“…สมมุติว่า ผู้รับเหมาไปตกลงกับผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณว่า เราตกลงจะเลือกคุณ แต่ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณ ขายหรือออกหนังสือรับรองให้กับเจ้าอื่น ตรงนี้จะทำให้เอกชนรายอื่นๆเข้าประมูลไม่ได้ ซึ่งเป็นการล็อคสเปคอย่างแยบยล…”
.......................
เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อเนื่อง
กับการประมูล รถไฟทางคู่สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ สายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่ารวม 128,376 ล้านบาท ซึ่งผลประมูลปรากฏว่า เอกชนที่ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.08% (อ่านประกอบ : เทียบชัดๆ! ประมูลรถไฟทางคู่แสนล้าน ยุค ‘ศักดิ์สยาม’ ประหยัดแค่ 108 ล.)
หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เอกชนเสนอราคา ‘ต่ำกว่า’ ราคากลางน้อยมากนั้น
เป็นเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เขียนทีโออาร์ประมูลที่มีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ และกีดกันบริษัทขนาดกลางออกจากประมูล
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เอกชนที่เข้าประมูลต้องมีผลงาน 15% ของค่าก่อสร้าง จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 10% และการรวมสัญญา 'งานโยธาและระบบราง' และ ‘งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ’ ในแต่ละสัญญา ให้เป็นสัญญาเดียวกัน (อ่านประกอบ : 'ทีโออาร์' ประมูลรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล. แหก ‘มติ ครม.-ซูเปอร์บอร์ด’ เอื้อประโยชน์ใคร?)
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สาธารณชนรับทราบถึงที่มาที่ไปของการ 'รื้อ' โครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งเดิมแยก 'สัญญางานโยธาฯ' ออกจาก 'สัญญางานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ' ก่อนที่เปลี่ยนมาเป็นการรวม 'สัญญางานโยธาและระบบราง' และ ‘สัญญางานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ’ ไว้ในสัญญาเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอลำดับเหตุการณ์และเหตุผลของ รฟท. และกระทรวงคมนาคม ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัญญาก่อสร้าง ดังนี้
@รฟท.ชงรวมสัญญา ‘งานโยธา-อาณัติสัญญาณ’ รถไฟทางคู่
เริ่มจากรถไฟทางคู่สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 ครม.มีมติอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และให้การดำเนินโครงการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.)
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 คณะกรรมการ รฟท. ได้พิจารณาทบทวนแนวทางการแบ่งสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และเห็นควรว่า ควรแบ่งสัญญาโครงการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา และให้รวม ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ และ ‘งานโยธาฯ’ ไว้ในแต่ละสัญญา
จากเดิมที่ รฟท. ยึดแนวทางของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) หรือ ‘ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง’ ตามหนังสือที่ กค 0405.2/5495 ลงวันที่ 5 ก.พ.2562 โดยแบ่งสัญญาโครงการฯเป็น 7 สัญญา ได้แก่ สัญญางานโยธาและระบบราง 6 สัญญา และสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณฯ 1 สัญญา
คณะกรรมการ รฟท. เห็นว่า การแยกสัญญาโครงการฯ ออกเป็น 7 สัญญานั้น จะทำให้การดำเนินการโครงการล่าช้า โดยยกกรณีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง ที่มีการแยกสัญญางานโยธาฯ และสัญญางานระบบอาณัติสัญญาไว้ในแต่ละสัญญา พบว่ามีอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า
เพราะผู้รับจ้างงานโยธาฯต้องรอข้อมูล ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ มาเชื่อมประสานกับขอบเขตงานโยธา ทำให้ต้องมีการขยายอายุสัญญางานโยธาฯออกไป อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้รับจ้างงานระบบอาณัติสัญญาณ จำเป็นต้องขยายอายุสัญญาออกไปเช่นกัน เนื่องจากเข้าพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป 1-2 ปี
ที่สำคัญการแยกสัญญาก่อสร้างเป็น 3 สัญญา และการรวม ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ และ ‘งานโยธาฯ’ ในแต่ละสัญญา ให้เป็นสัญญาเดียวกัน จะทำให้การบริหารโครงการทำได้ง่าย ไม่มีข้อโต้แย้งระหว่างผู้รับเหมาแต่ละราย ค่าดำเนินการไม่เพิ่ม และเปิดให้บริการเดินรถได้ตามแผน
(ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เอกสารประกอบการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563)
@‘คมนาคม’ เห็นพ้องข้อเสนอ ‘รฟท.’ ชี้ลดปัญหาล่าช้า
ต่อมาคณะกรรมการ รฟท. เสนอเรื่องทบทวนการแบ่งสัญญาโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ดังกล่าว ไปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และกระทรวงคมนาคม มีความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อเสนอของ รฟท.
กระทรวงคมนาคม เห็นว่าการรวมสัญญางานโยธาฯ และงานระบบอาณัติสัญญาณไว้ในแต่ละสัญญา จะทำให้การบริหารสัญญามีความคล่องตัว
ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการควบคุมงานและบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิผลมากกว่าแนวทางที่สอง (การแยกสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณ ออกจากสัญญางานโยธาฯ) เนื่องจากการบริหารโครงการก่อสร้างที่มีผู้รับจ้างหลายรายจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และขาดความยืดหยุ่นในการบริหารสัญญา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการในภาพรวม
กระทรวงคมนาคมยังเห็นว่า หากแยกสัญญาโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็น 7 สัญญา อาจทำให้มูลค่าโครงการโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (PMC) เพิ่ม ต้นทุนค่าดำเนินการในการจัดประกวดราคาเพิ่มขึ้น และค่าก่อสร้างในวางรางเพิ่มขึ้น เพราะต้องสร้างโรงเชื่อมรางเพิ่มตามจำนวนสัญญา
อีกทั้งมีความเสี่ยงที่การก่อสร้างจะมีปัญหาล่าช้าจากแผนปกติ 1-2 ปี เนื่องจากปัญหาการเชื่อมประสานระหว่างขอบเขตงานโยธา และงานระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งหากมีการดำเนินการ 2 สัญญาพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน จะมีความยุ่งยากในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก
(ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เอกสารประกอบการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563)
@เสนอครม.ยกเลิกวิธีประมูลรถไฟทางคู่ตามแนวทาง ‘คกจ.’
จากนั้น กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องไปยัง ครม. ให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 (เรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) โดยขอให้ยกเลิกความเห็นของรมว.คมนาคม ที่ขอให้โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.)
พร้อมกันนั้น ขอให้ยกเลิกในส่วนข้อที่ 6 ที่เดิมกำหนดว่า “ในส่วนของการประกวดราคาจ้างก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการฯ ให้กระทรวงคมนาคม (รฟท.) เสนอคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560…เพื่อพิจารณาวิธีการประกวดราคาโครงการที่เหมาะสม...”
เนื่องจาก คกจ. ได้สิ้นสภาพลง ส่วนขั้นตอนการประกวดราคาค่าจ้างนั้น ขอให้ ครม.เห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ต่อไป
“การรวมสัญญางานโยธาฯ เข้ากับสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณฯ เป็นสัญญาเดียวกัน จะต้องไม่เป็นอุปสรรคและขัดขวางในการเข้าแข่งขันเสนอราคา เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน” หนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (คปร) 0905.2/237 ลงวันที่ 13 ก.ค.2563 ลงนามโดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ส่งถึงเลขาธิการ ครม. ระบุ
@ครม.ไม่ได้กำหนดวิธีแบ่งสัญญาประมูลรถไฟทางคู่
ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ซึ่งสรุปได้ว่า ให้โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คกจ. และยกเลิกวิธีการประกวดราคาที่ให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของ คกจ.
อย่างไรก็ตาม จาก มติ ครม.ดังกล่าว ครม. ไม่ได้มีมติว่า รฟท. จะต้องแบ่งสัญญาการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในลักษณะใด หรือจะต้อง 'แยก' หรือ 'รวมสัญญา' งานโยธาฯ และงานระบบอาณัติสัญญาณหรือไม่
เพียงแต่ระบุว่า ให้ รฟท. ดำเนินการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เท่านั้น และให้เร่งรัดตามดำเนินตามกรอบที่ ครม. กำหนด
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม นั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ให้ รฟท. ดำเนินการโครงการฯ แต่เนื่องจากมติ ครม. ดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดให้ รฟท. ต้องประกวดราคาตามความเห็นของ คกจ. เหมือนกับโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
โดย ครม. มีมติเพียงว่า ให้รฟท. ประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-biddig) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือที่ประกาศล่าสุดเท่านั้น ดังนั้น รฟท.และกระทรวงคมนาคม จึงไม่มีการเสนอโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ให้ ครม. ทบทวนมติแต่อย่างใด
@ทีโออาร์รถไฟทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงของ’ ส่อผิดพ.ร.บ.ฮั้วฯ
สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามและตรวจสอบการประมูลรถไฟทางคู่ของ รฟท. ในช่วงที่ผ่านมา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของ รฟท. ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนทีโออาร์จากเดิม 7 สัญญา ลดเหลือ 3 สัญญา และให้รวมงานโยธาและงานอาณัติสัญญาณ ในแต่ละสัญญา ให้เป็นสัญญาเดียวกันนั้น
อาจเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรา 4, 9, 10, 11, และ 12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วฯ เนื่องจากอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาบางรายหรือไม่ หรือมีการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมหรือไม่
เพราะก่อนการประมูล รฟท.จัดประชาพิจารณ์ร่างทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่สายดังกล่าว ปรากฏว่าผู้รับเหมาหลายรายทักท้วง อาทิ การรวมงานโยธาและงานอาณัติสัญญาณ ไว้เป็นสัญญาเดียวกันนั้น มีผู้รับเหมาเสนอให้แยกประมูลเป็นสัญญางานโยธาฯ และงานอาณัติสัญญาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
(สามารถ ราชพลสิทธิ์)
“ผู้รับเหมาเห็นว่า การแยกสัญญางานโยธาออกจากสัญญาระบบอาณัติสัญญาณ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการลดความยุ่งยากในการเชื่อมต่อระบบอาณัติสัญญาณในแต่ละสัญญา (หากผู้รับเหมางานมีอาณัติสัญญาณและสื่อสารที่แตกต่างกัน) อีกทั้งลดเวลา และสะดวกต่อการบำรุงรักษาหรือการปฏิบัติงานของ รฟท.” สามารถ ระบุ
สามารถ กล่าวต่อว่า ผู้รับเหมายังมีความเห็นว่า การที่ รฟท.กำหนดทีโออาร์เกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณ โดยให้ผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณออกหนังสือรับรองให้ผู้รับเหมานั้น อาจก่อให้เกิดการสมยอมกับระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอบางรายกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (ระบบอาณัติสัญญาณ) โดยไม่ออกเอกสารหนังสือรับรองดังกล่าวให้ผู้เสนอรายอื่น
“สมมุติว่า ผู้รับเหมาไปตกลงกับผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณว่า เราตกลงจะเลือกคุณ แต่ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณ ขายหรือออกหนังสือรับรองให้กับเจ้าอื่น ตรงนี้จะทำให้เอกชนรายอื่นๆเข้าประมูลไม่ได้ ซึ่งเป็นการล็อคสเปคอย่างแยบยล” สามารถ กล่าว
(ที่มา : เอกสารสรุปประเด็นความคิดเห็น/ขอวิจารณ์โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21-25 ธ.ค.2563)
@รับเหมาโวยกำหนดผลงาน 10% เอื้อกลุ่มทุนเฉพาะเจาะจง
ขณะเดียวกัน การกำหนดทีโออาร์ให้ผู้รับเหมาที่เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงาน 15% ของค่างานก่อสร้าง นั้น ผู้รับเหมาบางรายขอให้ รฟท.ลดผลงานเหลือ 10% เช่นเดียวกับการเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เพื่อให้เขามีโอกาสเข้าร่วมประมูล และไม่เป็นการกีดกันเขาไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ รฟท. กลับไม่ฟังเสียงของผู้รับเหมาเลย
“ผู้รับรายนี้เห็นว่าการเสนอลดผลงานลงเหลือ 10% ของค่างานก่อสร้าง จะทำให้มีการแข่งขันกันมากกว่า และช่วยป้องกันการทุจริตได้ และหวังว่า รฟท.จะทำตามข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เป็นการกีดกันผู้รับเหมารายอื่น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ
นอกจากนี้ มีผู้รับเหมาอีกรายเห็นว่า การเพิ่มผลงานของผู้รับเหมาเป็น 15% ถือเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้เสนอรายเดิมมีสิทธิ์เข้าร่วมเสนอราคาด้วย อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้เสนอราคาน้อยกว่าปกติหรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฮั้วฯ และผู้รับเหมาก็พูดไว้ก่อนแล้ว” สามารถ กล่าว
จากนี้คงต้องติดตามว่าคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ (สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 จะรายงานผลการตรวจสอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เมื่อใด
แต่ที่แน่ๆ การตัดสินใจว่าการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 2 โครงการ มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท จะ 'เดินหน้า' หรือต้อง 'ล้มประมูล' ไปนั้น ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว
อ่านประกอบ :
ACT ร่อนแถลงการณ์จี้ 'บิ๊กตู่' สั่งทบทวนประมูลรถไฟทางคู่ 'สายเหนือ-อีสาน' 1.28 แสนล.
'ทีโออาร์' ประมูลรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล. แหก ‘มติ ครม.-ซูเปอร์บอร์ด’ เอื้อประโยชน์ใคร?
เซ็นคำสั่งลับ! ‘บิ๊กตู่’ ตั้งกก.สอบประมูลรถไฟทางคู่ ‘สายเหนือ-อีสาน’ 1.28 แสนล้าน
รฟท.แจงประมูลรถไฟสาย 'เหนือ-อีสาน' : กล่าวหาแบ่งเค้ก-ฮั้วราคา เป็นเรื่องของการคาดเดา
ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่งๆ หน้า
รฟท.ย้ำประมูลรถไฟ ‘เด่นชัย-เชียงของ’ 7.29 หมื่นล้าน 'โปร่งใส-ราชการไม่เสียประโยชน์'
เทียบชัดๆ! ประมูลรถไฟทางคู่แสนล้าน ยุค ‘ศักดิ์สยาม’ ประหยัดแค่ 108 ล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage