"...แต่วิธีการที่ผู้ประกอบการทำ เช่น กรณีกลุ่มปราสาททองโอสถ (กลุ่ม PPTV) เข้าไปซื้อช่อง one31 โดยตั้งบริษัทลูกอีกชื่อหนึ่งเพื่อเป็นการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วจะกระทำมิได้..."
.........................
คาดว่าภายในไม่เกินต้นปีหน้า ก็จะได้ทราบว่าใครบ้างที่ได้รับเลือกเป็น ‘กรรมการ กสทช.’
หลังจากล่าสุดที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ย. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ จะตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ‘ว่าที่ กสทช.’ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนจะเสนอให้วุฒิสภาโหวตเลือกอย่างเร็วปลายปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปีหน้า (อ่านประกอบ : 'วุฒิสภา' เคาะแต่งตั้ง 15 ส.ว. นั่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ว่าที่ 'กสทช.')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอการแสดงวิสัยทัศน์ของ 7 ว่าที่ กสทช. ซึ่งแสดงต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช. เป็นเวลาคนละ 5 นาที และไม่มีเอกสารหรืออุปกรณ์ประกอบ โดยเริ่มจากว่าที่ กสทช. 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง, ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ดังนี้
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ : ผม พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ขอเสนอวิสัยทัศน์จากการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากศึกษาและทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเมื่อทำหน้าที่ กสทช. ซึ่งรับผิดชอบสายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาคที่มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ และกำกับดูแลสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 5,000 สถานี ทำให้ได้รับทราบถึงประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมทั้งข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงขออนุญาตเสนอแนวทางในการแก้ไข เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ ดังนี้
ประเด็นแรก เรื่องการออกใบอนุญาต จะเห็นได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาตได้ โดยสาเหตุหลักมาจากขีดจำกัดของ Analog technology ที่กิจการกระจายเสียงไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล
แต่การเปลี่ยนดังกล่าวต้องดำเนินการแบบเป็นขั้นเป็นตอน
เริ่มจากการจัดทำ Platform วิทยุออนไลน์ เพื่อเป็นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างโครงข่ายวิทยุดิจิทัล ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการในการออกอากาศที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน ภูมิภาค และระดับประเทศ โดยจะต้องสร้างโครงข่ายนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปี จากนั้นจึงจะเริ่มให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการสถานีวิทยุตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น จากระบบนิเวศใหม่นี้ จะทำให้สถานีวิทยุมีหน้าที่ผลิตเนื้อหารายการเป็นหลัก โดยไม่ต้องกังวลต่องานด้านเทคนิคในการออกอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้สถานีวิทยุสามารถแข่งขันกันผลิตเนื้อหาที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาของคลื่นรบกวน ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนกันเอง หรือรบกวนการบิน ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป
ดังนั้น จะคงเหลือปัญหาหลักของกิจการกระจายเสียง คือ จะกำกับดูแลเนื้อหาอย่างไร ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือ ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย
ซึ่งในระบบดิจิทัลจะมีการบันทึกเนื้อหาการออกอากาศจากทุกช่องรายการของทุกสถานี ดังนั้น ผู้ออกอากาศไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการสากลที่ IPU กำหนดไว้ภายใต้ concept ไม่ว่าจะเป็น Lawful interception หรืออื่นๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สามารถที่จะกำกับดูแลสังคมให้มีความสงบเรียบร้อยได้ภายในเทคโนโลยี หรือภายในโลกยุคปัจจุบัน
จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นแรงบันดาลใจที่จะเสนอวิสัยทัศน์ในการยกระดับกิจการกระจายเสียงของไทยไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ยั่งยืนต่อไป โดยผมมีความภาคภูมิใจในฐานะผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. ที่ไม่ใช่เพียงหัวหน้าคณะของสำนักงาน แต่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนในระดับประเทศไปร่วมประชุมกับ IPU หรือนานาชาติมาโดยตลอดรวมทั้งมีความรู้และประสบการณ์จากการกำกับดูแล ซึ่งเห็นว่ายังคงมีปัญหาเชิงนโยบายบางประการ
ดังนั้น ผมเชื่อว่า สามารถที่จะสานงานเดิมให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นได้ทันที โดยพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลตามที่ได้ยึดมั่นมาโดยตลอด
(พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : คำถามแรก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ชี้แจงตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 กล่าวคือ กรณีที่คณะกรรมการได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ผู้สมัครมิได้ให้ไว้ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ขี้แจงโต้แย้งด้วย
ส่วนอีกคำถามจะเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ที่ท่านนำเสนอ
คำถามแรก มีข้อกล่าวหาว่า ท่านเคยเป็นประธานอนุกรรมการของ กสทช. ในการพิจารณาเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ อสมท ใช่หรือไม่ ทั้งนี้ อสมท ได้คลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตช์ มาในช่วงเวลาที่ได้รับยกเว้นตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และได้รับยกเว้นตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
พูดง่ายๆ คือ อสมท ได้คลื่นนี้มาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะยังมิใช่การได้มาโดยการประมูลหรือการขออนุญาต แต่เมื่อถึงเวลาเรียกคืน เหตุใดต้องเยียวยาเป็นตัวเงิน
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ : การออกประกาศเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาตามกฎหมาย จะมี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือ การพิจารณาว่าคลื่นความถี่ใดสมควรที่จะเรียกคืน โดยในขั้นตอนนี้ ผมได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทำงานและทำหน้าที่เพียงว่า ในการพิจารณาคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ของ อสมท หรือคลื่นความถี่ย่านอื่นของกองทัพไทยและกองทัพบก สมควรที่จะเรียกคืนเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
ส่วนขั้นตอนต่อไป คือ เมื่อเรียกคืนคลื่นความถี่แล้ว จะมีการชดเชยเยียวยาหรือจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผมไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแต่อย่างใด
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : คำถามที่ 2 จากวิสัยทัศน์ที่ท่านนำเสนอข้างต้น ดูเหมือนว่า ท่านจะพยายามนำกิจการกระจายเสียงไปสู่ระบบ Digitalization ทีนี้จะสามารถจำกัดหรือยุติกิจการ Broadcasting ทางเสียงในระบบ Analog ได้โดยสิ้นเชิงหรือไม่
เพราะการนำระบบวิทยุดิจิทัลมาใช้ต้องเปลี่ยนวิทยุเครื่องรับปลายทาง ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนค่อนข้างมาก
และในขณะเดียวกัน กิจการวิทยุบางภาคส่วน ประชาชนยังยึดมั่น การจะไปยกเลิกจึงย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านมองภาพรวมของกิจกรรมปลายทางที่จะต้องยกเลิก Analog ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่ดิจิทัลทั้งหมดอย่างไร หากนำไปสู่ดิจิทัลทั้งหมด และสมมติว่า ท่านเป็น กสทช.ท่านพร้อมที่จะแจกวิทยุให้กับประชาชนทุกคนหรือไม่ หรือให้ประชาชนซื้อเอง
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ : ในเบื้องต้น การดำเนินการต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งจะมีช่วง Transition ของระบบ Analog เดิม โดยที่เรามิได้กำหนดว่า คุณต้องยกเลิก Analog แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องมุ่งไปสู่อนาคตข้างหน้า คือ ต้องทำในลักษณะดิจิทัลไปด้วย
ลองนึกภาพว่า อยู่ดีๆ มีนโยบายห้ามมิให้ประซาชนฟัง CD แล้วให้หันมาฟัง MP3 ผมคิดว่านโยบายนี้ไม่น่าถูกต้อง ดังนั้น จะต้องต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งผมเชื่อว่า ด้วยกลไกของตลาดและเทคโนโลยี ย่อมเป็นผลให้กิจการเดิมๆ ค่อยๆ เลิกไปโดยปริยาย ฉะนั้น ผมเชื่อมั่นว่า ในฐานะ กสทช. ต้องมุ่งมั่นส่งเสริมให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า โดยมิได้บังคับให้ทีวีต้องยุติการออกอากาศ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดนั้น
สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (รองประธานกรรมการสรรหา) : เนื่องจากวิทยุชุมชนเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดกับประชาชนในภูมิภาคค่อนข้างมาก ในอนาคตเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล ท่านคิดว่าบทบาทของ กสทช. ในการสร้างความเข้มแข็งให้วิทยุชุมชนอยู่รอด รวมทั้งพัฒนาคุณภาพ Content ของวิทยุชุมชนที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ควรมีแนวทางอย่างไร
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ : คงต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งผมเชื่อว่า เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ผู้ที่เคยทำวิทยุชุมชนด้วยระบบ Analog เมื่อมีการเรียนรู้และเข้าใจแล้ว ย่อมจะ happy มากขึ้น เพราะหากเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแล้ว ผู้ที่ทำรายการที่เป็นผู้ประกอบการวิทยุจริง ๆ จะไม่ต้องนั่งพะวงกับปัญหาด้านเทคนิคของการออกอากาศ เช่น เสาส่ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการโครงข่ายและทำให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การทำเนื้อหารายการที่ดีมีคุณภาพ
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : ดิฉันขอนำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทของ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่มีความท้าทายเชิงเทคโนโลยีและสังคมสูง โดยขอเน้น 6 เรื่อง
คือ การกำกับดูแลทีวีดิจิทัลและการส่งเสริมศักยภาพด้านเนื้อหาในยุคที่เรียกว่า Post-broadcasting ซึ่งเป็นยุคที่เนื้อหาประเภทโสตทัศน์เคลื่อนย้ายไปสู่ช่องทาง Online มากขึ้น และแม้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับการคลี่คลายด้วยประกาศ คสช. ทั้ง 4 ฉบับตามมาตรา 44
แต่ปัญหาที่ปรากฎอยู่ คือ ปัญหาด้านเนื้อหา ซึ่งล่าสุดเป็นกรณีที่รายการ ไทยรัฐนิวส์โชว์ เปิดคลิปให้คุณตาและคุณยายของผู้ต้องหาที่เสียชีวิตจากการคลุมถุงดำบนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ดูว่า หลานตายอย่างไร ทำให้ได้ภาพคุณตาและคุณยายร้องไห้มาออกรายการ
แสดงให้เห็นว่า สื่อหิว rating จนกระทั่งลืมเรื่องจริยธรรม
ซึ่งดิฉันมองว่า คุณภาพเนื้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบเชิงสังคมและวัฒนธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การมุ่งหาทางรอดทางธุรกิจ โดยมิได้มองความยั่งยืนทางสังคม สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมนี้ขาดความเข้มแข็งทางจริยธรรม จึงต้องส่งเสริมเรื่องการกำกับดูแลตนเองหรือที่เรียกว่า Self-regulation ให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่อง Disinformation และ Fake News แพร่หลายในพื้นที่ออนไลน์ อย่างกว้างขวาง สื่อกระแสหลักที่มีความเป็นมืออาชีพสูง ยิ่งต้องเป็นเสาหลักในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ กสทช. มีเงื่อนไขของทีวีดิจิทัลว่า ต้องมีกระบวนการกำกับดูแลตนเองอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร
อีกเรื่องหนึ่ง คือ กสทช. มีแนวโน้มที่จะรวบการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาเข้าไปอยู่ในขอบเขตของมาตรา 37 ซึ่งเป็นเรื่องของเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศ ทำให้ Learning curve เกี่ยวกับเรื่อง self-regulation ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าที่ควร
โดยในเรื่องนี้ดิฉันเห็นว่า กสทช. ต้องแยกแยะเนื้อหาร้ายแรงที่ไม่สามารถออกอากาศได้กับเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรม และมีกระบวนการทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับใบอนุญาตมีกระบวนการกำกับดูแลตนเองอย่างชัดเจนและมีผลสัมฤทธิ์ ในขณะเดียวกัน ควรจะรณรงค์ให้ประชาชนผู้เปิดรับสื่อตระหนักรู้และเข้าร่วมตรวจสอบสื่ออย่างเป็นระบบมากขึ้น
ส่วนการพัฒนา หรือ ส่งเสริมเนื้อหา ดิฉันมองว่า ในยุคที่เคลื่อนย้ายสู่ Post-broadcasting สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ในแง่ของการพัฒนากำลังคน โดย กสทช. มีกองทุน กทปส. และอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งสามารถจัดอบรมให้ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพมีระบบการผลิตที่เป็นสากลมากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital platform ว่า จะใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น การนำ AI มาใช้ใน Audience management metadata เพื่อช่วยในการออกแบบสื่อ หรือการวัดระดับความนิยมเนื้อหา Multi-screening สามารถใช้ประโยชน์จาก Digital platform ได้อย่างชาญฉลาด
ขณะเดียวกัน กสทช. มีแนวทางหรือนโยบายส่งเนื้อหาสู่โลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเนื้อหาท้องถิ่น (Local content) ด้วยการให้ทุนการผลิตหรือการแปลภาษาต่างประเทศ ลดการกำกับดูแลที่ไม่จำเป็น มีการกำหนดโควตาของ Local content ใน OTT ต่างประเทศ อาจร่วมกับเอกชนในการสร้าง Platform ที่ดึงศักยภาพของผู้ผลิตที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยเริ่มต้นจากตลาดอาเซียนและจีน
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : จากวิสัยทัศน์ที่ท่านเขียนมาซึ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกันเอง โดยในคราวที่แล้ว ผมตั้งคำถามไว้ว่า บริบทของประเทศไทยจะทำได้มากน้อยเพียงใด ในครั้งนี้ ผู้สมัครกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าย้อนกลับไปในสมัยเดิม
กล่าวคือ การหลอมรวมการกำกับดูแล ซึ่งในสมัยปี 2540 ที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อและการจัดตั้งองค์กรอิสระ ได้เสนอให้ตั้งองค์กรอิสระ 2 องค์กรแยกจากกัน โดยกิจการวิทยุและโทรทัศน์แยกไปเป็น กสทช. ส่วนกิจการโทรคมนาคม แยกไปเป็น กทช.
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงได้นำ 2 องค์กรนี้มารวมกัน โดยอ้างเรื่อง Convergence ทั้งที่ 2 กิจการนี้มีเนื้อหาการกำกับดูแลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ วิทยุโทรทัศน์มีเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเรื่อง Content แต่กิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องเชิงธุรกิจ การหาลูกค้า การ marketing ต่างๆ ทั้งนี้ อยากให้ผู้สมัครนำเสนอว่า การหลอมรวมการกำกับดูแลจะเป็นไปในรูปแบบหรือลักษณะใด
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : คงไม่ถึงขนาดเป็นการหลอมรวมการกำกับดูแลเชิง Content อย่างไรก็ตาม การหลอมรวมเป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะจะเห็นว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีการให้บริการ Content ส่วนผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ก็มีการให้บริการโทรคมนาคม
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : กิจการวิทยุโทรทัศน์รวมโทรคมนาคมทำได้หรือครับ
ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต : ตอนนี้ เท่าที่เห็นคือ True ซึ่งมี TruelD โดยทำ ทั้งสองอย่าง Cross กันอยู่บน Platform
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : แต่ True ไม่ใช่เป็นผู้ผลิต Content เป็นเพียงผู้ import content มานำเสนอเท่านั้น
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : True มี Original content ด้วยค่ะ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : เขามีช่องข่าวเพียงช่องเดียว
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : ทำ Content ป้อนให้กับ True4U เช่น ละครเรื่อง อิน-จัน ศรีอโยธยา ซึ่งอันที่จริง True ทำ Content ฟอร์มใหญ่ค่อนข้างมาก
ท่านกรรมการถามว่า ดิฉันพูดถึงในแง่ Industry กฎหมายที่อ้างถึงเป็นพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งกำหนดให้ต้องส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม และมีกระบวนการกำกับดูแลตนเองผ่านการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน
ซึ่งแยกตาม Industry และยังเป็น Industry ของ Broadcasting อยู่ และเนื้อหาที่เป็น Convergence บน Platform digital ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ User Generated ซึ่งทำให้ Accountability หรือความรับผิดชอบต่างกัน ทั้งนี้ วิธีการหนึ่งในการ Counter disinformation คือ ทำอย่างไรให้ invest input media ซึ่งมองว่าเป็นจุดสำคัญ
โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่มีความเป็นวิชาชีพสูง จะทำอย่างไรให้เขา accountable อันที่จริง อยากจะ promote ถึงขนาดที่ว่า กสทช. ควรจะมีการ reward กลุ่มที่มีมาตรฐานดีกว่าให้แตกต่างจากกลุ่มที่มีมาตรฐานไม่ดี
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ถ้าท่านได้เป็น กสทช. จะทำใช่หรือไม่ครับ
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : แน่นอนค่ะ ในบางประเทศทำกันให้เห็นอย่างชัดเจนค่ะ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : คำถามหนึ่ง คือ ในปัจจุบันที่เป็นดิจิทัลทีวี หรือ Internet ทีวี จะเห็นว่า สื่อหนังสือพิมพ์เข้ามาทำตรงนี้มากขึ้นและมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ จะไปบอกว่า เป็น Cross-ownership เขาไม่ยอมรับ โดยเขาจะอ้างว่า ไม่ได้มีเจ้าของจริง ๆ แต่อันที่จริง เป็นการเข้ามาดำเนินการอีกสื่อหนึ่งโดยข้ามเทคโนโลยี ผู้สมัครคิดว่าเป็นปัญหาหรือไม่ และจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรให้มี balance
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : มุมมอง Cross-ownership คงต้องปรับเปลี่ยนเหมือนกัน เพราะสื่อมีความกระจายมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนและแง่ Platform ซึ่งจากความเข้าใจ cross media ownership ในอดีต ดิฉันมองว่า เป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุเป็นหลัก ถ้าในสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็นระดับ local และระดับชาติ
แต่มุมมอง Cross-ownership ใหม่ มีสูตรเชิงเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างซับซ้อน โดยสิ่งหนึ่งที่ใช้พิจารณา คือ market share ซึ่งเมื่อสื่อกระจายกว้างขนาดนี้ Market share ไม่สามารถ command ได้ถึงขนาดที่จะบอกว่ามีการครอบงำตลาด
อันที่จริง ดิฉันมองในแง่ของ ownership ในดิจิทัลทีวีที่เห็นชัดเจน ไม่ถึงขั้น concentration แต่อย่างน้อยกฎหมายกำหนดห้ามถือมากกว่า 1 ช่อง
แต่วิธีการที่ผู้ประกอบการทำ เช่น กรณีกลุ่มปราสาททองโอสถ (กลุ่ม PPTV) เข้าไปซื้อช่อง one31 โดยตั้งบริษัทลูกอีกชื่อหนึ่งเพื่อเป็นการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วจะกระทำมิได้
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : กสทช. วิเคราะห์ Market share ได้เองหรือไม่ หรือจะต้องดูที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ คงจะต้องถาม กสทช.
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ในทัศนะของผู้สมัคร ท่านคิดว่า กสทช. ควรจะดำเนินการเองหรือไม่ หรือให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้ดำเนินการ
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : คงต้องทำงานร่วมกัน เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้อง consult แต่ในส่วนของการวินิจฉัยที่จะมีผลต่อผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเป็นอำนาจของ กสทช.
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : อันที่จริง กสทช. จะ specialize ในเรื่องนี้มากกว่าให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าวินิจฉัยใช่หรือไม่
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต : ใช่ค่ะ ในรายละเอียดของอุตสาหกรรม
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ : ขอเริ่มต้นที่สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลก ซึ่งในอดีตเริ่มต้นจากโครงสร้างแบบแนวตั้ง คือ ลงทุนและให้บริการแบบเฉพาะเจาะจง โดยทุกอย่างทำในองค์กรเดียวกัน เช่น ลงทุนในโครงข่ายเพื่อให้บริการด้านโทรศัพท์โดยเฉพาะ
แต่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะการหลอมรวม telecom network กลายเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ทำงานร่วมกับ software ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น บริการด้านดิจิทัล OTT ที่เราเห็น ได้แก่ LINE ที่สามารถสื่อสารไปได้ทั่วโลกโดยที่ LINE ไม่ได้เป็นเจ้าของ network
ผลคืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก กำไรต่ำ และการเติบโตช้าลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในกรณีที่เปลี่ยนถ่ายไปสู่เทคโนโลยี 5G จะช้าลง
สภาพปัญหาเฉพาะในไทย คือ ยังมีโครงสร้างแนวตั้งแบบที่กล่าวไว้ โดยผู้ให้บริการรายใหญ่ยังมี license ที่มีทั้งความถี่โครงข่ายและการให้บริการอยู่ในรายเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นรายใหญ่ จึงมีการใช้สิ่งเหล่านี้กีดกันการแข่งขันส่งผลให้มีผู้ให้บริการน้อยราย การแข่งชันไม่เกิดประสิทธิภาพ
อีกส่วนหนึ่ง คือ อุปสรรคที่เกิดจากการกำกับดูแลที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น การห้ามใช้ความถี่หรือโครงข่ายข้ามกิจการ ส่งผลให้ต้นทุนสูงเกินจำเป็น ตัวอย่างเช่นโครงข่ายเคเบิลทีวีสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ แต่ความเป็นจริงยังติดปัญหาทางระเบียบต่างๆ ฉะนั้นการกำกับดูแลบางครั้ง จึงกลายเป็นอุปสรรคแทนการส่งเสริมอุตสาหกรรม
สำหรับทิศทางในการพัฒนาทั่วโลกมีทิศทางในการลดอุปสรรคต่างๆ โดยในส่วนของกลไกตลาด แนวทางที่โลกกำลังเดินไปคือ การแยกใบอนุญาตโครงข่ายออกจากใบอนุญาตการให้บริการ เรียกว่า Infrastructure separation โดยกำหนดให้มีใบอนุญาตน้อยราย เพื่อให้เกิด Economies of Scale ซึ่งลดการลงทุนที่ซ้ำช้อนและก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทุนที่สูงขึ้น การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีก็จะทำได้ไวขึ้น เพราะความเสี่ยงการลงทุนต่ำลง
ในส่วนของการให้บริการใบอนุญาตสามารถให้ได้จำนวนมากราย เพราะการลงทุนไม่สูง ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในตลาดได้ง่ายขึ้น ก็จะมีการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในส่วนของอุปสรรคจากการกำกับดูแลมีวิธีการที่จะทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษมีตลาดรองในการแลกเปลี่ยนคลื่นความถี่เพื่อให้คลื่นความถี่ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือใบอนุญาตประเภทที่เรียกว่า unify license ก็จะไม่ยึดติดกับบริการและไม่ยึดติดกับเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัว ท้ายที่สุดมาที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5G ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก
ผู้กำกับดูแลจำเป็นต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างชับช้อน เช่น OTT, Internet of Things, machine to machine เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G เร็วขึ้น โดยประสานงานกับส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้มีการใช้โครงข่าย 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การเงิน หรือการบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นความหวังของการลงทุนใน 5G โดยในกลุ่มประเทศ EU ได้ใส่ไว้ในวาระของ EECC (European Electronic Communications Code)
ถัดมาคือ ผู้กำกับดูแลจำเป็นต้องดูด้าน privacy และ security มากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งจะคล้ายกับกลุ่มอุตสาหกรรม banking ที่ใส่ทรัพยากรจำนวนมากเข้าไปในการทำ compliance และท้ายที่สุด ต้องไปประสานกับหน่วยงานสากลเพื่อสร้าง single framework ที่จะกำกับดูแลผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่าง Google หรือ Facebook
โดยสรุปแล้ว โทรคมนาคมใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จึงไม่ควรดูเฉพาะรายได้ ภาษี หรือใบอนุญาตเท่านั้น แต่ต้องดูผลจากการพัฒนา โดยตั้งเป้าให้มีบริการที่ทันสมัย
เช่น สหรัฐอเมริกาที่กำหนดไว้ใน 25/3 หรือ EU ที่กำหนดไว้เป็น Gb Network ในปี 2030 จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กำกับดูแลสร้างความสมดุลระหว่างการแข่งขันกับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมที่เทคโนโลยีมีผลต่อชีวิตมนุษย์ค่อนข้างมากอย่างยุคโควิด-19
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : คำถามแรก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ชี้แจงตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2534 มาตรา 30
กล่าวคือ กรณีที่คณะกรรมการได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ผู้สมัครมิได้ให้ไว้ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ชี้แจงโต้แย้งด้วย เนื่องจากมีหนังสือร้องเรียนว่า ผู้สมัครเป็นที่ปรึกษาของบริษัท เพลย์เวิร์ค จริงหรือไม่ และยังคงดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ : ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจด้านคมนาคม เป็น project ประมาณ 1-2 ปีในช่วงนั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค มานานแล้วครับ โดยผมได้ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ในใบสมัครด้วยครับ
(กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ)
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโมษกคณะกรรมการสรรหา) : ท่านมิได้เขียนรายละเอียดว่าเป็นที่ปรึกษาในลักษณะใด ส่วนคำถามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ท่านนำเสนอเกี่ยวกับการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการ pubic ได้มากขึ้น และกล่าวถึง network segmentation
ทั้งนี้ รายได้หลักของผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมมาจากการให้บริการประชาชนมากกว่าการให้เช่าโครงข่าย หากแยกโครงข่ายออกจากใบอนุญาตประกอบกิจการ ท่านจะมีวิธีการจูงใจเอกชนอย่างไร เพราะ return ยังไม่เท่ากับการให้บริการประชาชน โดยเอกชนต้องไม่ใช่เป็นผู้ประกอบการ
เพราะหากเป็นผู้ประกอบการตั้งบริษัทแยกออกมา แล้วทำโครงข่าย ก็เท่ากับมิได้แยกและยังอยู่ใน Conglomeration เดียวกัน ดังนั้น ต้องเป็นบริษัทที่แยกออกมาเป็นบริษัทต่างหากที่จะทำเรื่องโครงข่ายโดยตรง และให้ operator เช่าโครงข่าย นอกจากนี้ ท่านจะให้มีผู้ประกอบการด้าน network กี่รายจึงจะคุ้มค่า
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ : ในส่วนของ Infrastructure separation มีระดับตั้งแต่อ่อนๆ ไปถึงแก่ๆ คำว่า แก่ๆ คือ แยกออกจากกันเป็นบริษัท ส่วนระดับอ่อน ๆ จะเรียกว่า Accounting separation คือ ต้องระบุให้ชัดว่า ส่วนนี้เป็นธุรกิจจากการให้บริการ ส่วนนี้เป็นธุรกิจจากตัวโครงข่าย ซึ่งแนวโน้มที่ผม Research แล้วและในเชิงตรรกะ ควรจะเป็นไปในแนวทางนั้น เนื่องจาก Infrastructure separation ถูกนำมาใช้ในการกีดกันการแข่งขัน
แต่หากเราแยกได้แล้ว ก็จะเกิด Economies of Scale เพราะในชั้นบนซี่งเป็นการให้ใบอนุญาตจำนวนมากราย จะลงมาใช้ตัวล่างอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและที่สำคัญมีผลพวงค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น หากเราในฐานะบุคคลทั่วไปมีปัญหาในบริการ การ complain ไปในบริษัท
ผมคิดว่า เราอาจได้รับการตอบสนองบ้าง แต่น้ำหนักไม่เยอะ ในทางกลับกัน หากเราแยกชั้นโดยมีชั้นของผู้ให้บริการอยู่ข้างบน เวลาลูกค้า complain มาที่ตัวให้บริการ ตัวให้บริการจะไม่มี Conflict of Interest ในการที่จะต้อง defend ตัวเอง เพราะตัว service อยู่ด้านล่าง ฉะนั้น ตัวผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการ ก็สามารถที่จะ complain
แล้วก็ negotiate กับตัว infrastructure ข้างล่างได้ จะมีน้ำหนักกว่า เพราะผู้ให้บริการจะแบกลูกค้าเป็นจำนวนมาก เวลาที่พูดก็จะมีน้ำหนักสูงขึ้น อันนี้เป็นโครงสร้างที่จะเกิดประโยชน์โดยธรรมชาติ ในส่วนของ intensive เมื่อเราแบ่งแล้ว จะเห็นได้ว่ามีกลไกที่ต้องใช้แตกต่างกัน
ในส่วนของการให้บริการที่มีผู้ให้บริการน้อยราย กลไกตลาดไม่ work เนื่องจากกลไกตลาดจะทำงานต่อเมื่อมีปริมาณมากพอและเกิดการแข่งขันที่มากพอ เพราะฉะนั้นในส่วนของตัวโครงสร้างพื้นฐาน ผมมองว่าจะต้องใช้วิธีเชิง Government mechanism หรือ Control mechanism ซึ่งต้องมาดูในเชิง efficiency calculate cost ที่เหมาะสม แล้วก็ set efficiency target
ยกตัวอย่างเช่น คุณตั้ง rate ในราคาขายได้เพียงเท่านี้ แต่เราอาจกำหนด efficiency target ว่า คุณต้อง improve 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี เพราะฉะนั้น ก็ต้อง drive ให้ไปสู่ตรงนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นราคาจะไม่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วยตัวมันเอง
ในส่วนของ return เนื่องจากมีลักษณะความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยในส่วนของ infrastructure เมื่อเราลดจำนวนการแข่งขันลง ความเสี่ยงบางมิติก็จะหายไป เช่น market risk คือ ความเสี่ยงจากการแข่งขันจะลงมาเหลือเฉพาะ operating risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากการ operate network
ดังนั้น เมื่อความเสี่ยงน้อยลงแสดงว่าผลตอบแทนที่คาดหวังจากนักลงทุนก็ควรน้อยลงด้วย สมมติหากเกิด risk เข้าไปใน stock market ผมมองว่า ตัวโครงสร้างพื้นฐานก็จะมี return profile ที่คล้ายกับพวกโรงไฟฟ้า ซึ่งเน้นไปที่ operating risk เป็นหลัก
ส่วนการให้บริการ สมมติว่า หากแยกกันแล้วเข้าตลาดทั้งคู่ในแง่ของ license ในการให้บริการจะผันผวนกว่า แข่งขันกันมากกว่า แต่ลงทุนไม่มากเท่า ฉะนั้นลักษณะแบบนี้จะเน้นไปที่ service quality และเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ในการให้บริการ ถ้ามองเป็นหุ้นในตลาด เราก็จะเห็นในลักษณะของ PE ที่จะสูงกว่าเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ ผมคิดว่า ถ้าผมเป็นผู้กำกับดูแล อย่างน้อยต้องแลกเปลี่ยนสื่อสารกันกับ operator ต่าง ๆ เพื่อให้เขาเห็นว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ถ้าย้อนไป 30 ปีที่แล้ว supply ของ Telecom Service under supply อย่างมาก ในขณะที่ demand รอเต็มไปหมด เมื่อมี supply เกิดขึ้น
หากจำกันได้โทรศัพท์เครื่องหนึ่งราคา 60,000-70,000 และจะต้องมีเส้นสายเพื่อไปเอาโควตาจากจังหวัดนั้น ความไม่มีประสิทธิภาพในระบบนี้สามารถแบกรับได้ เพราะสามารถที่จะกำหนดราคาที่ค่อนข้างสูงได้ แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนไป Value chain ของตัว Telecom เองที่เคยได้รับเต็ม ๆ ถูก OTT หรือบริการอื่นโฉบเข้ามาเก็บเงินไปเสียอย่างนั้น
ตัวอย่างเช่น บริการ LINE ซึ่งปัจจุบันสามารถโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้โดยเห็นภาพและไม่เสียเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กำลังเผชิญปัญหา นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ เช่น IT โดยเฉพาะการมาถึงของ 5G เทคโนโลยียิ่งเปลี่ยนไป
โดยในปัจจุบันมีการพูดถึงและกำลังมีการลงทุนเพิ่มเติม คือ Private Network ใน 5G ซึ่งในอดีต บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ลงทุนทั้งประเทศ ทุกคนก็มาใช้ แต่อันที่จริงแล้ว User ที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นพวก manufacturing ประเด็น คือ การลงทุนในโทรคมนาคมกำลังมีความเสี่ยงมากขึ้น และผลตอบแทนมีความไม่แน่นอน
ผมคิดว่า หากเราหาทางออกให้ operator นี้ เช่น ยินดีให้เขา merge กัน ซึ่งเมื่อถึงเวลา คงต้องไปลงรายละเอียดกันและแยกระหว่างตัวบริการกับตัวโครงข่าย ซึ่งโครงข่ายอาจจะมีการ merge กัน หาก merge กัน efficiency สูงขึ้น Idle capacity ต่ำลง ผลตอบแทนหรือความเสี่ยงต่างๆ ก็จะดีขึ้น
เหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์ของ 3 ว่าที่ กสทช. ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง, ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ส่วนวิสัยทัศน์ ว่าที่ กสทช. อีก 4 ราย สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอในตอนถัดไป
อ่านประกอบ :
'วุฒิสภา' เคาะแต่งตั้ง 15 ส.ว. นั่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ว่าที่ 'กสทช.'
เจาะลึกโปรไฟล์-สายสัมพันธ์ 7 ว่าที่กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนส่ง ‘วุฒิสภา’ โหวตเลือก
บอร์ดสรรหาฯประกาศรายชื่อ 7 ว่าที่ ‘กสทช.’ ส่ง ‘วุฒิสภา’ เคาะ-‘ฐากร-เสธไก่อู’ หลุดโผ
บอร์ดสรรหา ‘กสทช.’ เปิดให้ผู้สมัครฯ 78 ราย โชว์วิสัยทัศน์-สัมภาษณ์ 31 ส.ค.-3 ก.ย.นี้
ปิดรับสมัคร! 78 รายเข้าชิงเก้าอี้ ‘กสทช.’-‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ลงแข่งอีกรอบ
‘นายพล-ดอกเตอร์’พรึ่บ! แห่สมัคร ‘กสทช.’ แล้ว 56 ราย ‘เสธไก่อู-ศรีวราห์’ เข้าชิงด้วย
สนง.เลขาธิการวุฒิสภา เผยยอดผู้สมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ ล่าสุด 21 ราย
ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ-ระเบียบ 3 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการสรรหา ‘กสทช.'
เปิดสมัครกลางมิ.ย.! บอร์ดสรรหาฯเคาะเกณฑ์คัด ‘กสทช.’ ตรวจเข้มคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม
ประชุมนัดแรก! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ตั้ง ‘เกียรติพงศ์’ ประธาน ถกร่างประกาศ-ระเบียบ 4 ฉบับ
เปิดชื่อ 7 กรรมการสรรหาฯ กสทช.ชุดใหม่-'เลขาวุฒิสภา'เชิญประชุม 29 มี.ค.
นับหนึ่งคัด‘กสทช.’ใหม่! เลขาธิการวุฒิฯ ร่อนหนังสือถึง 7 องค์กร ส่งชื่อ ‘บอร์ดสรรหาฯ’
หวังว่าจะได้คนดีเข้ามาทำงาน! นายกฯยันไม่แทรกแซงการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ใน 15 วัน
ประกาศแล้ว! พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯฉบับใหม่ เริ่มสรรหา ‘กสทช.’ ใน 15 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/