‘วิษณุ’ แนะ ‘กปภ.-สร.กปภ.’ เจรจาหาข้อยุติ พร้อมแจง ‘สังคม-พนง.’ กรณีต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก ‘เอกชนคู่รายเดิม’ อีก 20 ปี เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ แต่แง้มข้อกฎหมายไม่ได้ห้าม ‘กปภ.’ ต่ออายุสัญญาซื้อน้ำ ขณะที่ ตัวแทน ‘สหภาพฯ’ ไม่ขัดข้องหากเปิดให้เอกชนร่วมทุนฯ แต่ต้องไม่เขียนสัญญาให้ภาครัฐเสียเปรียบ
................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ,การประปาส่วนภูมิภาค ,สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เข้าหารือและให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ สร.กปภ. คัดค้านการต่อสัญญาการซื้อขายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด นั้น
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. แหล่งข่าวจากที่ประชุมกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมดังกล่าว นายวิษณุ แจ้งว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมกรณี สร.กปภ. คัดค้านการต่อสัญญาการซื้อขายน้ำประปาจากบริษัท ประปาปทุมธานี เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าอาจมีประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายเดียว
อีกทั้งเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อคำสั่ง รมว.มหาดไทย เมื่อปี 2562 ที่เห็นชอบให้ กปภ.ดำเนินการผลิตน้ำประปาจากทรัพย์สินที่ได้รับโอนภายหลังสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด
จากนั้น นายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และนายหลักชัย พัฒนเจริญ รองผู้ว่าการ ปฏิบัติการ 4 กปภ. ชี้แจงเหตุผลกรณีการต่อขยายสัญญา 20 ปี ให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ว่า เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย มาตรา 46, 47 และ 48 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเห็นว่าข้อเสนอของบริษัทฯจะทำให้รัฐได้ประโยชน์
เช่น ลดค่าน้ำจากปัจจุบัน 12.73 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 10.15 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อมีการลงนามในการต่อสัญญา บริษัทจะโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้ กปภ. โดยจะจ่ายเงินค่าเช่าตลอดอายุสัญญาถึงปี 2586 เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท และบริษัทฯจะลงทุนก่อสร้างขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท และโอนทรัพย์สินให้ กปภ. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาร่วมทุนแบบ BTO (Build–Transfer–Operate)
นายสมบูรณ์ และนายหลักชัย ชี้แจงต่อว่า แม้ว่าเมื่อปี 2562 คณะกรรมการ (บอร์ด) กปภ. ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน เคยเสนอต่อรมว.มหาดไทย ให้ กปภ.ดำเนินการผลิตน้ำประปาจากทรัพย์สินที่ได้รับโอนภายหลังสิ้นสุดสัญญา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความในมาตรา 49 วรรคแรก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด ตามรายงานผลการศึกษาของ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา
แต่ต่อมาบอร์ดชุดปัจจุบันที่มี นายธนาคม จงจิระ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามข้อเสนอของบริษัทฯ และขยายสัญญาอีก 20 ปี หรือเป็นสิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค.2586 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 46 , 47 และ 48 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยบอร์ดเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด และยึดถือผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ
“การดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคแรก ก็ดี หรือดำเนินการตามมาตรา 46 ,47 และ 48 ก็ดี รมว.เจ้ากระทรวง หรือ ครม. อาจพิจารณาให้ดำเนินการได้ โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ” ผู้บริหาร กปภ. ชี้แจงต่อที่ประชุม
จากนั้น ตัวแทน สร.กปภ. ชี้แจงและตั้งข้อสังเกตกรณี กปภ.เตรียมต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี ในหลายประเด็น เช่น ประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนผูกขาดหรือไม่ ซึ่ง สร.กปภ. เห็นว่า หลังสิ้นสุดสัญญา หาก กปภ. ไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่ชำนาญในระบบผลิตที่มีความซับซ้อน ก็สามารถเปิดให้มีการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างรายอื่นมาดำเนินการได้ ซึ่งในไทยมีเอกชนที่มีประสบการณ์หลายราย
สร.กปภ.ยังเห็นว่า ปัจจุบัน กปภ.รับซื้อน้ำจากเอกชน 400,000 ลบ.ม./วัน เอกชนจึงเหลือกำลังการผลิต 88,000 ลบ.ม/วัน ดังนั้น เอกชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 100,000 ลบ.ม/วัน แต่อย่างใด พร้อมทั้งเห็นว่า กปภ. ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำที่สูญเสีย เพราะจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า กปภ.มีการสูญเสียน้ำวันละ 170,000 ลบ.ม./วัน
นอกจากนี้ กรณีที่เอกชนเสนอจ่ายค่าเช่าระบบผลิตน้ำประปา 1,500 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 20 ปีนั้น หากคำนวณไม่รวมอัตราดอกเบี้ย พบว่าค่าเช่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 6 ล้านบาท แต่จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า เอชนคู่สัญญาเดิมสามารถขายน้ำให้ กปภ. วันละ 5 ล้านบาท หรือเดือนละ 150 ล้านบาท ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญา มีความเหมาะสมหรือคุ้มค่าหรือไม่
“สหภาพแรงงานฯ ไม่ได้ปฏิเสธโครงการเอกชนร่วมลงทุน แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำสัญญาที่ กปภ. เสียเปรียบ ทั้งนี้ หากเห็นว่าโครงการเอกชนร่วมลงทุนยังมีความจำเป็น อาจพิจารณาให้มีสัญญาแบบบูรณาการทั้งในส่วนของการผลิตและจำหน่ายน้ำ โดยให้เอกชนมีหน้าที่บำรุงรักษาระบบท่อจ่าย-ส่งน้ำ และให้มีการซื้อขายน้ำโดยอ่านหน่วยน้ำซื้อ-ขายที่มาตรวัดน้ำของประชาชนผู้ใช้น้ำ” ตัวแทน สร.กปภ. ระบุ
พร้อมทั้ง สร.กปภ.เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทำสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และสามารถให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หลังจากผู้บริหาร กปภ. และตัวแทน สร.กปภ. ชี้แจงจบ นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ กปภ. จะต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปอีก 20 ปี นั้น ในข้อกฎหมายแล้ว สามารถทำได้ตามมาตรา 46, 47 และ 48 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เช่นเดียวกับกรณีที่บอร์ด กปภ.เคยมีมติให้ กปภ. ผลิตน้ำประปาเองหลังสิ้นสุดสัญญานั้น หากต่อมาบอร์ด กปภ.ชุดใหม่ มีมติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ แนะนำให้ กปภ. และ สร.กปภ. กลับไปเจรจาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ ตามข้อตกลง (MOU) เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ กปภ. เคยมีข้อตกลงร่วมกันกับ สร.กปภ. ว่า ในกรณีที่มีการพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงสัญญาเอกชนร่วมลงทุน จะต้องแต่งตั้งผู้แทนจากสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมอย่างน้อย 1 คน
“ในการประชุมครั้งนี้ ท่านวิษณุ ได้สรุปผลการประชุมใน 3 ประเด็น ได้แก่ ข้อแรก ให้ผู้บริหาร กปภ. ไปพูดคุยกับ สร.กปภ. ในเรื่องนี้ตาม MOU ที่เคยทำกันไว้ ข้อที่สอง ให้ กปภ.ไปพิจารณาดูว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ และข้อที่สาม ให้ กปภ.ชี้แจงเรื่องนี้ต่อสังคมและพนักงาน กปภ. เพราะหลังจากเรื่องนี้เป็นข่าวออกไป นายกฯไม่สบายใจ จึงอยากให้ กปภ.ชี้แจงและทำความเข้าใจในเรื่องนี้” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ตัวแทน สร.กปภ. ชี้แจงให้ที่ประชุมว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เนื่องจาก สร.กปภ.ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในประเด็นที่ กปภ. ละเมิดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ว่า หาก กปภ.จะการพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงสัญญาเอกชนร่วมลงทุน จะต้องแต่งตั้งผู้แทนจากสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมอย่างน้อย 1 คน แต่ที่ผ่านมา กปภ. ไม่เคยแต่งตั้งผู้แทนสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมเลย
นอกจากนี้ ก่อนปิดการประชุม นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ยื่นเอกสารและข้อเท็จจริงต่างๆกรณี กปภ.เตรียมต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ต่อนายวิษณุ และขอให้นายวิษณุ นำเอกสารดังกล่าวเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป
อ่านประกอบ :
‘วิษณุ’ นั่งหัวโต๊ะถก 4 ฝ่าย ปม ‘กปภ.’ เล็งต่ออายุสัญญาซื้อน้ำจากเอกชนอีก 20 ปี
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/