'จิรภพ' เผยคดีเอสซีลอร์ ต้นเหตุจาก ปธ.ฝ่ายการเงิน ถูกแก๊งไนจีเรียแอบอ้างเป็นแพทย์ทหารสหรัฐฯ หลอกให้รัก ลวงโอนเงิน 6.2 พัน ล. -แบ่งรูปแบบการดำเนินคดีเป็นสามส่วน คดีลักทรัพย์,ฉ้อโกง,อาชญากรรมข้ามชาติ
สืบบเนื่องจากที่สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท เป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
ล่าสุด พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลางได้ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่าการดำเนินคดีนี้มาจากกรณีที่ น.ส.ชมานันทน์ ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็น CFO (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) รับผิดชอบและมีสิทธิเข้าถึงเงินของบริษัทเอสซีลอร์ นั้นถูกมิจฉาชีพจากประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นขบวนการหลอกให้รักหรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรแมนซ์สแกมมิ่งใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์แอบอ้างตัวเองว่าเป็นแพทย์ทหารสัญชาติอเมริกัน บอกว่าประจำการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยมิจฉาชีพได้หลอกลวงว่าได้รับเงินมรดกเป็นมูลค่ามหาศาล มีความต้องการจะโอนเงินมาเมืองไทยแต่ว่าทาง น.ส.ชมานันทน์ จะต้องโอนเงินมาให้ก่อน
พล.ต.ท.จิรภพกล่าววว่านี่จึงเป็นสาเหตุของการโอนเงินเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งความพยายามที่จะโอนเงินในจำนวนเต็มๆนั้นมีประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,173,000,000 บาท) แต่โอนไปได้จริง เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาทตามที่ปรากฎเป็นข่าว นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังมีความสร้างสตอรี่เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงเพื่อให้ น.ส.ชมานันทน์โอนเงินมาหลายครั้ง
ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ได้กล่าวต่อถึงบุคคลที่ชื่อว่านายศักดิ์ชัย บุญสุยา ซึ่งเคยปรากฎเป็นข่าวในสำนักข่าวอิศราไปแล้วว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการกับกับ น.ส.ชมานันทน์ พบว่าจริงๆแล้วเป็นแค่ฝ่ายบุคคลเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบของบริษัทเอสซีลอร์ การเบิกเงินไม่ต้องมีการรับรู้ของผู้บริหารบริษัทหรือว่าซีอีโอก็ได้ แต่ว่าการเบิกนั้นจะต้องมีการตรวจสอบ เซ็นร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าครอสเช็ค นายศักดิ์ชัยก็ได้ไปเซ็นร่วมเบิกเงินกับ น.ส.ชมานันทน์ โดยไม่รู้อะไรเลย ซึ่งตรงนี้ทางนายศักดิ์ชัยก็คงจะต้องสู้คดีต่อไปในส่วนของเขาเพราะเขายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
"ดังนั้นคดีนี้ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้ดำเนินการกับคดีนี้โดยแบ่งออกเป็นสามคดีด้วยกันคือ1.คดีลักทรัพย์ 2.คดีฉ้อโกง และ 3.คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติ" พล.ต.ท.จิรภพกล่าว