สภามีมติเอกฉันท์เห็นชอบโดยไม่ต้องลงมติ ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบหากรัฐเข้าร่วม CPTPP รวม 49 คน ห่วงได้ไม่คุ้มเสีย เกษตรกรถูกเอาเปรียบ-สิทธิบัตรยาถูกผูกขาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบหากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีผู้เสนอให้สภาในหลายวาระ รวม 9 ฉบับ จึงได้เสนอให้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน
โดยตลอดทั้งวัน ส.ส.จากฝ่ายค้านและรัฐบาลได้สลับกันอภิปรายกันอย่างเข้มข้น และเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจำเป็นต้องมีการตั้ง กมธ.เสียก่อน ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งเป็นการอาศัยข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 88 ที่ระบุว่า ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้านให้ประธานสภาฯ ถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น
ซึ่ง กมธ.CPTPP มีทั้งหมด 49 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของรัฐบาล 12 คน พรรคการเมือง 37 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คน , พรรคพลังประชารัฐ 9 คน , พรรคภูมิใจไทย 5 , พรรคก้าวไกล 4 คน , พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน , พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน , พรรคเสรีรวมไทย 1 คน , พรรคประชาชาติ 1 คน , พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคท้องถิ่นไท ได้สัดส่วน 1 คน ทั้งนี้ให้เวลาพิจารณารวม 30 วัน
@ห่วงถูกผูกขาดสิทธิบัตรยา
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.ภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดกระแสคัดค้านจำนวนมาก โดยเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีการแสดงความเห็นในวงกว้างเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่งพบข้อมูลทั้งทางบวกและทางลบ ภาครัฐบอกว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 0.12% และจีดีพีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท รวมถึงโอกาสอื่นๆในด้านการค้าการลงทุน
ขณะเดียวกันมีคำถามจากภาคประชาชนและประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม FTA Watch ว่าข้อมูลรับฟังได้จริงหรือไม เพราะมีข้อมูลว่าหากประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP จะผูกพัน 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) มีผลให้ผูกขาดพันธุ์พืช และต้องเข้าร่วมสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรเรื่องจุลชีพ ทั้งนี้เห็นเรื่องมีผลกระทบในเชิงลบอีกมากมาย ทั้งสิทธิบัตรยา เครื่องมือแพทย์มือสอง ที่กลัวว่าจะกลายเป็นขยะส่งเข้ามาในไทย และยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นข้อมูลในทางลบ ตนจึงเห็นว่า หากปล่อยให้รัฐบาลลงนามโดยที่เราไม่ได้สนใจผิดวิสัยและหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน จึงจำเป็นที่สภาจะต้องศึกษาเรื่องนี้
@ 9 จาก 11 ประเทศจับคู่ FTA กับไทยอยู่แล้ว
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม CPTPP ไปแล้ว คือ แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วน 4 ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คือ มาเลเซีย ชิลี บรูไน และเปรู ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ลงสัตยาบัน นอกจากนั้นยังพบว่ามี 9 ประเทศที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับไทย เหลือแค่แคนาดาและเม็กซิโกเท่านั้น ทั้งนี้พบว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงเห็นควรเสนอให้สภาเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อดีข้อเสีย เพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล
นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า 2 ประเทศที่ไทยไม่ได้ทำข้อตกลง FTA มีมูลค่าการส่งออกเพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันการเข้าร่วม CPTPP กลับทำให้ไทยเสียประโยชน์จากหลายประเด็น เช่น สูญเสียอำนาจเจรจาต่อรองการนำเข้าสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่เจรจาไว้กับประเทศอื่น อาทิ ปาล์ม มะพร้าว กาแฟ นม เนื้อวัว และเนื้อหมู ฯลฯ
@ระวังเกษตรกรถูกปล้น-เสียสิทธิ์เรื่องเมล็ดพันธุ์
นายวรภพ กล่าวว่า การเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้ไทยต้องยอมรับอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยเสียประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่เหลือจากการซื้อกับนายทุนปีนี้ เพื่อนำไปปลูกเพื่อขายปีถัดได้
“เรื่องนี้รัฐบาลทราบหรือไม่ว่าจะกระทบกับวิถีชีวิตเกษตร เปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมไปตลอดกาล ซึ่งอนุสัญญาเรื่องเมล็ดพันธุ์จะทำให้เกษตรกรถูกปล้นอย่างถูกกฎหมาย” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ กล่าวด้วยว่า นอกจากการตั้ง กมธ. หลังจากนี้รัฐบาลต้อปงระกาศให้ชัดเจนว่า กรอบการเจรจาในเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร เรื่องใดจะเอาไปเจรจา และเรื่องใดจะไม่เจรจา เพื่อทำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างจากนี้
@ยกเวียดนามร่วม CPTPP มูลค่าการค้าเพิ่ม
ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พลังประชารัฐ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนพยายามให้ข้อมูลกับเกษตรกรว่า ถ้าเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เราได้ใช้พันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งกรณีนี้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เจรจาผ่อนผันได้ ตนเชื่อว่ารัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าจะฟังทางไหน จึงจำเป็นต้องให้สภาเข้ามาศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้าน
นายมนูญ สิวาภิรมรย์รัตน์ ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า ตนได้ดูข้อมูลทางเศรษฐกิจจากประเทศเวียดนามที่เข้าร่วม CPTPP ครบ 1 ปีพบว่า การค้าการลงทุนร่วมกับกลุ่มประเทศ CPTPP ภาคการส่งออกรายได้ 7.2% มูลค่า หรือ 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดุลการค้าเพิ่มขึ้น 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคการลงทุนติดลบ 38.8% ลดลงไป 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะหลังวิกฤติโควิด เทรนด์เศรษฐกิจจะเปลี่ยน หลายประเทศลดพึ่งพาด้านการลงทุนอยู่แล้ว จึงเห็นว่า การเข้าร่วม CPTPP อาจทำให้ไทยได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย
@เปิดเสรีการท่องเที่ยว ทัวร์ไทยเจอคู่แข่งเพียบ
ส่วนนางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า ไทยยังต้องการเวลาในการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก CPTPP และขออย่ารีบตัดสินใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้ เพราะนอกจากเกษตรกรจะได้รับผลกระทบแล้ว ผู้ประกอบการหลายธุรกิจจะเจอปัญหาทันที เช่น การเปิดเสรีภาคบริการการท่องเที่ยว จะทำให้ผู้ประกอบการไทยทั้งหมด เจอคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้นทันที และมีโอกาสที่หลายธุรกิจจะถูกเทคโอเวอร์ในที่สุด ทั้งนี้ขออย่าเอาความเห็นของภาคเอกชนบางกลุ่มมาอ้างว่าเป็นความเห็นของทุกคน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับทราบสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรื่องนี้
“ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสมาชิกเพียง 5-10% ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ รัฐบาลจะมาอ้างว่าเอกชนไทยสนับสนุนให้เข้าร่วม CPTPP ไม่ได้ รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่า เอกชนทั่วประเทศเขาสนับสนุนเรื่องนี้” นายจิราพร กล่าว
@แนะรัฐบาลห้ามเข้าร่วมถ้าเกษตรกรเสียเปรียบ
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการถกเถียงกันรุนแรงในการตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวกับเรื่องใหญ่หลายเรื่อง เช่น เมล็ดพันธุ์ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การผูกขาดยาสมุนไพร เหตุที่ CPTPP ถึงเป็นปัญหา เพราะมีเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในข้อตกลงการค้าอื่นๆ
เรื่องนี้มีเอกสาร 5,000 หน้า เป็นภาษาอังกฤษ อยากทราบว่ามีกี่คนที่อ่านรายละเอียดครบทุกหน้า แต่ตนได้อ่านเจาะในเรื่องที่คิดว่าเป็นสาระสำคัญของความขัดแย้ง และคิดว่าบางเรื่องมีความเข้าใจไม่ตรงกัน บางเรื่องก็ตีความผิด หรือบางเรื่องยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยการออกกฎหมายภายในประเทศ โดยสิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม ทั้งนี้ หลักการของการทำเรื่องนี้มีทั้งคนได้และเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมและเป็นหน้าที่รัฐบาล คือการบอกคนที่ได้รับผลกระทบว่าจะแก้ปัญหาหรือดูแลเขาอย่างไร
“อย่างไรก็ตาม ผมขอย้ำว่า หากคำนวณทางเศรษฐศาสตร์แล้วพบว่ามีผลเป็นบวกมากกว่าลบ แต่ถ้ากระทบเกษตรกรหลายล้านคน ผมก็ไม่ทำ และไทยไม่ควรที่จะทำเด็ดขาด” นายเกียรติ กล่าว
@กกร.หนุนรัฐเข้าร่วมเจรจา
วันเดียวกันนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ประกาศสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ย้ำว่า การเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้จะทำให้ไทยประเมินผลดีผลเสียทางเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ได้เป็นการผูกมัดว่าจะต้องเข้าร่วม CPTPP แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กกร.เห็นว่า ขั้นตอนตามปกติ เมื่อขอเข้าร่วมการเจรจา คณะทำงานจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา จากนั้นจะเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ผลการเจรจา ก่อนที่จะนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการทั้งหมดต้องกินเวลาอีกอย่างน้อย 4 ปีในการดำเนินการ ซึ่งระหว่างนี้สามารถถอนตัวไม่เข้าร่วมข้อตกลงได้ตลอดเวลา
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage