“…การวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิได้สิ้นสุดลงในชั้นของคณะกรรมการสรรหาฯ หรือชั้นของวุฒิสภา แม้ว่าผู้สมัครคนดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.แล้ว แต่หากตรวจสอบพบว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามภายหลัง ก็ย่อมเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช.ได้…”
...............................
ในวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค.นี้ ที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ‘บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ’ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
ศ.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์)
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม)
ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
ต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ก) ด้านกฎหมาย
รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)
หลังคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธานกรรมาธิการฯ จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบฯให้วุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว
@‘วุฒิสภา’ ประชุมลับโหวตเลือก ‘กสทช.’ เพื่อความเป็นอิสระ ‘ส.ว.’
สำหรับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือลงคะแนะคัดเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่ นั้น ที่ประชุมวุฒิสภาจะจัดประชุม ‘ลับ’
โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯที่จะได้รับความเห็นชอบให้เป็นกรรมการ กสทช. จะต้องได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า ‘กึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวุฒิสภา (อ่านประกอบ : ‘วุฒิสภา’บรรจุวาระโหวต‘กสทช.’ใหม่ 20 ธ.ค.-ชงปธ.วุฒิฯตั้งกก.ตรวจประวัติผู้สมัคร‘กตป.’)
“ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ วุฒิสภาจะมีการลงมติเลือก กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ หลังจาก กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กสทช. ตรวจสอบประวัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ ซึ่งการลงคะแนนเลือก กสทช. จะเป็นการประชุมลับ” สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) ระบุ
สอดคล้องกับ ‘ความเห็น’ ของคณะกรรมาธิการฯตรวจสอบประวัติฯ กสทช. ที่เห็นควรว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรรมการ กสทช. นั้น ควรเป็นการประชุมลับ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพิจารณาที่เป็นอิสระของสมาชิกวุฒิสภา
“คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาเห็นว่า การพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นรายงานลับ นั้น
มีรายละเอียดบางประการที่จำเป็นต้องรักษาเป็นความลับ และการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภาจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความละเอียดและรอบคอบตามข้อเท็จจริงที่คณะกรรมาธิการสามัญได้มาจากการตรวจสอบ
ประกอบกับข้อบังคับฯ ข้อ 112 วรรคสอง กำหนดว่า ก่อนนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญ ส่วนที่เป็นรายงานลับต่อที่ประชุมวุฒิสภา หากคณะกรรมาธิการสามัญร้องขอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ มีการดำเนินการประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ จึงเห็นควรเสนอให้มีการประชุมวุฒิสภาเป็นการลับ
ทั้งนี้ เพื่อให้บังเกิดผลดีต่อการพิจารณาที่เป็นอิสระของสมาชิกวุฒิสภาในที่ประชุมต่อไป” รายงานคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ตามบันทึกข้อความที่ สว (กสทช.) 0008/(ร) 786 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2564 ระบุ
@แง้ม ‘รายงานลับ’ พบมีข้อสังเกต ‘คุณสมบัติ’ ผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายงานการตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งฯ กสทช. ของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ กสทช. จะเป็น ‘รายงานลับ’
โดยแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ตรวจสอบประวัติฯ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯเป็น กสทช. นั้น จะมาจาก 18 หน่วยงาน เช่น สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น รวมถึงตรวจสอบข้อมูลจากผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ฯลฯ
แต่ทว่ามีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ กสทช. ว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ 3-4 ราย ที่อาจมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติและผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯได้ตั้งเป็น ‘ข้อสังเกต’ และนำเสนอให้ที่ประชุม ส.ว. พิจารณาว่า จะลงคะแนนให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯรายนั้นๆ หรือไม่
เช่น มีผู้ได้รับการเสนอชื่อฯรายหนึ่ง เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จํากัด ซึ่งกำลังฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหาย 1.7 หมื่นล้านบาท กรณีการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz (อ่านประกอบ : จับตา 'วุฒิสภา' โหวตเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่ 20 ธ.ค.นี้-กมธ.ติงมีผล ปย.ทับซ้อน 3-4 ราย)
“ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ พล.อ.อู้ด ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและท้วงติงเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ 2 ราย ว่า อาจมีปัญหา จึงได้มีการบันทึกเป็นข้อสังเกตไว้ในรายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯเป็น กสทช. ที่สนอต่อวุฒิสภาด้วย
โดยรายแรก เป็นผู้ที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับ เพลย์เวิร์ค ที่มีคดีฟ้องร้อง กสทช. ส่วนรายที่สอง เป็นผู้ที่ใช้ตำแหน่งระดับสูงในองค์กรแห่งหนึ่งมาเป็น ‘คุณสมบัติ’ ในการสมัครเป็น กสทช. แต่ปรากฏว่าในช่วงที่เปิดรับสมัคร กสทช. นั้น ผู้สมัครรายนี้ยังไม่พ้นช่วงทดลองงานเลย” แหล่งข่าวจาก ส.ว.รายหนึ่ง ระบุ
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อฯรายใด จะได้รับเลือกเป็น กรรมการ กสทช. หรือไม่ นั้น จะขึ้นอยู่กับผลการลงคะแนนของที่ประชุม ส.ว. ว่า ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมหรือไม่
@หากพบ ‘ขาดคุณสมบัติ’ ในภายหลังให้พ้นตำแหน่ง ‘กสทช.’ ได้
ขณะเดียวกัน ในรายงานคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช. พบว่า คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ได้เชิญ วิษณุ วรัญญู กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา กสทช. มาตอบข้อซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสรรหา กสทช. ชุดดังกล่าว
โดย วิษณุ ชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณา ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ว่า คณะกรรมการสรรหาฯมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบเฉพาะ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงความเหมาะสม ซึ่งได้แก่ พฤติกรรมบางประการเท่าที่สามารถตรวจสอบได้
ส่วนการตรวจสอบและพิจารณาความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมเรื่องอื่นๆ โดยละเอียดนั้น จะอยู่ในหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา
ขณะที่การพิจารณา ‘ลักษณะ’ ของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น วิษณุ ชี้แจงว่า กรณีที่มีการกำหนดตำแหน่งที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาฯ กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ดังนั้น แม้ว่าผู้สมัครจะดำรงตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ก็มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาได้
นอกจากนี้ วิษณุ ยังชี้แจงกรณีการลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครฯของคณะกรรมการสรรหาฯ ว่า คณะกรรมการสรรหาฯจะหยิบยกปัญหาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครบางคนขึ้นพิจารณา ก่อนลงคะแนนคัดเลือก ซึ่งจะพยายามตีความโดยเคร่งครัดเพื่อให้กระบวนการสรรหาสามารถดำเนินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิได้สิ้นสุดลงในชั้นของคณะกรรมการสรรหาฯ หรือชั้นของวุฒิสภา แม้ว่าผู้สมัครคนดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.แล้ว แต่หากตรวจสอบพบว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามภายหลัง ก็ย่อมเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช.ได้
จากนี้คงต้องลุ้นกันว่าในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯรายใดบ้าง ที่จะได้รับการคัดเลือกมาเป็น ‘กรรมการ กสทช.’ ชุดใหม่ แทน กสทช. ชุดปัจจุบัน ที่ทำหน้าที่มากว่า 10 ปีแล้ว
อ่านประกอบ :
‘วุฒิสภา’บรรจุวาระโหวต‘กสทช.’ใหม่ 20 ธ.ค.-ชงปธ.วุฒิฯตั้งกก.ตรวจประวัติผู้สมัคร‘กตป.’
จับตา 'วุฒิสภา' โหวตเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่ 20 ธ.ค.นี้-กมธ.ติงมีผล ปย.ทับซ้อน 3-4 ราย
เปิดวิสัยทัศน์-ข้อซักถาม 7 ว่าที่ 'กสทช.'(ตอนจบ): กำกับเนื้อหา OTT-คุมฮั้วค่ามือถือ
เปิดวิสัยทัศน์-ข้อซักถาม 7 ว่าที่ 'กสทช.'(ตอน 1): ปม ‘เพลย์เวิร์ค-ทุนใหญ่เลี่ยงกม.
'วุฒิสภา' เคาะแต่งตั้ง 15 ส.ว. นั่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ว่าที่ 'กสทช.'
เจาะลึกโปรไฟล์-สายสัมพันธ์ 7 ว่าที่กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนส่ง ‘วุฒิสภา’ โหวตเลือก
บอร์ดสรรหาฯประกาศรายชื่อ 7 ว่าที่ ‘กสทช.’ ส่ง ‘วุฒิสภา’ เคาะ-‘ฐากร-เสธไก่อู’ หลุดโผ
บอร์ดสรรหา ‘กสทช.’ เปิดให้ผู้สมัครฯ 78 ราย โชว์วิสัยทัศน์-สัมภาษณ์ 31 ส.ค.-3 ก.ย.นี้
ปิดรับสมัคร! 78 รายเข้าชิงเก้าอี้ ‘กสทช.’-‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ลงแข่งอีกรอบ
‘นายพล-ดอกเตอร์’พรึ่บ! แห่สมัคร ‘กสทช.’ แล้ว 56 ราย ‘เสธไก่อู-ศรีวราห์’ เข้าชิงด้วย
สนง.เลขาธิการวุฒิสภา เผยยอดผู้สมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ ล่าสุด 21 ราย
ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ-ระเบียบ 3 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการสรรหา ‘กสทช.'
เปิดสมัครกลางมิ.ย.! บอร์ดสรรหาฯเคาะเกณฑ์คัด ‘กสทช.’ ตรวจเข้มคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม
ประชุมนัดแรก! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ตั้ง ‘เกียรติพงศ์’ ประธาน ถกร่างประกาศ-ระเบียบ 4 ฉบับ
เปิดชื่อ 7 กรรมการสรรหาฯ กสทช.ชุดใหม่-'เลขาวุฒิสภา'เชิญประชุม 29 มี.ค.
นับหนึ่งคัด‘กสทช.’ใหม่! เลขาธิการวุฒิฯ ร่อนหนังสือถึง 7 องค์กร ส่งชื่อ ‘บอร์ดสรรหาฯ’
หวังว่าจะได้คนดีเข้ามาทำงาน! นายกฯยันไม่แทรกแซงการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ใน 15 วัน
ประกาศแล้ว! พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯฉบับใหม่ เริ่มสรรหา ‘กสทช.’ ใน 15 วัน