‘พีอีเอ เอ็นคอม’ แจงโครงการร่วมทุนกับ ‘SPCG’ ทำโครงการโซล่าร์ฟาร์ 2.3 หมื่นล้านในพื้นที่อีอีซี ไม่ต้องเปิดประมูล เพราะเป็นการดำเนินโครงการภายใต้ ‘พ.ร.บ.อีอีซี’ ยันการลงทุนเป็นตามแผน PDP แน่นอน แค่รอ 'กพช.' อนุมัติ ขณะที่ ‘กฟภ.’ เตรียมส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ‘สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สัปดาห์หน้า
.......................
จากกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โครงการโซล่าร์ฟาร์ม) กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อีอีซี มูลค่าลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กฟภ.ได้มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟภ. ร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน
หลังจากมีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่า โครงการดังกล่าวไม่มีการเปิดประมูล และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น (อ่านประกอบ : มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน)
ล่าสุดนายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ PEA ENCOM ร่างหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบถามมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะส่งหนังสือชี้แจงดังกล่าวไปให้นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ลงนาม ก่อนจัดส่งให้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าเป็นภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับข้อเท็จจริงที่จะชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อีอีซีดังกล่าว ไม่ได้เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แต่เป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการร่วมทุนกับเอกชนในพื้นที่อีอีซีเป็นการเฉพาะ เช่น ในมาตรา 12 เป็นต้น
ดังนั้น โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซี ที่ PEA ENCOM จะร่วมดำเนินการกับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG จึงเป็นโครงการที่ภาครัฐเปิดให้ภาคเอกชนร่วมทุนโดยไม่ต้องเปิดประมูลได้ ขณะที่ พ.ร.บ.อีอีซีนั้น มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งภาครัฐมีเป้าหมายให้พื้นที่อีอีซีมีการใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในพื้นที่
ทั้งนี้ มาตรา 12 ของพ.ร.บ.อีอีซี บัญญัติว่า “เพื่อให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการตามกระบวนการและวิธีการดังกล่าว โดยให้ถือว่าการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนนั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว”
(เขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา ที่มา : PEA ENCOM)
นายเขมรัตน์ ยืนยันว่า การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของ กฟภ. และ PEA ENCOM ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายต่างๆ และยังต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติชัดเจนว่าต้องบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผน PDP ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า
“แม้ว่าเราจะลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ไปแล้ว แต่เรายังไม่ได้ทำอะไร ยังไม่ได้ไปไหน เพราะเรากำลังรอมติ กพช. เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการนี้ ตอนนี้จึงยังไม่ได้มีการลงทุนใดๆ แต่ทั้ง PEA ENCOM และเอกชนที่เข้ามาร่วมทุน แต่ในระหว่างนี้เราต้องเตรียมการต่างๆเอาไว้ให้พร้อม ขณะเดียวกัน พลังงานไฟฟ้าที่เราผลิตได้ ไม่ได้ขายออกไปนอกพื้นที่ แต่จะขายเฉพาะในพื้นที่ 5 ตำบลในพื้นที่อีอีซีเท่านั้น” นายเขมรัตน์กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วใช่หรือไม่ว่า บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG จะเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมทุนกับ PEA ENCOM ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซี นายเขมรัตน์ กล่าวว่า “เป็นเบื้องต้นที่เราเตรียมเพื่อลงทุน ส่วนการลงทุนจะเริ่มได้ในปีนี้หรือไม่นั้น ในตอนที่เราทำเรื่องศึกษานั้น การลงทุนช่วงนี้เป็นการลงทุนเพื่อศึกษา โดยมีกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนเพื่อการผลิตนั้น ยังไม่มี”
อ่านประกอบ :
พลิกกม.ร่วมทุนฯ! โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน เข้าข่ายต้องเปิดประมูล?
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage