“…ต้องเข้าไปดูโครงสร้างของการคิดค่าบริการว่า มาจากไหน และการใช้ค่าบริการเป็นอย่างไร ซึ่งต้องแยกออกมา โดยขณะนี้ตัวเลขจริงๆ ไม่มี ผมเคยพยายามเข้าไปดูแล้ว แต่ทำไม่ได้…อาจจะดีอยู่แล้วก็ได้ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ ณ เวลานี้ ผมมองไม่เห็นเลย เหมือนมีฮั้วกัน แล้วทุกคนสบายใจ จึงอยู่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีที่สุดสำหรับประเทศ…”
........................
จากตอนที่แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง, ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม (อ่านประกอบ : เปิดวิสัยทัศน์-ข้อซักถาม 7 ว่าที่ 'กสทช.'(ตอน 1): ปม ‘เพลย์เวิร์ค-ทุนใหญ่เลี่ยงกม.)
สำนักข่าวอิศรา จึงขอเสนอวิสัยทัศน์ของ ‘ว่าที่ กสทช.’ ที่เหลืออีก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ,ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ,ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ ดังนี้
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : กระผม ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ สมัครกรรมการ กสทช. เพื่อจะนำมิติใหม่มาสู่กรรมการ กสทช. กสทช.เป็นองค์กรที่ควบคุมกำกับดูแลคลื่น ผมคิดว่าภาระใหญ่ๆ ที่จะพูด 4 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่ 1 การกำกับดูแลใช้คลื่นเพื่อควบคุมโรคระบาดที่กำลังเจออยู่
เรื่องที่ 2 การทำให้สังคมดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
เรื่องที่ 3 เรื่องที่จะทำให้มีความเท่าเทียมกัน เรียกว่า level the playing field
เรื่องที่ 4 เรื่อง Threat ของ กสทช.
เรื่องแรก คือ เราไม่เคยคิดว่า กสทช. น่าจะมีบทบาทในการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่แรก เมื่อมีการระบาด การแจกซิมหรือบังคับให้ผู้ให้บริการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ เป็นสิ่งที่เรา น่าจะทำได้ตั้งแต่แรก
สิ่งที่สองคือ เรื่องการดูแลผู้ป่วยที่ล้นหลาม ซึ่งวันนี้เรามีคนที่ป่วยอยู่ 160,000 คน อยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออยู่ที่บ้านและโรงพยาบาลสนาม
การใช้คลื่น 5G ในอนาคต น่าจะตรวจสอบสัญญาณชีพและส่งสัญญาณไปยัง telemedicine ได้ นี่คือการบริหารจัดการที่อาจจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่สามคือ กสทช. น่าจะรู้ว่าการกระจุกสัญญาณของโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ไหน น่าจะ provide ได้ ตรงไหนเป็นแหล่งมั่วสุม ตรงไหนเป็นที่ชุกชุมของคนที่อยู่ สามารถบริหารจัดการได้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องวัคซีน ซึ่ง กสทช. น่าจะทำเป็น format ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ตรงนี้เป็นบทบาทในการควบคุมโรคระบาด
เรื่องที่ 2 คือ ในสังคมดิจิทัล คลื่นเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เราออก พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่า digitize กระบวนการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม ความมั่นคง การจราจร จนกระทั่งเงินตรา currency ซึ่งตอนนี้แบงก์ชาติกำลังทำอยู่
ผมคิดว่า ถ้าเราไม่มีคลื่นที่เร็วและมั่นคงพอ เราไม่สามารถจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงได้ โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าคลื่น 5G หรือคลื่นที่จะตามมาเป็นตัวจักรสำคัญในพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขได้ เราอยากเห็น smart hospital ซึ่งคิดว่าจะทำให้การรักษาพยาบาลเร็วขึ้น
อย่างเช่น ตอนนี้การ transfer คนไข้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอีกหน่อย สิ่งที่เรียกว่า telesurgery อาจมีอยู่จริง พูดง่าย ๆ คือ หมอที่กรุงเทพมหานครสามารถช่วยหมอที่อยู่บุรีรัมย์ในการผ่าตัดโดยไม่ต้องย้ายคนไข้มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และการใช้คลื่นเพื่อประโยชน์เหล่านี้น่าจะเป็นจริงมากขึ้น
เรื่องที่ 3 คือ วิสัยทัศน์ เราต้องมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ตอนนี้เราใช้ Line เป็นโทรศัพท์ ใช้ YouTube เป็น TV เรา depend on ผู้ให้บริการมาก พูดง่ายๆ ว่า เราต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้มี application ในสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
ถ้าคิดดูดีๆ เมื่อเราใช้คลื่นและ internet เยอะ เราก็จะมี look into social media entertainment banking ซึ่งเราไม่อยากเห็นการนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่ monopoly หรือการเป็นเจ้าใดเจ้าหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น AIS จะจับมือกับ Disney โดย AIS เป็น Internet Provider เป็นสัญญาณ ส่วน Disney เป็น Content Provider เราไม่น่าจะให้ทั้ง 2 คนจับมือกัน น่าจะให้แยกแยะ คนสร้างถนนกับคนผลิตรถควรจะแยกจากกัน
เรื่องที่ 4 คือ Threat ของ กสทช. เราควบคุมกำกับดูแลคลื่น แต่สิ่งที่จะตามมา คือ Low Orbit Satellite ที่จะนำมาซึ่งการสื่อสารในราคาถูกหรืออาจจะฟรีสำหรับทุกคน และใช้อุปกรณ์ที่ง่ายขึ้น เราอาจไม่สามารถควบคุมกำกับดูแลสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดล่วงหน้าเหมือนกันว่า กสทช. อีก 5 ปี ยังสามารถจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่
(ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์)
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : อันที่จริง ผมได้อ่านประวัติและประสบการณ์ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้สมัครที่ยื่นมาแล้วอย่างละเอียด ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การนำเอากิจการโทรคมนาคมเข้ามาใช้ใน application อื่นๆ
โดยเฉพาะ telemedicine ซึ่งเหมาะมากกับคลื่น 5G ขึ้นไป ทั้งนี้ ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า ถ้าไม่มีกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือ ถ้าประชาชนไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือ Smart Phone ย่อมอยู่ในยุคของ COVID-19 ได้ยากมาก ตัวอย่างเช่น ช่วงที่เกิด COVID-19 หากเราจะไปศูนย์การค้าแต่ไม่มีโทรศัพท์มือถือไปด้วย ก็ลงทะเบียนไทยชนะไม่ได้ หมอพร้อมไม่ได้ ลงทะเบียนขอวัคซีนไม่ได้
ปัญหา คือ application เหล่านี้ กสทช. สามารถที่จะกำกับดูแลให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ต้องมี Determination ที่จะต้องเจรจากับผู้ประกอบการด้วยเสียงแข็งว่า จะให้มี telemedicine ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริโภค เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จาก 5G ดังกล่าว อุปกรณ์การสื่อสารจะต้อง compatible ด้วย ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ ผู้ให้บริการขาอาศัยช่องทางของเทคโนโลยีบีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนเครื่องบ่อยทุก 2 ปี ไม่ทราบว่าขณะนี้ ผู้สมัครใช้ iPhone หรือไม่
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : ใช้ครับ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ท่านใช้ iPhone รุ่นไหนครับ
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : รุ่นล่าสุด iPhone 12 ครับ
นายวิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : iPhone 10 โดยเฉพาะ iPhone 9 เริ่มมีปัญหาที่ระบบปฏิบัติการไม่รองรับแล้ว เพราะฉะนั้น application หลายอย่างจะใช้ไม่ได้แล้ว กสทช. จะมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงตรงนี้
ซึ่งผมนึกถึงว่า แทนที่จะบีบให้ประชาชนเปลี่ยนเครื่องทุก 2 ปี เครื่องเก่าที่เขามีอยู่แทนที่จะขาย 500-1,000 บาท กสทช. จะรับผิดชอบให้มีการ update เครื่องในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้หรือไม่
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : ประเด็นที่ 1 คือการใช้ format ซึ่งสามารถจะให้รุ่นเก่าใช้ได้ ตัวอย่างเช่น การที่จะ carry บัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น x-ray หรือ EKG ก็ตาม อันนั้น คือ ได้ประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้ format รุ่นใหม่ในการทำ
ประเด็นที่ 2 คือการ upgrade โทรศัพท์ ซึ่งหากเป็น chip ที่ interchangeable ก็ทำได้ ยกเว้นรุ่นเก่าๆ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนใหม่ หรือการให้บริการ subtitle ในเครื่องรุ่นแบบที่มีเทคโนโลยีใหม่ แต่ราคาที่ถูกลงจากประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างจะเป็นไปได้แล้ว
ต่อพงศ์ เสลานนท์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : กระผม นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ผู้สมัคร กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านกรรมการที่ให้โอกาสมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันนี้ ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย ประวัติโดยย่อของผม
ปัจจุบันผมอายุ 45 ปี ผมประสบอุบัติเหตุสูญเสียการมองเห็น ตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยเหตุที่ผมสูญเสียการมองเห็น ทำให้ผมตระหนักและเข้าใจถึงสภาพปัญหาความยากลำบากของคนพิการ ประชาชน ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นอย่างดี
และเป็นเหตุที่ทำให้ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และด้วยเหตุความพิการของผม ทำให้ผมได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือSmartphone เพื่อใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษา การประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน ผมจึงตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีต่อคนในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างดี
เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจการในการกำกับของ กสทช. นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เป็นยุค Digital disruption แน่นอนว่าใครที่ปรับตัวได้ เปลี่ยนแปลงได้ก็จะมีโอกาสเติบโต อย่างเช่น Platform จำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ประชาชนกลุ่มที่ไม่พร้อมหรือขาดโอกาสก็จะกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทันที
อย่างเช่น ในกรณีโควิด-19 ที่มีการศึกษาออนไลน์ และพบข้อเท็จจริงว่า มีครอบครัวนักเรียนจำนวนมากที่ขาดความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และทุนทรัพย์ในการเข้าถึงบริการ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมปัจจุบัน และเป็นหน้าที่สำคัญของ กสทช. ที่ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติได้อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค ซึ่งอุปสรรคในการเข้าถึง จะแบ่งเป็นหลักๆ 4 ประการด้วยกัน
ประการที่ 1 การอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นเหตุที่อาจจะได้รับบริการที่ด้อยคุณภาพ
ประการที่ 2 สภาพความพิการ หรือการเสื่อมสภาพตามวัย ซึ่งมีเงื่อนไขในการเข้าถึงแตกต่างจากบุคคลทั่วไป อุปกรณ์และ Application ต่างๆ ไม่รองรับ
ประการที่ 3 สถานะทางเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงอุปกรณ์บริการที่มีคุณภาพ
ประการที่ 4 การขาดความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในการเข้าใช้บริการ และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องใช้อำนาจหน้าที่เครื่องมือกลไกต่างๆ พร้อมกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งผมคิดว่าปัจจัยในความสำเร็จเรื่องนี้ มีอย่างน้อย 3 ประการ
ประการที่ 1 กสทช. ต้องมีความเข้าใจหรือสภาพปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง
ประการที่ 2 กสทช. ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและเข้าใจบริบทความแตกต่างของคนในสังคม
ประการที่ 3 กสทช. ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานไปพร้อมกันเพื่อให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ประชาชนสามารถจับต้องได้สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับการเสริมพลังให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิเสรีภาพนั้น เพื่อที่จะได้นำไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม ประเทศชาติต่อไป บนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน
ซึ่งผมมั่นใจว่า ประสบการณ์ของผมในการทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพกว่า 20 ปี และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องของ กสทช. ผมสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติหน้าที่นี้ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน เป็นสำคัญ และเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สภาพความพิการของผมไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขนุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ในส่วนของกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ท่านคิดว่า ในปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านไหนบ้างที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ต้องเรียนว่า หากกลุ่มคนที่มีความพร้อมแข็งแรง เขาก็สามารถมีวิธีการในการเข้าถึงสิทธิของเขาอยู่แล้ว แต่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สิทธิของเขาเหล่านี้ยังด้อยกว่ามาก
วันที่เราใช้เวลาแค่ 5 นาที เราอาจจะ download ข้อมูลได้ 100 เมกะไบต์ แต่ในพื้นที่ห่างไกลใช้เวลาเท่ากัน 5นาที อาจจะ load ข้อมูลได้แค่ 50 เมกะไบต์ แสดงว่า ถ้าความเท่าเทียมไม่เกิดขึ้น เวลาของคนในพื้นที่ห่างไกลจะมีคุณค่าน้อยกว่าเวลาของคนในพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งผมคิดว่า สิทธิเสรีภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ทุกคนควรได้รับ
ในส่วนกิจการกระจายเสียง ผมเรียนว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญของประชาชน ในบริการโทรทัศน์ เราพยายามที่จะทำให้เกิดเสียงบรรยายภาพ หรือคำบรรยายแทนเสียง ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะคนตาบอดหรือคนหูหนวก แต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในบางเวลาที่ไม่ได้ใช้สายตา หรือบางเวลาที่อาจมีเสียงอื่นรบกวนก็สามารถมองภาพได้
เรียนท่านกรรมการว่า เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดเรียกว่า Accessibility standard หรือ Accessibility guideline เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ที่มีความพิการ สูงอายุ หรือยากจน จะไม่กลายเป็นผู้เสียเปรียบในการเข้าถึงและใช้บริการจากกิจการต่าง ๆ เหล่านี้
(ต่อพงศ์ เสลานนท์)
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : เรื่องผู้ที่มีสภาพทางกายที่อาจจะเสียเปรียบคนอื่น อาจจะเป็นทางหู ทางตา หรือทางด้านอื่น ๆ โดยใน 3 กิจการนี้ สิ่งที่ผู้สมัครใช้คือคำว่า Accessibility คงมีความแตกต่างกัน
อย่างเช่น ในกิจการวิทยุ คนที่จะเข้าไม่ถึงคือผู้ที่พิการทางหู แต่ผู้ที่พิการทางตาไม่เสียเปรียบ ถ้าเป็นโทรทัศน์ ผู้ที่พิการทางตาจะเสียเปรียบผู้ที่พิการทางหู ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขโดยทำล่ามภาษามือ และมีคำบรรยายภาพที่เป็นตัววิ่งให้ชัดเจนขึ้น
ส่วนกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ใช้กับ Smartphone ในแง่ของผู้ที่พิการทางสายตา อาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้จอแบบสัมผัสที่เรียกว่า Textile ผู้สมัครคิดว่า ถ้าเป็น กสทช. ท่านจะเข้าไปแก้ปัญหาเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้ผู้ที่พิการทางสายตา ทางหู หรือทางด้านอื่นๆ มี Accessibilityทางคมนาคมอย่างไรบ้าง
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ถ้าเราแบ่งกระบวนการจากผู้ผลิตรายการหรือ Content ไปสู่ตัวประชาชน เริ่มจาก Content หรือเนื้อหา ซึ่งทุกวันนี้ Content เริ่มปรับตัวให้มีล่ามภาษามือ ตัวอักษรวิ่ง หรือเสียงบรรยายภาพ อันที่ 2 Network หรือโครงข่าย ซึ่ง coverage พื้นที่ในการเข้าใช้บริการ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมี coverage การให้บริการโทรคมนาคมที่ดีพอสมควร
อันที่ 3 เป็น Device หรือ อุปกรณ์ อันที่ 4 Application ซึ่งมี interface ทั้งนี้ ในเรื่อง Device และ Application ต้องมี Accessibility standard แม้จะเป็นหน้าจอสัมผัส แต่สามารถที่จะส่งเสียงบอกเวลาให้คนตาบอดได้ทราบ เป็นการสร้าง interface หรือวิธีการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับคนที่เหมาะสมกัน และอันที่ 5 เป็น User หรือผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิต Application ยังไม่เข้าใจเรื่อง Accessibility ซึ่งเป็นเรื่องสากล หากผู้ประกอบการเข้าใจเรื่องนี้ จะได้ประโยชน์ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่เข้าถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนตาบอด คนหูหนวก หรือผู้ที่มีความบกพร่องอื่นๆ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ในปัจจุบันนี้มีปัญหาเรื่องโควิด-19 และต้อง work from home หรือเรียนออนไลน์ ท่านที่มีปัญหาเรื่องทางกายภาพ เช่น ตา หู และต้องเรียนออนไลน์หรือทำงานจากบ้าน ต้องทำอย่างไร
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ใช้อุปกรณ์เช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่การเรียนออนไลน์จะมีปัญหามาก โดยต้องมีคนที่เรียกว่าเป็น Resource teacher ซึ่งเป็นครูที่เข้าไปช่วยสอนเสริม แต่ปัญหาหนึ่ง คือ กลุ่มพ่อแม่ที่เป็นคนพิการ แต่มีลูกที่ไม่พิการ ซึ่งปัจจุบันเรามีการสร้าง Community ขึ้นมาช่วยลูกทำการบ้าน เนื่องจากบางครั้ง สวัสดิการรัฐเข้าไปไม่ถึง จึงอาจต้องใช้ Community เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการเช่นเดียวกับคนทั่วไป
ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย
ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ : กระผม ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ การนำเสนอวิสัยทัศน์ ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ประสบการณ์และผลงานที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และส่วนที่ 2 คือ สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข
โดยในส่วนของประสบการณ์ เริ่มจากประสบการณ์ด้านการศึกษา กระผมได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายโทรคมนาคมและการสื่อสารในปัจจุบัน ถือได้ว่ากระผมเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยคนแรกที่ศึกษามาทางด้านนี้โดยตรง
ส่วนประสบการณ์การทำงานนั้น กระผมได้ทำงานในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน โดยในส่วนราชการ กระผมเคยเป็นนิติกรเคยยกร่างกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ เคยเป็นนายทะเบียนรับจดทะเบียนและกำกับดูแลการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เคยทำหน้าที่เจรจาในเวที WTO WIPO หรือองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
IPU สหภาพโทรคมนาคม WHO APEC และอาเซียน รวมทั้งเคยมีประสบการณ์เจรจา FTA ไทย-อินเดีย ไทย - สหรัฐ และยังเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ในต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรป รวมถึงโทรคมนาคมและเคยเป็น frontline ในการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EU ในระยะเริ่มต้นด้วย
ผลงานที่สำคัญ คือ การจัดตั้งระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยกระผมเป็นหัวหน้าโครงการทำหน้าที่วางระบบไอทีของไทยให้เชื่อมโยงกับระบบไอทีขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และยกร่างกฎกระทรวงและระเบียบปฏิบัติต่างๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ไทย อีกทั้งเป็นผู้กำหนดตัวบุคลากร งบประมาณ และประชาสัมพันธ์โครงการนี้ให้ประชาชนได้ทราบถึงประโยชน์ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ
กระผมทำหน้าที่กำกับดูแลภาคเอกชนที่ให้บริการที่ทำธุรกิจในเขตสนามบิน และได้รับมอบหมายให้จัดตั้งบริษัทลูก เพื่อจัดตั้งระบบการขนส่งสินค้าเกษตรผ่านช่องทางพิเศษ หรือที่เรียกว่า Premium lane ซึ่งเป็นการจัดตั้ง Business class สำหรับการขนส่งสินค้า
จากประสบการณ์ในการทำงานที่ AOT ทำให้ผมเข้าใจถึงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรฐานการบิน ซึ่งสามารถนำเอามาใช้กับกิจการดาวเทียมของ กสทช.ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนขององค์การมหาชนนั้น ผมเป็นรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย ซึ่งได้รับงบประมาณโดยตรงจาก กสทช. เพราะฉะนั้น จึงถือได้ว่ามีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ กสทช. โดยรับหน้าที่เป็นผู้พัฒนาผู้ผลิตสื่อ และดู Back Office ทั้งหมด รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็น CIO ดูระบบดิจิทัลของกองทุน อันนี้ คือ ในส่วนของประสบการณ์ ซึ่งผมคิดว่าตรงและมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานกับ กสทช. อย่างยิ่ง
ในส่วนของสภาพบัญหานั้น กระผมขออนุญาตแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับวิทยุ ปัญหาเกี่ยวกับโทรทัศน์ ปัญหาเกี่ยวกับโทรศัพท์ ซึ่งรวมถึงคลื่น 5G และปัญหาดาวเทียม โดยจะยกตัวอย่างปัญหาด้านละ 1 อย่าง
เริ่มจากด้านวิทยุ ปัญหา คือ เรื่องวิทยุชุมชนที่หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตยังไม่ชัดเจน
ด้านโทรทัศน์ ปัญหาคือเรื่อง Over The Top (OTT) โดยรายการผ่านช่องปกติจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขมากมาย ในขณะที่รายการที่ผ่านทาง Application บนมือถือ เช่น YouTube หรือ Netflix จะไม่มีข้อบังคับใดๆ จึงเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ด้านโทรศัพท์และระบบ 5G นั้น ดังที่ทราบว่า ระบบ 5G สามารถนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการแพทย์ การขนส่ง แต่กฎระเบียบที่มารองรับตรงนี้ยังไม่มีหรือยังไม่ชัดเจน
ด้านดาวเทียมก็เช่นกัน ปัญหาที่สำคัญจริงๆ คือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งระบบใบอนุญาตจะมีเงื่อนไขข้อกำหนดอีกมากมายมารองรับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดตรงนี้ และที่สำคัญก็ยังไม่มีประกาศหรือระเบียบใดๆ ออกมารองรับ
เพราะฉะนั้นปัญหาทั้ง 4 ด้านนี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งผมจะขออนุญาตเสนอแนวทางแก้ไขในช่วงตอบคำถามต่อไป
เกียรติพงศ์ อมาตยกุล (ประธานกรรมการสรรหา) : เสนอแนวทางแก้ไขสั้น ๆ เลยครับ
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ : ในส่วนของวิทยุชุมชน คือ การออกหลักเกณฑ์ โดยต้องนำระบบการประเมิน KPI มาจับ แล้วค่อยออกใบอนุญาตให้สัมพันธ์กัน สมมุติว่า ทำ KPl ได้ดี ก็จะได้รับใบอนุญาตที่มีอายุยาว อาจจะ 5 ปี เป็นต้น ถ้าทำคะแนนน้อยกว่านั้น ก็ได้รับใบอนุญาตที่มีระยะเวลาสั้นลงตามลำดับ
ในส่วนของโทรทัศน์ เป็นเรื่องของ OTT ซึ่งเป็นการให้บริการข้ามพรมแดน ถ้าเราดูอุตสาหกรรมการบินก็จะมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ เครื่องบินบินข้ามพรมแดนกันตลอดเวลา แก้ไขทางเดียว คือ ต้องมีกฎระเบียบระหว่างประเทศ และมีองค์กรระหว่างประเทศมากำกับดูแล
ซึ่งผมขอนำเสนอกลยุทธ์ในการผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ด้วยการผลักดันในกรอบอาเซียนก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงไปผลักดันต่อใน APEC ให้ออกมาเป็น based practice จากนั้นจึงผลักดันต่อใน WTO และ ITU หรือ sideline คู่ขนานกันไปในกรอบเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ
ส่วนปัญหาเรื่องโทรทัศน์ 5G กับระบบดาวเทียม ผมขอเสนอให้มีการนำเครื่องมือของ ITU ที่เรียกว่า Regulatory tracker ซึ่งเป็นการดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 หน่วยงานมาทำงานร่วมกัน และมีหลักการ 9 ประการ รวมทั้งการประเมินผล 8 ด้าน มาใช้ควบคู่ไปกับ Digital regulation handbook ซึ่งพัฒนาโดย IPU ร่วมกับ World Bank
โดยเป็นตัวกำหนดหัวข้อที่ครอบคลุมว่า อะไรบ้างในยุคดิจิทัลที่จะต้องออกกฎระเบียบ ตัวอย่างเช่น Cloud, AI, Internet of Things (IOT), cyber Security, การแข่งชัน, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อนำ Regulatory tracker กับ handbook มาประกอบกัน จะได้ผลผลิตที่เป็นกฎหมายที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานของกฎหมายไทย จากที่เคยถูกประเมินโดย ITU ให้อยู่แค่ระดับ G3 สามารถก้าวกระโดดไปเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ คือ ไทยกำลังจะเข้าสู่สมรภูมิรบในปีหน้าและไปอีก 5 ปี และจะเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทย
ขอเรียนว่า เรากำลังจะ resume การเจรจากับ EU ซึ่งการเจรจา FTA กับ EU ครั้งนี้ ไม่เฉพาะไทยกับ EU เท่านั้น แต่จะเป็นไทยกับ EU ไทยกับ UK และไทยกับ AFTA ที่นำโดยสวิสเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ รวมทั้งไทยกับ EAEU ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่นำโดยรัสเซีย
การเจรจาต้องเจรจาเป็น pack ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน ไทยจะถูกบังคับให้เปิดตลาดด้านโทรคมนาคมอย่างแน่นอน และจะถูกบังคับให้เปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ ถ้ารัฐบาลออกมาตรการใดๆ ที่กระทบต่อผู้ประกอบการต่างชาติ บริษัทต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลไทยได้โดยตรง ซึ่งการฟ้องโดยตรงสมัยก่อนทำไมได้ ต้องฟ้องผ่านรัฐของตัวเองและไปว่ากันที่ WTO แต่ปัจจุบันนี้ทำได้ และที่สำคัญ คือ การฟ้องสามารถฟ้องที่สถาบันอนุญโตตุลาการใดๆ ก็ได้ในโลก
นั่นคือเขากำลังเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอีกครั้งหนึ่ง เรากำลังจะเข้าสู่ยุคของการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่า กสทช. ต้องการนักกฎหมายเฉพาะทางที่มีความรู้ทางด้าน IT และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเจรจา ซึ่งกระผมคิดว่าผมมีคุณสมบัติพร้อมและขออาสาเข้ามารับใช้ประเทศชาติ
(ร.ท.ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ)
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ท่านพูดถึงการแก้ปัญหา OTT ท่านพูดถึงแนวคิดในการที่จะไม่ใช้กฎหมายภายในอย่างเดียว มีหลายคนพูดถึงการแก้ปัญหา O1T ด้วยการออกกฎหมาย จะใช้มาตรการอย่างนั้นอย่างนี้
ท่านพูดถึงการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาค ซึ่งผมเห็นด้วยและเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ แต่หลายประเทศลองแล้วยังไม่สำเร็จ จึงอยากจะดูว่า เราจะมีอิทธิพลที่จะไปกดดันเรื่องนี้เพียงใด ส่วนเรื่อง OTT มีประเด็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจกับด้านศิลปวัฒนธรรม
โดยด้านเศรษฐกิจ เรื่องภาษีเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ที่สำคัญกว่า คือ การกำกับดูแลเนื้อหา ทั้งนี้ ถ้าใช้วิธีการที่ท่านกล่าวถึง คือ การเจรจาอยู่ในกรอบของอาเซียน ในกรอบ WTO ในกรอบของการเจรจาคู่ค้าระหว่างภูมิภาค ปัญหาคือ มาตรฐานหรือเกณฑ์ในทางศีลธรรมของประเทศไทยกับต่างประเทศไม่เหมือนกัน
ประเทศไทยมีเกณฑ์เรื่องความเป็นไทย ฉะนั้นหลายอย่างที่ต่างประเทศยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ของไทยอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของ obscene ไม่ให้ผ่าน ฉะนั้นกรณีที่ท่านพูดถึง OTT ไม่ใช่เป็นรายการที่ส่งจากต่างประเทศเข้ามาอย่างเดียว แต่เป็นรายการที่ผู้ประกอบการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย
ใน Netflix ก็ดี ใน YouTube ก็ดี ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่ออกใน Platform เหล่านี้ เป็นภาพยนตร์ที่บางเรื่องก็โดน censor หลายฉากในโรงหนังประเทศไทย แต่เมื่อไปออกที่ Netflix หรือ YouTube ปรากฎว่าเติมกันเข้าไปได้เต็มที่ แสดงว่ามีปัญหาเรื่องแนวความคิด เกณฑ์ทางศีลธรรม และความเหมาะสมอยู่พอสมควร ซึ่งประเทศไทยต้องเข้าไปอยู่ในระดับสากล เราจะเอาตรงนี้ไปเจรจาต่อรองกับเขาได้เพียงใด
ร.ท.ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ : ตรงนี้เราจำเป็นจะต้อง engage กับภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งบางอย่างรัฐไม่สามารถเข้าไปตัดสินใจแทนภาคเอกชนได้ ตรงนี้เรียกว่า Two form approach คือเป็น approach คู่ขนานกัน จะต้องมีหน่วยกำกับดูแลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รวมตัวกันขึ้นมา
และใช้ระบบ Peer review ซึ่งภาคเอกชนสามารถตอบได้เองว่า อะไรที่สมควรหรือไม่สมควร เช่นเดียวกับเรื่องการบินที่มี ICAO และ IATA เป็นภาครัฐกับภาคเอกชน ทั้งนี้ สิ่งที่ท่านพูดนั้นถูกต้อง คือ วัฒนธรรมของแต่ละประเทศนั้นต่างกัน การจัด rating อาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
ฉะนั้น รายละเอียดปลีกย่อยตรงนี้ต้องมาดูว่า ถ้าจะเผยแพร่ อาจมีการ warning ทางเทคโนโลยี การจัด rating สามารถนำ parental service เข้ามาใช้ได้ ซึ่งเราสามารถใช้เทคโนโลยีตัวนี้กำกับได้ว่า ถ้ารายการนี้เผยแพร์ในประเทศที่ happy จะมี parental rating เป็นตัวที่คอยกำกับดูแล เป็น censorship อีกตัวหนึ่งแทนเทคโนโลยี
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้ได้รับการเสนอชื่อแป็นกรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย : วันนี้ผมจะมาเสนอวิสัยทัศน์ในการเข้ามาเป็น commissioner ที่ กสทช. ซึ่งผมอยากจะเห็น กสทช. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีขีดความสามารถสูงในการกำกับดูแลโทรคมนาคม broadcasting ให้มีการพัฒนาต่อเนื่องที่ค่อนข้างยั่งยืน มีความเป็นสากลและทำให้เศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้าในอนาคต เพราะ Digital economy จะสำคัญกับประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปเรื่องที่ผมอยากจะทำ ได้แก่
1.ภารกิจที่สำคัญในฐานะสายเศรษฐศาสตร์ คือ การกำกับดูแลการแข่งขัน ซึ่งจะมีอยู่ 3 อย่างที่ผมเสนอ คือ โทรคมนาคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง เหตุที่ต้องกำกับดูแล เพราะเป็นการแข่งขันที่มีผู้เล่นหลายรายมิได้ เนื่องมาจากคลื่นที่มีจำกัด
ฉะนั้นสิ่งที่ challenge กสทช. มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน คือ จะต้องกำกับดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด โดยให้มีสภาวะการแข่งขันให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ผู้บริโภคย่อมได้ทุกอย่างในราคายุติธรรม และผู้ประกอบการจะต้องมีเงินพอที่จะลงทุนในเทคโนโลยีในอนาคต เพราะอันนี้เหมือนเป็น Infrastructure เป็น Platform สำหรับการวาง Economy
จากนั้นเป็นเรื่องของการกำกับดูแลของ Broadcasting ซึ่งสำคัญมาก เพราะว่าการแข่งขันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้มีสิ่งที่เรียกว่า OTT เข้ามาเป็น Broadcasting บน Platform ของโทรคมนาคม ซึ่งเป็นจุดซึ่งเรายังไม่ได้ทำอะไร และจะต้องกำกับด้วย Content
ซึ่งผมเชื่อว่า การผลิต Content ต่างๆ ไม่ใช่ตัวสำคัญ ตัวสำคัญคือ ต้องสร้างพวก Media literacy ให้กับคน เหมือนกับการฉีดวัคซีน ต่อไปเป็นเรื่อง Digital Device ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาทั้ง Income distribution และ Digital Device โดยขณะนี้มีโครงการหนึ่ง เรียกว่า Universal Service Obligation (USO)
ฉะนั้น อันนี้ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องเอามา revitalize และทำให้เกิดผลให้ได้ ต่อไปเป็น Generation Device ซึ่งมาจากงานวิจัยของผม โดยค้นพบว่า มี Gap ระหว่างคนอายุ 42 ปีขึ้นไปกับอายุ 42 ปีลงมา ฉะนั้น กสทช. น่าจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะประเทศของเราตอนนี้มีปัญหาในเรื่อง generation ซึ่งมีพฤติกรรมในเรื่อง broadcasting ต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างคน 2 กลุ่ม
ส่วนเรื่องต่างประเทศมี 2 เรื่อง คือ engage กับ International Organization และ APEC ในเรื่องที่เรามี Agreement ไว้ เพราะในอนาคต ต้องเตรียมเรื่อง Digital trade agreement ซึ่งเขาเริ่มทำกันแล้ว สุดท้ายคงเป็นเรื่องการปรับปรุงขีดสมรรถนะของ กสทช. ในเรื่องวิชาการให้มาก โดยใช้โมเดลของธนาคารแห่งประเทศไทย
เพราะขณะนี้เท่าที่ผม engage ดูงานต่างๆ ที่สำคัญ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นยุทธศาสตร์ในการวางแผนนโยบายต่างๆ ของ กสทช. กสทช. ไม่ได้ทำเอง แต่จ้างคนอื่น ซึ่งบางเรื่องต้องทำเองให้ได้ เช่น เรื่อง Contribution ทางเศรษฐกิจผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในอนาคต
เพราะจริงๆ แล้ว หลายเรื่องจะช้าเนื่องจากรอการจัดจ้าง ผมจึงเสนอว่าการสร้าง กสทช. ให้เป็น Elite ในเรื่องเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคม ต้องศึกษาจากโมเดลของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในการสร้างสมรรถนะทางวิชาการ และ Strategic data ด้วย
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (กรรมการสรรหา) : ท่านจบปริญญาเอกที่ ANU Field อะไรครับ
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย : Trade Policy ครับ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (กรรมการสรรหา) : ครั้งนี้ เศรษฐศาสตร์อย่างที่ทราบดีเป็น Field ที่กว้างมาก และไม่ใช่ทุก Field ที่จะมีนัยต่อการทำงานของ กสทช. เราจึงระบุ Field ให้มี 3 ด้าน ได้แก่ Industrial Organization (IO) , Regulatory Economics และ Public Economics คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ รบกวนผู้สมัครเล่าผลงานวิชาการหรือประสบการณ์ที่โดดเด่น 1 ใน 3 เรื่อง หรือมากกว่านั้นก็ได้ครับ
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย : ผลงานประสบการณ์ คือ เป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกษียณอายุ และได้ทำงานวิจัยในเรื่อง International Industrial Organization ผมทำปริญญาเอกเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งได้สัมผัสเรื่อง IO ใน Trade Policy และเข้ามาสอน IO เลย 30 กว่าปีที่ผ่านมา
ผมสอน IO ตลอด ประสบการณ์ที่สำคัญ คือ ได้รับเชิญไปเป็นกรรมการแข่งขันทางการค้า ก่อนที่จะถูกแยกจากกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นอยู่ประมาณ 4 ปี ทั้งนี้ สิ่งที่ผมมีความภาคภูมิใจอันหนึ่ง คือ เป็นคนแรกที่เขียนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Market dominant ของ กสทช. ในปี 2552 โดยเป็นคนแรกที่เขียนเรื่อง Market definition ทั้งหมด ซึ่งผมเป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้ประกาศใช้จริงหลังจากนั้น 5 ปี
อันที่ 2 เป็นเรื่องการกำกับดูแลของ Broadcasting ซึ่งผมได้ทำเรื่อง Mergers and Acquisitions Standard และอีกอันหนึ่งซึ่งอาจจะมิได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันมากนัก คือ เคยทำเรื่อง Convergence เป็นคนแรกให้กับ กสทช. ปี 2552และเขียนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแล
(รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย)
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (กรรมการสรรหา) : ในเอกสารที่นำเสนอวิสัยทัศน์ผู้สมัครพูดถึงการแข่งขันที่สมบูรณ์ การป้องกันไม่ให้มี Market dominant และการจะ make sure ว่า อัตราค่าบริการต่างๆ ยุติธรรม ท่านมองว่า ในอุตสาหกรรม Telecom ตอนนี้ อัตราค่าบริการสมเหตุสมผลหรือไม่ สะท้อนความเป็นธรรมหรือไม่ และจะใช้หลักการเศรษฐศาสตร์อย่างไร
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย : ในเวลานี้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าค่าบริการทั้งหลายราคาเท่าไร เรารู้สึกว่าเราจ่ายเหมา จริงๆ แล้ว ทุกอย่างอยู่ในค่ามือถือของเรา เราไม่เคยรู้ว่าตกลงเราใช้โทรศัพท์อย่างไร เราใช้ internet เท่าไร ซึ่งแม้ว่าทุกคนจะไม่รู้สึก ข้อดีคือ ไม่ค่อยรู้สึกว่าแพงจนเกินไป และมี package ให้เลือก แต่ผมคิดว่าเราไม่สามารถ assess ได้ว่า จริงๆ แล้วควรถูกกว่านี้หรือไม่
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนถพุฒิ (กรรมการสรรหา) : เราจะดูอย่างไร
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย : สิ่งที่เราจะต้องดู คือ 1 ต้องเข้าไปดูโครงสร้างของการคิดค่าบริการว่า มาจากไหน และการใช้ค่าบริการเป็นอย่างไร ซึ่งต้องแยกออกมา โดยขณะนี้ตัวเลขจริงๆ ไม่มี ผมเคยพยายามเข้าไปดูแล้ว แต่ทำไม่ได้ และบริษัทต่างๆ ก็มีการซ่อนที่ดี
จึงจะย้อนไปที่ข้อเสนอของผมที่อยากจะทำวิชาการให้ดี เพราะเราต้องเก่งกว่า operator ให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถกำกับดูแลได้ เมื่อเข้าไปดูแล้วเราจะเห็น อาจจะดีอยู่แล้วก็ได้ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ ณ เวลานี้ ผมมองไม่เห็นเลย เหมือนมีฮั้วกัน แล้วทุกคนสบายใจ จึงอยู่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีที่สุดสำหรับประเทศ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (กรรมการสรรหา) : ผู้สมัครพูดถึงกองทุน USO ถ้าผู้สมัครคิดถึงโครงการในดวงใจที่คิดว่าเหมาะสมมากสำหรับ USO ควรเป็นโครงการแบบไหน พร้อมทั้งเหตุผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมจึงเหมาะกับการนำเอา USO มาใช้เพื่อการนี้ณ
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย : USO เป็น Market failure แบบหนึ่ง เพราะคนจนหรือคนที่อยู่ทางไกลไม่สามารถ afford ได้ ฉะนั้นเราจะต้องจัดอันนี้ให้เขา แต่ผมเข้าใจว่าผู้จัดบริการ คือ บริษัททั้งหลายที่จัดบริการให้แข่งกับตัวเอง ซึ่งอาจจะเสียตลาดไป แต่เราทำให้ระดับไม่เท่ากันได้
คือ อันที่ 1 speed ต่างกัน ใครมีเงินมาก ก็จ่าย แต่คุณต้อง access ได้ อันที่ 2 USO ปัจจุบันมีแล้ว แต่เขาทำให้ประสิทธิภาพไม่ค่อยสูง หมายความว่าเราจะต้องไปอยู่รอบๆ เสา ประมาณไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งจากการที่ผมไปทำ survey project ล่าสุดเคยเจอว่าชาวบ้านและเด็กๆ ต้องไปยืนใกล้ๆ เสากัน ซึ่งกลางคืนก็ใช้ไม่ได้ เนื่องจากยุงกัด รวมทั้งขาดเครื่องมือซึ่งมีราคาแพงไป
ฉะนั้น USO ต้องมาทั้งสัญญาณและอุปกรณ์ที่ affordable หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เขาใช้ประโยชน์กันในชุมชน เพราะจะช่วยในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะด้านความรู้หรือการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งผมมองว่าการมีเพียงสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่เพียงพอ ต้องมี Package ใหญ่ ซึ่งตอนนี้ยังขาด Package อังกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นวิสัยทัศน์ของว่าที่ กสทช. 4 ด้าน คือ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ,ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ,ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์
และต้องติดตามต่อไปว่า ในการลงคะแนนคัดเลือก กสทช. ของที่ประชุมวุฒิสภานั้น จะมีใครบ้างที่ได้รับเลือก!
อ่านประกอบ :
'วุฒิสภา' เคาะแต่งตั้ง 15 ส.ว. นั่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ว่าที่ 'กสทช.'
เจาะลึกโปรไฟล์-สายสัมพันธ์ 7 ว่าที่กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนส่ง ‘วุฒิสภา’ โหวตเลือก
บอร์ดสรรหาฯประกาศรายชื่อ 7 ว่าที่ ‘กสทช.’ ส่ง ‘วุฒิสภา’ เคาะ-‘ฐากร-เสธไก่อู’ หลุดโผ
บอร์ดสรรหา ‘กสทช.’ เปิดให้ผู้สมัครฯ 78 ราย โชว์วิสัยทัศน์-สัมภาษณ์ 31 ส.ค.-3 ก.ย.นี้
ปิดรับสมัคร! 78 รายเข้าชิงเก้าอี้ ‘กสทช.’-‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ลงแข่งอีกรอบ
‘นายพล-ดอกเตอร์’พรึ่บ! แห่สมัคร ‘กสทช.’ แล้ว 56 ราย ‘เสธไก่อู-ศรีวราห์’ เข้าชิงด้วย
สนง.เลขาธิการวุฒิสภา เผยยอดผู้สมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ ล่าสุด 21 ราย
ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ-ระเบียบ 3 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการสรรหา ‘กสทช.'
เปิดสมัครกลางมิ.ย.! บอร์ดสรรหาฯเคาะเกณฑ์คัด ‘กสทช.’ ตรวจเข้มคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม
ประชุมนัดแรก! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ตั้ง ‘เกียรติพงศ์’ ประธาน ถกร่างประกาศ-ระเบียบ 4 ฉบับ
เปิดชื่อ 7 กรรมการสรรหาฯ กสทช.ชุดใหม่-'เลขาวุฒิสภา'เชิญประชุม 29 มี.ค.
นับหนึ่งคัด‘กสทช.’ใหม่! เลขาธิการวุฒิฯ ร่อนหนังสือถึง 7 องค์กร ส่งชื่อ ‘บอร์ดสรรหาฯ’
หวังว่าจะได้คนดีเข้ามาทำงาน! นายกฯยันไม่แทรกแซงการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ใน 15 วัน
ประกาศแล้ว! พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯฉบับใหม่ เริ่มสรรหา ‘กสทช.’ ใน 15 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/