สนพ.ร่อนหนังสือแจง ‘สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ชี้โครงการโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ของ ‘กฟภ.’ ไม่อยู่ในแผน PDP ระบุหากต้องการเดินหน้าต่อ ต้องเสนอให้ ‘พลังงาน-ครม.’ อนุมัติ ก่อนออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้า
.............................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยขอให้หน่วยงานดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดย กฟภ.
เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่า โครงการดังกล่าว ‘ไม่มีการเปิดประมูล’ และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น (อ่านประกอบ : มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ พน 0603/1427 ลงวันที่ 4 ส.ค.2564 ชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ของบริษัทเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งไปยังเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
@พลังงานแตะเบรก ‘กฟภ.’ ลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ สนพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อสอบถามของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ว่า การจัดหาผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายใด มีขั้นตอนอย่างไร มีการเปิดประมูลแข่งขันกันหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นประการใด
โดย สนพ. ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเป็นการดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อจัดหาผู้ดำเนินการโครงการ รวมถึงรูปแบบการดำเนินการว่ามีการเปิดการประมูลแข่งขันหรือไม่นั้น เนื่องด้วยการดำเนินโครงการนี้เป็นโครงการที่จะต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าและมีการเชื่อมต่อระบบของการไฟฟ้า จึงต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด
ดังนั้น เพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก มีหน้าที่ต้องเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นี้ ต่อกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ อันเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (แผน PDP)
รวมทั้งมีการกำหนดรายละเอียดของประเภทของพลังงานหมุนเวียนที่จะรับซื้อ เป้าหมายการรับซื้อ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และอัตรารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงวิธีการคัดเลือก แล้วจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
@ย้ำโซลาร์ฟาร์ม ‘กฟภ.’ ไม่อยู่ในแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง
สนพ.ยังชี้แจงต่อข้อสอบถามที่ว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC ดังกล่าว ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) หรือไม่ โดย สนพ. ชี้แจงว่า ในแผน PDP 2018 Revision 1 ไม่ได้มีการบรรจุโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เอาไว้แต่อย่างใด
ส่วนที่ สกพอ. ระบุว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เป็นโครงการต้นแบบ โดยจะก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่เกษตรกรรมตามสัดส่วนที่เหมาะสม และมีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า ซึ่งในระยะแรกเป็นระยะทดลองให้มีการพัฒนาระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟภายในปี 2564 โดยจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะในเขต อ.บางละมุง จ.ชลบุรีนั้น
สนพ. ชี้แจงว่า หากจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเข้าสู่ระบบของหน่วยงานการไฟฟ้าจะต้องเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่จะกำหนดให้มีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผน PDP โดยกำหนดประเภทพลังงานหมุนเวียนที่จะรับซื้อ เป้าหมายการรับซื้อ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ และอัตรารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงวิธีการคัดเลือก แล้วจึงมอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าทั้ง 3 การ โดยเป็นการดำเนินการในรูปแบบ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และ/หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตรง โดยไม่มีการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของการไฟฟ้า จะไม่จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทฯจะเข้าไปลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพื้นที่ EEC กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 23,000 ล้านบาท ผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งจัดตั้งโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อดำเนินธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ
ขณะที่ นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ระบุว่า PEA ENCOM ยังไม่ได้สรุปว่าจะคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดเข้ามาร่วมดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เพียงแต่เป็นการเตรียมการเท่านั้น ยังไม่ได้มีการลงทุนจริง เพราะต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเรื่องการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าก่อน
อ่านประกอบ :
ให้‘กฟภ.’ดำเนินการ! ‘สกพอ.’ แจงปมเลือกเอกชนร่วมลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
ยึดพ.ร.บ.อีอีซี! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ แจงร่วมทุนโซล่าร์ฟาร์ 2.3 หมื่นล.ไม่ต้องเปิดประมูล
พลิกกม.ร่วมทุนฯ! โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน เข้าข่ายต้องเปิดประมูล?
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage