“…ตามหลักการแล้วโครงการโซล่าฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ของ PEA ENCOM จะต้องเปิดประมูลอยู่แล้ว เพราะ PEA ENCOM เป็นรัฐวิสาหกิจที่ กฟภ.ถือหุ้น 100% ไม่ได้เกี่ยวกับเอกชนใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้โครงการยังไม่ไปถึงขั้นไหนเลย โดยอยู่ระหว่างตั้งบริษัทหลาน เข้ามาทำการศึกษาโครงการ ยังไม่มีการลงทุนใดๆทั้งสิ้น และหากถึงขั้นตอนการลงทุนก็ต้องมีการประกวดราคาอยู่แล้ว…”
..........................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 เห็นชอบหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ EEC และต่อมาวันที่ 22 มิ.ย.2563 กพอ. มีมติรับทราบความก้าวหน้าโครงการฯดังกล่าว ดังนี้
1.ให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) โดยมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ผลิตไฟฟ้า และให้ กฟภ. รับซื้อ ส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
2.อัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 31 พ.ค.2564 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกฟภ. เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC
เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่า โครงการดังกล่าว ‘ไม่มีการเปิดประมูล’ และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (อ่านประกอบ : มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 26 พ.ย.2563 บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บอร์ดบริษัทฯ เห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ในพื้นที่ EEC กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาท
ต่อมาวันที่ 15 ม.ค.2564 ที่ประชุมผู้ถือหุ้น SPCG มีมติอนุมัติการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ พื้นที่ EEC กำลังผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ผ่าน บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งปัจจุบัน SPCG ถือหุ้นในสัดส่วน 80% และ PEA ENCOM ถือหุ้นในสัดส่วน 20%
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ในพื้นที่ EEC ของ กฟภ. โดยบริษัท PEA ENCOM เป็นโครงการจะเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่
(มติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 15 ม.ค.2564 ของ SPCG ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์ฯ)
@โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล.เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกม.ร่วมทุนฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในมาตรา 7 บัญญัติว่า “หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้...(6) การพลังงาน…”
ส่วนมาตรา 8 บัญญัติว่า “โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาทขึ้นไป หรือมูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้น โดยกฎกระทรวงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้”
ขณะที่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ กฟภ.ถือหุ้น 100% นั้น จึงเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามนิยาม มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ดังนั้น การร่วมดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาท ระหว่าง PEA ENCOM และ SPCG จึงเข้าข่ายว่าจะต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ในขณะที่ขั้นตอนการเสนอโครงการนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการ (กฟภ.และPEA ENCOM) ต้องจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามรายละเอียดที่คณะกรรมการประกาศฯ เช่น ความเป็นมาของโครงการ หลักการและเหตุผลในการจัดทำโครงการ , สาระสำคัญของโครงการ ความพร้อมในการจัดทำและดำเนินโครงการ
ความเสี่ยงของโครงการ ,ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบ การจัดสรรความเสี่ยง และการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน ,ความพร้อมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและดำเนินโครงการ และผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
จากนั้นให้เสนอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด (กระทรวงมหาดไทย) เห็นชอบ ก่อนเสนอสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
@ข้อยกเว้นไม่ต้องเปิดประมูล-แต่ต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการร่วมลงทุนนั้น พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า “ในการคัดเลือกเอกชนจะต้องใช้วิธีประมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามมาตรา 25 และมาตรา 34 เท่านั้น”
ทั้งนี้ ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องใช้วิธีประมูลนั้น มาตรา 25 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏในชั้นการศึกษาและวิเคราะห์โครงการว่า ไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยวิธีประมูล ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการระบุเหตุผลและความจําเป็น ข้อดีและข้อเสีย และประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนจะได้รับไว้ในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามมาตรา 22 ด้วย”
และมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “หลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” หรือเป็นไปตาม ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล พ.ศ.2563 กล่าวคือ
ในกรณีที่ปรากฏในชั้นการศึกษาและวิเคราะห์โครงการว่า ไม่สมควรใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยวิธีประมูล ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการระบุเหตุผลและความจำเป็น ข้อดีและข้อเสียและประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมและอธิบายได้ตามหลักวิชาการ
ซึ่งอย่างน้อยต้องแสดงว่าการใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลมีความเหมาะสมกับโครงการ และสามารถแก้ไขข้อจำกัดในการคัดเลือกเอกชนโดยใช้วิธีการประมูลซึ่งเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนเนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ อันมิได้เกิดจากความล่าช้าของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งหากใช้วิธีประมูลอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ
(2) การคัดเลือกเอกชนโดยใช้วิธีการประมูล จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุนหรือส่งผลให้โครงการร่วมลงทุนอื่นไม่ประสบความสำเร็จตามแผนจัดทำโครงการร่วมลงทุน
(3) โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเจ้าสังกัดที่ต้องการให้เอกชนร่วมลงทุนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากใช้วิธีประมูลแล้ว อาจก่อให้เกิดความล่าช้ากระทบต่อเป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ของนโยบายนั้นได้
ส่วนเหตุยกเว้นไม่ต้องใช้วิธีเปิดประมูลตามมาตรา 34 บัญญัติว่า “ในการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูลให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณา หากรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเห็นพ้องด้วยให้เสนอ สำนักงานเพื่อนําเสนอคณะกรรมการพิจารณา…”
จึงสรุปได้ว่าโครงการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ในพื้นที่ EEC ของ กฟภ.และ PEA ENCOM ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องเปิดประมูลก็ได้ หากมีเหตุผลความจำเป็นตามเงื่อนไขในประกาศที่กำหนดไว้
(โครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 5 และ8) ต.กุดจอก อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ของ SPCG ที่มา รายงานประจำปี 2563 ของ SPCG)
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก กฟภ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้การดำเนินการโครงการโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่ EEC ของบริษัท PEA ENCOM นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และยังไม่มีการลงทุนใดๆทั้งสิ้น และหากถึงขั้นตอนการลงทุน จะต้องมีการเปิดประมูลอย่างแน่นอน และเป็นไปไม่ได้ที่จะไปจิ้มให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งมาดำเนินการ
“ตามหลักการแล้วโครงการโซล่าฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ของ PEA ENCOM จะต้องเปิดประมูลอยู่แล้ว เพราะ PEA ENCOM เป็นรัฐวิสาหกิจที่ กฟภ.ถือหุ้น 100% ไม่ได้เกี่ยวกับเอกชนใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้โครงการยังไม่ไปถึงขั้นไหนเลย โดยอยู่ระหว่างตั้งบริษัทหลาน เข้ามาทำการศึกษาโครงการ ยังไม่มีการลงทุนใดๆทั้งสิ้น และหากถึงขั้นตอนการลงทุนก็ต้องมีการประกวดราคาอยู่แล้ว” แหล่งข่าวย้ำ
จากนี้จึงต้องติดตามว่าโครงการโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ที่ PEA ENCOM มีแผนจะร่วมลงทุนกับ SPCG จะมีบทสรุปอย่างไร และจะมีการเปิดประมูลแข่งขันหรือไม่
อ่านประกอบ :
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage