ครม.ไฟเขียวอนุมัติใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1.13 หมื่นล้าน รับมือโควิดระลอกใหม่ จัดสรร 1.5 พันล้านบาท เป็นค่าตอบแทนให้ ‘อสม.’ 1.05 ล้านคน นาน 3 เดือน อัดฉีดแผนเร่งรัดเข้าถึงวัคซีนอีก 1.8 พันล้าน พร้อมปรับเงื่อนไขจ้างงาน ‘นศ.จบใหม่’
...............
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือพ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 10 วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินรวม 4,330 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (ม.ค.- มี.ค.2564) ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1,570 ล้านบาท
2.โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 419.84 ล้านบาท
3.โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 503.89 ล้านบาท
4.แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนชาวไทย รับผิดชอบโครงการคือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ วงเงิน 1,810 ล้านบาท
5.โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ และเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 24 ล้านบาท
กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินรวม 6,960 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 2,037 ล้านบาท
2.โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยบริการสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1,920 ล้านบาท
3.โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2,990 ล้านบาท
กลุ่มสนับสนุน วงเงินรวม 27.2 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 17 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 9.7 ล้านบาท
“รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ได้ มีการรายงานความก้าวหน้าการใช้จ่ายเงิน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด” น.ส.รัชดาระบุ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา เนื่องจากพบว่ามีผู้จบการศึกษาใหม่ไม่สามารถเข้าโครงการได้ เพราะติดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ส่วนกรอบวงเงินยังเป็นเท่าเดิม คือ 1.94 หมื่นล้านบาท แต่ให้ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2564 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564
น.ส.รัชดา อธิบายว่า เดิมทีโครงการ Co-Payment กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และจบการศึกษาในปีการศึกษา 2562 หรือปีการศึกษา2563 แต่ความเป็นจริง พบว่านักศึกษาจบใหม่จำนวนมากอยู่ในระบบประกันสังคมมาแล้ว 1-6 เดือน แต่ต้องออกจากงานในขณะที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน เพราะนายจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ดังกล่าว รวมถึงนักศึกษาที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ที่คาดว่าจะมีจำนวน 4.27 แสนคน ครม.จึงมีมติเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการฯตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ได้แก่
1.คุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ ปรับใหม่เป็นว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาปี 2562 เป็นต้นไป จากเดิมที่กำหนดเงื่อนไขว่า ต้องมีสัญชาติไทย และไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้นกรณีมีผู้จบการศึกษาใหม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากการทำงานนอกเวลาเรียนในระหว่างที่กำลังศึกษา และมีอายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกิน 25 ปี จบการศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 หรือจบภายในปี พ.ศ.2563
2.เงื่อนไขสำหรับนายจ้างเป็น ปรับใหม่เป็น การจ้างงานในโครงการฯให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือนไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน
ทั้งนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท ปวช. ไม่เกิน 4,700 และ ม.6 ไม่เกิน 4,345 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ คือ ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 15,000 บาท ปวส. ไม่เกิน 11,500 บาท ปวช. ไม่เกิน 9,400 และ ม.6 ไม่เกิน 8,690 บาท
3.ปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง ปรับใหม่เป็นว่า รัฐจ่ายเงินอุดหนุน 3 ครั้งต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการจ่ายเงินค่าจ้างของนายจ้าง
4.ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ จากเดิม คือ ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน (ปีงบ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2563 ถึง 30 ก.ย.2564 ) โดยให้ขยายไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน ระยะเวลาการจ้างงานครบ 12 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2564
อ่านประกอบ :
เบิกแล้ว 3.32 แสนล้าน! เงินกู้ฟื้นฟูโควิด-ครม.รับทราบหนี้สาธารณะ 49.34% ต่อจีดีพี
ปรับแผนรีดเงินกู้โควิด 4 แสนล.ส่ง รมต.'ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน'ดูโครงการระดับจังหวัด
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
แห่ขอใช้เงินกู้ทะลุ 1.36 ล้านล้านบาท 'สภาพัฒน์'คาดกลั่นกรองเสนอ ครม.8 ก.ค.นี้
สแกนเงินกู้ 1 แสนล้านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจล็อตแรก สศช.ตั้งการ์ดสูงกันการเมืองล้วงลูก
ไฟเขียวกรอบเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ อนุมัติแล้ว 5 โครงการรวม 1.5 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage