‘สำนักงานอีอีซี’ แจงการกำหนดตัว ‘เอกชน’ ร่วมลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับ ‘กฟภ.’ ขณะที่ ‘PEA ENCOM’ ยังไม่สรุปเลือกใคร ระบุอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ ย้ำยังไม่ลงทุน เพราะต้องรอ 'กพช.' เคาะอัตราค่าไฟฟ้าก่อน
....................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยขอให้หน่วยงานดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่า โครงการดังกล่าว ‘ไม่มีการเปิดประมูล’ และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (อ่านประกอบ : มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ส่งหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC ว่า การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีนโยบายให้มีการใช้พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) โดยจะขยายให้มีการใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วนร้อยละ 30 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดในระยะต่อไป เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่อีอีซีเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
ดังนั้น สกพอ. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบดำเนินโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในพื้นที่อีอีซี โดยมีเงื่อนไขอัตราค่าไฟฟ้าต้องไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าโดยทั่วไป ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเอกชนรายใดขึ้นอยู่กับ กฟภ. จะดำเนินการ
และหากมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นที่ดำเนินกิจการด้านพลังงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นต้น มีความสนใจที่จะดำเนินโครงการ สกพอ. พร้อมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นเจ้าของเรื่อง
ด้าน นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) กล่าวว่า ขณะนี้ PEA ENCOM ยังไม่ได้สรุปว่าจะคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดเข้ามาร่วมดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC เพียงแต่เป็นการเตรียมการเท่านั้น ยังไม่ได้มีการลงทุนจริง เพราะต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าก่อน
“เรื่องพาร์ทเนอร์ (พันธมิตร) เป็นการเตรียมการลงทุน แต่ยังไม่ได้ลงทุน เรายังไม่ได้เดินหน้าไปถึงขั้นนั้น” นายเขมรัตน์ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2563 บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 23,000 ล้านบาท ผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งจัดตั้งโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อดำเนินธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ
(ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
ต่อมาวันที่ 15 ม.ค.2564 SPCG แจ้งมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 ว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด และอนุมัติการเข้ารับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) ของบริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำให้ SPCG ถือหุ้นใน บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด คิดเป็นสัดส่วน 80% และ PEA ENCOM ถือหุ้นในสัดส่วน 20%
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูล บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 ทุนจดทะเบียนล่าสุดอยู่ที่ 3,230 ล้านบาท มีกรรมการ 5 คน ได้แก่ น.ส.วันดี กุญชรยาคง ,นายสมศักดิ์ กุญชรยาคง ,นางนรินพร มาลาศรี ,นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา และพล.ต.ต.วันชัย วิสุทธินันท์ แจ้งวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน คือ ประกอบกิจการโรงงานผลิต จำหน่าย ไฟฟ้าจากพลังงานทุกประเภท พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม
สำหรับ น.ส.วันดี กุญชรยาคง หรือ น.ส.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG
(ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
อ่านประกอบ :
ยึดพ.ร.บ.อีอีซี! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ แจงร่วมทุนโซล่าร์ฟาร์ 2.3 หมื่นล.ไม่ต้องเปิดประมูล
พลิกกม.ร่วมทุนฯ! โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน เข้าข่ายต้องเปิดประมูล?
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage