เครือข่ายภาคประชาชนฯ จับตาการประชุมกนศ. วันที่ 5 ก.พ.นี้ คาดรัฐบาลเดินหน้าผลักดันไทยเข้าร่วมข้อตกลง ‘CPTPP’ ยกผลศึกษากมธ.ค้าน ชี้สร้างผลกระทบ 7 ประเด็น ทำประเทศเสียหาย
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนกำลังจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เนื่องจากคาดว่าจะมีเสนอให้ไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อีกครั้ง รวมถึงพิจารราแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วม CPTPP ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาข้อตกลง CPTPP
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนหยิบยกรายงานการศึกษากรรมาธิการวิสามัญศึกษาความตกลง CPTPP ที่สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 โดยระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าวมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในขณะนี้ โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช
“คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV
ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทําความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณ วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกร และเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และจัดทํากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ผลศึกษาของคณะกรรมาธิการฯระบุ
ผลการศึกษาฯตั้งข้อสังเกตว่า เกษตรกรเกือบทุกกลุ่ม รวมทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของเกษตรกร ที่เข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการ ไม่ยอมรับการเข้าเป็นภาคี UPOV1991 และมีหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม UPOV1991 ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ มีเฉพาะกรมวิชาการเกษตรเท่านั้นที่สนับสนุนการเข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่สนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP คือ ภาคเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าและสมาคมด้านการปรับปรุงพันธุ์ เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ตาม UPOV 1991
ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะมีผลกระทบ 7 ประเด็น ได้แก่
1.สูญเสียประสิทธิภาพในการกํากับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณี ที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากไม่สามารถกําหนดให้แสดงหลักฐานการขออนุญาตและแบ่งปัน ผลประโยชน์ในการยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้อีกต่อไป
2.อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ถูกลมหรือสัตว์พาหะนําไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง และส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทําตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิม
3.สูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นถิ่นกําเนิดของความหลากหลายของ พันธุ์ข้าว (ในปัจจุบันได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า 24,552 ตัวอย่าง) โดยยังไม่มีการจัดทําฐานข้อมูล พันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์
4.ทําให้ต้องจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม จากเดิมพระราชบัญญัติ คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
5.ทําให้เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น
6.อาจทําให้เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งนําผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ไปจําหน่ายปลีก ในตลาด ถูกดําเนินคดีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอนุสัญญา UPOV ขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชให้รวมถึง ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช
7.จะเป็นอุปสรรคแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหม่ แต่จะเอื้อประโยชน์แก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหญ่ที่มีทุน กําลังคน และเทคโนโลยีซึ่งเหนือกว่า
นอกจากนี้ ภาคประชาชนมีชี้ให้เห็นว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม CPTPP โดยระบุว่า ในปีงบ 25563 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการวิจัยพันธุ์ข้าวเพียง 57.14 ล้านบาท เทียบกับการปลูกข้าวที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรครึ่งประเทศ และมูลค่าการส่งออกข้างวของไทยที่มีการส่งออกปีละกว่า 1 แสนล้านบาท
"แม้สภาฯจะมีผลการศึกษาและได้เสนอไปยังรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลจะฟังเสียงท้วงติงของสภาหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประชาชนต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป" เครือข่ายภาคประชาชนระบุ
ข่าวประกอบ :
ข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจากรายงาน กมธ.CPTPP สิ่งที่ไทยควรพร้อมก่อนตัดสินใจเข้าร่วม
ไม่ควรร่วมถ้ายังไม่พร้อม!สภาเห็นด้วยรายงาน กมธ.CPTPP ส่งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
มติเอกฉันท์!สภาตั้ง 49 กมธ.ศึกษาผลกระทบ CPTPP ให้เวลา 30 วันพิจารณา
เกาะติด CPTPP! 'เอฟทีเอ ว็อทช์' จับตา 'อุตฯเกษตรยักษ์ใหญ่' จูงมติกกร.หนุนไทยเจรจา CPTPP
FTA Watch ร้องสภา ขอตั้ง กมธ.ศึกษาข้อดี-เสียเข้าร่วม CPTPP
'จุรินทร์' จ่อถอนวาระเข้าร่วม CPTPP ออกจาก ครม. หลังหลายฝ่ายมีความเห็นขัดแย้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage