"...ทั้งนี้จะทำการคัดกรองโดยการสัมภาษณ์ซักถามประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจความดัน หากไม่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงของโรค จะเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้ประมาณ 100 บาทต่อหัว...หากพบความเสี่ยงผิดปกติ หน่วยบริการจะทำการเจาะเลือด ตรวจไขมันโดยแลป ส่วนนี้จะเบิกจาก สปสช.ได้อีกประมาณ 300 บาท..."
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงความคืบหน้ากรณีมีมติตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 18 คลินิกชุมชนอบอุ่น ส่อพิรุธในการเบิกงบคัดกรองโรค 74 ล้านบาทเศษจากกองทุนบัตรทอง ที่ล่าสุดได้ดำเนินการเรียกเงินคืน และมอบหมายฝ่ายกฎหมายเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองบังคับการปราบปราม ในคดีฉ้อโกงและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า พิรุธครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วง ส.ค.2562 ที่หน่วยงานได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของคลินิก 45 แห่ง ที่มีการเบิกจ่ายมากเป็นลำดับต้นๆ กระทั่งพบ 18 คลินิกตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ขณะเดียวกัน สปสช.ขยายผลสอบเพิ่มอีก 86 คลินิก และพบว่ามี 63 คลินิก วงเงิน 2.4 ล้านบาทเศษ ปรากฏ ‘ข้อมูลไม่ถูกต้อง’ และอยู่ระหว่างที่หน่วยบริการยังสามารถอุทธรณ์ได้
โดยฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ เกิดขึ้นเฉพาะในปีงบประมาณ 2562 หรือตั้งแต่ 1 ต.ค.2561 – 30 ก.ย.2562 และเป็นการตรวจสอบเฉพาะ ‘คลินิกชุมชนอบอุ่น’ ในพื้นที่ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ประมาณ 190 แห่ง
เป็น ‘คลินิกชุมชนอบอุ่น’ ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ซึ่งกำหนดให้ใช้เป็นแนวทางลดความแออัดในโรงพยาบาลต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
คำถามสำคัญอีกข้อที่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด คือ งบประมาณที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่นี้ คือ เงินส่วนไหนในโครงการบัตรทอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบคู่มือบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 พบว่า ‘บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค’ (P&P) เป็นหนึ่งในประเภทบริการของค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 431.43 บาทต่อหัว จากวงเงินค่าใช้จ่ายรายหัว 3,426.56 บาทต่อจำนวนประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48.57 ล้านคน
แต่เงินจำนวน 431.43 บาทนี้ ถูกกำหนดไว้ว่าต้องเป็นการให้บริการแบบ 'ถ้วนหน้า’ จึงต้องคิดสัดส่วนใหม่จากจำนวนประชากรที่มีอยู่ 65.74 ล้านคน (ข้อมูลงบประมาณประจำปี 2562) ทำให้ค่าบริการที่จะสามารถเบิกจ่ายได้อยู่ที่ 318.98 บาทต่อคน
โดยแบ่งการบริหารจัดการเป็นประเภทบริการย่อย 5 รายการ ดังนี้
1.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ โดยเป็นการเน้นเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ วงเงิน 29.64 บาทต่อคน
2.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน วงเงิน 45 บาทต่อคน โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ เช่น กลุ่มเด็กเล็ก เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
3.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขตหรือจังหวัด วงเงินไม่เกิน 4 บาทต่อคน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอบริการในการป้องกันโรคที่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของพื้นที่ รวมถึงต้องหาทางเร่งรัดให้คนเข้าถึงบริการด้วย
4.บริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ วงเงิน 9 บาทต่อคน ให้จ่ายให้หน่วยบริการทั้งในสังกัดภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ
และ 5.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน วงเงินรวม 231.34 บาทต่อคน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การบริการ 8 รายการสำคัญ เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, ฝากครรภ์ , ป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ และบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร เป็นต้น วงเงินรวม 43.22 บาทต่อคน
ส่วนที่สอง วงเงิน 188.12 บาทต่อคน อยู่ในหัวข้อ ‘ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจ่ายแบบเหมาจ่าย’
โดยมีหลักเกณฑ์การจ่าย 2 ข้อ คือ 1.ร้อยละ 65 จ่ายแบบเหมาจ่ายต่อคน โดยปรับอัตราตามโครางสร้างกลุ่มอายุระดับจังหวัดและให้อัตราแต่ละจังหวัดจากค่าต่างจากค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 ของประเทศ
2.ร้อยละ 35 จ่ายตามจำนวนผลงานบริการ ตามตัวชี้วัดที่กำหนด โดยปี 2562 กำหนดตัวชี้วัด 7 ประเด็น ประกอบด้วย
1) หญิงหลังคลอดที่ได้รับบริการดูแลหลังคลอดตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
2) จำนวนผู้รับบริการคุมกำเนิด
3) จำนวนเด็ก 0-5 ปีที่ได้รับบริการตรวจพัฒนาการทั้งหมด
4) จำนวนเด็ก 6-12 ปีที่ได้รับบริการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงทั้งหมด
5) จำนวนเข็มที่ให้รับบริการฉีดวัคซีนในเด็กแรกเกิดถึงเด็ก ป.6
6) จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับการบริการตรวจคัดกรองเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และ
7) จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า
(แนวทางการบริหารจัดการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปี 2562)
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการอภิปราย นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.เพื่อไทย ประกอบกับการชี้แจงจาก สปสช. วงเงินที่กำลังถูกตรวจสอบ คือ การตรวจคัดกรองโรคเรื้อรังกลุ่มเมตาบอลิก และจะพบว่า การเบิกจ่ายที่มีพิรุธของ 18 คลินิก มาจากประเภทบริการ ข้อที่ 6) คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับการบริการตรวจคัดกรองเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ที่ครอบคลุมอยู่ในวงเงิน 188.12 บาทต่อคน
ขณะที่ สปสช.ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ตามปกติคลินิกจะออกพื้นที่ตรวจคัดกรองประชาชนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มของโรคเมตาบอกลิก อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
ทั้งนี้จะทำการคัดกรองโดยการสัมภาษณ์ซักถามประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจความดัน หากไม่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงของโรค หน่วยบริการจะให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพต่อไป โดยส่วนนี้จะเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้ประมาณ 100 บาทต่อหัว
อย่างไรก็ตามหากพบความเสี่ยงผิดปกติ หน่วยบริการจะทำการเจาะเลือด ตรวจไขมันโดยแลป ส่วนนี้จะเบิกจาก สปสช.ได้อีกประมาณ 300 บาท
ขณะที่การตรวจสอบรายละเอียดของ สปสช. เมื่อเทียบข้อมูลย้อนหลังของคนไข้ พบพิรุธการตกแต่งตัวเลข ทั้งส่วนสูงลดลง หรือ น้ำหนักเพิ่มมากจนผิดปกติ ‘ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ’ ของกลุ่ม 18 คลินิก ปรากฏอยู่ในรายงานการคัดกรองความเสี่ยงโดยการสัมภาษณ์ 192,058 ราย และการตรวจคัดกรองไขมันโดยแลปจำนวน 184,196 ราย
ทำให้เป็นไปได้ว่าในการออกตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรค หน่วยบริการจะเบิกจ่ายได้ 400 บาทต่อคน แม้ว่าดูแล้วจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่สำหรับกรณี 18 คลินิกพบการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้องลักษณะนี้ 74 ล้านบาทเศษ
แต่หากคำนวณจากจำนวนประชากรตามฐานข้อมูลงบปี 62 จำนวน 65.74 ล้านคน อาจเป็นไปได้ว่าหน่วยบริการทั่วประเทศจะมีโอกาสเบิกเงินส่วนนี้ได้ถึง 26,296,000,000 ล้านบาท (ค่าคัดกรองความเสี่ยงโรคและค่าเจาะเลือดตรวจแลป 400 บาท x จำนวนประชากร 65.74 ล้านคน)
อย่างไรก็ตาม นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาฯ สปสช. ยืนยันว่า การคำนวณดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง เพราะการใช้จ่ายเงินก้อนนี้เกี่ยวกับประเภทบริการหลายส่วน และจนถึงวันนี้ สปสช. ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัดว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีการเบิกจ่ายค่าคัดกรองความเสี่ยงโรคที่มีลักษณะเดียวกันกับกลุ่ม 18 คลินิกไปแล้วจำนวนเท่าไร
นอกจากความน่าสนใจเกี่ยวกับที่มาของเงินแล้ว อีกประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือความเชื่อมโยงของกลุ่ม 18 คลินิก ที่จำแนกตามข้อมูลทางธุรกิจพบว่ามี 14 บริษัทปรากฏชื่อเป็นเจ้าของคลินิก และมีผู้เกี่ยวข้องเพียง 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ นางสาว ศศิณัชญ์ นิพนธ์อารักษ์ นาง ธัญญ์ฐรัศม์ ศรีเทพ และ นาย ศักดา เมืองคำ ที่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท 11 แห่ง ที่กำลังถูกกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบในขณะนี้ ต่อมาสำนักข่าวอิศราพบข้อมูลจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจสถานพยาบาลเพิ่มเติมอีก 13 แห่ง
กลุ่มสองคือ บริษัทวนาโฮดิ้งส์ จำกัด ซึ่งมีชื่อนายธราธิป วนาวณิชย์กุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปรากฏชื่ออยู่ในบริษัท 3 แห่งที่กำลังถูกกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบในขณะนี้ ต่อมาสำนักข่าวอิศราพบข้อมูลจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจสถานพยาบาลเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง
ยังไม่นับรวมกับคลินิกอีก 63 แห่งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ของหน่วยบริการ ที่ยังไม่ปรากฏรายชื่อให้สาธารณะรับทราบ
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ และโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประชาชนที่อยู่ในความดูแลของเราจำนวน 48 ล้านคน แต่ละปีมีการรักษาเป็นผู้ป่วยในประมาณ 7 ล้านแอดมินชั่น มีการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก 180 ล้านครั้ง ดังนั้นตัวเลขข้อมูลมีจำนวนมหาศาลมาก ขณะเดียวกันการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการด้วยความรวดเร็วและตรงเวลาก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลบางอย่างที่นำเข้าระบบ เราไม่มีทางตรวจสอบได้ และก็อาจจะมาเจอในภายหลังเช่นเดียวกับกรณีนี้ ซึ่งยืนยันว่าเราจะดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบมีความมั่นคงและให้ประชาชนมั่นใจในการรับบริการต่อไป
จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า การดำเนินการให้ถึงที่สุดของ สปสช. ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหานี้จะจบลงที่ประเด็น 18 คลินิก หรือมีผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนเท่าใด ยังคงต้องติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อยู่ในชั้นอุทธรณ์! สปสช.ยังไม่ฟัน 63 คลินิกใหม่เบิกเงินตรวจโรค -18 แห่ง โดนคดีฉ้อโกง
ขยายผลสอบอีก 63 แห่ง! บอร์ด สปสช. ตั้ง คกก.สอบ 18 คลินิก ให้เลิกสัญญา-แจ้งความอาญาด้วย
คุ้ยธุรกิจเจ้าของคลินิกกลุ่มสอง กรณีเบิกเงิน สปสช.74 ล.พบตั้ง บ.อีก 4 แห่ง ทำสถานพยาบาล
พบตั้ง บ.สถานพยาบาลอีกนับสิบ! โพรไฟล์ธุรกิจเจ้าของคลินิกกลุ่มแรก กรณีเบิกเงิน สปสช. 74 ล.
'เพื่อไทย' อธิปรายขบวนการงาบงบ สปสช.ปี 61 เผยมี 18 คลินิกเบิก 74 ล้าน ทั้งที่ไม่มีการรักษา
เปิดตัว 14 บ.เจ้าของ 18 คลินิก สธ.สอบเบิกเงิน 74 ล. - ตัวแทนแจงหักคืนแล้ว ไม่มีทุจริต
โฆษก สปสช.แจงสอบ 18 คลินิก เบิกค่าคัดกรองความเสี่ยงโรค 3.7 แสนคน 74 ล.ชงแจ้งความคดีอาญา
สปสช. ตามคุ้ยข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี 18 คลินิกเบิกเงิน 74 ล. - ขยายผลสอบ บ.ในเครือด้วย
ตามไปดู บ.คลินิก 2 กลุ่มเอกชนเบิกเงิน สปสช. 74 ล.! ใช้คฤหาสน์จดทะเบียนตั้ง-เจ้าของยันสุจริต
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage