“…เรื่อง OTT มีอย่างเดียวเลย คือ เราต้องใช้แบบจีน คือ ใช้ ‘ซิงเกิ้ล เกตเวย์’ แต่เราจะทำแบบนั้นได้หรือไม่ เราก็ทำไม่ได้ เพราะเราต้องสื่อสารกับคนรอบโลก และเราไม่ใหญ่พอที่จะทำอย่างนั้น ดังนั้น ปัญหาตรงนี้ จะทำให้เกิดปัญหาทีวีดิจิทัลภาคสองก็ได้…”
................................
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลปกครอง จัดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปีศาลปกครอง เรื่อง 'ปัญหาการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์' ซึ่งในงานดังกล่าว มี ว่าที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ราย เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดประเด็นในงานสัมมนามาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
โดย ศ.พิรงรอง รามสูต นักวิชาการอิสระ และว่าที่กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้ว่าปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ,พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ และพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งให้อำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลเรื่องต่างๆ แต่ปรากฏว่า มีเนื้อหาอีกเป็นจำนวนมากที่ กสทช. ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้
“มีเนื้อหาจำนวนมากที่ กสทช. เข้าไปไม่ถึง เช่น เนื้อหาที่อยู่บนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่ง กสทช. แตะต้องไม่ได้ เพราะไม่ใช่ขอบเขตอำนาจตามกฎหมาย กสทช. และเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลฯ แต่มีคำถาม คือ เราจะแบ่งได้จริงๆ หรือว่า boundary (พรมแดน) มีจริง” ศ.พิรงรอง กล่าว
@ยอมรับการกำกับดูแลเนื้อหา OTT มีความเหลื่อมล้ำ
ศ.พิรงรอง ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมา กสทช. เคยใช้อำนาจตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งว่าด้วยเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศ สั่งการให้มีการยุติการไลฟ์เฟซบุ๊กมาแล้ว 2 กรณี และสาเหตุ กสทช. สั่งการเช่นนั้น เพราะผู้ที่ไลฟ์เฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่หากเป็นผู้สร้างหรือผู้นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบ ที่ไม่ใช่ผู้ถือใบอนุญาตแล้ว กสทช.จะไม่สามารถออกคำสั่งได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล
“มี 2 เรื่องหลักๆ ที่เห็นชัดเจนมาก คือ เรื่องกราดยิงที่โคราช มีผู้ประกอบการ (ทีวีดิจิทัล) บางราย มีการเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามที่บัญญัติในมาตรา 37 กรณีนั้น กสทช. ได้เข้าไปแทรกแซงและให้หยุดทันที หรือกรณีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ขู่ว่าจะฆ่าตัวตายที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อันนั้นก็เป็นกรณีที่ กสทช. เข้าไปกำกับทันทีว่า ไลฟ์ ไม่ได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ กสทช. เข้ากำกับดูแลได้ เพราะเป็นผู้ประกอบกิจการฯ เป็นผู้ถือใบอนุญาตที่ กสทช. กำกับดูแลอยู่
แต่ก็มีเนื้อหาเป็นจำนวนมาก ที่ผู้สร้างหรือผู้นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบไม่ใช่ผู้ถือใบอนุญาตฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตในการกำกับดูแล จึงต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร และกรณีของ OTT (Over-The-Top เช่น ยูทูป และเฟซบุ๊ก) ก็เข้าข่ายตรงนี้หมดเลย รวมทั้งเป็นเนื้อหาที่เป็นแบบ streaming มีลักษณะเหมือนโทรทัศน์ และเครื่องมือที่ใช้ นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว ก็ดูผ่านโทรทัศน์ได้เลย จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน” ศ.พิรงรอง กล่าว
ศ.พิรงรอง กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกำกับเนื้อหาแล้ว ยังพบปัญหาอีกว่า ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องเสียค่าใบอนุญาต เสียค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลเนื้อหา และต้องลงทุนโครงสร้างต่างๆ แต่ OTT ไม่ว่าจะเป็น Netflix และ youtube กลับไม่ต้องเสียค่าพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานใดๆเลย ดังนั้น กสทช.จะเข้าไปกำกับดูแลตรงนี้ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
@เพิ่มบทบาท ‘องค์กรวิชาชีพ’ ร่วมดูแลเนื้อหาอย่างแท้จริง
ศ.พิรงรอง กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการกำกับดูแลเนื้อหา เช่น กรณีที่กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ทำให้บุคคลได้รับความเสียหาย เนื่องจากการออกอากาศที่เป็นเท็จ หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง และสิทธิในครอบครัว ซึ่งผู้เสียหายสามารถมาร้องกับ กสทช.ได้ ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ ได้นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องกฎหมายแล้ว ยังมีเรื่องจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะในขณะที่ กสทช.มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมาย แต่จะมีองค์กรวิชาชีพเข้ามาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลตามจริยธรรม ดังนั้น ในอนาคตอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทั้ง กสทช. และองค์กรวิชาชีพ เข้ามากำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน
“องค์กรวิชาชีพมีมาตรฐานจริยธรรม แต่ไม่มีไม้ในการลงโทษ ทำให้การกำกับดูแลไม่เกิดผลอย่างแท้จริง เพราะคนไม่กลัว และหลายกรณีคนไม่ด่าองค์กรวิชาชีพ แต่มาด่า กสทช. ว่า ทำไมเรื่องนี้ไม่ไปดูแล แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดของเนื้อหาจริงๆ จะพบว่ามันเป็นเรื่องจริยธรรม ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมาย และที่ผ่านมามี 2 กรณีที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแล้วมาถึงศาลปกครอง คือ กรณีพีชทีวี ซึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน
และกรณีของ ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่เป็นกลางของผู้ที่เกี่ยวข้องในลำดับชั้นของการพิจารณาที่ กสทช. โดยในเรื่องความไม่เป็นกลางนั้น ถือเป็นประเด็นที่ใหญ่ แต่เวลาที่เราพูดถึงองค์กรกำกับดูแล สิ่งที่เราอาจมองข้ามไป คือ ความเป็นมืออาชีพ ส่วนในเรื่องความเป็นอิสระก็ส่วนหนึ่ง
และเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลนั้น ถามว่าอิสระจากอะไร อิสระจากอำนาจ อิสระจากทุน หรือเป็นเรื่องอุดมการณ์ที่ครอบงำด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมกำลังมีการแบ่งขั้วทางความคิด องค์กรอิสระหรือแม้แต่ศาลปกครองเอง ทำอย่างไรก็ไม่พ้นที่จะถูกตีความ หรือถูกทัวร์ลง” ศ.พิรงรอง กล่าว
(ศ.พิรงรอง รามสูต)
@แนะผู้ประกอบการพัฒนาเนื้อหาที่ ‘แตกต่าง-น่ารู้’ สู้ออนไลน์
ศ.พิรงรอง ยังระบุว่า กสทช. น่าจะเข้าไปมีบทบาทในการเข้าไปร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการผลิตเนื้อหาละครไทยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมนี้
“ทำไมคนรุ่นใหม่เลิกดูละครไทย ไม่ดูแล้วละครไทย ลูกศิษย์ที่สอน เขาบอกว่าดูแล้ว มันไม่ได้ ลองไปถามลูกชายที่เป็นวัยรุ่น เขาก็บอกว่า แม่ลองเปิดละครไทยดู แล้วลองพิจารณาว่า คนที่ไหนเขาพูดกันแบบนี้ ไม่มีใครเขาพูดกันแบบนี้หรอก แต่ถ้าลองไปเปิดดูซี่รีย์เกาหลี หรือ Hollywood นี่คือ สิ่งที่คนพูดกัน สิ่งเหล่านี้ มันอาจไม่ใช่เรื่องปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ
ดังนั้น บทบาทของ กสทช.ต่อไป อาจไม่ใช่เรื่องการกำกับดูแลในเชิงให้ใบอนุญาต จัดสรรคลื่นความถี่ หรือกำกับดูแลตามกฎระเบียบเท่านั้น แต่น่าจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้ ให้ก้าวไปสู่ขั้นถัด คือ ต้องมีการร่วมมือกับส่วนต่างๆ ซึ่ง กสทช. มีต้นทุนที่ดีมาก และเป็นองค์กรอิสระที่อาจเคลื่อนได้เร็วกว่า ซึ่ง กสทช. จะต้องทำร่วมกับผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ หรือแม้แต่หน่วยงานที่ผลิตคนในด้านนี้” ศ.พิรงรอง กล่าว
ศ.พิรงรอง กล่าวต่อว่า เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด หากไม่มีการจัดสรรให้กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะทำให้วัตถุประสงค์ที่บอกว่าให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อสังคมหายไป แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นฯจะต้องพัฒนาเนื้อหาให้แตกต่างจากสิ่งที่บนเจอบนพื้นที่ออนไลน์ เช่น พวก Clickbait และยังถือเป็นความท้าทายของ กสทช. ที่จะทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงอยู่ต่อไปได้
“กสทช.มีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมตรงนี้ไปต่อได้ ส่วนท่านก็ต้องแข่งกับออนไลน์ที่เร็วกว่า ต้นทุนแทบไม่มี ใครเป็นยูทูปเบอร์แทบไม่มีต้นทุนเลย และตรงนี้คนที่เป็นมืออาชีพ อย่างที่เรียกว่าฐานันดรที่ 4 หมาเฝ้าบ้าน หรืออะไรต่างๆก็ตาม ในแง่ข่าวสารแล้ว การจะไปคาดหวังอะไรกับออนไลน์มันยาก แต่เนื่องจากท่านใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะ ทำอย่างไรให้ข่าวที่ต้องรู้ หรือควรรู้ มันน่ารู้ และดึงคนกลับมาได้บ้างจากที่คนหลุดเข้าไปบนพื้นที่ออนไลน์ หรือ Clickbait จึงอยากฝากผู้ประกอบการด้วย และถือเป็นความท้าทายร่วมกัน” ศ.พิรงรอง กล่าวทิ้งท้าย
@ย้อนรอย รธน.ปี 40 จุดเริ่มต้นปฏิรูปสื่อ-จัดสรรคลื่น
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ว่าที่กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 คลื่นความถี่เป็นทรัพย์สินของส่วนราชการเป็นหลัก เช่น วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุของกองทัพ จึงไม่มีใครมีคลื่นเป็นของตัวเองได้ แต่เมื่อมีการปฏิรูปสื่อ โดยมีจุดเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีการกำหนดชัดเจนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดสถานีวิทยุนับหมื่นแห่ง
“เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดตรงนั้นไว้ ก็มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต และมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ด้วย แต่บังเอิญหน่วยงานที่มีกำกับดูแลวิทยุและโทรทัศน์ไม่เกิด เกิดแต่หน่วยงานที่กำกับกิจการโทรคมนาคม อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุ 8,000 ถึง 10,000 สถานี แต่ปราศจากหน่วยงานที่มากำกับดูแลอย่างแท้จริง จึงเป็นปัญหาที่หมักหมมก่อนที่ต่อมาจะมี กสทช.เกิดขึ้น” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งกำหนดให้รวมคณะกรรมการที่กำกับกิจการวิทยุและโทรทัศน์ กับคณะกรรมการที่กำกับกิจการโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน เป็น กสทช. ในปี 2553 และ กสทช.ที่มารับงานในปี 2554 ได้นำสถานีวิทยุที่ไม่มีการกำกับดูแลเข้าสู่ระบบ มีอนุญาตและกำกับดูแล รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทในการบริหารคลื่นความถี่ แต่เป็นแผนที่บอกกว้างๆว่า คลื่นย่านไหนจะใช้ในกิจการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“มาตรา 27 (1) บอกว่า กสทช.จะต้องจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ แต่การบริหารคลื่นความถี่ที่ดีและมีประสิทธิภาพหลังมีแผนแม่บทแล้วนั้น จะต้องจัดสรรช่องความถี่ เช่น ประเทศไทยจะมีคลื่นย่านนี้สำหรับกิจการโทรทัศน์ คลื่นย่านนี้สำหรับกิจการวิทยุ คลื่นย่านนี้สำหรับกิจการมือถือ และคลื่นย่านนี้สำหรับวิทยุการบิน จากนั้นเราก็เอาคลี่นแต่ละย่านมาจัดช่องความถี่วิทยุ” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
(พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)
@พร้อมพูดคุยผู้ประกอบการเดินหน้า ‘วิทยุดิจิทัล’
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า เมื่อโฟกัสในเรื่องวิทยุ ประเทศไทยมีการจัดทำแผนความถี่วิทยุ FM โดยจะใช้คลื่นในย่านความถี่ 88-108 MHz และเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีอนาล็อกสมัยเดิมที่เป็นเทคโนโลยีเมื่อ 90 ปีก่อน จึงแบ่งช่องได้สูงสุด 80 ช่อง หรือช่องละ 0.25 MHz แต่หากทำให้เป็นวิทยุหลักที่ดี จะต้องแบ่งช่องเป็น 0.5 MHz หรือ 1 MHz เพื่อไม่ให้คลื่นรบกวนกัน ซึ่งจะทำให้ได้ช่องความถี่ 20-40 ช่อง
“ในพื้นที่เดียวกัน เช่น กรุงเทพและปริมณฑล ถามว่าเรามีวิทยุหลักได้กี่ช่อง สูงสุดไม่เกิน 20 ช่อง 40 ช่อง ไม่สามารถมีช่องได้มากกว่านี้ นี่คือขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีปัญหา เพราะเรามีวิทยุหลักของรัฐประมาณ 300 ช่อง แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกคนอย่างมีช่องสถานีเป็นของตัวเอง เราก็พยายามทำในเชิงเทคนิคให้มีช่องได้ 80 ช่องต่อหนึ่งพื้นที่ และไม่มีทางจะมากไปกว่านั้น” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้มีการแบบจำลอง พบว่าในประเทศไทยหากเป็นการออกอากาศวิทยุด้วยกำลังส่ง 1000 W จะมีสถานีวิทยุได้สูงสุด 1,023 สถานี แต่หากลดกำลังส่งเหลือ 50 W จะได้สถานีวิทยุสูงสุด 1,652 สถานี นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นในเชิงเทคนิค แต่ทาง กสทช. เองไม่อยากใช้แบบจำลองตรงนี้เป็นข้อจำกัด เพราะในปัจจุบันสถานีวิทยุทั่วประเทศมีกว่า 4,000 สถานี จากที่เคยมีมากถึง 10,000 สถานี
อย่างไรก็ดี กสทช.พร้อมจะพูดคุยกับผู้ประกอบการ หากจะมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีวิทยุจาก ‘วิทยุระบบอนาล็อก’ ไปสู่ ‘วิทยุระบบดิจิทัล’ ซึ่งจะทำให้มีช่องความถี่มากกว่าเดิม 10-15 เท่า แต่จะต้องมีการลงทุนใหม่
“ถ้าพูดกันตรงๆ วันนี้ดีมานด์กับซัพพลายไม่สอดคล้องกัน คนที่มีดีมานด์ก็อยากได้มากขึ้น คนที่ซัพพลายบางทีก็อยากออกเพิ่ม แต่พอออกไปแล้ว มันมีปัญหาคลื่นรบกวนกัน ซึ่งเราก็มีแนวทางอยู่ เช่น ถ้าเรามาพูดคุยกันว่าเราจะเอาอย่างไร ในเมื่อดีมานด์กับซัพพลายไม่รองรับ เราจะไปแก้ไหม เราจะไปสร้างบ้านใหม่ไหม เราจะไปเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลไหม ซึ่งซัพพลายจะได้มากกว่า 10-15 เท่า
แต่แน่นอนว่าเมื่อสร้างใหม่ ใครจะลงทุน ใครจะทำอย่างไร ผู้ประกอบการเดิมพร้อมไหม ยินดีไหม พร้อมจะมูฟไหม หรือมีอะไรยังไง ซึ่งต้องมาพูดกัน เพื่อให้มันเดินหน้าไปได้ตามสิ่งที่เป็นจริง เพราะต้องอย่างลืมว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัดจริงๆ เมื่อเราเลือกเทคโนโลยีอย่างนี้ มันก็จำกัดอยู่แค่นี้ เพียงแต่ว่าเราต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ กสทช.ออกประกาศให้การทดลองออกอากาศวิทยุชุมชนจะสิ้นสุดในปี 2567 และเข้าสู่ระบบใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 นั้น เป็นสิ่งที่ กสทช.ชุดที่ผ่านมาเป็นผู้ออกประกาศ แต่เมื่อตนได้เข้าไปทำหน้าที่เป็น กสทช. ก็จะพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
@ศาลต้อง ‘เรียนรู้-ตามเทคโนโลยีให้ทัน’
สุชาติ ศรีวรกร อธิบดีศาลปกครองกลาง กล่าวว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีส่วนร่วมในการทำคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ตั้งแต่ในช่วงที่มีการพูดถึงคลื่นโทรศัพท์ 2G และ 3G ซึ่งปัจจุบัน แม้ว่าจำนวนคลื่นไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนเทคโนโลยีของทีวีจาก ‘ระบบอนาล็อก’ ไปสู่ ‘ระบบดิจิทัล’ ซึ่งทำช่องโทรทัศน์เพิ่มจาก 5-6 ช่องเป็น 48 ช่อง แต่ก็ทำให้รายได้ค่าโฆษณาของทีวิดิจิทัลแต่ละช่องลดลง และมีปัญหาตามมา
สุชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาของกิจการวิทยุ ว่า ที่ผ่านมามีการเปิดให้วิทยุชุมชนทดลองใช้คลื่น แต่ปรากฏว่าเป็นการทดลองใช้คลื่นมาเป็น 10 ปี ซึ่งมากกว่าระยะเวลาฝึกงานอีก และเรื่องนี้กำลังเป็นปัญหา เมื่อกิจการวิทยุได้เข้าสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งจะต้องมีการเปิดประมูลคลื่น นอกจากนี้ การที่มีวิทยุชุมชนจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาคลื่นรบกวน เพราะมีการซอยคลื่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การรับฟังไม่ชัดเจน จึงอยากฝาก กสทช. ให้ไปจัดการไม่ให้คลื่นตีกันมากเกินไป
ส่วนปัญหากิจการทีวีดิจิทัลนั้น สุชาติ ระบุว่า ทีวีมีปัญหามาก เพราะใครๆก็อยากทีวีเป็นของตัวเอง เช่น ในการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 บางรายประมูลไป 2 ช่อง บางรายประมูลไป 3 ช่อง แต่พอตะครุบไปแล้วคายไม่ทัน เรื่องก็มาสู่ศาล ศาลก็ต้องมานั่งคิดว่าทีวีดิจิทัลคืออะไร โดยศาลต้องเรียนรู้ และต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน รวมทั้งต้องรู้ว่า must have คืออะไร และ must carry คืออะไร
“เดิมเรามองว่า ทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องใบอนุญาต เมื่อรับแล้วก็อย่ามาเอาคืน ถ้าเอาไปทำเจ๊งก็เรื่องของคุณ แต่ในวันนั้น ศาลสูงก็มองตามศาลชั้นต้น โดยมองว่า ท่านต้องไปแจกกล่อง ท่านต้องไปแนะนำ ส่วนต่างจังหวัดก็รับฟังไม่ได้ รวมทั้งการสร้างโครงข่ายก็ยังไม่พร้อม เมื่อเปิดไปแล้ว มันก็เลยวุ่นวายไปหมด สุดท้ายต้องให้ศาลแก้ และทาง กสทช. เองก็ต้องแก้ปัญหาต่างๆกันไป” สุชาติ กล่าว
(สุชาติ ศรีวรกร)
@ระบุไทยไม่ใหญ่พอทำ ‘ซิงเกิ้ล เกตเวย์’ คุม OTT
สุชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหา OTT ที่แทบไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต คือ OTT ไม่ต้องประมูลใบอนุญาต และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) เลย ขณะที่ประเทศไทยคงไม่สามารถควบคุม OTT เหล่านี้ได้ เพราะประเทศไทยไม่ได้ใหญ่เหมือนจีนที่จะทำ Single Gateway (ประตูทางเชื่อมระหว่างเครือข่ายต่างๆ)
“เรื่อง OTT มีอย่างเดียวเลย คือ เราต้องใช้แบบจีน คือ ใช้ ‘ซิงเกิ้ล เกตเวย์’ แต่เราจะทำแบบนั้นได้หรือไม่ เราก็ทำไม่ได้ เพราะเราต้องสื่อสารกับคนรอบโลก และเราไม่ใหญ่พอที่จะทำอย่างนั้น ดังนั้น ปัญหาตรงนี้ จะทำให้เกิดปัญหาทีวีดิจิทัลภาคสองก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยที่ทีวีดิจิทัลจะเป็นทีวีสาธารณะ และไม่ควรคิดเรื่องเงิน แต่ควรใช้ระบบ beauty contest คือ ดูเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่เรื่องเก็บเงิน ซึ่งเป็นเรื่องของการค้า
คนดูทีวีก็จะได้ดูแต่โฆษณา พอมีโฆษณาคนก็ไม่ดูแล้ว ไปดูยูทูปดีกว่า พอดูยูทูปแล้ว ก็คุมเนื้อหาไม่ได้ เพราะเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ วันนี้จึงอยากฝากเทคโนโลยี มันก้าวไปมาก ก้าวไปไกลจนกระทั่งศาลเองก็เอื้อไปไม่ถึง และไม่ใช่แต่เรื่องทีวี วิทยุ และสื่อสารโทรคมนาคม แต่ไปถึงเรื่องวงโคจรดาวเทียมแล้ว ผมคิดว่าคดีพวกนี้ ถ้ามีการแก้ไขที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำก็จะเบาหน่อย และก็คงห้ามไม่ให้ใครมาฟ้องศาลไม่ได้” สุชาติ กล่าว
@ชี้ OTT หนามยอกใจ ‘ทีวีดิจิทัล’-เชื่อในอนาคตเรื่องถึงศาลฯ
สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ต่างก็ประสบปัญหาและอุปสรรคจากระเบียบกฎเกณฑ์ กติกา ที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งกำหนดให้ กสทช. นำมาออกประกาศทีหลัง เนื่องจากกฎเกณฑ์ กติกา ที่เขียนไว้นั้น มีลักษณะที่เป็นการระแวงว่า เอกชนจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากคลื่นวิทยุโทรทัศน์กันมาก และแทบไม่มีการสนับสนุนผู้ประกอบการแต่อย่างใด
“เขียนกติกาเหมือนกับว่า คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นสมบัติของชาติ เมื่อเป็นสมบัติของชาติ คนที่เข้ามากำกับทรัพย์สินมหาศาลที่เป็นสมบัติของชาติ จะต้องมีบุคลิกเข้มอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วเชื่อหรือไม่ว่า คนที่รู้เรื่องมากๆ จะเข้ามาเป็น กสทช. ไม่ได้ เพราะไปเขียนดักไว้ว่า ใครเคยทำงานในโทรทัศน์แล้วไปสมัคร กสทช. จะสมัครไม่ได้ หากจะสมัครได้จะต้องพ้นหน้าที่ไปแล้วเท่าไหร่ก่อน ถึงจะไปอยู่ได้
สุดท้ายคนที่ไปนั่งหน้าที่ ก็คือคนที่ไม่ได้ทำงานวงการนั้น และรู้ปัญหาน้อย เขาเขียนกฎหมายกีดกันคนที่รู้ปัญหา เพราะกลัวว่า จะมีพรรค มีพวก มีคอนเนคชั่นในวงการนี้มาก เมื่อไปกำกับดูแลแล้วจะมีปัญหาทีหลัง กฎหมายไทยกลัวมาก ทำให้ในที่สุดแล้ว บุคลิกและคุณสมบัติของคนที่มาเป็นกรรมการ กสทช. เอาโทษเถอะ เอาคนที่อยู่ในแวดวงวงการนั้นมาไม่ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อไม่ได้ เราขอแค่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเอนเอียง มาเข้าข้าง” สุภาพ กล่าว
(สุภาพ คลี่ขจาย)
สุภาพ กล่าวว่า ในอนาคตคงมีหลายเรื่องที่จะต้องมาที่ศาลปกครองอีก เพราะแม้ว่าสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลจะดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก ม.44 ที่ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย และจ่าย MUX (ค่าบริการออกอากาศ) น้อยลง แต่ปัญหายังไม่จบ เนื่องจาก กสทช. มีแผนนำคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ดาวเทียมใช้ส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล ไปเปิดประมูล ซึ่งจะทำให้ประชาชนดูทีวีดิจิทัลผ่านดาวเทียมไม่ได้ และยังมีเรื่อง OTT ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
“เรื่องแรก ถ้า กสทช. เอาคลื่น 3500 MHz คืนมา ทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศผ่านดาวเทียม CU Band จะออกอากาศไม่ได้ ซึ่งจะทำให้คนโทรทัศน์หายไปส่วนหนึ่ง เรื่องที่สอง ตอนที่ประมูลทีวีดิจิทัล เราไม่คิดว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าและมาไกลอย่างนี้ ซึ่งเทคโนโลยี มันเอา OTT มา ทำให้ใครก็ทำโทรทัศน์ของตัวเองได้ ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต แต่หารายได้ได้ และ กสทช. ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมาจากต่างประเทศ ซึ่งผลก็คือว่า เขาเอาคอนเทนต์ของเราไปเผยแพร่ แล้วไปหาโฆษณา เขาไม่ต้องลงทุนทำอะไรเลย
คนไลฟ์สดแล้วคนติดตามเยอะๆ ขายของได้เดือนหนึ่งมหาศาล ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตใครเลย ถ้าสมมุติเป็นเวทีมวย ทีวีดิจิทัลนั่งริงไซด์ จ่ายตั๋วแพง พวกโทรทัศน์ดาวเทียมจ่ายน้อยลงมาหน่อยไปอยู่กลางๆ แต่ OTT ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แต่ดูตรงไหนก็ได้ ท่านว่ายุติธรรมไหม ทุกวันนี้ OTT ก็ยังเป็นหนามยอกใจพวกเรา เพราะไม่มีใครไปทำอะไรเขาได้ เงินโฆษณาที่ได้มาก็ส่งไปต่างประเทศ แล้วใครมียอดวิวมากๆ เขาก็โอนเงินคืนมาให้ ผมไม่ได้อิจฉาใคร แต่ถามว่า ทำไมเราทำอะไรไม่ได้ และเชื่อว่าวันหนึ่งเรื่องนี้จะต้องมาถึงศาลปกครอง” สุภาพ ระบุ
สุภาพ ระบุว่า กสทช.ควรมีบทบาทในการสนับสนุนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการฝ่ายรายการ โดยขอว่าจะอย่าไปตั้งคนที่คิดอะไรมากๆ หรือมองแต่ในแง่ร้ายๆ มาเป็นอนุกรรมการฯ เพราะบางคนตั้งธงไว้เลยว่าจะมาเป็นคุณครู เพื่อสั่งสอน ลงโทษนักเรียน จนเกิดความรู้สึกว่า ทีวีดิจิทัลทำอะไรก็ไม่ได้ ขณะที่เฟซบุ๊ก จะทำอะไรก็ได้ จึงขอว่าให้ กสทช. กำกับให้น้อยลง ส่วนพวกเราจะควบคุมกันเองให้มากขึ้น
“ข่าวเรื่องแตงโม สื่อมวลชนต้องเสนอ เพราะเป็นเรื่องคนอยากรู้ ซึ่งข่าวมี 3 ประเภท ข่าวที่ต้องรู้ ข่าวที่ควรรู้ ข่าวที่คนอยากรู้ ข่าวที่ต้องรู้ มันขายไม่ได้ เช่น ข่าวกฎหมาย ข่าวภาษี มันต้องรู้ แต่คนไม่สนใจ ข่าวที่ควรรู้ เช่น ข่าวน้ำท่วม 4-5 จังหวัดภาคใต้ รู้ไว้ก็ดี แต่ขายไม่ได้ ส่วนข่าวที่ขายได้ คือ ข่าวที่คนอยากรู้ แม้ว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้า กสทช.เข้าใจบริบทนี้ ปัญหาจะมีน้อยลง และทางสื่อเองก็เรียนรู้ว่าอะไรเหมาะ ไม่เหมาะ และแค่ไหนเกินไป” สุภาพ กล่าว
@ระบุ 'กสทช.' ยังไม่มีการทำแผนใช้คลื่นความถี่ที่ชัดเจน
ด้าน สำราญ อิบรอฮีม นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการวิทยุอยากเห็น คือ การที่ กสทช. จัดทำแผนการใช้คลื่นความถี่วิทยุที่มีอยู่ รวมทั้งต้องศึกษาว่าเมื่อนำคลื่นวิทยุมาจัดสรรจะมีแล้ว จะมีจำนวนสถานีวิทยุเท่าไหร่ แบ่งเป็นสถานีวิทยุเพื่อบริการสาธารณะได้เท่าไหร่ เป็นวิทยุชุมชนได้เท่าไหร่ และเป็นวิทยุธุรกิจแต่ละประเภท เช่น ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ได้เท่าไหร่
“วันนี้เรายังไม่เห็นแผนเหล่านี้เลย แต่ กสทช. ก็ได้นำคลื่นความถี่ส่วนหนึ่งไปเปิดประมูลแล้ว ซึ่งถ้า กสทช.จัดทำแผนการใช้คลื่นความถี่ แล้วนำไปสู่กระบวนการจัดสรรคลื่นให้มีความชัดเจน โปร่งใส และทำความเข้าใจร่วมกัน ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายจะยอมรับ” สำราญ ระบุ
สำราญ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ม.ค.2568 กสทช.ออกประกาศว่า วิทยุทุกประเภทจะต้องก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์ แต่ขณะนั้นกลับยังไม่มีการจัดทำแผนบริหารคลื่นความถี่ และกระบวนการออกใบอนุญาตที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็ยังไม่มี จึงอยากฝากความหวังไปยังว่าที่ กสทช. ทั้ง 2 ท่าน ที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะหากไม่เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหาการฟ้องร้องกันในอนาคต
“ตอนนี้ประกาศหลักเกณฑ์ กสทช. เรื่อง การให้เป็นผู้ทดรองอากาศจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2567 ซึ่งหลักเกณฑ์หลักๆ ยังคงให้ออกอากาศด้วยกำลังส่ง 500 W เสาสูง 60 เมตร โดยวิทยุที่ให้บริการท้องถิ่นพอใจกับกำลังส่งขนาดนี้ แต่ไม่อยากให้น้อยไปกว่านี้ เพราะจะไม่ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 25 กม. คนท้องถิ่น ไม่ได้อยากรู้เรื่องคนกรุงเทพมากนัก เขาต้องการมีวิทยุที่้เป็นปากเป็นเสียง เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยแล้ง และโควิด เพราะเขาไม่ดูเฟซบุ๊ก ยูทูป เว็บไซต์
แต่เขาต้องประกอบอาชีพของเขา ไปพร้อมๆกับฟังข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้น วิทยุอย่างพวกเรา เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องถิ่น เราจึงอยากเห็นบทบาทของ กสทช. ในการสนับสนุน ส่งเสริม และหาก กสทช.มองว่าคลื่นวิทยุมีไว้เพื่อสร้างเม็ดเงิน โดยไม่มองเนื้อหาและบริบททางสังคม ประเทศก็จะได้เงิน แต่ถ้ามองว่าคลื่นวิทยุเป็นกลไกที่จะสร้างความรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้สังคม ประเทศก็จะแก้ปัญหาและพัฒนาได้มั่นคง ยั่งยืน” สำราญกล่าว
(สำราญ อิบรอฮีม)
อ่านประกอบ :
ปิดรับสมัคร‘กสทช.’แล้ว ยื่นรวม 28 ราย-เตรียมส่งรายชื่อตรวจ‘คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม’
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
'ราชกิจจานุเบกษา' แพร่ประกาศฯ เปิดสรรหา 'กรรมการ กสทช.' ด้าน 'โทรคมนาคม-กฎหมาย'
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
‘วุฒิสภา’ ลงคะแนน 'ลับ' เคาะเลือก 5 ‘กสทช.’ ใหม่-‘กิตติศักดิ์-ธนกฤษฏ์’ ไม่ผ่าน
แง้มรายงาน ‘กมธ.ตรวจประวัติฯ’ ก่อน ‘วุฒิสภา’ ประชุมลับ โหวตเลือก 7 ‘กสทช.’
‘วุฒิสภา’บรรจุวาระโหวต‘กสทช.’ใหม่ 20 ธ.ค.-ชงปธ.วุฒิฯตั้งกก.ตรวจประวัติผู้สมัคร‘กตป.’
จับตา 'วุฒิสภา' โหวตเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่ 20 ธ.ค.นี้-กมธ.ติงมีผล ปย.ทับซ้อน 3-4 ราย
เปิดวิสัยทัศน์-ข้อซักถาม 7 ว่าที่ 'กสทช.'(ตอนจบ): กำกับเนื้อหา OTT-คุมฮั้วค่ามือถือ
เปิดวิสัยทัศน์-ข้อซักถาม 7 ว่าที่ 'กสทช.'(ตอน 1): ปม ‘เพลย์เวิร์ค-ทุนใหญ่เลี่ยงกม.