“…หากจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเข้าสู่ระบบของหน่วยงานการไฟฟ้า…จะต้องสอดคล้องกับแผน PDP โดยกำหนดประเภทพลังงานหมุนเวียนที่จะรับซื้อ เป้าหมายการรับซื้อ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ อัตรารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงวิธีการคัดเลือก แล้ว จึงมอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าตามอำนาจหน้าที่ต่อไป…”
...........................
จากกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดย กฟภ.
เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า โครงการโซล่าร์ฟาร์มดังกล่าว ‘ไม่มีการเปิดประมูล’ และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (อ่านประกอบ : มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ พน 0603/1427 ถึงเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการโซล่าร์ฟาร์มดังกล่าว (อ่านประกอบ : เบรกโซลาร์ฟาร์ม'กฟภ.' 2.3 หมื่นล.! สนพ.ชี้ต้องเสนอ 'พลังงาน-ครม.' อนุมัติ-เปิดประมูล)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำรายละเอียดการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการโซล่าร์ฟาร์ม กำลังผลิตไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC ของ สนพ. ซึ่งประกอบด้วย ‘คำถาม-คำชี้แจง’ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 6 ข้อ มาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คำถามข้อ 1 การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายใด ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนใด
ข้อชี้แจง : การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เป็นการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 มีมติเรื่องโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) ดังนี้
1.1 เห็นชอบในหลักการโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในพื้นที่เขตภาคตะวันออก (EEC)
1.2 เห็นขอบให้นำโครงการนี้เสนอต่อกระทรวงพลังงานเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
1.3 มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
จากมติที่ประชุมดังกล่าว สกพอ. และกระทรวงพลังงาน ได้มีการประชุมหารือในประเด็นการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโดยการใช้พลังงานสะอาด และขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นสังคมที่มีความสมดุลทางคาร์บอน
ต่อมากระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งกระทรวงพลังงาน ที่ 6/2564 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2564 แต่งตั้ง 'คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' โดยมีอำนาจหน้าที่ ได้แก่
ศึกษา และกำหนดนโยบายและรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้น โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ
จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รูปแบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ EEC เพื่อเสนอต่อ รมว.พลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
และประสานหน่วยงานเพื่อจัดทำแผนงานและขับเคลื่อนการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC เพื่อให้เกิดผลการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และรายงานผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นระยะ
การดำเนินการโครงการดังกล่าว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
สำหรับการดำเนินการของคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อจัดหาไฟฟ้าฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564
ที่ประชุมมีมติมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ สกพอ. เพื่อกำหนดรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหมาะสม และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อจัดหาไฟฟ้าฯ
ทั้งนี้ ปัจจุบันฝ่ายเลขานุการฯอยู่ระหว่างดำเนินการตามมติที่ประชุมดังกล่าว
คำถามข้อ 2 การจัดหาผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายใด มีขั้นตอนอย่างไร มีการเปิดประมูลแข่งขันหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นประการใด
ข้อชี้แจง : การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เป็นการดำเนินการของ สกพอ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อจัดหาผู้ดำเนินการโครงการ รวมถึงรูปแบบการดำเนินการว่า มีการเปิดการประมูลแข่งขันหรือไม่นั้น
เนื่องด้วยการดำเนินโครงการนี้เป็นโครงการที่จะต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าและมีการเชื่อมต่อระบบของการไฟฟ้า จึงต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด
ดังนั้น เพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก มีหน้าที่ต้องเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC นี้ ต่อ กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ อันเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (แผน PDP)
รวมทั้งมีการกำหนดรายละเอียดของประเภทของพลังงานหมุนเวียนที่จะรับซื้อ เป้าหมายการรับซื้อ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และอัตรารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงวิธีการคัดเลือก
แล้วจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
คำถามข้อ 3 การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้วหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นประการใด
ข้อชี้แจง : การดำเนินโครงการดังกล่าวปัจจุบัน ‘ยังมิได้’ ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแต่อย่างใด ซึ่งหากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเห็นชอบกับโครงการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบแห่งกฎหมายต่อไปดังที่ได้เรียนข้างต้น
คำถามข้อ 4 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) รัฐมีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งใดบ้าง มีการบรรจุแผนการรับซื้อไฟฟ้าที่ได้จากโครงการดังกล่าวตามคำร้องเรียนในแผนดังกล่าวหรือไม่
ข้อชี้แจง : แผน PDP 2018 Revision 1 ซึ่งเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 และ 20 ตุลาคม 2563 ตามลำดับ...
โดยแผน PDP 2018 Revision 1 กำหนดให้จัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆในช่วงปี 2561-2580 เท่ากับ 56,431 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2561-2568 รวม 20,343 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ รวมถึงทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2569-2580 รวม 36,088 เมกะวัตต์...
ทั้งนี้ แผน PDP 2018 Revision 1 ไม่ได้มีการบรรจุโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
คำถามข้อ 5 ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าว จะมีการรับซื้อเข้าระบบหลักของรัฐ หรือจำหน่ายเพื่อใช้เฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกออก (EEC) และหากรัฐต้องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเข้าระบบหลัก มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร
ข้อชี้แจง : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระบุว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เป็นโครงการต้นแบบ โดยจะก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตบนพื้นที่เกษตรกรรมตามสัดส่วนที่เหมาะสม และมีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า
ระยะแรกเป็นระยะทดลองให้มีการพัฒนาระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ เริ่มต้นจ่ายไฟภายในปี 2564 โดยจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ให้รวมถึงพื้นที่ 5 ตำบล ในเขตอำเภอบางละมุง (จ.ชลบุรี) ที่จะพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
และใช้วิธีการ 'หักกลบลบหน่วย' ต่อเดือน ของการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กับการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ให้รวมถึงพื้นที่ 5 ตำบล ซึ่งจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 100 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเข้าสู่ระบบของหน่วยงานการไฟฟ้า จะต้องเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่จะกำหนดให้มีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่างๆ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผน PDP
โดยกำหนดประเภทของพลังงานหมุนเวียนที่จะรับซื้อ เป้าหมายการรับซื้อ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ และอัตรารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงวิธีการคัดเลือก แล้วจึงมอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ หากไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าทั้ง 3 โดยเป็นการดำเนินการในรูปแบบ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และ/หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตรง โดยไม่มีการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของการไฟฟ้า
จะไม่จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
คำถามข้อ 6 การรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าว มีแผนการดำเนินการในรูปแบบใด มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแล้วหรือไม่ อย่างไร
ข้อชี้แจง : ปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบการรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ รวมถึงราคาค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด
อนึ่ง รายละเอียดในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถประสานสอบถามข้อมูลได้จาก สกพอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ
ทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการโซล่าร์ฟาร์มในพื้นที่ EEC ซึ่ง สกพอ. ได้มอบหมายให้ กฟภ. โดย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) เป็นผู้ดำเนินโครงการ
แต่ทว่าการเดินหน้าโครงการต่อไปนั้น ทั้ง สกพอ. และ กฟภ. จะต้องปฏิบัติตามคำชี้แจงของ ‘กระทรวงพลังงาน’ ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายได้
ที่สำคัญคำชี้แจงของ 'กระทรวงพลังงาน' ที่ส่งไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ยังมีผลให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง PEA ENCOM ร่วมลงทุนกับ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) โดยไม่เปิดประมูลนั้น
มีอันต้องสะดุดหยุดลงเป็นการชั่วคราว!
อ่านประกอบ :
เบรกโซลาร์ฟาร์ม'กฟภ.' 2.3 หมื่นล.! สนพ.ชี้ต้องเสนอ 'พลังงาน-ครม.' อนุมัติ-เปิดประมูล
ให้‘กฟภ.’ดำเนินการ! ‘สกพอ.’ แจงปมเลือกเอกชนร่วมลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
ยึดพ.ร.บ.อีอีซี! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ แจงร่วมทุนโซล่าร์ฟาร์ 2.3 หมื่นล.ไม่ต้องเปิดประมูล
พลิกกม.ร่วมทุนฯ! โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน เข้าข่ายต้องเปิดประมูล?
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage