‘ดอน’ แถลงยืนยันการประชุมครม.วันที่ 5 พ.ค.64 ไม่มีการหารือ-อภิปรายเรื่อง CPTPP แค่อนุมัติขยายเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วัน วอนโซเชียลมีเดียอย่าเชื่อ Fake Info ขณะที่ ‘เอฟทีเอว็อทช์’ ออกแถลงการณ์ด่วนแย้ง 6 ประเด็น
...................
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เวลา 13.00 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แถลงความคืนหน้าของไทยในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยยืนยัน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.ไม่ได้หารือหรืออภิปรายใดๆเกี่ยวกับเรื่อง CPTPP เลย เพียงแต่มีการอนุมัติให้กนศ.ขยายเวลาการศึกษาออกไปอีก 50 วัน
“สิ่งที่บอกว่าออกมาจาก ครม.นั้น เป็น Fake Info (ข้อมูลที่ไม่จริง) เพราะครม.ไม่ได้หารือ ไม่ได้อภิปรายอะไรเกี่ยวกับ CPTPP เลย เพียงแต่อนุมัติตามที่ กนศ. เสนอ คือ ให้ขยายเวลาพิจารณาอีก 50 วัน และไม่มีอะไรที่ให้นายกฯไปลงนามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจรจา CPTPP แต่กลับออกมาในโลกโซเชียลมีเดียเป็นตุเป็นตะ บางครั้งเอาไปบิดจนคนเขาใจผิด ซึ่งผู้ที่เสียหาย คือ นายกฯ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับท่าน เพราะไม่เป็นจริง” นายดอนกล่าว
นายดอน กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 40 กว่าวันนั้น กนศ.จะพิจารณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้คอบรอบในทุกประเด็น ทั้งภาพใหญ่ ภาพไกล และปัญหาที่ค้างอยู่ที่ว่าจะอยู่ต่อไปหรือลดทอนลงได้ รวมถึงกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อดูแลผลประโยชน์ของทุกภาคส่วน หากไทยเข้าร่วมการเจรจา CPTPP โดย กนศ.มีเวลาศึกษาได้จนถึงวันที่ 25 มิ.ย.2564 และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาว่าไทยจะเข้าร่วมการเจรจา CPTPP หรือไม่ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้
“ถ้าครม.ให้เดินต่อ เพราะเห็นความเหมาะสม ก็จะนำไปสู่การเจรจา และเมื่อได้ผลอย่างไร จะนำมาบอกกล่าวกับประชาชน และถ้าจะต้องเสนอเข้าสภาฯด้วย ก่อนที่เราจะไปเป็นภาคี” นายดอนกล่าว และย้ำว่า “ทุกอย่างทำเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อ กนศ.พิจารณาแล้วเสร็จใน 50 วัน ครม.จะพิจารณาความเห็น กนศ. และถ้า ครม. ให้ไปเจรจาเราจะรู้ว่าปัญหาจริง แล้วถ้าเราจะเข้าร่วม CPTPP ต้องมาผ่านรัฐสภาอีก จะเห็นว่ายังมีอีก 4 ขั้นตอนที่ต้องทำ”
นายดอน ระบุว่า หาก ครม. มีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ภายในเดือน ก.ค.นี้ ไทยจะยื่นเรื่องให้ที่ประชุมภาคีสมาชิก CPTPP ซึ่งปีนี้มีญี่ปุ่นเป็นประธาน พิจารณาได้ทันเดือน ส.ค.นี้ แต่เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 การประชุมภาคี CPTPP อาจเลื่อนไปเป็นเดือน ก.ย.หรือ ต.ค. เพราะยังไม่มีการกำหนดเวลาประชุมที่ชัดเจนออกมา และหาก ครม. เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP การเจรจาต้องใช้เวลาเป็นปี
“ไม่ใช่ว่าถ้าไทยไปเจรจาแล้วต้องจบ เพราะต้องมีการคุยและกำหนดเงื่อนไขต่างๆที่เราเห็นว่าเหมาะสมในการดูแลผลประโยชน์ภาคส่วนต่างๆได้ และเมื่อเจรจาแล้ว หากเห็นว่าเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องกลับมารายงาน ครม. และหาทางแก้ไข ดังนั้น การเจรจาจะใช้เวลาเป็นปี และที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น และระหว่างนั้นเราต้องกลับมาหารือ แล้วยังต้องเสนอสภาฯอีก” นายดอนระบุ
นายดอน กล่าวด้วยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่อยากเห็นไทยเข้าร่วม CPTPP เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยกว่า 6,000 โครงการ ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นลดลง และทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยเสียเปรียบประเทศอื่นๆในอาเซียนที่เข้าร่วม CPTPP และทราบว่าขณะนี้ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อังกฤษ สหรัฐ และจีน กำลังพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่
ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์ด่วนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ว่า ตามที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แถลงความคืบหน้าของไทยในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP นั้น ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1.การที่นายดอน ในฐานะประธาน กนศ. กล่าวว่า มีองค์การภาคประชาสังคมทำ Fake Info เพื่อบิดข้อมูล ซึ่งนายดอนกล่าวว่า ไม่จริงเพราะ ไม่มีการหารืออภิปรายในที่ประชุมเลย ไม่มีใครถามอะไรเลย และเอกสารที่เข้าแค่ขอขยายเวลา 50 วัน ไม่ได้มีอันใดให้นายกฯลงนามดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเจรจาขอเข้า CPTPP
เอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวไม่ได้อธิบายเจตนาในการบรรจุวาระในเรื่องสำคัญนี้ โดยไม่มีเอกสารแจกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่วงหน้า ก่อนการประชุม มาแจกในที่ประชุมและเก็บกลับทันที และยังระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า 'หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ' นี่จะนำไปสู่การตีความว่า นายกฯสามารถทำหนังสือแสดงเจตจำนงไปขอเข้าเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP ได้เลยหรือไม่ เพราะในที่ประชุมไม่มีการอภิปรายเลย
และหากเอฟทีเอว็อชท์ไม่ได้ยกประเด็นนี้ต่อสาธารณะ ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้ทราบว่าคณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจกรณีการเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ และเมื่อใด เพราะไม่มีการแถลงใดๆหลังจากมีการประชุมแล้วเสร็จ
2.นายดอน กล่าวว่า การจะเข้าร่วม CPTPP ต้องผ่านรัฐสภา แล้วในช่วงปลายการแถลงข่าวจึงมาขยายความว่า ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเจรจาเสร็จแล้ว
เอฟทีเอ ว็อทช์ ขอบคุณที่รองนายกฯ ขยายความให้อย่างชัดเจนว่า การเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มีแค่ช่วงท้ายสุดของกระบวนการวเพื่อให้สัตยาบันเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ตัดกลไกการมีส่วนร่วมการตรวจสอบก่อนหน้าการเจรจาฯทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาก่อนไปเจรจา ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีกลไกและขั้นตอนเหล่านี้ชัดเจน
ดังนั้น การที่รัฐบาลอ้างว่าจะทำให้การเจรจามีผลกระทบน้อยที่สุด มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนนั้น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อรัฐสภาด้วยกรอบเจรจาถึงประเด็นที่ต้องเจรจาให้ได้และประเด็นที่ต้องปกป้อง จึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน หรือการแสดง accountability ดังที่เคยมีในรัฐธรรมนูญก่อน
3.นายดอน กล่าวว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ไปเจรจาจะใช้เวลาเจรจานานมาก โดยยกตัวอย่าง การเจรจา RCEP ที่ใช้เวลาถึง 8-9 ปี
เอฟทีเอ ว็อทช์ ขอแย้งว่า ความตกลง RCEP นั้น เป็นการเจรจาความตกลงทั้งฉบับ ภาคีที่เข้าร่วมเจรจามากถึง 16 ประเทศ ขณะที่ความตกลง CPTPP เป็นความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว หากประเทศไทยจะเข้าร่วมเจรจา จะเป็นแค่การเจรจาในข้อสงวนและผ่อนผันเวลาปรับตัวเท่านั้น จึงเทียบระยะเวลากันไม่ได้
4.นายดอน กล่าวว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ลองไปเจรจาแล้วไม่ไหว สามารถกลับมาให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกได้
เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้ติดตามความพยายามเข้าร่วม CPTPP ของไทยมาโดยตลอด ซึ่งทางอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ พูดเองในหลายเวทีว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเล็กๆในเวทีโลก เข้าไปเจรจาแล้ว จะมาบอกว่า เจรจาไม่ได้ ไม่พอใจ ถอนตัวออกมาไม่ได้ เพราะ เนื้อหาความตกลงเขาเผยแพร่แล้ว เรา(ไทย)จะทำเช่นนั้นไม่ได้ (เพราะจะเสียหายในเชิงหน้าตาของประเทศ)
5.นายดอนย้ำว่า เอกสารที่เข้า ครม. ตีตราลับมากนั้น ไม่มีอะไร เป็นแค่การขอขยายเวลาศึกษาเพิ่ม 50 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จวันที่ 24 มิ.ย.2564 ครม.จะพิจารณาใน ก.ค. ปีนี้ ญี่ปุ่นเป็นประธาน CPTPP ยังไม่กำหนดจะประชุมเดือนใด ระหว่าง ส.ค.-ก.ย. เพราะสถานการณ์โควิด แต่ถึงประชุม ส.ค.ไทยน่าจะพร้อม
เอฟทีเอ ว็อทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเอกสารเข้าคณะรัฐมนตรีมีสาระแค่การขอขยายเวลา ทำไมเอกสารประกอบวาระไม่ส่งให้คณะรัฐมนตรีก่อน เอกสารเพิ่งแจกในที่ประชุม และเก็บกลับทันทีเมื่อวาระจบ
6.นายดอนเชื่อว่า เมื่อครบ 50 วัน กนศ.น่าจะพร้อมที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว เพราะที่ผ่านมาประชุมหลายครั้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากที่คณะกมธ.ตั้งข้อสังเกต มีการปรับท่าทีของหน่วยราชการบางหน่วยอยู่ในระดับที่เป็นไปได้ เดิมอาจคิดว่ามีข้อจำกัดต่างๆ จนเหลือแค่ไม่กี่ประเด็นที่จะไปตั้งข้อสงวน และที่จะกระทบก็มีการเยียวยาอย่างยั่งยืน
เอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า นี่แหละ ที่หน่วยราชการทั้งหลายวิพากษ์การประชุม กนศ. และอนุทั้ง 8 คณะว่า ถูกบีบให้ 'ไม่มีปัญหา' ด้วยการให้หน่วยงานปรับลดจากประเด็นสีแดงที่มีผลกระทบรุนแรง เป็นสีเหลืองที่ถ้ามีเวลาปรับตัว มีงบประมาณจะไม่เป็นปัญหา พูดง่ายๆคือทำให้ประเด็นอ่อนไหวลดลง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความตกลงฯอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กนศ.ควรเชิญหน่วยราชการที่มีประเด็นสีแดงทั้ง 16 ประเด็น อาทิ ผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง UPOV1991, กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS), ฉลากและควบคุมแอลกอล์ฮอล , Digital tax, ยกเลิก Special Agricultural Safeguard, ผลกระทบที่จะเกิดแก่องค์การเภสัชกรรม, โครงสร้างภาษีอากรวัตถุดิบกับสินค้าสำเร็จรูป แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างไม่ถูกกดดันว่า ทำไมยังห่วงกังวลประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ จะแก้ไขปัญห่อย่างไรหากต้องปฏิบัติตามจะสามารถเยียวยาความเสียหายได้หรือไม่อย่างไร
“ขอขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ส่ง รองนายกฯดอนมาแถลงชี้แจงต่อสาธารณชนในวันนี้ แต่ถึงที่สุดต้องขอขอบคุณประชาชนด้วยที่ช่วยกันทวีต สื่อสารในสื่อออนไลน์และช่องทางต่างๆ จนรองนายกฯต้องออกมารับรองด้วยตัวเองว่า จะไม่มีการทำลัดขั้นตอนเช่นนั้น” กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ระบุ
ข่าวประกอบ :
‘เอฟทีเอว็อทช์’ โต้ครม.กลับลำร่วม CPTPP หลังปชช.ทวีต ‘#NoCPTPP’ 1.4 ล้านครั้ง
'ดอน' นั่งหัวโต๊ะถก 'CPTPP' 7 เม.ย.! ภาคปชช.เตือน ‘งบบัตรทอง’ พุ่ง-รอนสิทธิเกษตรกร
'บิ๊กตู่' ขีดเส้น 8 อนุกรรมการฯขับเคลื่อน CPTPP ส่งผลศึกษาเข้าครม.กลางเม.ย.นี้
จับตา รบ.หัก กมธ.! ดันไทยร่วม CPTPP-ภาค ปชช.เกาะติดประชุม ‘กนศ.’ 5 ก.พ.
ข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจากรายงาน กมธ.CPTPP สิ่งที่ไทยควรพร้อมก่อนตัดสินใจเข้าร่วม
ไม่ควรร่วมถ้ายังไม่พร้อม!สภาเห็นด้วยรายงาน กมธ.CPTPP ส่งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
มติเอกฉันท์!สภาตั้ง 49 กมธ.ศึกษาผลกระทบ CPTPP ให้เวลา 30 วันพิจารณา
เกาะติด CPTPP! 'เอฟทีเอ ว็อทช์' จับตา 'อุตฯเกษตรยักษ์ใหญ่' จูงมติกกร.หนุนไทยเจรจา CPTPP
FTA Watch ร้องสภา ขอตั้ง กมธ.ศึกษาข้อดี-เสียเข้าร่วม CPTPP
'จุรินทร์' จ่อถอนวาระเข้าร่วม CPTPP ออกจาก ครม. หลังหลายฝ่ายมีความเห็นขัดแย้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage