‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ร่อนหนังสือถึง ‘สกพอ.-สนพ.’ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ในพื้นที่ EEC ของ ‘กฟภ.’ กำลังผลิตไม่น้อยกว่า 500 MW มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท หลังมีผู้ร้องว่า ไม่มีการเปิดประมูล-ไม่อยู่ในแผน PDP
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือ 2 ฉบับ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โดยขอให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ของบริษัทเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการกำกับดูแลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ของบริษัทเอกชนในพื้นที่ EEC โดยกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไม่กำกับดูแลโครงการดังกล่าว และการดำเนินโครงการอาจไม่โปร่งใสและกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
“การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการ และ กฟภ. ได้มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร่วมกับบริษัทเอกชนดำเนินการ โดยไม่มีการเปิดประมูล ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
และไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับสูง ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าว จึงอาจไม่โปร่งใส และกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ” หนังสือระบุ
@สั่ง ‘สกพอ.-สนพ.’ ชี้แจงข้อเท็จจริง 5 ประเด็น
ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สกพอ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้แจงข้อเท็จจริงใน 5 ประเด็น ได้แก่
1.การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายใด ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนใด
2.การจัดหาผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายใด มีขั้นตอนอย่างไร มีการเปิดประมูลแข่งขันกันหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นประการใด
3.ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าว จะมีการรับซื้อเข้าระบบหลักของรัฐ หรือจำหน่าย เพื่อใช้เฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีรายละเอียดเป็นประการใด
4.มีการเสนอแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยแล้วหรือไม่ อย่างไร
5.การรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าว มีแผนการดำเนินการในรูปแบบใด มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแล้วหรือไม่ อย่างไร
@‘PEA ENCOM-เอสพีซีจี’ ลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล.
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย.2563 ที่ประชุม กพอ. มีมติรับทราบความก้าวหน้าโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี ดังนี้
1.ให้ กฟภ. เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งให้ กฟภ. รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และ2.อัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ
ต่อมาในวันที่ 26 พ.ย.2563 บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 23,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนโครงการดังกล่าว เป็นการลงทุนผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งจัดตั้งโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขณะที่บริษัท เซท เอนเนอยี ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี ไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2563
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท เซท เอนเนอยี นั้น เดิม SPCG ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ,บริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (Mitsu) ถือหุ้นในสัดส่วน 40% และ PEA ENCOM ถือหุ้นในสัดส่วน 20% ต่อมา Mitsu โอนหุ้นให้ SPCG ส่งผลให้ปัจจุบัน SPCG ถือหุ้นบริษัท เซท เอนเนอยี ในสัดส่วน 80% และ PEA ENCOM ถือหุ้นในสัดส่วน 20%
ขณะที่เมื่อเดือน ก.พ.2564 ที่ผ่านมา นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ในโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) ในเขตพื้นที่อีอีซี ประมาณ 15 เมกะวัตต์ จะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะมีการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ 300 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จภายในปีนี้
@เผย 'PEA ENCOM-เอสพีซีจี' ร่วมธุรกิจกันมายาวนาน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา PEA ENCOM เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านช่องยูทูป 'PEA ENCOM International Co., Ltd.' เกี่ยวกับความสำเร็จจากความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของ PEA ENCOM และ SPCG
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือกันระหว่าง PEA ENCOM และ SPCG ว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมา และยังมีโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มร่วมกัน
"เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานมาก อาจเริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้ง PEA ENCOM ด้วยซ้ำไป เราทำโซลาร์ฟาร์มร่วมกันในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดี" นายเขมรัตน์กล่าว
ส่วนความร่วมมือในการลงทุนโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ EEC นั้น นายเขมรัตน์ กล่าวว่า จากปีที่แล้วจนถึงปีนี้ PEA ENCOM และ SPCG ศึกษาร่วมกันในโครงการ EEC และเสนอรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ EEC ด้วยพลังงานสะอาด
"นโยบาย EEC เขาต้องการเป็น low carbon society ฉะนั้น นักลงทุนที่จะไปลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด...จะได้รับพลังงานที่รักษ์โลก และนี่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เราได้สานต่อกับ SPCG เพื่อทำโครงการนี้ให้ก้าวหน้าขึ้น ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น" นายเขมรัตน์กล่าว
(ที่มา : 'PEA ENCOM International Co., Ltd.')
ด้านนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า SPCG จับมือกับบริษัท PEA ENCOM เป็นพันธมิตรกันตั้งแต่การเริ่มพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดครั้งแรก ซึ่งเป็นโมเดลที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน
"เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรของ PEA ENCOM ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบผลิตไฟฟ้า โครงข่าย ระบบอัจฉริยะ และระบบบริหารจัดการโซลาร์ฟาร์มในรูปแบบที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำให้การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ต่ำลง" นางวันดีกล่าว
นางวันดี ยังระบุว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นความหวังที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับสูง ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นมากในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทุกชนิด เพราะฉะนั้น SPCG จะมีส่วนในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดร่วมกับ PEA ENCOM ในการขับเคลื่อนให้ EEC เป็นพื้นที่ที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นเมืองใหม่อัจริยะ ใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage