“…การเขียนเงื่อนไขทีโออาร์ที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 15% ของมูลค่างานในแต่ละสัญญา และการรวม ‘งานก่อสร้างราง’ และ ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ ไว้เป็นสัญญาเดียวกันนั้น เป็นการ ‘หักล้าง’ หรือ 'แหก' มติของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติรับทราบไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560…”
อาจต้องเลื่อนการประกาศรายชื่อ ‘ผู้ชนะประมูล’ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จำนวน 3 สัญญา และรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม จำนวน 2 สัญญา มูลค่ารวม 128,376.79 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เทียบชัดๆ! ประมูลรถไฟทางคู่แสนล้าน ยุค ‘ศักดิ์สยาม’ ประหยัดแค่ 108 ล.)
หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ (สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564 คณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่มี ดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เชิญนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี และผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ (อ่านประกอบ : เซ็นคำสั่งลับ! ‘บิ๊กตู่’ ตั้งกก.สอบประมูลรถไฟทางคู่ ‘สายเหนือ-อีสาน’ 1.28 แสนล้าน)
(ดนัย มู่สา ขอบคุณภาพ : สถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถ)
นับตั้งแต่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศผลการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เมื่อวันที่ 18 พ.ค. และ 25 พ.ค.2564 ซึ่งผลการประมูลปรากฎว่า ในภาพรวมเอกชนที่ชนะการประมูล เสนอราคาประมูล ‘ต่ำกว่า’ ราคากลางเพียง 0.08% เท่านั้น
ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประมูลทั้ง 2 โครงการ รวม 5 สัญญาดังกล่าว มีการ ‘ล็อกสเปก’ หรือไม่
@เขียนทีโออาร์กีดกันผู้รับเหมารายกลาง
เริ่มตั้งแต่การเขียนทีโออาร์ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานไม่น้อย 15% ของมูลค่างานในแต่ละสัญญานั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ และกีดกันบริษัทขนาดกลางออกจากประมูล ส่งผลให้ในการประมูลแต่ละสัญญามีผู้เข้าร่วมประมูล ‘น้อยราย’
ขณะเดียวกัน การเขียนทีโออาร์ที่กำหนดให้รวม 'งานก่อสร้างรางและงานโยธาอื่นๆ' และ ‘งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดแนวเส้นทาง และศูนย์ควบคุมการเดินรถ’ ไว้เป็นสัญญาเดียวกัน
ต่างจากการประมูลรถไฟทางคู่ในอดีตที่แยก ‘งานก่อสร้างรางและงานโยธา’ และ ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ ออกจากกัน ส่งผลให้มีเอกชนที่มีศักยภาพที่เข้าร่วมประมูลเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น
@หักมติซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง-ลดการแข่งขัน
ที่สำคัญการเขียนเงื่อนไขทีโออาร์ที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 15% ของมูลค่างานในแต่ละสัญญา และการรวม ‘งานก่อสร้างราง’ และ ‘งานระบบอาณัติสัญญาณ’ ไว้เป็นสัญญาเดียวกันนั้น เป็นการ ‘หักล้าง’ หรือ 'แหก' มติของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติรับทราบไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560
โดยครั้งนั้น คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ‘ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง’ ที่มี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน มีข้อเสนอให้ รฟท. ทบทวนการเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง จากทั้งหมด 7 เส้นทาง ซึ่งกำลังจะมีการเปิดประมูลในช่วงปี 2560 ใน 2 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
1.ให้ รฟท.ทบทวนทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง โดยปรับลดเงื่อนไขการกำหนดผลงานจากเดิม 15% เหลือ 10% ของค่าก่อสร้าง เพราะจะทำให้มีผู้ประกอบการเข้าแข่งขันได้มากรายขึ้น
2.ให้ รฟท. ทบทวนแยกระบบ อาณัติสัญญาณ ออกจากงานระบบรางและงานโยธา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาได้มากราย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และได้ผู้รับจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินการ
“การดำเนินการตามแนวทางนี้ จะทำให้มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าแข่งขันได้มากราย (งานระบบรางและงานโยธา 15 ราย และระบบอาณัติสัญญาณ 10 ราย) อันจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง” รายงานของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) ที่เสนอต่อครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ระบุ (อ่านเอกสารประกอบ)
(ประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
(ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , เอกสารประกอบการพิจารณาของที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560)
ขณะที่ รมช.คมนาคม ในขณะนั้น (พิชิต อัคราทิตย์) ระบุใน ครม.ว่า แนวทางที่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างเสนอ จะทำให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาได้มากราย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ครม.รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง และรมช.คมนาคม ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณนั้น ครม. ได้ให้คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างพิจารณาประกวดราคาโดยวิธีการประกวดราคานานาชาติ เพื่อให้มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าแข่งขันได้มากราย (อ่านเอกสารประกอบ)
(ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , เอกสารแจ้งมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560)
@รฟท.ยันไม่ได้กีดกันรายกลางเข้าร่วมประมูล
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา รฟท.ออกมาชี้แจงว่าการเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ที่กำหนดผลงานผู้เข้าร่วมประมูลไม่น้อย 15% ของมูลค่างานในแต่ละสัญญา และรวมงานระบบอาณัติสัญญาณไว้ด้วยนั้น
ไม่ได้เป็นการกีดกันการแข่งขันในการประกวดราคาแต่อย่างใด
เพราะโครงการทางคู่ 2 สายแรก สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางจิระ-ขอนแก่น ได้กำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างทางรถไฟไว้ 25% และรวมงานระบบอาณัติสัญญาณไว้ในสัญญาเดียวกันด้วย ซึ่งการประกวดราคาและการบริหารจัดการงานก่อสร้างโครงการทั้ง 2 โครงการได้แล้วเสร็จครบถ้วนตามเป้าหมายทุกประการ
“ผู้รับเหมาขนาดย่อมถึงขนาดกลางก็สามารถเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ได้ โดยเห็นได้จากเงื่อนไขการประกวดราคาที่การรถไฟฯ กำหนดในครั้งนี้ ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาขนาดย่อมถึงขนาดกลางที่มีผลงานตามที่กำหนดหรือขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการงานก่อสร้างไว้กับกรมบัญชีกลางตามสาขางานก่อสร้างทางหรือสาขางานก่อสร้างสะพานสามารถเข้าร่วมประมูลในรูปแบบสมาชิกกิจการร่วมค้าได้” รฟท.ชี้แจง
แต่จะพบว่ารถไฟทางคู่ทั้ง 2 โครงการ คือ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่นนั้น เป็นโครงการที่เปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ก่อนที่ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง จะมีมติให้ทบทวน TOR รถไฟทางคู่ โดยให้ลดผลงานเหลือ 10% ของค่าก่อสร้าง และให้แยกระบบ ‘อาณัติสัญญาณ’ ออกจาก ‘งานระบบรางและงานโยธา’ดังนั้น คำชี้แจงของ รฟท. จึงอาจฟังไม่ขึ้นนัก
@กำหนดทีโออาร์ลักษณะ ‘เผื่อเลือก’ เอื้อเอกชนที่ชนะประมูล
นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนทีโออาร์การประมูลรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 5 สัญญานั้น เป็นการเขียนทีโออาร์ในลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่ชนะการประมูลทั้ง 5 สัญญา
ยกตัวอย่างเช่น ทีโออาร์การประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคราม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
มีการระบุในข้อ 17 ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับ 3 ระบบหลักของงานอาณัติสัญญาณ ได้แก
(1) ระบบบังคับสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Based Interlocking: CBI System)
(2) ระบบป้องกันเหตุอันตรายของขบวนรถโดยอัตโนมัติ (Automatic Train Protection: ATP) ตามมาตรฐาน European Train Control System (ETCS) Level 1
(3) ระบบควบคุมการเดินรถทางไกล (Centralised Traffic Control: CTC System)
ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเสนอเอกสารตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้ยื่นเสนอผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 2 ผลิตภัณฑ์สำหรับแต่ละระบบหลัก พร้อมยื่นหนังสือรับรองผลการใช้งานผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่ยื่นเสนอจากผู้ผลิตรายเดียวกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และหนังสือยืนยันจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่โครงการฯ อนึ่ง ผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายสามารถยื่นเสนอผลิตภัณฑ์เดียวกันได้
ที่มา : TOR การประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคราม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก
เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าว สรุปได้ว่า รฟท. ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบหลักได้ 2 ยี่ห้อตาม approved list ของ รฟท. เพราะเกรงว่าหากมีผู้ขายระบบอาณัติสัญญาณรายเดียว ก็อาจมีการเอาเปรียบผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลได้ เช่น มีการโก่งราคา จนทำให้งานล่าช้านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะ ‘เผื่อเลือก’ โดยจะทำให้ผู้ชนะการประมูล สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่มี ‘ราคาถูกกว่า’ มาติดตั้งได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ชนะประมูล แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆกับ รฟท.เลย
ขณะที่การกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์แบบ ‘เผื่อเลือก’ ดังกล่าว กรมบัญชีกลางเคยมีความเห็นว่า ‘ทำไม่ได้’
โดยเมื่อ 2550 รฟท. เปิดประมูลรางเหล็ก มีบริษัทหนึ่งเสนอโรงงานที่ผลิตรางมา 5 โรงงาน และชนะการประมูล ส่วนบริษัทอื่นๆเสนอรายละ 1 โรงงานเท่านั้น ต่อมามีการร้องเรียน และรฟท. หารือไปที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นว่า การเสนอราคาแบบหลายโรงงานถือว่าเป็นการ ‘เผื่อเลือก’ ซึ่งทำไม่ได้ สุดท้าย รฟท. ต้องยกเลิกการประมูล
@เสนอคกก.ตรวจสอบฯสอบเชิงลึก-หลังลือมีการล็อบบี้
ด้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม บอกกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเสียงร่ำลือในกระทรวงคมนาคมว่า การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน มีการสั่งการให้จัดสรรปันส่วนงานให้กับบริษัทเอกชนบางราย จึงขอให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่มี ดนัย เป็นประธาน ตรวจสอบเชิงลึกในเรื่องนี้ด้วย
“คณะกรรมการฯที่ท่านนายกแต่งตั้งควรสอบสวนให้ลึก โดยเฉพาะเรื่อง TOR เพราะทราบว่ามีรองผู้ว่าการ รฟท. ฝ่ายก่อสร้างคนหนึ่ง ได้ลาออกไป เพราะไม่ยอมเขียน TOR ตามใบสั่ง” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับสำนักข่าวอิศราว่า คณะกรรมการตรวจสอบฯที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน อาจเป็นแค่ ‘พิธีกรรม’ เพราะหากพิจารณาจากรายชื่อประธานและกรรมการทั้ง 7 คน ได้แก่
ดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ,ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ,ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ,ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ,ผู้แทนวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และผู้แทนผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
เป็นเพียงนักการเมืองและข้าราชการระดับ 10-11 เท่านั้น จึงไม่มีอำนาจ 'สั่งการใดๆ' ได้มากนัก
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 พบว่า มีการระบุข้อความที่บอกถึงจุดประสงค์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ว่า “…เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถอธิบาย และตรวจสอบได้ตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง…”
บทสรุปสุดท้ายของการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและอีสาน มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป!
(ที่มา : คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564)
อ่านประกอบ :
เซ็นคำสั่งลับ! ‘บิ๊กตู่’ ตั้งกก.สอบประมูลรถไฟทางคู่ ‘สายเหนือ-อีสาน’ 1.28 แสนล้าน
รฟท.แจงประมูลรถไฟสาย 'เหนือ-อีสาน' : กล่าวหาแบ่งเค้ก-ฮั้วราคา เป็นเรื่องของการคาดเดา
ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่งๆ หน้า
รฟท.ย้ำประมูลรถไฟ ‘เด่นชัย-เชียงของ’ 7.29 หมื่นล้าน 'โปร่งใส-ราชการไม่เสียประโยชน์'
เทียบชัดๆ! ประมูลรถไฟทางคู่แสนล้าน ยุค ‘ศักดิ์สยาม’ ประหยัดแค่ 108 ล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage