ปปง.ยึดอายัด สร้อยทองคำ 2 สลึง เงินฝาก 233,316.30 บาท ‘ชมานันทน์ เพ็ชรโปรี’ กับพวก ลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง ฯ 6.2 พันล้าน โอนจากบัญชีแบงก์ในประเทศโอนไปต่างประเทศ ไม่รวมอ้างว่าถูกหลอกอีก 206,016,381.10 ดอลล่าร์สหรัฐ หลังผู้เสียหายแจ้งความตร.กองปราบ อัยการสั่งฟ้อง รวม 14 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรร ที่ ย.31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท ทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท เป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
ทั้งนี้ คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ในการ ยึดและอายัดทรัพย์สินมีรายละเอียดดังนี้ ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการพอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือ ที่ ตช 0026.21/27 ลงวันที่ 6 มกราคม 2563 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542และหนังสือที่ ตช 0026.2/071 ลงวันที่ 9 มกราคม 2563 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ ฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระและความผิดฐานฟอกเงิน กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี และนายศักดิ์ชัย บุญสุยา ได้ร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนางสาวชมานันทณ์ เพ็ชรโปรี กับพวก ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนและพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.450/2563
อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวงนางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี และจากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ นางสาวชมานันทน์ เพ็ชโปรี หลงเชื่อจึงทำการโอนเงินเป็นเงินสกุลสหรัฐ จำนวน206,016,381.10 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็นเงินสกุลไทย จำนวน 49,907,216.60 บาท และเป็นเงินสกุลมาเลเชีย จำนวน 10,000 ริงกิตจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค ของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของนางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก ซึ่งภายหลังนางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก ได้ร่วมกันถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากจนหมดอันเป็นการโอน รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินที่ได้มาไว้ในครอบครองอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก รวม 14 คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยทุจริต ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ร่วมกันฟอกเงิน และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2085/2563 ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนางสาวจุทามาศ ทำนา กับพวก รวม 4 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิดกับนางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก รวม 14 คน ซึ่งได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวจุฑามาศ ทำนา กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยทุจริต ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ร่วมกันฟอกเงิน และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในความผิดดังกล่าวต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2921/2563
จากพฤติการณ์ดังกล่าว นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ยังปรากฎพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นางสาวศิริพร วงษ์คำ กับพวก เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นอั้งยี่ การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการฉ้อโกง อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (10) และ (18) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 22 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 640/2564 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (14) และ (18) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 22 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฎว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 10 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือช่อนเร้นได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือช่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม
จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 10 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 1 รายการ คือ รายการที่ 1 และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จำนวน 9 รายการ ได้แก่ รายการที่ 2 ถึงรายการที่ 10 มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้ ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ อนึ่ง การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ช่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน
อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม
การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 สั่ง ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
สำนักข่าวอิศรารายงาน บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบการ ผลิต รับจ้างผลิต ประกอบ ฉาบ เคลือบ กัดขอบ ติดสินค้าประเภทเลนส์ เลนส์สัมผัส กรอบ-กระจกแว่นตา แว่นตา/กันแดด/อัจริยะทุกประเภทให้คำปรึกษาแนะนำ บริหารจัดการ ฝึกอบรมทุกชนิด