"...เราต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจร่วมกัน ผมยืนยันว่า ถ้าเรื่องไหนผิดจริงก็ขอให้เล่นงาน แต่ขอให้มีหลักฐานให้ชัดเจน แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ผิดก็ขอความกรุณาอย่าเหมารวม ขอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสะสางเรื่องนี้กันใหม่ จะมีทั้ง ตัวแทน สปสช. ตัวแทนฝ่ายมูลนิธิฯ และมีคนกลางด้วยก็ได้..."
กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงสรุปผลการตรวจสอบการทุจริตจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากกองทุนบัตรทอง พบว่าในปีงบประมาณ 2562 มีคลินิกชุมชนอุบอุ่น 211 แห่ง เบิกจ่ายเงินรายการคัดกรองโรคกลุ่มเมตาบอลิก และคลินิกทันตกรรม 77 แห่ง เบิกจ่ายเงินรายการทันตกรรมป้องกันโรค เข้าข่ายการทุจริต มูลค่าความเสียหาย 324 ล้านบาท และเมื่อคิดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด ทำให้มีภาพรวมความเสียหายแก่ สปสช. รวม 691 ล้านบาท
โดย สปสช. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อเอาผิดหน่วยบริการทุกแห่งที่กระทำความผิดแล้ว
(ข่าวประกอบ : 288 แห่งเสียหาย 691 ล.! สปสช.สรุปคลินิกอบอุ่น-ทำฟัน-รพ.เอกชนทุจริตงบบัตรทองปี 62)
กรณีดังกล่าว ส่งผลให้ ‘มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย’ ออกแถลงการณ์ขอ สปสช.อย่าใช้การตรวจสอบแบบ ‘เหมาเข่ง’ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. สปสช. โดย นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง และคณะ ได้แถลงเกี่ยวกับกรณีการให้บริการทันตกรรมแก่เด็กในเขตกรุงเทพมหานคร ตามโครงการ สปสช. กล่าวหาว่า คลินิกทันตกรรม 77 แห่งที่ร่วมโครงการมีการทุจริตฉ้อโกง สร้างความเสียหายต่อรัฐ เพียงปีเดียวเป็นเงิน 324 ล้านบาท อันเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงอย่างมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณรายปีที่ สปสช.จ่ายให้กับคลินิกร่วมโครงการ ดังตัวเลขที่ปรากฏในรายงาน NHSO Budget ของ สปสช.ปี 2562 และ ปี 2563
ข้อมูลจาก สปสช.ปี 2563 ระบุว่า เด็กๆ และประชาชนผู้ถือบัตรทองได้รับบริการทันตกรรมในจำนวนมากถึง 413,797 ครั้ง ใช้งบประมาณไป 106,243,240 บาท เฉลี่ยค่าบริการครั้งละ 256.75 บาท ขณะที่เด็กๆ และประชาชนผู้ถือบัตรทองได้รับบริการทันตกรมในปี 2562 ในจำนวน 310,977 ครั้ง ใช้งบประมาณ 72,675,530 บาท เฉลี่ยครั้งละ 233.70 บาท
รวมค่าใช้จ่ายสองปี คือ ปี 2562 และ ปี 2563 เด็กๆ และประชาชนผู้ถือบัตรทองได้รับบริการเป็นจำนวนมากถึง 724,774 ครั้ง แต่ใช้งบประมาณจาก สปสช.เพียง 178,918,770 บาทเท่านั้น
อันเป็นมูลค่าที่แตกต่างกันอย่างยิ่งกับจำนวน 691 ล้านบาท ตามคำแถลงของ นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ที่หน่วยงานรัฐใช้ไปเพื่อตรวจสอบคลินิกทันตกรรม 77 แห่งที่ถูกกล่าวหา ทั้งยังน่าแปลกใจว่าเพียง 1 ปี เงินที่ใช้ไปกว่า 500 ล้านบาทที่ไม่ใช่เงินค่าบริการทันตกรรมของเด็กใน 2 ปี มันคือเงินอะไรใช้จ่ายอย่างไรจึงมากมายเพียงนั้น
และต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำตัวเลขค่าความเสียหายดังกล่าว ดังที่ทราบกันแล้ว
ต่อกรณีนี้ มูลนิธิทันตแพทย์เอกชนประเทศไทย อันเป็นองค์กรทางวิชาการ และทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้รับรู้การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของโครงการดังกล่าว ร่วมกับคลินิกทันตกรรมเอกชนมานานเกือบ 20 ปีแล้ว มีความเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีการก่อตั้งโครงการให้บริการทันตกรรมและส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่เด็กๆ ใน กทม.ของ สปสช. ร่วมกับคลินิกทันตกรรมเอกชน ต่อมาได้มีการขยายบริการให้แก่ประชาชนผู้ถือบัตรทอง เด็กๆ และประชาชนผู้ถือบัตรทองได้รับประโยชน์มหาศาลปีหนึ่งๆ ร่วมแสนราย เกือบ 20 ปีมานี้คลินิกทันตกรรมเอกชนจำนวนมากได้มีส่วนช่วยเหลือรัฐ แบ่งเบาภาระการดูแลฟันและสุขภาพช่องปากให้แก่เด็กและประชาชนผู้ถือบัตรทองอย่างประเมินมูลค่ามิได้
ในความต่อเนื่องของการดูแลสุขภาพฟันแก่เด็กดังกล่าวนั้น ย่อมมีการปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการ การปรับปรุงระบบเพื่อรองรับให้สอดคล้องทันท่วงทีกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีความผิดพลาด มีช่องโหว่ ช่องว่าง อันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระบบทุกวงการ ดังจะเห็นได้ทั่วไปทั้งสังคมไทย จากนั้นก็มีการปรึกษาถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยกันแก้ไขช่องว่างช่องโหว่ ความผิดพลาดดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ อันเป็นวันที่มีความพยายาม ‘กล่าวหาอย่างเหมารวม’ มายังคลินิกทันตกรรมเอกชนที่ร่วมมือกันมาตลอด นั้นว่ามีการฉ้อโกง โดยยังไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจง ‘อย่างเพียงพอ’
โดยไม่คำนึงถึงว่าคลินิกทันตกรรมเอกชนที่มีรายได้สูงพอสมควรแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องมาทำงานช่วยเหลือประชาชนแบบนี้ แต่พวกเขาก็ยินดีเสียสละมาเข้าร่วม เพราะอยากช่วยเหลือรัฐ รับใช้ประชาชนและดูแลเด็กๆ ทั้งหลายใน กทม.
อนึ่ง ทั้งๆ ที่ในระบบการตรวจสอบก็มีการดำเนินการตรวจสอบประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว หากพบการทุจริตก็แก้ไขดำเนินการลงโทษตามที่พบเห็นจริงอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 มีการเสนอกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส.ฝ่ายค้านกล่าวหา สปสช.ว่ามีการปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น หลังจากนั้นการตรวจสอบอย่างรีบเร่งเข้มงวดก็เกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
แต่จะไม่ธรรมดาหากผู้เกี่ยวข้องถึงกับทุ่มเทเงินจำนวนถึง 691 ล้านบาท ใช้ไปเพียงปีเดียวเพื่อการตรวจสอบนี้ เพียงเพราะถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามท้วงติง แล้วทุ่มงบมหาศาลยิ่งกว่างบให้บริการทำฟันเด็กหลายปีรวมกัน มาทำแค่เรื่องตรวจสอบนี้
มูลนิธิฯ เห็นว่าทางออกที่จะเกิดประโยชน์ ควรที่จะเป็นทางออกด้วยการตรวจสอบและการเจรจาที่เป็นจริง ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริง เข้าถึงสาเหตุที่เกิดความผิดพลาด จนมีภาพแห่งการทุจริตฉ้อโกง ซึ่งอาจไม่ใช่การฉ้อโกงจริง และ ไม่เจตนาที่จะทุจริต เช่นนั้น
ส่วนที่พบว่ามีหลักฐานชัดเจน ระบุเจตนาได้แน่นอนว่าต้องการฉ้อโกง มีเจตนาทุจริต ย่อมสมควรดำเนินการอย่างเข้มงวด ไม่สุกเอาเผากิน ดังคำแถลงของ นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ที่มีต่อสื่อมวลชนในวันที่ 5 ก.ค.2564
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ สปสช.ต้องทบทวนระบบภายในองค์กร และพัฒนาบุคลากรให้เกิดความรัดกุม และทรงประสิทธิภาพ ทำงานอย่างทันสมัย รวดเร็วทันการณ์ ให้สมกับที่เคยตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรกตั้ง สปสช.เมื่อปี 2545 ว่า จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ทันสมัย โปร่งใส เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ บุคลากรไม่ทำงานแบบข้าราชการสมัยโบราณ ที่ล้าหลัง เฉื่อย เช้าชามเย็นชาม เห็นความผิดปกติก็วางเฉย และคอยสอดส่ายหากินกับช่องโหว่และความเผอเรอของระบบ เป็นต้น
มูลนิธิฯ หวังว่าบทเรียนในครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปาก รวมทั้งสุขภาพโดยรวมของเด็กๆ และประชาชนใน กทม.มากยิ่งขึ้น
รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง จะให้ความเป็นธรรม และให้กำลังใจ แก่คลินิกทันตกรรมและทันตแพทย์ ที่ตั้งใจรับใช้ดูแลประชาชน ที่ไม่เคยคิดหรือมีเจตนาจะกระทำผิดใดๆ จนเกิดการทุจริตฉ้อโกงดังที่ถูกกล่าวหา และหันกลับมาร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐดูแลรักษาทำฟันให้เด็กๆ และประชาชนต่อไป
(แถลงการณ์มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน อ่านเพิ่มเติม : มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน - ประเทศไทย)
นอกจากนั้น ‘มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย’ ยังได้ทำหนังสือถึง สปสช. เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอ 3 ประเด็น ดังนี้
1.ตั้งคณะทำงานเพื่อการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนฝ่าย สปสช.
2.วางแนวทางการเจรจา และกรอบการชดเชยค่าเสียหาย ให้เป็นธรรม มีคู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติที่อ้างอิงได้จริง และเป็นการชดเชยที่สามารถปฏิบัติได้
3.กำหนดเกณฑ์ประกอบการเจรจา หลังยุติข้อตกลงที่พึงปฏิบัติได้ ประกอบหลักฐานที่ใช้ยืนยันข้อยุตินั้นๆ เพื่อใช้อ้างอิงต่อไป
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ประธานมูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า นับตั้งแต่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ คลินิกทันตกรรมทั้ง 77 แห่ง แทบจะหยุดให้บริการทั้งหมด เพราะไม่กล้าที่จะทำทันตกรรมให้กับเด็กและประชาชนผู้ถือบัตรทองต่อ เพราะกลัวว่าจะมีความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง
“โครงการนี้เกิดขึ้นมา 20 ปี ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มคิดโครงการมาตั้งแต่ปี 2545 ผมรับใช้เด็กและคนใน กทม.ที่ถือบัตรทองมาหลายแสนคน แต่จู่ๆมาวันนี้ สปสช.กลับใช้วิธีการตรวจสอบแบบเหมาเข่ง และตั้งข้อกล่าวหาเราว่าฉ้อโกงที่ดูรุนแรงเกินไป ทำให้ทุกคนหมดกำลังใจที่จะทำงานต่อ” ทพ.ศุภผล กล่าว
ทพ.ศุภผล กล่าวด้วยว่า นอกจากมูลนิธิฯ จะได้ออกแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอกับ สปสช. ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับ สปสช. เพื่อขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องคลินิกทันตกรรม 77 แห่ง เพื่อให้เขาได้ทบทวนและรวบรวมข้อมูลไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยมูลนิธิฯได้กำชับคลินิกทันตกรรมทุกแห่งไปด้วยว่า ห้ามมีการแก้ไขข้อมูลเด็ดขาด เพราะจะถือเป็นความผิดกฎหมายอาญา ซึ่ง สปสช.ได้อนุญาตให้เราได้รับทราบข้อมูลเหล่านั้นแล้ว
"เราต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจร่วมกัน ผมยืนยันว่า ถ้าเรื่องไหนผิดจริงก็ขอให้เล่นงาน แต่ขอให้มีหลักฐานให้ชัดเจน แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ผิดก็ขอความกรุณาอย่าเหมารวม ขอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสะสางเรื่องนี้กันใหม่ จะมีทั้ง ตัวแทน สปสช. ตัวแทนฝ่ายมูลนิธิฯ และมีคนกลางด้วยก็ได้” ทพ.ศุภผล กล่าว
ทพ.ศุภผล ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีที่ มูลค่าความเสียหายที่ สปสช.ตรวจพบในปี 2562 จำนวนกว่า 324 ล้านบาท แต่เมื่อคิดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด ทำให้มีภาพรวมความเสียหายแก่ สปสช. รวม 691 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ สปสช.ควรจะชี้แจงให้ทุกคนได้ทราบว่า ความเสียหายที่เพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาทที่ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างตรวจสอบนั้น มีรายละเอียดเป็นอย่างไร และเหตุใดถึงมีมูลค่ามากมายขนาดนั้น ส่วนการตรวจสอบคลินิกทันตกรรม เท่าที่สอบถามข้อมูลจาก สปสช. พบว่ามีการตั้งเรื่องตรวจสอบไว้ 8 ประเด็น ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่สอดคล้องหนังสือแนวทางการดำเนินงานทันตกรรมส่งเสริมป้องกันและทันตกรรมรักษาในเขต กทม. ที่เหมือนเป็นกฎเกณฑ์ในการทำงานที่ออกมาโดย สปสช.เอง
“ผมได้รับทราบว่า บางคลินิกถูกกล่าวหาว่าไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการเวชระเบียนของคนไข้ ซึ่งปกติคลินิกทันตกรรมจะต้องลงบันทึกว่า คนไข้มาอุดฟันกี่ซี่ ถอนกี่ซี่ บางคลินิกทำเสร็จก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ปรากฏว่าเมื่อถูกตรวจสอบ กลับถูกกล่าวหาว่า ไม่ลงลายมือชื่อ จนเป็นความผิด และถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงในที่สุด” ทพ.ศุภผล กล่าว
สำหรับ 8 ประเด็นการตรวจสอบคลินิทันตกรรมของ สปสช. ประกอบด้วย
1.ไม่ส่งเวชระเบียน คือ กรณีที่หน่วยบริการไม่ส่งเวชระเบียนให้ สปสช.ตรวจสอบ
2.ไม่พบข้อมูลการบันทึกในเวชระเบียน แต่มีการเบิกชดเชยในระบบ
3.ผู้รับบริการแจ้งว่าไม่ได้รับบริการ โดยโทรสอบถามผู้รับบริการหรือญาติ แจ้งว่าไม่เคยมารับบริการ
4.บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่มีการเบิกชดเชยในระบบ
5.ไม่พบการลงนามโดยทันตแพทย์ ในวันที่ให้บริการครั้งนั้นๆ
6.ทำหัตถการมากเกินกว่าความน่าจะเป็น อาทิ กรณีอุดฟันพิจารณาจากากรเบิกชดเชยในการรับบริการครั้งนั้นๆ เกินกว่า 10 ซี่ หรือ กรณีเคลือบหลุมร่องฟัน พิจารณาจากระยะเวลาที่กระทำในซี่ฟันเดียวกันถี่เกินกว่า 6 เดือน
7.ให้บริการซ้ำในระยะเวลาไม่เหมาะสม
8.บันทึกเวชระเบียนด้วยดินสอ
ทั้งหมดเป็นข้อมูลจาก ‘มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย’ ที่ออกมาโต้แย้ง สปสช. ส่วนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
'เพื่อไทย' อธิปรายขบวนการงาบงบ สปสช.ปี 61 เผยมี 18 คลินิกเบิก 74 ล้าน ทั้งที่ไม่มีการรักษา
โฆษก สปสช.แจงสอบ 18 คลินิก เบิกค่าคัดกรองความเสี่ยงโรค 3.7 แสนคน 74 ล.ชงแจ้งความคดีอาญา
เปิดตัว 14 บ.เจ้าของ 18 คลินิก สธ.สอบเบิกเงิน 74 ล. - ตัวแทนแจงหักคืนแล้ว ไม่มีทุจริต
สปสช. ตามคุ้ยข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี 18 คลินิกเบิกเงิน 74 ล. - ขยายผลสอบ บ.ในเครือด้วย
พบตั้ง บ.สถานพยาบาลอีกนับสิบ! โพรไฟล์ธุรกิจเจ้าของคลินิกกลุ่มแรก กรณีเบิกเงิน สปสช. 74 ล.
คุ้ยธุรกิจเจ้าของคลินิกกลุ่มสอง กรณีเบิกเงิน สปสช.74 ล.พบตั้ง บ.อีก 4 แห่ง ทำสถานพยาบาล
ตามไปดู บ.คลินิก 2 กลุ่มเอกชนเบิกเงิน สปสช. 74 ล.! ใช้คฤหาสน์จดทะเบียนตั้ง-เจ้าของยันสุจริต
ขยายผลสอบอีก 63 แห่ง! บอร์ด สปสช. ตั้ง คกก.สอบ 18 คลินิก ให้เลิกสัญญา-แจ้งความอาญาด้วย
อยู่ในชั้นอุทธรณ์! สปสช.ยังไม่ฟัน 63 คลินิกใหม่เบิกเงินตรวจโรค -18 แห่ง โดนคดีฉ้อโกง
เปิดที่มาเงิน 2 หมื่นล้านงบสร้างเสริมสุขภาพฯบัตรทอง ก่อน 18 คลินิกถูกดำเนินคดีฉ้อโกง
'เพื่อไทย'จี้ สปสช.สั่งย้ายผู้อำนวยการ เขต 13 กทม.เปิดทางสอบคลินิกอบอุ่นเบิกเงินบัตรทอง
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดชื่อ 86 คลินิกเบิกงบบัตรทอง ก่อน สปสช.พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง 2.4ล.
คุ้ยเอกสารล้านแผ่น! สปสช.ลุยสอบกลุ่ม 63 คลินิกเบิกงบบัตรทอง-ดึงดีเอสไอตรวจทุจริต
พบอีก 5 แห่ง!เจ้าของเดิมกลุ่ม 18 คลินิกถูก สปสช.ลุยสอบเบิกงบบัตรทองล็อตสอง
เจาะกลุ่มสองเจ้าของ 18 คลินิกเจออีก 4 แห่ง - 2 บริษัทถูกสอบเบิกงบบัตรทองล็อตสอง
เปิดตัว 'บ.คุณารักษ์' คลินิกถูกตรวจงบบัตรทองกลุ่มสอง 63 แห่ง - ผู้บริหาร แจงให้รอฟัง สปสช.
จาก 'งบตรวจสุขภาพ' ถึง 'ค่าทำฟัน' สปสช.พบพิรุธเบิกเงินบัตรทองที่ 'คลินิกทันตกรรม'
เสียหายเพิ่ม 34 ล.!สปสช.ดำเนินคดีอีก 63 คลินิก - 3 ทันตกรรม เบิกงบบัตรทองผิดปกติ
สปสช.พบหลักฐาน 'คลินิกทุจริตเงินบัตรทอง' เพิ่ม 106 แห่ง
สปสช.แจงสิทธิบัตรทอง 8 แสนราย จาก 64 คลินิก-รพ. เลิกสัญญา เข้ารักษาใกล้บ้านได้ทุกแห่ง
จี้ สปสช.หามาตรการรองรับบัตรทอง 2 ล้านสิทธิ์ หลังพบทุจริต-ยกเลิก 188 หน่วยบริการใน กทม.
288 แห่งเสียหาย 691 ล.! สปสช.สรุปคลินิกอบอุ่น-ทำฟัน-รพ.เอกชนทุจริตงบบัตรทองปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/