธลูกจ้างไทยถอนเงินถี่ยิบ
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(2): Oh My Love กลวิธีแก๊งไนจีเรียสร้างสตอรี่ซับซ้อนลวงโอนเงิน-ขี้งกมาก
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(3): มีคนเอี่ยวนับร้อย! เปิดแผนประทุษกรรมแก๊งไนจีเรียหลอกเงินข้ามโลก
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(4): เปิดตัว บ.อมาโกฯ เครือข่ายแก๊งไนจีเรีย? เส้นทางโอนเงิน เอสซีลอร์ฯ
- หุ้นใหญ่ ‘หญิงสาว’ อยู่ จ.ชลบุรี! บ.อมาโกฯ พันคดีโกง 6.2 พันล. ยังไม่โดนอายัดทรัพย์ ?