"...อดีตผู้อยู่อาศัยได้ให้ข้อมูลว่าห้องเช่าแห่งนี้นั้นเคยมีคนมาเช่าจริง และมีการระบุว่าใช้ชื่อบริษัท อมาโกฯ จริง แต่ว่าก็ไม่ได้มีการทำอะไร แล้วก็ไม่ได้มีการทำให้เป็นสำนักงานแต่อย่างใด ส่วนที่เพื่อนบ้านบอกว่าอาคารพาณิชย์แห่งนี้นั้นเคยเป็นร้านเน็ตขอเรียนว่าไม่จริงแต่อย่างใด เพราะในช่วงที่เป็นบริษัท อมาโกฯ ในตอนแรกๆที่เขามาเช่านั้นปรากฎว่าเป็นอาคารเปิดโล่งไม่มีประตู ไม่มีกระจก จึงมีการซื้อประตูกระจกมาติดตั้ง ซึ่งปรากฎว่าเป็นประตูกระจกที่ร้านเกมเคยใช้ จึงอาจทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นร้านเน็ตได้ ..."
บริษัท อ.ที่บอกว่าอยู่สมุทรปราการ อันนี้นั้นถือว่าเป็นบริษัทปลอมแน่นอน และกรรมการบริษัทนั้นก็เป็นผู้ต้องหาหมด อันที่จริง กรรมการบริษัท อ.แห่งนี้ก็คือคนที่บอกว่าบินจากมาเลเซียเพื่อมาเอาเงินแล้วก็โดนจับทั้งที่มาเลเซียแล้วก็ถูกประสานตัวมาจำคุกที่ไทยต่อนั่นเอง ซึ่งกรรมการบริษัทที่ว่านี้ก็อยู่ในกลุ่ม 21 คนนั้นด้วย
เมื่อถามว่าเงินจากไหมที่โอนเข้าบริษัท อ. เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าจากธนาคารเจพีมอร์แกน โอนเข้าบริษัท อ.เลย
เมื่อถามต่อว่าแล้ว น.ส.ชมานันทน์นั้นไม่สงสัยหรือว่าบัญชีของบริษัท อ. นั้นไปเกี่ยวอะไรกับ นพ.แอนดรูว์ ชาง (บุคคลที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้แอบอ้างเพื่อให้ น.ส.ชมานันทน์รัก) อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่า ตอนแรกก็เขาสงสัยเหมือนกัน แต่ทางฝ่ายมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นบริษัทนายหน้า คือต้องยอมรับว่ากลุ่มมิจฉาชีพนั้นจะใช้เหตุผลสารพัดในการทำให้หลงเชื่อ
“สมมติว่าโอน 10 ล้าน ชมานันทน์จะได้อีเมลข้อความมาเลยบอกว่าให้โอนบริษัท เอ เท่านี้ บี เท่านี้ ซี เท่านี้ คือหลังๆทำไมชมานันทน์รีบโอน ก็เพราะว่าคนร้ายนั้นเร่งมาก บอกว่าคุณต้องรีบโอนนะ ไม่ต้องห่วงเงินที่คุณโอนไป ฉันโอนกลับให้หมดแน่นอน เพราะว่าฉันมีเงินมรดกอยู่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สบายใจได้ I love you” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
นี่คือ ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของทีมงานเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ที่บอกเล่ากับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีที่ชาวไนจีเรียหรือที่เรียกกว่ากลุ่มโรแมนซ์แสกม (หลอกให้อีกฝ่ายมีความรักเพื่อหวังประโยชน์จำนวนมหาศาล) ได้เปิดบริษัทปลอมๆในประเทศไทยขึ้นมาเพื่อให้ผู้ถูกหลอกได้โอนเงินเข้าไปเป็นจำนวนมหาศาล หลังจากปรากฏข่าวสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.)
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท ซึ่งเป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(3): มีคนเอี่ยวนับร้อย! เปิดแผนประทุษกรรมแก๊งไนจีเรียหลอกเงินข้ามโลก
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(2): Oh My Love กลวิธีแก๊งไนจีเรียสร้างสตอรี่ซับซ้อนลวงโอนเงิน-ขี้งกมาก
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- คดีโกง 6 พันล้านบาน ‘เอสซีลอร์’ ฟ้อง ธ.เจพีมอร์แกน ไม่แจ้งพิรุธลูกจ้างไทยถอนเงินถี่ยิบ
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
โดยในครั้งนี้สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัท อ. ที่ว่าเพิ่มเติม มีรายละเอียดดังนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราบริษัท อ. ที่ถูกนำไปเปิดเป็นบริษัทบังหน้าของขบวนการโรแมนซ์สแกมนั้นแท้จริงแล้วคือบริษัทชื่อว่า อมาโกอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยข้อมูลของทางเจ้าหน้าที่นั้นพบว่ามีเงินเข้ามาในบัญชีของบริษัทจำนวน 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 12 ล้านบาท มีการโอนเงินออกไป 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ และ เจ้าของบัญชีรับเงินไป 56,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,930,992 บาท) (ดูภาพประกอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทอมาโกอินเตอร์ เนชั่นแนล บนเว็บกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัทดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า บริษัท อมาโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท โดยระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทคือประกอบกิจการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดหาที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างและหรือ ทำการก่อสร้างใดๆ บนที่ดินนั้น
บริษัทแห่งนี้มีกรรมการบริษัทคนเดียวคือ น.ส.มาลัยรัตน์ ศรีพันธ์ บริษัทมีที่อยู่ ณ เลขที่ 115/12 ชั้นที่ 2 หมู่ที่ 4 ซอยสุขสวัสดิ์ 66 ถนนสุขสวัสดิ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทแห่งนี้ไม่ได้มีการส่งข้อมูลทั้งในส่วนของงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อสอบถามบริษัทดังกล่าวโดยเดินทางไปยังที่อยู่ของบริษัท พบว่าที่อยู่ดังกล่าวนั้นเป็นอาคารพาณิชย์ปิดตาย ขนาดสามชั้น (ดูภาพประกอบ)
เมื่อสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เป็นเพื่อนบ้าน ได้ข้อมูลว่าบ้านหลังนี้นั้นมีผู้เช่าอยู่หลายคน แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้เช่ารายหนึ่งจะมาทำสำนักงาน เป็นผู้หญิงแต่หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ได้ยินข่าวว่ามีหมายจับมาหาเขาแล้วเขาก็ไปโดนจับที่มาเลเซีย
เพื่อนบ้านกล่าวต่อไปว่าส่วนตัวก็ไม่รู้จักกับผู้หญิงคนนี้ ตอนที่เขามาอยู่ที่ห้องเช่าก็ไม่ได้ทำอะไรมาก
ส่วนเพื่อนบ้านอีกคนได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่าห้องเช่าแห่งนี้นั้นมีผู้มาประกอบกิจการอยู่หลายคน แต่ในช่วงปี 2562 นั้นเห็นว่าห้องเช่าแห่งนี้ประกอบกิจการร้านเน็ต แต่ก็มีผู้ใช้บริการเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับชั้นสองของอาคารว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน เพราะเห็นว่าเป็นที่ตั้งของบริษัท อมาโกฯ เพื่อนบ้านกล่าวว่าชั้นสองของอาคารนั้นไม่ได้มีการทำธุรกิจใดๆแน่นอน โดยสภาพของห้องเช่าที่หน้าต่างเปิดออกตามที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราเห็นนั้นก็เป็นสภาพดั้งเดิมที่เป็นอยู่มาหลายปีแล้ว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าในเวลาต่อมาได้สอบถามกับผู้ที่เคยอยู่อาศัยในห้องเช่าแห่งนี้ โดยอดีตผู้อยู่อาศัยได้ให้ข้อมูลว่าห้องเช่าแห่งนี้นั้นเคยมีคนมาเช่าจริง และมีการระบุว่าใช้ชื่อบริษัท อมาโกฯ จริง แต่ว่าก็ไม่ได้มีการทำอะไร แล้วก็ไม่ได้มีการทำให้เป็นสำนักงานแต่อย่างใด ส่วนที่เพื่อนบ้านบอกว่าอาคารพาณิชย์แห่งนี้นั้นเคยเป็นร้านเน็ตขอเรียนว่าไม่จริงแต่อย่างใด เพราะในช่วงที่เป็นบริษัท อมาโกฯ ในตอนแรกๆที่เขามาเช่านั้นปรากฎว่าเป็นอาคารเปิดโล่งไม่มีประตู ไม่มีกระจก จึงมีการซื้อประตูกระจกมาติดตั้ง ซึ่งปรากฎว่าเป็นประตูกระจกที่ร้านเกมเคยใช้ จึงอาจทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นร้านเน็ตได้
อดีตผู้อยู่อาศัยกล่าวต่อไปว่าในช่วงประมาณสองปีก่อนนั้นได้ยินจากพรรคพวกเหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นในห้องเช่าแห่งนี้ แต่ก็ไม่เจออะไร เพราะว่ามันไม่มีอะไรอยู่แล้ว และในเวลาต่อมาก็ทราบว่ามีผู้หญิงสองรายถูกจับเมื่อประมาณสองปีกว่าๆแล้ว ซึ่งส่วนตัวก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาถูกจับที่ไหนระหว่างที่ประเทศไทยหรือว่าที่มาเลเซีย แต่ว่าเขาถูกจับในคดีฉ้อโกง
อนึ่ง คดีเกี่ยวกับบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ยังเป็นคดีที่ยังไม่ได้มีการตัดสินถึงที่สุด ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่