"...ดังนั้นไทยยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับ การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช..."
---------------------------------------------------------
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง จนปรากฎทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง
หลังใช้เวลานานกว่า 120 วัน กมธ.ชุดนี้ได้พิจารณาทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใน 3 ด้านสำคัญ คือ การเกษตร สาธารณสุข และเศรษฐกิจการค้า โดยในภาพรวมได้มีความเห็นว่า ไทยยังไม่สมควรที่จะเข้าร่วมในความตกลง CPTPP เนื่องจากไทยยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน พร้อมมีความเห็นในรัฐดำเนินการในภาพใหญ่ 4 ประเด็น ดังนี้
1.ไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
นอกจากนั้นที่ประชุมสภายังมีมติส่งความเห็นของ กมธ.ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช เห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV ดังนั้น ไทยยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับ การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืชจากเดิมที่งบประมาณ 2564 กำหนดแผนงานบูรณาการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ที่ 1,447 ล้านบาท
ซึ่ง กมธ.เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรอย่างน้อย 6 เรื่อง
- รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมด้านการวิจัยและพันฒนาพันธุ์พืช โดยกลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืช ทำให้เกิดความสมดุลกับพันธุ์ลูกผสมของภาคธุรกิจเอกชนตามหลักของความได้สัดส่วน ที่ต้องคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชกระทบสิทธิของเกษตรกรในระดับพอประมาณ
- รัฐต้องสนับสนุนงประประมาณ และอัตราบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์และด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์แก่กรมการข้าว เพื่อให้กรมการค้ากำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60 เพื่อสร้างดุลยภาพเรื่องดังกล่าว
- รัฐต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และอนุบัญญัติเพื่อแก้ปัญหากรใช้กฎหมาย เตรียมการให้กลุ่มเกษตรกรมีการปรับตัว และเอื้อประโยชน์ต่อการทำเกษตรยั่งยืน และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้น
- รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานด้านพันธุ์พืชกับการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเองได้ โดยส่งเสริมให้มีเครือข่ายดำเนินการร่วมกันแบบบูรณาการ
- รัฐต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับโครงสร้างทางการผลิตภาคเกษตรเป็นการด่วน ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงการแปรรูปขั้นต้น เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรให้สัมพันธ์กับค่าแรงขั้นต่ำ
- รัฐต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ปลูกพืชทุกกลุ่ม เช่น ข้าว พืชไร่ ผัก ผลไม้ ไม้ดอก พืชเครื่องดื่ม และสมุนไพร-เครื่องเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ในเรื่องเกี่ยวกับ CPTPP และข้อบทที่เกี่ยวกับ UPOV ให้ชัดเจนถึงผลได้ผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการเตรียมการภายในประเทศ ทั้งนี้ด้วยเวลาในการศึกษาที่จำกัด จึงมีข้อสงวนและข้อสังเกต ดังนี้
- เห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรศึกษาและวิจัยต่อยอดเพิ่มเติม เช่น ขนาดของผลกระทบทั้งด้านการขึ้นทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของประชาชน และอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทย รวมถึงผลกระทบระยะยาวในด้านขีดความสามารถการแข่งขัน ความคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความล้าสมัยของเครื่องมือแพทย์
- มีความจำเป็นที่หน่วยงานทั้งหลายต้องมาร่วมประชุมและปรึกษาหารือถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง ซึ่งไทยควรเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าร่วมในความตกลงนี้ อาทิ สร้างกระบวนการเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา , จัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชสมุนไพรไทยให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางสมุนไพรไทย
- รัฐควรเสนอร่างข้อบังคับหรือกฎหมายที่ต้องตราขึ้นใหม่ ให้เกิดสภาพบังคับภายในราชอาณาจักรก่อนเข้าร่วมข้อตกลง เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาทิ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนประกอบของจุลชีพ หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับจุลชีพโดยเร็ว รวมถึงการกำหนดมาตณบานเรื่องอาหารของความตกลง CPTPP โดยอ้างอิงหลักการของ CODEX guideline โดยภาครัฐควรแถลงให้ชัดเจนในประเด็นนี้
- รัฐบาลควรจัดเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้าร่วมความตกลงนี้ไว้ล่วงหน้าด้วย
- กรณีรัฐบาลเตรียมความพร้อมแล้ว และจะต้องเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในการเจรจาควรกำหนดประเด็นต่างๆ ด้วย เช่น ทำข้อสงวนของไทยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยึดต้นแบบเดียวกันกับเวียดนาม ที่สามารถยกเว้นตลาดได้ 50% ในระยะเวลา 20 ปี , ตั้งข้อสงวนสำหรับมาตรการควบคุมยาสูบของไทย , ตั้งข้อสงวนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย , จัดทำ side letter ยกเว้นสิทธิกำกับดูแลของรัฐ สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ออกจากการฟ้องร้องด้วยกลไก ISDS , ตั้งข้อสงวนในข้อกังวลเกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาชีพจากทุกสภาวิชาชีพ และกระทรวงพาณิชย์ควรนำข้อเสนอการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม
ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เห็นว่าการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย มีโครงการที่ชัดเจนและจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมและปรับโครงสร้างภายในประเทศ โดยสามารถแยกออกเป็น 11 ประเด็น ดังนี้
- ภาพรวมการประเมินผลกระทบ และโลกหลังโควิด พบว่าผลการศึกษาโดยแบบจำลอง ยังไม่ได้คำนึงบริบททางสังคม และบทบาทของคนที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งนี้การตั้งสมติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ผลการศึกษาดำเนินการเสร็จเมื่อปี 2562 จึงไม่ครอบคลุมสถานการณ์โควิด และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- เรื่องการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และเขตปลอดอากร รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างอัตราอากรขาเข้า , จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ , จัดทำกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ส่วนกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในความตกลง CPTPP มีความซับซ้อน มีทั้งได้และเสียประโยชน์ จำเป็นต้องเร่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP
- การค้า บริการ และการลงทุน ภาครัฐต้องหารือกับผู้ประกอบการ เพื่อประเมินความพร้อม และวิเคราะห์ถึงสาขาบริการที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจที่เข้ามาทำการค้าการลงทุน
- การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องไม่กีดกันต่างด้าวในการก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และควรศึกษาเพิ่มเติมว่าสมาชิก CPTPP ใดมีกฎหมายอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำท่าทีของไทยต่อไป
- เรื่องอีคอมเมิร์ซ ภาครัฐควรให้ความสำคัญและแสดงข้อเรียกร้องของไทยในทุกเวที เกี่ยวกับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมของผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศและในประเทศ , ควรดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าด้านดิจิทัล และควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้
- ประเด็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ การมีกลไกดังกล่าวเป็นการเพิ่มช่องทางสำหรับนักลงทุนในการฟ้องรัฐ แต่ไม่ใช่การเพิ่มความเสี่ยงสำหรับรัฐ หากไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP จะต้องเน้นย้ำสิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ ว่าครอบคลุมทุกมิติรวมทั้งด้านความมั่นคง โดยอาจเจรจาเพื่อจัดทำภาคผนวกของข้อบทลงทุนที่ไทยมีสิทธิในการเจรจาข้อสงวน
- ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ควรศึกษากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของไทยที่ไม่สอดคล้องกับ CPTPP รวมถึงกฎหมายหรือข้อบังคับอื่น ๆ ที่กรมบัญชีกลางเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เช่น บัญชีนวัตกรรม การกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ รวมถึงควรมีกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้มาโดยเงินบริจาคเพื่อความโปร่งใส และป้องกันการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน
- รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ไทยสามารถเจรจาเพื่อขอสงวนรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบทของ CPTPP ในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติและการห้ามอุดหนุนหรือช่วยเหลือได้
- ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ไทยมีสิทธิขอเจรจาเพื่อยกเว้นการปฏิบัติได้เช่นเดียวกับประเทศภาคีอื่น โดยมีประเด็นที่อาจพิจารณายกเว้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยา , รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณปรับปรุงกฎระเบียบและการจัดทำมาตรฐานสินค้า , ควรพิจารณากำหนดภาษีสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากการเรียกเก็บภาษีแบบเดิม ซึ่งจะเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
- มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การกำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลความเห็นที่ได้รับต่อสาธารณะที่ไทยไม่เคยดำเนินการมาก่อน แท้จริงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลครบถ้วน และแสดงความโปร่งใสของไทย ส่วนการตรวจประเมิน (Audits) ไทยควรพัฒนาผู้ตรวจสอบให้มีความเชี่ยวชาญ ส่วนข้อกังวลกรณีเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกร อาจส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ ไทยสามารถพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้ ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว
- สินค้าขยะอันตราย รัฐต้องเร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเพื่อห้ามการส่งออก โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยจากการห้ามส่งออกของเสียอันตรายไปรีไซเคิลยังประเทศปลายทาง , การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ รัฐควรเร่งออกกฎหมาย Environmental Monitoring Law โดยเร็ว เพื่อให้การกำกับดูแลด้นาสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจาก กมธ.ที่จะถูกส่งต่อให้กับรัฐบาลพิจารณา ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรกับผลการศึกษาฉบับนี้ หลังจากสภามีความคิดเห็นตรงกันว่า ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม CPTPP หากยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในอีกหลายประเด็น
(ข้อมูล : รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP)
ข่าวประกอบ :
ไม่ควรร่วมถ้ายังไม่พร้อม!สภาเห็นด้วยรายงาน กมธ.CPTPP ส่งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
มติเอกฉันท์!สภาตั้ง 49 กมธ.ศึกษาผลกระทบ CPTPP ให้เวลา 30 วันพิจารณา
เกาะติด CPTPP! 'เอฟทีเอ ว็อทช์' จับตา 'อุตฯเกษตรยักษ์ใหญ่' จูงมติกกร.หนุนไทยเจรจา CPTPP
FTA Watch ร้องสภา ขอตั้ง กมธ.ศึกษาข้อดี-เสียเข้าร่วม CPTPP
'จุรินทร์' จ่อถอนวาระเข้าร่วม CPTPP ออกจาก ครม. หลังหลายฝ่ายมีความเห็นขัดแย้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage