ศาล รธน.เคาะแล้ว! รัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่าอยากได้ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำเสร็จแล้วต้องทำประชามติอีกรอบด้วย เผย 'จิรนิติ หะวานนท์' ตุลาการฯข้างน้อย เห็นว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขทั้งฉบับ
.......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เรื่องที่ 4/2564 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 256 (1) โดยห้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 มี.ค. 2564
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าวด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติ ซึ่งเป็นวันที่ปรากฎในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน
ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 เสียง ได้แก่ นายจิรนิติ หะวานนท์ โดยเห็นว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ 4 อดีตมือร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายมีชัย นายบวรศักดิ์ นายสมคิด และนายอุดม ทำหนังสือชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ส่งภายใน 3 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
โดยนายมีชัย และนายอุดม มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะแก้ไขต้องทำประชามติก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และจะแก้ไขมาตรา 256 ได้ ต่อเมื่อมาทำประชามติอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) หลังจาก ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งด้วย หรือต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง
ขณะที่นายบวรศักดิ์ และนายสมคิด เห็นแย้งว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อน แล้วค่อยไปทำประชามติทีหลังได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) หรือมีการทำประชามติแค่ 1 ครั้ง
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (8) บัญญัติว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป
ส่วนมาตรา 256 (7) คือ เมื่อมีการลงมติเห็นชอบวาระ 3 ในรัฐสภาแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
อ่านประกอบ :
'บวรศักดิ์-สมคิด'ยันสภาแก้ รธน.ได้-ประชามติทีหลัง! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด 11 มี.ค.
มติรัฐสภาข้างมาก 366:316 ส่งศาล รธน.ชี้ขาด ส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage