เครือข่ายภาคประชาชนฯ ตั้งโต๊ะแถลงค้านไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ชี้ไทยยังไม่พร้อม-ขาดงบปรับโครงสร้างรองรับผลกระทบ พร้อมเตือนค่าใช้จ่าย ‘งบบัตรทอง’ ของรัฐเพิ่มขึ้นปีละ 1.4 หมื่นล้าน รอนสิทธิเกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์
..................
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เครือข่ายภาคประชาชนเปิดแถลงข่าวกรณีที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน จะมีการประชุม กนศ.ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อประเมินความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ก่อนเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ไทยเจรจาเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ในช่วงปลายเดือนเม.ย.2564
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการเข้าร่วม CPTPP และหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบให้งบประมาณด้านสาธารณสุขของไทยเพิ่มขึ้น เพราะเงื่อนไขการเข้าร่วม CPTPP จะมีผลกระทบต่อสิทธิการเข้าถึงยา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบัตรทอง) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรอนสิทธิเกษตรกรไทยในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืช
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การที่ กนศ. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติครม. เรื่อง CPTPP จำนวน 8 คณะ ตนมองว่าเป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การเจรจาเข้าร่วม CPTPP เพราะจากการเข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการฯ CPTPP บางคณะ พบว่าคณะอนุกรรมการฯพยายามสรุปว่า ประเด็นต่างๆที่มีความอ่อนไหวนั้น สามารถเตรียมความพร้อมได้ ซึ่งสร้างความแปลกใจอย่างมาก
ทั้งๆที่ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก่อนหน้านี้ ซึ่งระบุว่า มีหลายเรื่องที่ต้องทำการศึกษาในระยะยาวและต้องศึกษาเชิงลึก เช่น ผลกระทบของ UPOV 1991 ที่จะมีผลกระทบต่อการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและการเข้าถึงยา หรือแม้กระทั่งการคุ้มครองการลงทุน ขณะที่รัฐบาลไม่มีคำมั่นสัญญาเรื่องงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปเพื่อรองรับการเข้าร่วม CPTPP เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรง
“มีความน่ากังวลมาก เพราะหลายเรื่องต้องแก้ไขกฎหมายในประเทศหลายฉบับ และรัฐบาลยังไม่มีความพร้อมในเชิงบุคลากร กลไกของรัฐ และงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณนั้น คงไม่ใช่แค่การเยียวยา แต่ต้องรวมถึงการจ้างบุคลากรเข้ามาดูแลเรื่องพวกนี้ การสร้างกลไกดูแลตรวจสอบมากขึ้น และงบที่ต้องนำมาใช้จ่ายในเชิงสุขภาพ เพราะหลายมาตรการใน CPTPP จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และงบบัตรทองที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ CPTPP ไม่มีการกำหนดกรอบการเจรจาให้ชัดเจนว่า มีประเด็นใดบ้างที่มีความอ่อนไหว ซึ่งต้องเจรจาไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบ และต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวนั้น หากเจรจาไม่ได้ ต้องหยุดการเจรจา
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ระบุว่า รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตรของไทยอย่างมากและกว้างขวาง เนื่องจากจะมีจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV และมีเพียงภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์
นายวิฑูรย์ ยกตัวอย่างผลกระทบจากการที่ไทยเข้าร่วม CPTPP ประเด็นพันธุ์พืช เช่น การสูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่าฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชีวภาพของไทย การขยายอำนาจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ให้ครอบคลุมถึงผลผลิต (harvested material) และผลิตภัณฑ์ (products) ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง และส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพร
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อ กนศ. โดยความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) ว่า จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นจากราคายาที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท และอัตราการเข้าพึ่งพิงการนำเข้ายาจะเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89%
“การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมากจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” น.ส.กรรณิการ์กล่าว
นอกจากนี้ สภาเภสัชกรรมมีข้อเสนอต่อ กนศ.ว่า ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมฯ CPTPP โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุในรายงานว่า ‘การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง”
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า จากรายงานคณะกรรมการธิการวิสามัญฯ CPTPP ที่เสนอต่อรัฐสภา คณะกรรมาธิการฯเห็นว่าไทยยังไม่ควรเข้าร่วม CPTPP และต้องเตรียมความพร้อมก่อน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะดึงดันให้ไทยเข้าร่วมให้ได้ ทั้งๆที่เป็นความเสี่ยงและความสูญเสียของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ข้อตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมการขาย และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระทบต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย
สำหรับข้อเสนอแนะหลักในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่ส่งถึงรัฐบาล ประกอบไปด้วย
1.ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง
4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
ข่าวประกอบ :
'บิ๊กตู่' ขีดเส้น 8 อนุกรรมการฯขับเคลื่อน CPTPP ส่งผลศึกษาเข้าครม.กลางเม.ย.นี้
จับตา รบ.หัก กมธ.! ดันไทยร่วม CPTPP-ภาค ปชช.เกาะติดประชุม ‘กนศ.’ 5 ก.พ.
ข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจากรายงาน กมธ.CPTPP สิ่งที่ไทยควรพร้อมก่อนตัดสินใจเข้าร่วม
ไม่ควรร่วมถ้ายังไม่พร้อม!สภาเห็นด้วยรายงาน กมธ.CPTPP ส่งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
มติเอกฉันท์!สภาตั้ง 49 กมธ.ศึกษาผลกระทบ CPTPP ให้เวลา 30 วันพิจารณา
เกาะติด CPTPP! 'เอฟทีเอ ว็อทช์' จับตา 'อุตฯเกษตรยักษ์ใหญ่' จูงมติกกร.หนุนไทยเจรจา CPTPP
FTA Watch ร้องสภา ขอตั้ง กมธ.ศึกษาข้อดี-เสียเข้าร่วม CPTPP
'จุรินทร์' จ่อถอนวาระเข้าร่วม CPTPP ออกจาก ครม. หลังหลายฝ่ายมีความเห็นขัดแย้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage