"...คดีลักทรัพย์นายจ้างนั้นพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 2 ราย (น.ส.ชมานันทน์ กับนายศักดิ์ชัย บุญสุยาผู้ร่วมเซ็นเบิกเงิน) ส่วนคดีฉ้อโกงนั้นมี น.ส.ชมานันทน์เป็นผู้เสียหาย และมีผู้ต้องหาอยู่ 30 คน ซึ่งจากการติดตามบัญชีที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินในประเทศไทยที่พบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 7 บัญชี และ 7 บัญชีดังกล่าวพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ประมาณ 3-4 บัญชี ซึ่งบางบัญชีนั้นเป็นบัญชีของภรรยาเช่าชาวไนจีเรีย และตามที่เรียนแล้ว 7 บัญชีนั้นแตกออกไปได้ประมาณ 30 กว่าคน..."
“ตัวละครที่ผมพูดมาทั้งหมด พวกนี้ก็รวมหัวกัน เป็นชาวไนจีเรียหมดเลย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เขาสามารถจะเข้าถึงระบบธนาคารที่ประเทศอังกฤษได้ เพราะว่าเขามีเครือข่ายอยู่นั้นด้วย สมมติอย่างที่ผมบอกว่าผมบอกเพื่อนร่วมเครือข่ายว่าช่วยหาบัญชีไทยให้หน่อย เพื่อนร่วมเครือข่ายเขาก็จะหาบัญชีมาให้เพื่อโอน โดยแลกกับค่าตอบแทนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่โอนมาผ่านบัญชีที่หามาให้ แต่ถ้าผมจะเอาบัญชีธนาคารของประเทศสิงคโปร์ แล้วเพื่อนร่วมเครือข่ายของผมไม่มี เพื่อนร่วมเครือข่ายของผมก็จะไปหาผู้ร่วมเครือข่ายเป็นบุคคลที่สาม เขาก็จะขอส่วนแบ่งเพิ่มอีก ซึ่งตรงนี้ทางผมก็ยอมเพราะถือว่าไม่ได้เสียอะไรเลย แค่หลอกแล้วให้ผู้ร่วมเครือข่ายหาบัญชีมาให้” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว พร้อมย้ำว่าคือสาเหตุที่ทำให้มีมีการแตกเครือข่ายและมีบัญชีม้าอยู่ทั่วโลก พร้อมกับมีผู้กำกับหรือผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังว่าสตอรี่ต่อไปจะเป็นอย่างไร
นี่คือ ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของทีมงานเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ที่บอกเล่ากับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงวิธีการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพชาวไนจีเรียหรือที่เรียกกว่ากลุ่มโรแมนซ์แสกม (หลอกให้อีกฝ่ายมีความรักเพื่อหวังประโยชน์จำนวนมหาศาล) หลังจากปรากฏข่าวสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท ซึ่งเป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
- ขยี้คดีโกง 6 พันล.(2): Oh My Love กลวิธีแก๊งไนจีเรียสร้างสตอรี่ซับซ้อนลวงโอนเงิน-ขี้งกมาก
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- คดีโกง 6 พันล้านบาน ‘เอสซีลอร์’ ฟ้อง ธ.เจพีมอร์แกน ไม่แจ้งพิรุธลูกจ้างไทยถอนเงินถี่ยิบ
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
ซึ่งสำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอต่ออย่างเนื่องในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งในคดีนี้ ที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับภาพรวมคดีที่แบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน คือ 1.คดีลักทรัพย์ 2.คดีฉ้อโกง และ 3.คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติ
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.)
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@การดำเนินคดีฉ้อโกง
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้ลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีทั้งสามคดีนี้ว่า คดีลักทรัพย์นายจ้างนั้นพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 2 ราย (น.ส.ชมานันทน์ กับนายศักดิ์ชัย บุญสุยาผู้ร่วมเซ็นเบิกเงิน)
ส่วนคดีฉ้อโกงนั้นมี น.ส.ชมานันทน์เป็นผู้เสียหาย และมีผู้ต้องหาอยู่ 30 คน ซึ่งจากการติดตามบัญชีที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินในประเทศไทยที่พบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 7 บัญชี และ 7 บัญชีดังกล่าวพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ประมาณ 3-4 บัญชี ซึ่งบางบัญชีนั้นเป็นบัญชีของภรรยาเช่าชาวไนจีเรีย และตามที่เรียนแล้ว 7 บัญชีนั้นแตกออกไปได้ประมาณ 30 กว่าคน
ส่วนที่บอกว่า 7 บัญชีทำไมถึงมี 30 คนเป็นเจ้าของนั้นก็เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่รู้ว่าบัญชีเหล่านี้ซึ่งมีเจ้าของในชื่อจำนวน 7 คนแน่นอนได้มีการโอนต่อไปและก็มีว่าใครเป็นผู้ที่เป็นผู้ที่จ้างบ้าง ทำให้ได้ข้อสรุปว่าบัญชีในไทยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวน 30 คน และจากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่ามียอดเงินที่โอนจำนวนอย่างน้อย 10.5 ล้านบาท ที่ น.ส.ชมานันทน์โอนไปนั้นพบว่าเป็นบัญชีเข้าไปยังบริษัท อ. ที่โอนไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งบริษัท อ.ที่ว่ามานี้นั้นก็มีผู้ที่เปิดบริษัทคือภรรยาเช่าของกลุ่มคนไนจีเรียนั่นเอง
แนวทางการทำงานของกลุ่มโรแมนซ์สแกม
@ภรรยาเช่าสู่เครือข่ายโรแมนซ์แสกมใหญ่สุดในเอเชีย
โดยผู้หญิงที่ว่ามานั้นก่อนหน้านี้เคยทำอาชีพขายบริการก่อนที่จะผันตัวมาเป็นภรรยาเช่า และทั้งนี้เมื่อเขารู้ว่าเงินจาก น.ส.ชมานันทน์โอนเข้ามาที่บริษัทแล้ว ผู้หญิงไทยก็จะข้ามประเทศมาจากมาเลเซียมายั่งฝั่งไทย ก่อนที่จะนั่งเครื่องบินจาก จ.สงขลามาที่ จ.สมุทรปราการ อันเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดบริษัทปลอมๆเอาไว้ (บริษัท อ.) มารับเงินไปสิบล้าน ขนเงินออกไปที่ทางมาเลเซีย ปรากฎว่าโดนผู้หญิงไทยที่ว่านี้โดยศุลกากรมาเลเซียจับเรื่องการขนเงิน
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวต่อว่าจากนั้นมาพอเรารู้ข้อเท็จจริง เราก็มีการประสานข้อมูลกับทางตำรวจไทยหลายหน่วยรวมถึงทางต่างประเทศ และจากทางมาเลเซียด้วย จากคำให้การของผู้หญิงที่เป็นภรรยาเช่าที่อยู่ในเรือนจำทำให้เราได้รู้ว่ากลุ่มชาวไนจีเรียพวกนี้ชอบไปเที่ยว บางทีก็ไปเที่ยวผับเดิมๆ อย่างเช่นเมืองไทยมีผับนานา ที่มาเลเซียก็มีผับสมมติว่าชื่อเดอ อ. ก็จะเป็นที่รวมตัวกันของคนไนจีเรียที่เป็นแก๊งโรแมนซ์สแกมพวกนี้ และผู้หญิงไทยก็จะชอบไปเที่ยวผับเหล่านี้ ซึ่งทางเราก็ได้เอาภาพจากเฟซบุ๊กของกลุ่มคนเหล่าไนจีเรียเหล่านี้ไปเทียบ (ภาพที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ) บางภาพก็สามารถพิสูจน์บุคคลได้เลย บางภาพเราไม่สามารถพิสุจน์บุคคลได้ก็ไปสอบถามกับคนที่เป็นภรรยาเช่า เขาก็จะบอกว่าคนนี้ชื่ออะไร คนนี้ชื่ออะไร จากนั้นจึงขยายผลไปที่คนซึ่งเคยโอนเงินให้ ทำให้เราได้ชื่อจริงของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มา พอเราได้ชื่อจริงแล้วสอบถามจากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าคดีย้อนหลังนั้นมีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับโรแมนซ์สแกม แล้วใครอยู่ที่เรือนจำบ้าง จากนั้นก็เข้าไป หาเขาที่เรือนจำ ขึงรูปให้ดูเลยว่ามีอยู่ 40-50 คนต้องจับใครบ้าง ซึ่งเครือข่ายมันไม่เยอะ
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่านี่คือวิธีการที่ทางเราได้ใช้ในการจับกลุ่มโรแมนซ์สแกม คือต้องต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ ทำให้เห็นภาพว่าใครคือเบอร์หนึ่งในขบวนการ ผู้หญิงไทยบางคนก็อาจจะไปรู้จักกับภรรยาของเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สองในขบวนการ
“เราค่อยๆขยายไปเรื่อยๆจนได้เครือข่ายของกลุ่มโรแมนซ์สแกมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วยซ้ำ ซึ่งผู้หญิงไทยทุกคนที่เราไปหาต่างก็ยืนยันหมดว่าใครคือเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง เบอร์สาม” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวและกล่าวต่อว่าพอเราแชร์ข้อมูลไปทางมาเลเซียเขายังตกใจเลยว่าเราสามารถจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้เราก็ต้องสืบสวนกันนานเหมือนกัน
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวต่อว่าสำหรับผู้หญิงไทยที่บอกว่าถูกศุลกากรมาเลเซียจับตัวในคดีที่เกี่ยวข้องกับการขนเงินนั้นเขาต้องโทษจำคุกที่มาเลเซียไปแล้ว และเราก็ประสานเพื่อนำตัวมาลงโทษที่ไทยต่อ
ทั้งนี้เมื่อถามเกี่ยวกับตัวตนของผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับจำนวน 30 คนเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าคนกลุ่มนี้อยู่ในเอเชียหมด การกระทำความผิดนั้นเป็นความผิดนอกประเทศร่วมด้วยความผิดภายในประเทศจึงได้มีการประสานงานกับทางอัยการเพราะถือว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถจับตัวได้แล้ว 21 รายและกำลังมีการประสานขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับผู้ต้องหาที่เป็นไนจีเรียอีกสองราย โดยขณะนี้ความคืบหน้าทางคดีได้มีการส่งสำนวนไปให้กับทางอัยการแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล
“30 รายนั้นเราส่งฟ้องศาลไปแล้ว ได้ตัวไปศาล 21 รายที่ยังไม่ได้อีกเจ็ดราย ขอตัวสองราย” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
ความคืบหน้าการตามตัวผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง
@โครงสร้างบริษัทฉากหน้าในเมืองไทย
ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับบริษัท อ.และโครงสร้างบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่อาจถูกใช้เป็นฉากหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าบางบริษัทยกตัวอย่างเช่นบริษัทเอ ก็ดำเนินกิจการตามปกติ แต่ถามว่าธุรกิจของเขารุ่งเรืองหรือไม่ มันก็ไม่รุ่งเรือง แล้วพอมาวันหนึ่งเจ้าของบริษัท เอ ก็ได้รับการติดต่อจากเพื่อนคนหนึ่งว่า “เดี๋ยวเราให้นายสิบเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวมีเงินเข้ามาสิบล้านบาท ไม่ต้องห่วงเงินถูกต้อง อยู่เฉยๆคนนี้ได้เงินล้านหนึ่ง เขาก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม นี่ก็เข้าข่ายว่ามีความผิดไปด้วย แต่ถามว่าเจ้าของบริษัท เอ นั้นเปิดบัญชีหลอกร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ใช่ เพราะบัญชีของเขาก็ใช้งานมาหลายปีแล้ว หรือเหมือนคนโลภคุยกันนั่นเอง”
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวต่อไปว่าแต่บริษัท อ.ที่บอกว่าอยู่สมุทรปราการ อันนี้นั้นถือว่าเป็นบริษัทปลอมแน่นอน และกรรมการบริษัทนั้นก็เป็นผู้ต้องหาหมด อันที่จริง กรรมการบริษัท อ.แห่งนี้ก็คือคนที่บอกว่าบินจากมาเลเซียเพื่อมาเอาเงินแล้วก็โดนจับทั้งที่มาเลเซียแล้วก็ถูกประสานตัวมาจำคุกที่ไทยต่อนั่นเอง ซึ่งกรรมการบริษัทที่ว่านี้ก็อยู่ในกลุ่ม 21 คนนั้นด้วย
เมื่อถามว่าเงินจากไหมที่โอนเข้าบริษัท อ. เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าจากธนาคารเจพีมอร์แกน โอนเข้าบริษัท อ.เลย
เมื่อถามต่อว่าแล้ว น.ส.ชมานันทน์นั้นไม่สงสัยหรือว่าบัญชีของบริษัท อ. นั้นไปเกี่ยวอะไรกับ นพ.แอนดรูว์ ชาง (บุคคลที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้แอบอ้างเพื่อให้ น.ส.ชมานันทน์รัก) อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่า ตอนแรกก็เขาสงสัยเหมือนกัน แต่ทางฝ่ายมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นบริษัทนายหน้า คือต้องยอมรับว่ากลุ่มมิจฉาชีพนั้นจะใช้เหตุผลสารพัดในการทำให้หลงเชื่อ
“สมมติว่าโอน 10 ล้าน ชมานันทน์จะได้อีเมลข้อความมาเลยบอกว่าให้โอนบริษัท เอ เท่านี้ บี เท่านี้ ซี เท่านี้ คือหลังๆทำไมชมานันทน์รีบโอน ก็เพราะว่าคนร้ายนั้นเร่งมาก บอกว่าคุณต้องรีบโอนนะ ไม่ต้องห่วงเงินที่คุณโอนไป ฉันโอนกลับให้หมดแน่นอน เพราะว่าฉันมีเงินมรดกอยู่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สบายใจได้ I love you” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
@แผนประทุษกรรมเปิดเผยกลวิธีกลุ่มมิจฉาชีพ
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกล่าวต่อถึงแผนประทุษกรรมว่าที่ผ่านมานั้นไปจับชาวไนจีเรียคนหนึ่ง แล้วปรากฎว่าข้อเท็จจริงก็คือไปเจอว่าเขามีเทมเพลต (รูปแบบ) การสร้างสตอรี่ในการสื่อสารที่ชัดเจน จากวันแรกกลุ่มพวกนี้อาจจะคุยกับเหยื่อว่า Hello วันต่อมาก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า My Dearly Friend วันที่สามนั้นเขาก็อาจจะใช้คำว่า Hello Dear วันที่สี่ก็อาจจะบอกว่า My Darling และต่อมาก็อาจจะใช้คำว่า Honey แล้ว คือมันค่อยๆขยายไปเรื่อยๆ ก็ได้เพื่อให้เหยื่อตายใจ
โดยที่ผ่านมากลุ่มมิจฉาชีพส่วนมากนั้นจะหาข้อมูลเหยื่อผ่านทางโซเชียล แต่กรณีของ น.ส.ชมานันทน์นั้นถูกพบเจอข้อมูลในเว็บ Linkedin ซึ่งเป็นเว็บโซเชียลที่ใช้สำหรับสมัครงานมีความน่าเชื่อถือ จากนั้นพอเริ่มคุยกันก็มีการพูดคุยกันผ่านอีเมลและคุยกันผ่าน Whats Apps ในเวลาต่อมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่าจริงๆแล้วชาวไนจีเรียที่เป็นกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้นั้นก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ แต่ก็มีบางคนที่เก่ง ซึ่งบางทีเราจะเห็นว่ามีคนที่ใช้ Google Translate ซึ่งก็ดูแปลกมาก แต่บางทีเหยื่อก็หลงก็คือ
”มีแชทหนึ่งที่ผู้ซึ่งปลอมเป็น ดร.แอนดรูว์ ได้สื่อสารจนทำให้เหยื่อหลงก็คือ สิ่งที่โรแมนติกที่สุดที่ผมเคยทำให้ก็คือการถอดรองเท่าให้พ่อ และใส่รองเท้าให้พ่อและผมก็จะทำแบบนี้กับคุณเหมือนกัน ซึ่งผมก็ลองลอกข้อความเหล่านี้แล้วไปค้นหาบนโลกออนไลน์ก็พบว่าเป็นข้อความที่มาจากพวกเว็บนิยายรัก ผมก็ขำเหมือนกันว่าทำไมถึงไปเชื่อเขาได้” เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวถึงวิธีการสื่อสารของกลุ่มมิจฉาชีพและกล่าวย้ำว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมทางเจ้าหน้าที่ถึงเชื่อได้ชัดเจน น.ส.ชมานันทน์น่าจะเป็นเหยื่อจริงๆ เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชีของ น.ส.ชมานันทน์แล้วก็พบว่าเคลียร์มาก
@คดี พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติเชื่อมโยงกับผู้หญิงไทยในมาเลเซีย
ทั้งนี้เมื่อถามถึงการดำเนินคดีในคดีที่สามที่เป็นคดี พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่าในคดีนั้นถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ซึ่งทางฝ่ายสืบสวนนั้นมองว่าขบวนการมิจฉาชีพเหล่านี้ยังคงกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าๆมาทบทวนดู และข้อมูลหลายอย่างนั้นมีความเชื่อมโยงกัน
“ยกตัวอย่างเช่นเราลองดูบัญชีข้อมูลแถวหนึ่ง แถวสอง และแถวสาม กับฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ก็พบว่ามันมีความเชื่อมโยงกันโดยบังเอิญเราก็เลยจำกัดวงไปว่ากลุ่มพวกนี้คือกลุ่มผู้หญิงไทย ที่เริ่มต้นจากการข้ามไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียไปทำอาชีพพนักงานเสิร์ฟ หมอนวด ขายบริการ เป็นสามกลุ่มหลักๆ ซึ่งตอนเขาข้ามไปก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำอะไรพวกนี้ร่วมกับมิจฉาชีพ แต่ว่าพอข้ามไปก็จะไปพักกับคนที่เป็นกลุ่มเดียวกัน ในย่านของคนไทยที่ประเทศมาเลเซีย แล้วผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นสเปกของคนไนจีเรียที่มักจะไปนวดไปซื้อบริการ พอใช้บริการซ้ำไปบ่อยๆก็มีความสนิทกัน คนไนจีเรียก็จะเริ่มเสนอตัวว่าให้มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเวลาผู้หญิงไทยทำงานพวกนี้ในมาเลเซียเขาจะได้เงินประมาณ 15,000 บาท แต่ว่าพอคนไนจีเรียบอกว่าจะเลี้ยง ไม่ต้องทำงาน ได้เงินเดือนประมาณหมื่นนึง ผู้หญิงเขาก็บอกว่าพอไปไหว และบางคนยิ่งกว่านั้นก็มีลูกกับคนพวกนี้เลย” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
แนวทางการขยายผลการสืบสวนจากกรณี น.ส.ชมานันทน์โอนเงิน ตามจนไปถึงคดีฉ้อโกง และขยายผลกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับความผิดอาชญากรรมข้ามชาติในต่างประเทศ (ขอปกปิดรายละเอียด เพราะกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสืบสวน)
เจ้าหน้าที่กล่าวต่อว่าผู้หญิงเหล่านี้พอมีลูกแล้วก็ติดไปไหนไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับคนไนจีเรีย ซึ่งส่วนตัวนั้นทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มองว่าผู้หญิงคนนี้เป็นผู้ร่วมขบวนการตั้งแต่ต้น แต่ถือว่าเป็นเหยื่อคนแรกของขบวนการพวกนี้ โดยการมีลูกแล้วบางทีแค่พามาแจ้งเกิดที่ประเทศไทย ส่วนพวกคนไนจีเรียนั้น ถามว่าเขาสนใจว่าตัวเองจะมีลูกหรือไม่ เขาก็ไม่ได้สนใจ พอมีลูกแล้วก็ทิ้งเลย คือต้องบอกว่าคนไนจีเรียพวกนี้ค่อนข้างเจ้าชู้ จ่ายเงินเลี้ยงผู้หญิงที่ 3,000 บาท ถึง 5,000 บาท ซึ่งผู้หญิงที่เป็นภรรยาเขาก็รู้ว่าคนไนจีเรียนั้นไปมีภรรยาน้อย แต่ว่ามันทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะกลายเป็นสภาพบังคับของเขาไปแล้ว
“พอทำอะไรไม่ได้ ไปไหนไม่ได้แล้ว ผู้หญิงภรรยาเช่าเหล่านี้ก็เลยต้องร่วมขบวนการหลอกลวงไปกับคนไนจีเรียพวกนี้ด้วยกัน” เจ้าหน้าที่กล่าวและกล่าวต่อว่าในประเด็นเรื่องการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาตินั้นทางสอบสวนกลางได้ย้อนกลับไปดูผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงจำนวน 30 คนที่เคยบอกไปแล้ว โดยตรวจสอบว่า 30 คนนั้นมีคนไหนที่มีส่วนเกี่ยวกับคดีโรแมนซ์สแกมบ้าง
“เราย้อนข้อมูลกลับไปได้ถึงประมาณ ปี 60 ปี 59 หรือว่าปี 58 ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงชื่อว่านางเอก่อเหตุเป็นผู้ต้องหาคดีนี้ (เอสซีลอร์) แน่นอน แต่ว่าเขาเคยมีคดีเมื่อปี 58 เราก็เลยขีดเส้นเวลาว่าผู้หญิงคนนี้มีส่วนเกี่ยวกับคดีโรแมนซ์สแกมตั้งแต่ปี 2558 จากนั้นผมก็จะสร้างความชื่อมโยงว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน สมมติเพิ่มเติมว่ามีผู้หญิงอีกคนที่ว่านางลิ เขาไม่ได้เป็นผู้ต้องหา 1 ใน 30 คนนี้ แต่เราเอาคำให้การของผู้ต้องหาคนอื่นที่ให้การซัดทอด อาทิ กรรมการบริษัท อ.ที่โดนจับ เขาก็บอกว่าคนนี้ทำ มีสามีชื่อคนนี้ ก็คือซัดทอดไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เอาเรื่อการโอนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ เราขีดเส้นเวลาการโอนเงินช่วงปี 2558 ช่วงเวลาการเดินทางของแต่ละคน มาดูว่าใครเดินทางใกล้เคียงกันบ้าง ถ้าใครมีการเงิน ข้อมูลโซเชียล การเดินทางสัมพันธ์ แล้วเอาข้อมูลเหล่านี้มารวมกัน ก็จะพบว่าสมมติว่าแม้นางลิจะไม่ได้เกี่ยวกับคดีนี้แต่ก็พบว่ามีข้อมูลการปฏิบัติการณ์มาโดยตลอด ทำในคดีก่อนๆ ดังนั้นก็สรุปว่าเขาส่วนกับคดีโรแมนซ์สแกมนี้แน่นอน ซึ่ง ณ เวลานี้เราสามารถรวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติได้ประมาณร้อยกว่าคนแล้ว และอยู่ในระหว่างกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานเติมต่อไป”เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
สรุปจำนวนผู้ต้องหาทั้งสามคดี
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทตัวย่อ อ. ซึ่งเปรียบเสมือนกับบริษัทบังหน้าเพื่อหลอกให้ น.ส.ชมานันทน์ได้โอนเงินเป็นจำนวนนับสิบล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศราจะได้นำเสนอในครั้งถัดไป