‘ยุทธพงศ์’ อภิปรายจัดซื้อเรือดำน้ำ ชี้เป็นจีทูจีเก๊ บริษัทจีนไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีหนังสือมอบอำนาจเต็ม ขณะที่ รมช.กลาโหม แจงละเอียดยิบ กฤษฎีกาตีความซื้อขายเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องมอบอำนาจ ขณะที่บริษัท CSOC คู่สัญญา ถือหนังสือรับรองเป็นรัฐวิสาหกิจจีนถูกต้อง
-------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ด้วยวิธีการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยระบุว่า การจัดชื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ ถือว่า ครม.ขาดความซื่อสัตย์ ปล่อยให้กองทัพเรือไปลงนามจัดซื้อ ไม่เป็นไปตามรูปแบบรัฐต่อรัฐ โดยตัวแทนของประเทศไทย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ได้ไปลงนามกับบริษัท China Shipbuilding and Offshore International Company (CSOC) ซึ่งอ้างว่าเป็นตำแทนจากประเทศจีน และมีการโอนเงินให้บริษัทดังกล่าว โดยที่ไม่เคยนำหนังสือรับมอบอำนาจฉบับเต็ม ทั้งของฝั่งไทยและจีนนำมาแสดง จึงสงสัยว่าจะเป็นการจัดซื้อจีทูจีเก๊หรือไม่ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทลูกในเครือของ China State Shipbuilding Coperation Limited (CSSC) ที่มีเครือข่ายอยู่หลายประเทศ และยังเป็นเจ้าของบริษัท China Shipbuilding Trading Company Limited ที่ได้มาเปิดในประเทศไทยอีกด้วย จึงไม่เชื่อว่าเป็นบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจจากประเทศจีน
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า บริษัทไชน่าชิปปิ้ง บิวดิ้ง ประเทศไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 62 มีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ 22/331 อาคารเอเวอร์กรีนชั้น 2 ถนนบางนาตราด แขวงบางนา พระโขนง กทม. ประกอบกิจการ โรงหล่อโลหะขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันยกเลิกกิจการไปแล้ว ถ้าเป็นบริษัทจีนไม่น่าจะมาลงทุนด้วยทุนจดทะเบียนเพียงเท่านี้ ในส่วนนี้ไม่เชื่อว่าบริษัทดังกล่าวจะมาเป็นตัวแทนประเทศจีนได้
“การจัดซื้อในครั้งนี้ ไม่มีความชอบธรรม ในการอภิปรายครั้งนี้ มีข้อซักถามถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะของ รมว.กลาโหม เหตุใดจึงปล่อยปละละเลยให้กองทัพเรือไปลงนามกับบริษัทของจีน แทนที่จะไปลงนามกับรัฐบาลจีน เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ จึงขอตั้งคำถามในการซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้” นายยุทธพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา นายยุทธพงศ์ ได้มาแถลงข่วต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ตนได้ข้อมูลบริษัทดังกล่าวมาแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจีนแปลให้ พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่น่าเชื้อถือตามข้อมูลที่ได้อภิปรายไปแล้ว อีกทั้งบริษัทดังกล่าวไม่มีหนังสือรับมอบอำนาจฉบับเต็มจากรัฐบาลจีน ทำให้เกิดข้อกังขา ว่าถ้าหากนายกรัฐมนตรี ได้ปล่อยให้มีการซื้อขายเกิดขึ้น ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหม ถ้าไม่เข้าไปตรวจสอบ จะทำให้มีความผิดมาตรา 157 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ นายยุทธพงศ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่กองทัพเรือแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทเรื่องที่ตนกล่าวหาถึงการซื้อขายเรือดำน้ำในครั้งนี้ว่า “ผมมั่นใจพร้อมสู้คดีกับกองทัพเรือ”
ขณะที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตอบการอภิปรายว่า การจัดหาเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์สัญญาแบบจีทูจี โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2530 ให้กระทรวงกลาโหมจัดหายุทโธปกรณ์จากมิตรประเทศได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และให้ใช้ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นด้วยความเห็นระหว่างกันแทนการทำสัญญาได้ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกระบวนการด้านกฎหมายทุกขั้นตอน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ อัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ในข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อขายแบบจีทูจี ที่ไม่ได้นำหนังสือมอบอำนาจเต็ม หรือ Full Powers มาแสดงนั้น ขอชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อพิจารณาว่า ข้อตกลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายไทย จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) แต่เป็นสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ในช่วงที่ลงนามสัญญา อยู่ในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2560) มาตรา 178 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเหมือนกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า เป็นร่างข้อตกลง เป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องขอความเห็นของรัฐสภา และไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจเต็มดังกล่าว ดังนั้นกองทัพเรือมีอำนาจลงนามในสัญญาได้เอง เนื่องจากไม่มีสนธิสัญญา และไม่เกิดพันธะระหว่างประเทศ
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวต่อว่า ครม.ในขณะนั้นได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือเป็นผู้ลงนาม และได้มีการมอบหมายต่อให้เสนาธิการทหารเรือเป็นผู้ลงนาม โดยที่ฝ่ายจีน รัฐบาลจีนมอบหมายให้องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ หรือ The State Administration for Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีน และได้มอบอำนาจต่อให้บริษัท CSOC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นของรัฐบาลจีน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของ CSOC ได้ระบุคำว่า State-owned (รัฐเป็นเจ้าของ) เพื่อย้ำถึงความเป็นรัฐวิสาหกิจจีนของบริษัทนี้ ส่วนเรื่องการจ่ายเงินไปยังบริษัท CSOC นั้น SASTIND ได้มอบอำนาจให้เป็นผู้มีอำนาจเต็มแล้ว จึงโอนเงินค่างวดให้บริษัทดังกล่าวได้
อ่านประกอบ:
'ยุทธพงศ์' เตรียมแฉจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ใช่จีทูจี-ลุยฟ้อง ป.ป.ช. เอาผิด ทร. ด้วย
เลื่อนไปก่อน!กมธ.งบฯ ยังไม่ถกวาระจัดซื้อเรือดำน้ำ โฆษกฯเผยคุยอีกรอบ 28 ส.ค.นี้
จีทูจีไม่มีเก๊! ทร.ยันซื้อเรือดำน้ำถูกต้องตาม กม.-ชะลอได้ไม่มีค่าปรับ แต่เสียเครดิตการค้า
ไส้ใน 'เรือดำนำ' ชั้นหยวนคลาส ไทยทุ่มซื้อจีน 2.2 หมื่นล. อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด?
(คลิป) ฟังเหตุผลกองทัพเรือ แจงจัดซื้อ'เรือดำน้ำ'
'อิศรา' ถามผู้เชี่ยวชาญรัสเซียตอบ ไทยซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวนจีน 3.6 หมื่นล.คุ้มค่าหรือไม่?
ไทม์ไลน์ประชุมสภา 9 ก.ย.อภิปราย ครม. 23-24 ก.ย.ถกแก้ร่าง รธน.ให้เวลาพรรค รบ.-ค้านเท่ากัน
มติเอกฉันท์! 63 ต่อ 0 เสียง กมธ.งบประมาณปี 64 เลื่อนซื้อเรือดำน้ำ
'ยุทธพงศ์'ขู่ยื่นศาล รธน.หาก กมธ.งบฯไฟเขียวซื้อเรือดำน้ำ-จับตา31ส.ค.นี้เลื่อนอีกหรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage